อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : Play(e)scape การละเล่นที่เป็นอุปมาถึงการถ่วงดุลอำนาจทางการเมือง

เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เรามีโอกาสได้ไปเสพนิทรรศการศิลปะที่น่าสนใจมา ก็เลยเอามาเล่าสู่กันฟังตามเคย นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า

Play(e)scape

นิทรรศการแสดงเดี่ยวของศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้อาศัยและทำงานในเมืองไทยอย่าง เอจิ ซูมิ (Eiji Sumi) โดยชื่อนิทรรศการ เป็นการเล่นคำระหว่างคำว่า Playscape ที่แปลว่า “สนามเด็กเล่น” กับคำว่า escape ที่แปลว่า “การหลีกหนี” ซึ่งสองคำนี้แฝงความหมายและนัยยะทางความคิดในผลงานครั้งนี้ของเขานั่นเอง

ในนิทรรศการประกอบด้วยผลงานสองส่วน ส่วนแรกมีชื่อว่า “Here and There”

ประติมากรรมจัดวางเชิงตอบโต้ (Sculpture Installation Interactive) ที่ดูคล้ายกับเวทีทรงกลม ที่มีกลไกแบบเดียวกับของเล่นเด็กอย่าง “กระดานหก” (seesaw) ซ่อนอยู่ข้างใต้ โดยสองฟากฝั่งของเวทีจะเคลื่อนไหวตามหลักกลศาสตร์ ด้วยการกระดกขึ้นและลงตามน้ำหนักและแรงโน้มถ่วงของผู่้ชมที่ขึ้นไปอยู่ข้างบน ถ้าด้านไหนมีน้ำหนักมากกว่า ด้านนั้นก็จะถูกถ่วงลง ในขณะที่ด้านที่เบากว่าก็จะถูกยกขึ้น ซึ่งศิลปินใช้การละเล่นที่ว่านี้เป็นอุปมาไปถึงการถ่วงดุลของอำนาจทางการเมืองนั่นเอง

“โดยปกติผมมักจะทำงานเกี่ยวกับประเด็นทางวิทยาศาสตร์และประเด็นทางสังคม ซึ่งในงานชิ้นนี้ผมใช้หลักฟิสิกส์ดั้งเดิมเพื่อเล่นกับประเด็นทางการเมือง

เครื่องเล่นนี้ ถ้าจะพูดง่ายๆ มันก็คือกระดานหกทรงกลม ตำแหน่งที่นั่งแต่ละจุดบนเครื่องจะเป็นตัวถ่วงน้ำหนักและเปลี่ยนการเอียงของกระดานหก ซึ่งเปรียบเหมือนพลังอำนาจทางการเมือง โดยตำแหน่งปลายสุดของเวทีแต่ละข้าง จะเป็นที่นั่งพิเศษที่ถ่วงน้ำหนักได้มากที่สุด ซึ่งเปรียบเหมือนตำแหน่งของชนชั้นสูงและผู้มีอำนาจในสังคม ตำแหน่งถัดมาบนเวทีก็จะลดแรงถ่วงลงมา ซึ่งเปรียบเหมือนตำแหน่งชนชั้นกลาง ในขณะที่ตำแหน่งตรงกลางกระดานจะเป็นตำแหน่งที่ถ่วงน้ำหนักได้น้อยที่สุด ซึ่งก็เปรียบเสมือนตำแหน่งของชนชั้นล่างในสังคม

ผมคิดว่าโลกของเราไม่มีความเท่าเทียมกันตั้งแต่แรก ถึงแม้เราจะมีระบอบประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง แต่ผู้คนในโลกก็มีชนชั้นหรือสถานะที่มีพลังอำนาจที่แตกต่างกัน ก็เหมือนกับที่นั่งพิเศษในผลงานชิ้นนี้ ที่คนคนเดียวสามารถมีน้ำหนักมากกว่าคนหลายคนได้ ไม่ต่างกับนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจบางคนที่มีพลังอำนาจควบคุมและชี้นำคนจำนวนมากในสังคม ในขณะที่ชนชั้นกลางก็มีพลังลดหลั่นลงมา และชนชั้นล่างแทบจะไม่มีพลังอะไรเลย แต่ในทางกลับกันถ้าคุณมีจำนวนคนมากขึ้น คุณก็สามารถมีพลังต่อสู้กับผู้มีอำนาจได้ เช่นเดียวกับ ถ้ามีคนอยู่บนเครื่องเล่นฝั่งไหนมากกว่า ก็จะสามารถถ่วงน้ำหนักของกระดานหกให้เอียงลงมายังฝั่งนั้นได้ มันแสดงให้เห็นว่า ไม่ว่าคนเราจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วเราก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้” เอจิ ซูมิ กล่าวถึงผลงานชุดนี้ของเขา

สิ่งที่น่าสังเกตประการหนึ่งก็คือ การที่ผลงานชิ้นนี้มีลักษณะเป็นเวทีทรงกลมที่แบ่งเป็นสองฟากฝั่งสลับกันกระดกขึ้นลงไปมานั้น ดูๆ ไปก็คล้ายกับกระแสเคลื่อนไหวทางการเมืองในประวัติศาสตร์โลก ที่ถูกแบ่งเป็นสองฟากฝั่งอย่าง ปีกซ้าย และ ปีกขวา อยู่เหมือนกัน

“แน่นอน ผลงานชิ้นนี้แสดงสัญลักษณ์ในแง่มุมทางการเมืองที่มีปีกซ้ายและปีกขวา แต่ในขณะเดียวกันมันมีรายละเอียดอีกอย่างก็คือ ถ้ากระดานหกเอียงไปทางไหน สีของแสงไฟมันก็จะเปลี่ยนไปด้วย ซึ่ง “สี” ก็เป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งที่สำคัญในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา”

ในขณะเดียวกัน แสงสีในผลงานชิ้นนี้ ก็ดูมีสีสันฉูดฉาดบาดตา คล้ายกับที่พบเห็นในงานมหรสพ, งานรื่นเริง ที่คนไทยเราคุ้นเคยด้วยเหมือนกัน ซึ่งตัวศิลปินกล่าวว่า

“เหตุผลที่ผมมาที่นี่ก็เพื่อเล่นสนุกและหลบหนีจากความเป็นจริง ดังนั้นผมจึงทำงานชิ้นนี้ให้มีอารมณ์สนุกสนาน แต่ในทางกลับกัน ผมหวังว่าทุกคนสามารถพูดคุยเรื่องการเมืองกันในผลงานชิ้นนี้ได้ ผมอยากให้มันเหมือนเป็นสถานที่ลับ ที่คุณสามารถเปิดอกพูดคุยแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับทัศนคติทางการเมืองของคุณได้อย่างสบายใจ ผมหวังว่าอย่างนั้น

ผมเชื่อว่าสามารถพูดเรื่องซีเรียสและเล่นสนุก เสียดสีและสนุกสนาน รู้สึกอัศจรรย์ใจไปพร้อมๆ กับครุ่นคิดถึงประเด็นทางการเมืองในโลกที่เราอยู่อาศัยไปได้พร้อมๆ กัน

ผมแค่อยากเตือนให้ผู้ชมรู้ว่า บางครั้งคุณต้องก้าวข้ามไปอีกฝั่ง เพื่อมองทัศนคติทางการเมืองของฝั่งตรงข้ามบ้าง และผมอยากให้คนเรามีโอกาสได้ถกเถียง โต้แย้ง แลกเปลี่ยนข้อมูล

งานชิ้นนี้มันก็เลยเหมือนกับบังคับให้คนต้องขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เปลี่ยนตำแหน่งไปมาทั้งสองด้าน เพื่อเปลี่ยนแปลงทิศทางการเอียงของกระดานหก ถึงแม้ว่าผมจะมีทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมืองของตัวเอง ทั้งต่อการเมืองของญี่ปุ่น, อเมริกัน และของไทย ผมมีพรรคการเมืองที่ผมสนับสนุน แต่ผมก็อยากให้คนแต่ละฝั่งมีการโต้แย้งและวิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ มากกว่าจะมุ่งทำลายซึ่งกันและกัน”

ส่วนผลงานในส่วนที่สองในนิทรรศการนี้มีชื่อว่า Play(e)scape

ซึ่งเป็นภาพถ่ายของเครื่องเล่นในสวนสนุกที่ประดับด้วยไฟหลากสีสันยามค่ำคืน จากสวนสนุกในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทยด้วย ซึ่งศิลปินนำเสนอออกมาด้วยอารมณ์ที่ดูเหมือนจะสนุกสนานรื่นเริง แต่ในขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยความลึกลับและให้อารมณ์อันแปลกประหลาดพิสดารไปพร้อมๆ กัน

“ผมรู้สึกว่าผมมีความคิดที่ค่อนข้างเสียดเย้ยการเมืองของโลกอยู่สักหน่อย เพราะหลายครั้ง การเมืองก็ดูเหลวไหลไร้เหตุผล มันมักจะไม่สมบูรณ์แบบ, ฉ้อฉล และไร้ศีลธรรม นั่นเป็นเหตุให้ผมทำภาพถ่ายของสวนสนุกจากประเทศต่างๆ เหล่านี้ ออกมาในเชิงเสียดสี ด้วยมุมมองแบบคนผิวขาวชาวยุโรป ที่มองไปยังประเทศใต้อาณานิคม มุมมองที่นำเสนอจึงดูแปลกประหลาดและลึกลับสักหน่อย”

ถ้าถามว่าผลงานชิ้นนี้ เขาจงใจวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมืองไทยเป็นพิเศษไหม? เอจิ ตอบว่า

“ผลงานชิ้นนี้ ผมทำออกมาจากความอึดอัดขัดข้องกับสถานการณ์การเมืองไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงการแบ่งแยกการเมืองสีเสื้อเหลืองแดง บางครั้งผมถูกตัดสิน เพียงเพราะผมมีเพื่อนเป็นคนเสื้อสีนั้นสีนี้ ผมรู้สึกว่าผมถูกบังคับให้ต้องเลือกข้าง จนสุดท้ายผมรู้สึกว่าไม่เหลือเพื่อนอีกเลย นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานชิ้นนี้ ผมบอกได้เลยว่าผลงานชิ้นนี้อาจไม่ถูกทำขึ้นมา ถ้าผมไม่ได้อยู่ในเมืองไทย ด้วยความที่ผมเติบโตในญี่ปุ่นและอาศัยอยู่อเมริกามานานพอสมควร ผมจึงมีวิธีคิดและอุดมการณ์ทางการเมืองค่อนข้างเป็นสากล แต่ในประเทศไทย บางคนอาจเรียกผมว่าเป็น “สลิ่ม” แต่ผมคิดว่าผมไม่ได้เป็นสลิ่มนะ (หัวเราะ)

ถึงแม้เราจะนั่งอยู่ฝั่งไหนของกระดานหก เช่นเดียวกับที่เราเลือกฝั่งใดฝั่งหนึ่งทางการเมือง แต่โลกเราก็ยังคงหมุนไปข้างหน้า ในขณะที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ บางคนก็เดินไปนั่งอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้น้ำหนักถูกถ่วงลงไปอีกด้าน ในขณะที่เราคิดว่าเราเป็นผู้ขับเคลื่อนสังคม แต่ในความเป็นจริงสังคมอาจถูกขับเคลื่อนโดยคนอื่นมากกว่า นั่นเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมได้ การเมืองก็เช่นกัน”

กับคำถามที่ว่า เขาคิดว่าศิลปะมีพลังที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมและโลกนี้ได้ไหม เอจิ ตอบว่า

“ผมเชื่ออย่างนั้นนะ ผมคิดว่าศิลปะสามารถผลักพรมแดนของอารยธรรมให้ขยายออกไปได้กว้างไกลกว่าเดิม ศิลปะมักจะพยายามไปในที่ที่ล้ำหน้ากว่าที่เราเคยไปมา ผมคิดว่าศิลปะมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือแม้แต่ปฏิวัติบางสิ่งบางอย่าง เช่นเดียวกับวิทยาศาสตร์ ที่มักจะตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ และค้นคว้า ทดลอง เพื่อค้นหาคำตอบของคำถามเหล่านั้น ซึ่งใกล้เคียงกับศิลปะมาก เมื่อครั้งที่มีการค้นพบแรงโน้มถ่วง และพบว่าโลกไม่แบน ในยุคนั้น ไม่มีใครเชื่อพวกเขา สิ่งเหล่านี้ต้องใช้เวลา

แน่นอน ในทางกลับกัน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือศิลปิน เพราะเราไม่เชื่อในสิ่งที่คนอื่นเชื่อตามๆ กันมา เราพยายามหาหนทางใหม่ๆ เรามักจะตั้งคำถาม และพยายามหาคำตอบให้กับมัน”

นิทรรศการ Play(e)scape จัดแสดงที่หอศิลป์เว่อร์ (Gallery VER) ซอยนราธิวาส 22 (สาธุประดิษฐ์ 15) ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน – 2 มิถุนายน 2561 สอบถามข้อมูลได้ที่ facebook @galleryver อีเมล [email protected] และเบอร์โทรศัพท์ 02 103 4067

ขอบคุณภาพจาก เอจิ ซูมิ หอศิลป์เว่อร์ และข้อมูลจากบทความประกอบนิทรรศการ “เครื่องเล่นศิลปะกับการแปรสัญฐานของสนามการเมือง” โดย ชล เจนประภาพันธ์