มุกดา สุวรรณชาติ : สืบสวนดำเนินคดีทุกฝ่าย คือ ‘ยุติธรรม’ หรือ ‘นิรโทษกรรมให้พ้นผิด…แล้วลืม’ (1)

ช่วงนี้มีผลการดำเนินคดีทางการเมือง มีการฟ้องร้อง การใช้กฎหมายลงโทษ

มีหลายเรื่องราว ที่ต้องเกี่ยวข้องกับความยุติธรรมในบ้านเมืองนี้ ตั้งแต่น้ำท่วม จนถึงคนตาย จากเหตุการณ์รุนแรงทางการเมือง ต้องไล่ไปทีละเรื่อง ต้องเริ่มจากเรื่องประชาชนตายฟรีก่อน เพราะบ้านเมืองเรามีการใช้อาวุธสังหารประชาชนหลายครั้ง เหตุการณ์ครั้งใหญ่ๆ มักจะเกิดโดยผู้มีอำนาจรัฐได้สั่งการ ด้วยจุดประสงค์ที่จะระงับการต่อต้านของประชาชน ซึ่งในหลายเหตุการณ์ได้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก

หลายสิบปีมานี้ เกิดหลายครั้ง จนกลายเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐอาจเข้าใจผิดว่า มีอำนาจยิงคนได้ โดยไม่มีความผิด

ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ สถานการณ์การเมือง อนาคตชาวบ้านจะตายฟรีอีกหลายรอบ

14 ตุลา 2516 ยกให้เป็นวีรชน…
ยังตายฟรี จับใครไม่ได้

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 การชุมนุมของนักศึกษาประชาชนที่สามารถโค่นล้มกลุ่มเผด็จการถนอม-ประภาส ปรากฏว่านักศึกษาประชาชนเสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บประมาณ 900 คน ครั้งนั้นมีคนใช้อาวุธยิงสู้กับทหารตำรวจมากกว่าเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 หลายเท่า สู้จนยึดกองบัญชาการตำรวจนครบาลได้ แต่ไม่แต่งเป็นคนชุดดำ

ตามข่าวว่าบางคนเป็นทหารพราน มีการเผากองสลากและเผาตึก กตป. ในวันที่ 14 ตุลาคม เผากองบัญชาการตำรวจนครบาลในวันที่ 15 ตุลาคม เมื่อการเรียกร้องประชาธิปไตยของประชาชนจบลง มีแต่วีรชน ไม่มีผู้ก่อการร้าย ไม่มีใครด่าว่าเผาบ้านเผาเมือง มีพิธีพระราชทานเพลิงศพอย่างยิ่งใหญ่ที่เมรุท้องสนามหลวง

ไม่มีการเอาผิดผู้ที่ชุมนุมประท้วงและเผาอาคารของรัฐบาล โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชน ที่เกี่ยวเนื่องกับการเดินขบวน ซึ่งกระทำในระหว่างวันที่ 8-15 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ว่ากระทำในฐานะเป็นตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำหรือผู้ถูกใช้ หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง

ไม่นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม โดยเฉพาะทหารและตำรวจ แต่ก็ไม่มีการสืบสวนจับกุม และลงโทษ ผู้ที่สั่งการ และผู้ใช้อาวุธสังหาร

หลังการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 คดีวีรชนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็หยุดลงและเงียบหายไปโดยไม่สามารถลงโทษใครได้แม้แต่รายเดียว

ถ้าขนาดผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นวีรชนยังต้องตายฟรี ถ้าเป็นผู้ที่ต่อสู้กับรัฐแล้วถูกดำเนินคดีหลังการต่อสู้ ก็ต้องพบกับชะตากรรมที่ลำบากกว่าหลายเท่า

6 ตุลา 2519 ข้อหาผู้ก่อการร้าย ตายฟรี
ต้องหนี, ยอมติดคุก หรือจับปืนสู้

เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 การชุมนุมต่อต้านการกลับมาของ จอมพลถนอม กิตติขจร แม้จะเข้าไปชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งมีรั้วรอบขอบชิด มี รปภ. รักษาการอยู่โดยรอบ แต่ฝ่ายที่ทำการรัฐประหารก็สามารถหาสาเหตุมีข้ออ้างและดำเนินการปราบปรามประชาชน ในวันนั้นเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้ายมาก ไม่เพียงมีเจ้าหน้าที่ของรัฐ แต่ยังมีมวลชนจัดตั้งเป็นกลุ่มขวาจัดซึ่งไม่สามารถควบคุมดูแลได้ ภาพที่ออกเผยแพร่ไปทั่วโลกทำให้นานาชาติมองประเทศไทยเป็นประเทศที่ยังคงความโหดร้ายแบบโบราณไว้เพราะมีการฆ่าแขวนคอ เอาไม้ตอกอก จับคนมาเผา สุดท้ายมีผู้เสียชีวิตจากการถูกยิง ถูกระเบิด และถูกทารุณกรรมต่างๆ เท่าที่พบศพคือ 46 คน

ในจำนวนนี้มีคนถูกเผาจนไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นใคร เพศใด 4 คน รู้ชื่อ 30 คน มีผู้บาดเจ็บที่พบ 200 คน

ที่จริงคนที่ได้รับบาดเจ็บคงมีมากกว่านั้น แต่ช่วงนั้นหลายคนได้หนีออกจากโรงพยาบาลและมีคนช่วยเหลือนำตัวหลบซ่อนไปตามที่ต่างๆ จำนวนหนึ่งต้องไปรักษาพยาบาลเอง

ตัวเลขผู้บาดเจ็บในกรณี 6 ตุลา จึงเป็นตัวเลขที่น้อยมากทั้งๆ ที่มีการยิงกระสุนเข้าไปเป็นพันๆ นัด มีการใช้ปืนกล ปืนไร้แรงสะท้อนแบบต่อสู้รถถัง เอ็ม 79 แต่ไม่มีใครอยากเจ็บตัวและถูกจับไปขัง เหยื่อส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่อยู่ในวัยเรียนของมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ถูกจับกุมคุมขังไปดำเนินคดี 3,094 คน ที่หนีรอดไปได้คาดว่าไม่น่าเกิน 500 คน

24 ธันวาคม 2519 รัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร ออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแก่ผู้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เท่านั้น โดยสาระสำคัญของ พ.ร.บ. ฉบับนี้ระบุว่า

“การกระทำทั้งหลายทั้งสิ้นของบุคคลใดๆ ซึ่งได้กระทำเนื่องในการยึดอำนาจการปกครองประเทศเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 และการกระทำของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำดังกล่าว…ไม่ว่ากระทำเพื่อให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ไม่ว่ากระทำในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทำ หรือผู้ถูกใช้ และไม่ว่ากระทำในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่กล่าวนั้น หากการกระทำนั้นผิดต่อกฎหมายก็ให้ผู้กระทำพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นการนิรโทษกรรมให้กับคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ก่อการรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 เท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สังหารหมู่ วันที่ 6 ตุลา ทั้งผู้ถูกฆ่าคือนักศึกษาประชาชนใน ม.ธรรมศาสตร์ และเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มขวาจัดที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของผู้ชุมนุม

การดำเนินคดีในศาลอย่างเปิดเผย
เป็นผลดีต่อผู้ถูกจับ และเสียชีวิต

หลังเหตุการณ์ใหม่ๆ มีการตั้งข้อกล่าวหาให้กับผู้ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และผู้ที่ถูกจับกุมด้วยข้อหาที่ร้ายแรงต่างๆ คำบรรยายฟ้องโดยสรุปคือ

ตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้ง 18 คน กับพวกที่หลบหนียังจับไม่ได้ 32 คน (ที่ถูกจับกว่า 3,000 คนได้รับการประกันตัว และไม่ได้ถูกฟ้อง ส่วนใหญ่หนีเข้าป่า พวกที่ถูกฟ้องคือแกนนำ) บังอาจตั้งกลุ่มโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีการกระทำอันเป็นกบฏ ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ…

แสดงว่าชนชั้นปกครอง หลัง 14 ตุลาคม 2516 ยอมรับให้นักศึกษาเป็นวีรชนอยู่ไม่ถึง 3 เดือน ก็มองว่าแกนนำกลุ่มนี้เป็นคอมมิวนิสต์ คือเสร็จศึกก็เตรียมกำจัดขุนพล หลัง 6 ตุลาคม 2519 จึงเป็นการกวาดล้างครั้งใหญ่ แบบที่เรียกว่า ตามจับ ตามฆ่า ล่าถึงบ้าน พวกที่หนีเข้าป่า ไม่เสียเปรียบ เพราะมีปืน พอสู้ได้ แต่พวกที่จะสู้ข้อกล่าวหาในศาลทหาร จะทำอย่างไร?

แต่ทีมกฎหมายและทนาย ทำได้จริงๆ โดยใช้ความจริงมาสู้ ยืมปากพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เปิดโปงความจริงต่อหน้าประชาชน และตัวแทนทูตจากนานาชาติ

คำให้การของฝ่ายรัฐในศาล
เปิดเผยว่า ใครทำ ใครสั่ง

29 สิงหาคม 2521 สืบพยานโจทก์คือ สิบตำรวจเอกอากาศ…ตำรวจพลร่มค่ายเสือดำหัวหิน ซึ่งเป็นหน่วยสนับสนุนทางอากาศเบิกความว่า ตี 2 วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ได้รับคำสั่งจาก พ.ต.ท.ประเสริฐ…ให้มารวมพลเพื่อเข้ามาปฏิบัติการในกรุงเทพฯ โดยไม่ทราบจุดประสงค์ว่าทำไม เบิกอาวุธประจำกายเป็น HK33 พร้อมกระสุน 70-80 นัด เดินทางมาพร้อมพวก 50-60 คน โดยมี พ.ต.ต.สาโรจน์… และ ร.ต.อ.บุญชัย…เป็นผู้บังคับบัญชา

มาถึงกรุงเทพฯ ในเวลา 6 โมงเช้า ได้รับคำสั่งให้ไปรักษาการณ์ที่ มธ. และบริเวณข้างเคียง

7 และ 14 กันยายน 2521 สืบพยานโจทย์ปากที่ 10 คือ พ.ต.ต.สพรั่ง…สารวัตรแผนกอาวุธและอุปกรณ์พิเศษ (S.W.A.T.) กองกำกับการตำรวจนครบาล พยานให้การว่าได้รับคำสั่งมาจาก พ.ต.ท.ทิพย์…ผกก.สายตรวจปฏิบัติการพิเศษ ให้นำกำลังออกไประงับเหตุที่ มธ. โดยนำกำลังไป 45 นาย มีอาวุธปืน HK33 กระสุน 60 นัด พร้อมระเบิดแก๊สน้ำตา 6 โมงรับคำสั่งให้นำกำลัง 20 กว่าคนไปสังเกตการณ์บริเวณพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เห็นนักศึกษาใช้โต๊ะเป็นที่กำบัง ยิงปืนใส่ฝูงชนที่กำลังฝ่าเข้าไปในมหาวิทยาลัย พยานกลับลงมา เวลา 6 โมงกว่า

ทนายจำเลยซักค้านว่า พยานได้รับมอบหมายให้ไปป้องกันเหตุร้าย แต่ทำไมยกกำลังเข้ากวาดล้างนักศึกษา

พยานให้การว่าได้รับคำสั่งใหม่ให้เข้าเคลียร์พื้นที่ โดยอ้างว่า พล.ต.ท.วิเชียร…เป็นผู้สั่ง จึงเข้าไปพร้อมผู้บังคับบัญชา

คือ พล.ต.ต.เสริม…พ.ต.อ.โกศล…พ.ต.อ.ทิพย์…พ.ต.ท.พิโรธ…พร้อมเจ้าหน้าที่ พยานได้ใช้ปืนยิงไป 24 นัด ตามซอกตึกที่เข้าใจว่านักศึกษายิงออกมา

ทีมวิเคราะห์ได้อ่านคำให้การของพยานหลายคนอย่างละเอียด พอสรุปได้ว่า แม้พยานจะบอกว่าทำนอกเหนือคำสั่งผู้บังคับบัญชา ก็เพื่อตัดตอนไม่ให้ผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ

แต่ถ้าทนายฝ่ายนักศึกษา เรียก นายพัน นายพล ที่เกี่ยวข้องซึ่งรู้ชื่อแล้ว มาเป็นพยาน ถูกซักไม่กี่ที รับรองได้รู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง จากคำให้การมีตำรวจหน่วยพิเศษซึ่งใช้ปราบการก่อการร้าย และ ตชด. จากค่ายนเรศวร ไม่มีหน่วยปราบจลาจล ไม่มีการสกัดฝูงชนที่ถูกปลุกระดมมา แต่กลับช่วยเปิดทางให้บุกเข้าไป

พยานปากสุดท้ายได้ให้การว่า ขึ้นไปบนพิพิธภัณฑ์สังเกตการณ์แล้วกลับลงมาโดยไม่มีการยิงเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยซึ่งขัดกับคำให้การของหน่วย รปภ. ที่รอดชีวิตมาและสภาพศพที่นอนตายอยู่บริเวณถนนและด้านข้างหอประชุมใหญ่

ในยุคนั้นไม่มีการพิสูจน์วิถีกระสุน รายละเอียดของคำให้การจากเจ้าหน้าที่บอกว่าระยะที่นักศึกษาตั้งที่กำบังอยู่ห่างจากพิพิธภัณฑ์ 100-200 เมตรก็ไม่เป็นความจริง เพราะระยะจริงคือ 40-50 เมตร และเป็นไปไม่ได้ว่าคนระดับผู้บังคับกองร้อยจะกลับลงมาข้างล่างและปล่อยให้ลูกน้องกว่าอีก 20 คน ยิงสังหารนักศึกษาที่เป็น รปภ. โดยไม่มีใครสั่งหรือใครรู้ใครเห็น

ที่สำคัญในเวลา 7 โมงเช้า มีพยานคนอื่นได้พบเห็นผู้บังคับบัญชาระดับพลตำรวจโทสองคนอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์

การยิงทำลายหน่วยรักษาความปลอดภัยเพื่อเปิดทางให้หน่วยอื่นบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์คือจุดเปลี่ยนของสถานการณ์ที่ทำให้เกิดการสังหารโหดอย่างนองเลือดกลางเมือง

ถ้าหากฝ่ายตำรวจไม่ต้องการให้เกิดเรื่องแบบนั้น ก็สามารถหลีกเลี่ยงได้ เพราะฝ่ายนักศึกษาได้ตรึงกำลังตั้งแต่ช่วงกลางคืนจนถึงเช้าโดยไม่มีการปะทะกัน

ทั้งยังเตรียมสลายการชุมนุมและมอบตัวอยู่แล้ว ถ้ากำลังตำรวจมาถึงแล้วและปฏิบัติการเหมือนเมื่อครั้งการประท้วงจอมพลประภาสในบ่ายวันที่ 22 สิงหาคม 2519 โดยปิดล้อมมหาวิทยาลัยและให้นักศึกษาเดินออกทางประตูท่าพระจันทร์ทั้งหมด

เรื่องร้ายแรงก็จะไม่เกิดขึ้น

แต่การกระทำที่เกิดขึ้นวันนั้น เห็นชัดว่าเป็นเจตนาต้องการให้เกิดเรื่องเพื่อสร้างสถานการณ์รัฐประหารนั่นเอง ฝ่ายที่วางแผนหวังว่าจะเกิดเรื่องแล้วควบคุมได้ แต่การปลุกระดมทำไว้แรงเกินไป คุมไม่ได้ ผลเลวร้ายจึงออกมาประจานคณะปฏิรูปฯ จนเกิดกระแสต่อต้านทั่วโลก

จะสังเกตได้ว่ายิ่งสืบพยานมากไปเท่าใด แทนที่ฝ่ายนักศึกษาจะเพลี่ยงพล้ำกลับกลายเป็นความจริงถูกเปิดเผยมากขึ้น ใครมาจากหน่วยไหน? ใช้อาวุธอะไร? มาล้อมฆ่านักศึกษา ถ้าได้สืบพยานต่อ ความจริงจะต้องถูกเปิดเผยออกมาลึกกว่านั้นแน่ แต่ฝ่ายที่วางแผนอยู่เบื้องหลัง เป็นตายยังไงก็ไม่ยอมให้เปิดเผย จึงต้องตัดตอน

แนวทางนี้ ทำไม พฤษภาทมิฬ 2535 และเมษายน-พฤษภาคม 2553 ไม่นำมาใช้?… (ต้องต่อตอนหน้า เพราะความยุติธรรมไม่มาง่ายๆ)