เสฐียรพงษ์ วรรณปก : ความเข้าใจที่ผิดพลาดเกี่ยวกับหลักกรรม

หลักกรรมเป็นหลักคำสอนสำคัญของพระพุทธศาสนา แต่น่าประหลาด ชาวพุทธไทยเข้าใจไม่ตรงกับที่ทรงสั่งสอน จะว่าผิดโดยสิ้นเชิงก็ไม่ใช่ แต่ไม่ถูกต้องสมบูรณ์

ความเข้าใจไม่ค่อยถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องนี้ ผมว่ามีอิทธิพลมาจากวรรณคดีไทยส่วนหนึ่ง มาจากการสอนของผู้รู้ (ที่ไม่รู้จริง) อีกส่วนหนึ่ง

เข้าใจผิดกันอย่างไรหรือครับ ผมขอว่าเป็นข้อๆ ดังนี้

1. คนไทยส่วนมากเข้าใจว่า กรรม คือผลของความชั่วร้ายที่เราได้กระทำไว้แต่ชาติปางก่อน

2. เชื่อกันว่า กรรมเป็นกฎสำเร็จรูป ตายตัว ที่เราไม่มีโอกาสแก้ไข หรือทำอะไรไม่ได้ มีทางเดียวคือจำต้องยอมรับ

3. เชื่อว่าทำอย่างใด ต้องได้อย่างนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง

ยกมาแค่ 3 ข้อก็พอ ขอแถลงเป็นข้อๆ ดังต่อไปนี้

1.เรามักเข้าใจผิดว่า “กรรม” คือผลของความชั่วร้าย ที่ทำไว้แต่ชาติก่อน บันดาลให้เราได้มาเกิด มาเป็น อย่างที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เรื่องร้ายๆ และเรื่องใหญ่ๆ เท่านั้น (เช่น ถูกถอดออกจากตำแหน่ง โดนฟ้องร้องติดคุก ไฟไหม้บ้าน…) จึงเรียกว่ากรรม เรื่องเล็กน้อย (เช่น เดินพลาดตกท่อเทศบาลขาแพลง…) ไม่เรียกว่ากรรม

ส่วนผลของความดีที่ทำไว้แต่ชาติก่อนมาบันดาลให้เป็นไป (เช่น อยู่ๆ ก็มีคนมาเชิญให้เป็นนายกฯ…) ไม่เรียกว่ากรรม กลับเรียก “บุญ” จึงมักมีคำพูดว่า “บุญทำ กรรมแต่ง” หรือ “แล้วแต่บุญแต่กรรม” นี่คือความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่

ผิดอย่างไร?

ผิดตรงที่คำว่า “กรรม” มิใช่ผล แต่เป็นเหตุ มิใช่เรื่องที่ล่วงไปแล้ว แต่เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องเลวร้ายอย่างเดียว เรื่องดีๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย และมิใช่เฉพาะเรื่องใหญ่ๆ อย่างเดียว เรื่องเล็กๆ ก็เป็น “กรรม” ด้วย

กรรมคือ การกระทำทางกาย วาจา และใจ ที่มีเจตนาเป็นตัวนำ เราตั้งใจทำ พูด คิดเรื่องใด สิ่งใด ทั้งในแง่ดีและไม่ดี เรียกว่า “กรรม” เช่น

– ผมกำลังพิมพ์ต้นฉบับอยู่ ยุงตัวหนึ่งมากัดผม ผมรำคาญจึงตบให้มันตาย เรียกว่าผมทำกรรมทางกาย เป็นกรรมที่ไม่ดีเรียกว่า “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

– กำลังทำงานง่วนอยู่ ก็มีคนมากดกริ่งอ้างว่ามาจากมูลนิธิการกุศลแห่งหนึ่ง มาขอบริจาค ผมโมโหด่าไปเจ็บๆ แสบๆ ไม่ให้แม้แต่บาทเดียว เพราะคนคนนี้เคยมาขอแล้วขออีก เคยสืบได้ว่าไม่มีมูลนิธิดังกล่าวจริง เรียกว่าผมได้ทำกรรมทางวาจา เป็นกรรมไม่ดีเรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

– อ่านข่าวพบคนที่เป็นศัตรูได้รับตำแหน่งใหญ่โต ผมทนไม่ได้คิดสาปแช่งให้มันพินาศฉิบหายในเร็ววัน อย่างนี้ผมกำลังทำกรรมทางใจ เป็นกรรมไม่ดีเรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

ตกลงวันๆ ผมอาจทำกรรมไม่ดีหลายอย่าง หรืออาจทำกรรมดีอีกหลายอย่างก็ได้ ถ้าเป็นกรรมดี ก็เรียกว่า “กุศลกรรม” หรือ “บุญ” กรรมไม่ดี ก็เรียก “อกุศลกรรม” หรือ “บาป”

เพราะฉะนั้น “บุญ” ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง “บาป” ก็คือกรรมชนิดหนึ่ง ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องเล็กๆ ไปจนถึงเรื่องใหญ่ๆ เป็นเหตุมิใช่ผล เป็นเรื่องปัจจุบัน มิใช่เรื่องที่ล่วงแล้ว

2.ความเข้าใจผิดอีกอย่างหนึ่งก็คือ มักจะเข้าใจว่า กรรมเป็นกฎตายตัว ที่เราแก้ไขไม่ได้ ทางเดียวที่ทำได้คือให้ยอมรับสภาพ “ปลงเสียเถอะ” หรือ “เป็นกรรมของสัตว์” เช่น เกิดมายากจนก็ยอมรับสภาพว่า เราทำกรรมไม่ดีไว้ มาชาตินี้จึงจน แล้วก็ยอมรับสภาพอยู่อย่างนั้น ไม่คิดแก้ไข พัฒนาให้มันดีขึ้น มีแต่ทอดอาลัย หรืองอมืองอเท้า

ความเชื่ออย่างนี้ยังไม่ถูกต้อง พุทธศาสนาสอนว่ากรรมเก่ามีจริง จริงอยู่เราเกิดมาจน อาจเป็นเพราะผลของกรรมเก่าที่เราทำไว้ ทำให้มีผลเกิดมายากจน แต่มิได้หมายความว่า กรรมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขไม่ได้ เราเกิดมาจนเพราะกรรมเก่าส่งผล แต่เราก็สามารถสร้างกรรมใหม่ นั่นคือ พยายามขยันหมั่นเพียรทำงานสร้างเนื้อสร้างตัวอย่างสุดกำลังสามารถ ในที่สุดเราก็อาจเปลี่ยนฐานะจากคนยากจน กลายเป็นผู้มีอันจะกิน หรือร่ำรวยได้

พระพุทธเจ้าสอนให้ยอมรับความจริง แต่ไม่ให้ยอมรับสภาพ ผู้ที่เข้าใจหลักกรรมถูกต้อง เมื่อรู้ว่าความจริงเป็นเช่นนี้ๆ ย่อมจะไม่ยอมรับสภาพ หรือ “ชะงักงัน” อยู่กับที่ หากแต่พยายามแก้ไขปรับปรุง หรือพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นกว่าเดิม

เช่น เกิดมาจน ก็รู้ว่าตนเกิดมาจน อาจเพราะทำกรรมบางอย่างมา ทำให้เราเกิดมาจน

แต่ไม่งอมืองอเท้า หรือจำยอมต่อสภาพนั้น พยายามขวนขวายทำมาหาเลี้ยงชีพด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ในที่สุดก็อาจตั้งเนื้อตั้งตัวได้

อย่างนี้จึงจะเป็นความเชื่อเรื่องกรรมที่ถูกต้อง

3.ประการสุดท้าย คนมักเข้าใจว่า ทำกรรมอย่างใด ย่อมต้องได้รับผลเช่นนั้น ทำกรรมดีต้องได้รับผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำกรรมชั่วต้องได้รับผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีเปลี่ยนแปลง นี่ก็เข้าใจไม่ถูกต้องเช่นกัน

ไม่ถูกต้องอย่างไร

ขอเรียนว่า การพูดอะไรตายตัวร้อยเปอร์เซ็นต์นั้น มิใช่แนวทางของพระพุทธศาสนาดังในกรณีเรื่องตายแล้วเกิด ถ้าพูดในแง่เดียวว่า ตายแล้วต้องเกิด หรือตายแล้วต้องดับสูญ อย่างนี้ก็ไม่ถูกเช่นกัน

เพราะตายแล้วเกิดก็มี คือปุถุชนคนมีกิเลส ตายแล้วย่อมเกิดอีก เพราะยังมี “เชื้อคือกิเลส” ทำให้เกิดอยู่ ตายแล้วไม่เกิดก็มี คือพระอรหันต์ เพราะหมด “เชื้อ” ดังกล่าวแล้ว

จะพูดโดยแง่เดียวว่า ตายแล้วต้องเกิดหมดทุกคน หรือตายแล้วไม่เกิดทั้งหมดเลย อย่างนี้ไม่ได้ดอกครับ

ผู้ทำกรรมดีย่อมได้รับผลดี ผู้ทำกรรมชั่วย่อมได้รับผลชั่ว นี่จริงแน่นอน แต่มิได้หมายความ “ทำอย่างใดต้องได้อย่างนั้น”

นาย ก. ยิงเขาตาย ตายไปเกิดชาติหน้า นาย ก. ไม่จำเป็นจะต้องถูกเขายิงตาย

นาง ข. เอาไข่เค็มใส่บาตรทุกวัน นาง ข. ตายไปเกิดใหม่ ก็ไม่จำเป็นจะต้องกินไข่เค็มทุกมื้อ เช่นเดียวกัน (ขืนเป็นอย่างนี้ก็เค็มตายสิครับ)

แน่นอน นาย ก. ทำความชั่ว นาย ก. ย่อมได้รับผลสนองในทางชั่ว แต่ไม่จำต้องถูกยิงตาย อาจเป็นผลคล้ายๆ กันนั้น ผลที่หนักพอๆ กับกรรมนั้น

นาง ข. ทำความดี นาง ข. ย่อมได้รับผลสนองในทางดี แต่ไม่จำต้องกินไข่เค็มทุกวัน อาจได้ผลดีอย่างอื่น ที่มีน้ำหนักพอๆ กันกับกรรมนั้น

อย่างนี้พระท่านว่า “ได้รับผลสนองที่คล้ายกับกรรมที่ทำ” (กัมมะสะริกขัง วิปากัง = ผลกรรมที่คล้ายกับกรรมที่ทำ)

ผลกรรมคล้ายกับกรรมที่ทำอย่างไร? ผมขอยกเรื่องจริงมาให้ดูสักสองเรื่อง

เรื่องที่หนึ่ง นางโรหิณีน้องสาวท่านอนุรุทธเถระ เป็นโรคผิวหนังอย่างแรง รักษาเท่าใดก็ไม่หาย

ต่อมาพระอนุรุทธเถระผู้พี่ชาย แนะนำให้ทำบุญด้วยการกวาดลานวัด ปัดกวาดเช็ดกุฏิ แล้วโรคก็หาย มีพระกราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า นางทำกรรมอะไรไว้ในชาติก่อน

พระองค์ตรัสว่า ชาติก่อนเป็นมเหสีกษัตริย์องค์หนึ่ง หึงสาวนักฟ้อนที่พระเจ้าแผ่นดินโปรดปรานมาก โดยเอาผงหมามุ่ยไปโรยใส่เครื่องแต่งตัวหญิงนักฟ้อน จนนางถูกผงหมามุ่ยกัดคันทรมานมาก

มเหสีจอมขี้หึงก็หัวเราะด้วยความสะใจ “สามีข้าใครอย่าแตะนะเว้ย” มาชาตินี้นางจึงเป็นโรคผิวหนังร้ายแรง

กรรมที่นางทำคือ เอาผงหมามุ่ยไปโรยหญิงนักฟ้อน ผลกรรมที่นางได้รับ มิใช่ต้องถูกคนอื่นเอาผงหมามุ่ยมาโรยตอบ

แต่เป็นผลกรรมที่คล้ายกันคือ เกิดมามีผิวหนังตะปุ่มตะป่ำ และคัน ดุจถูกผงหมามุ่ย

เรื่องที่สอง เรื่องนี้เขาเล่ามา เลยเอามาเล่าต่อ นายคนหนึ่งมีสวนกล้วยอยู่ชายป่า พอกล้วยสุกคาต้น ฝูงลิงก็มากินเกือบหมดทุกครั้ง เจ็บใจมาก

วันหนึ่งจึงดักจับได้ลิงตัวหนึ่ง เอาลวดมามัดมือมันแล้วปล่อยไป ลิงพยายามดึงมือเพื่อให้หลุด ยิ่งดึงลวดยิ่งบาดลึกลงไปทุกที เลือดไหลแดงฉานร้องโหยหวน วิ่งเข้าป่าหายไป

นายคนนี้สะใจที่ได้แก้แค้น กาลเวลาผ่านไปเขาได้ลูกชายมาคนหนึ่ง มือสองข้างแป นิ้วติดกันยังกับตีนเป็ด ลูกคนที่สองที่สามเกิดมาพิการ เช่นเดียวกันยังกับแกะออกมาจากพิมพ์เดียวกัน

กรรมที่เขาทำคือ เอาลวดมัดมือลิง ผลกรรมที่เขาได้รับ มิใช่ว่าเขาถูกคนมัดมือ

แต่ผลกรรมที่คล้ายกันคือ เขาได้ลูกมาแต่ละคนมือพิการนิ้วติดกัน ดุจดังทำความพิการแก่มือลิง

สรุปก็คือ เราทำอย่างใด ไม่จำเป็นต้องได้อย่างนั้น แต่เราอาจได้ผล “คล้าย” อย่างนั้นครับ

อีกประเด็นหนึ่งก็คือ ทำดีไม่จำต้องได้ผลดีร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำชั่วไม่จำต้องได้ผลชั่วร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำดีได้ผลดีหรือทำชั่วได้ผลชั่วแน่ แต่ไม่ใช่ “ต้องได้เต็มที่” เป็นแต่เพียงแนวโน้มที่จะได้รับผลนั้นมากที่สุดเท่านั้น ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอย่างอื่นที่จะมาเบี่ยงเบน หรือผ่อนปรนด้วย

ขอยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย สมมติว่า ผมออกจากบ้านมุ่งหน้าจะไปนครปฐม ทันที่ที่ผมขับรถออกจากบ้าน แนวโน้มที่ผมจะถึงนครปฐม ย่อมมีมากเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ไม่ครบร้อยดอกครับ อาจมีเงื่อนไขอย่างอื่นที่ผมไปไม่ถึงนครปฐมก็ได้ เช่น รถตายกลางทาง หรือผมเกิดขี้เกียจเลี้ยวรถกลับเอาดื้อๆ ก็ได้

กรรมที่ทำก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ แนวโน้มที่จะให้ผลมีมาก แต่ไม่จำเป็นต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ถึงขนาดใช้คำว่า “ต้อง” มันขึ้นกับเงื่อนไขอย่างอื่นด้วย

คัมภีร์ท่านเปรียบกรรมเหมือนหมาไล่เนื้อ คนทำกรรมเหมือนเนื้อ หมาไล่เนื้อทันเมื่อใดมันก็กัดทันที โอกาสที่หมาจะไล่ทันเนื้อมีมากอยู่ แต่ไม่ถึงกับร้อยเปอร์เซ็นต์

บางครั้งบางที เนื้อก็อาจหลุดรอดไปได้ก็มี ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่นที่มาแทรกด้วย