เศรษฐีใหม่ในไทย กับอิทธิพลของ “ความขาว”

การประกาศรายชื่อเศรษฐีไทย 50 อันดับประจำปี 2018 ของนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

กับข่าวการจับกุมและตั้งข้อหากับผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ “เมจิก สกิน” ที่เกิดต่อเนื่องกัน

มีความสอดคล้องกันประการหนึ่ง

นั่นคือ เป็นเครื่องยืนยันเป็นอย่างดีว่า คนไทยกับอีกหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย คลั่งไคล้ “ความขาว” กันมากมายเพียงใด

กรณีเมจิก สกินก็ดี หรือการบุกทลายแหล่งผลิตครีมหน้าขาว ครีมผิวขาว ผิดกฎหมายแหล่งใหญ่ที่เกิดขึ้นตามมา สะท้อนให้เห็นว่าครีมประเภทนี้ทำเงินมากมายมหาศาลขนาดทำให้หลายคนที่หวังรวยทางลัดหันมาทำขายกันเกร่อ

นาซนีน คาร์มาลี ผู้สื่อข่าวให้ฟอร์บส์ ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วยการเปิดเผยว่า หนึ่งในจำนวนเศรษฐีใหม่ของคนไทย 4 คนใน 50 รายชื่อของฟอร์บส์ มีอยู่หนึ่งรายที่ร่ำรวยด้วยการพัฒนาสินค้าประเภท “สกิน-ไวเทนนิ่ง” ที่ดำเนินกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มีเครื่องหมายการค้าที่เป็นที่รู้จักกันดีชื่อ “สเนลไวท์”

นั่นคือ สราวุฒิ พรพัฒนารักษ์

 

สราวุฒิถูกจัดอยู่ในอันดับ 45 ของคนที่รวยที่สุดในไทยใน พ.ศ.นี้ของฟอร์บส์ มูลค่าสินทรัพย์ที่มีการประเมินไว้ว่าอยู่ที่ 675 ล้านดอลลาร์

นาซนีนบอกไว้ชัดเจนว่า เข้ามาอยู่ใน 50 อันดับแรกของคนรวยในไทยได้หลังจากนำบริษัท ดู เดย์ ดรีม เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วราคาหุ้นขยับขึ้นถึง 82 เปอร์เซ็นต์จากการเสนอขายครั้งแรกเมื่อปี 2560 ด้วยผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งหลายที่มียอดขายถึงปีละ 54 ล้านดอลลาร์ หรือราวๆ 1,730 ล้านบาท

มีอัตราการขยายตัวสูงถึง 56 เปอร์เซ็นต์ต่อปี

รายงานของนาซนีนระบุว่า ครอบครัวของสราวุฒิเป็นเจ้าของกิจการผลิตสีพ่นรถยนต์ แต่หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกในประเทศ เขาหันมาจับมือกับเพื่อน 4 คนก่อตั้งบริษัทผลิตผลิตภัณฑ์บำรุงผิวเป็นของตนเอง

ควบคู่ไปกับการทำงานบริหารให้กับกิจการของครอบครัว

ด้วยตระหนักในข้อเท็จจริงที่ว่า สีพ่นรถยนต์นั้นกำไรสุทธิยังไงก็ไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ แต่เครื่องสำอางกลับมีกำไรสุทธิ “มากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์” เขาบอกกับฟอร์บส์ไว้อย่างนั้น

 

สราวุฒิบอกว่า ได้ไอเดีย “ครีมเซรั่มหอยทาก” มาจากเกาหลีใต้ ครีมชนิดนี้โด่งดังมากที่นั่น แต่มีความเหนียวและความมันมากเกินไปจนไม่เหมาะกับสภาพอากาศร้อนชื้นในบ้านเรา

ทำให้เขาคิดพัฒนาครีมที่มีส่วนผสมเป็นเมือกของหอยทากเหมือนกันแต่เบาบางกว่า ซึมเข้าสู่ผิวได้เร็วกว่าเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย แล้วเพิ่มเติมสารที่ทำให้ผิวขาวขึ้นลงไปด้วย

ที่น่าสนใจก็คือ สราวุฒิจริงจังมากกับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เขาบอกกับฟอร์บส์ว่า ต้องใช้เวลาในการทดลองและพัฒนาถึง 8 เดือน ได้ครีมทดลองออกมาไม่น้อยกว่า 100 เวอร์ชั่น ถึงจะผลิตผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ในที่สุด

สราวุฒิเริ่มขาย “สเนลไวท์” เมื่อปี 2013 ทำการตลาดผ่านโซเชียลมีเดียเป็นหลัก ปีแรกทำยอดขายได้ 3 ล้านดอลลาร์ หลังจากนั้นจึงเริ่มขยับขยายออกมาสู่ร้านค้าปลีกทั้งหลายและเริ่มโฆษณาสินค้าในสื่อทั่วไป ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และอื่นๆ

ประสบความสำเร็จจนต้องบอกลากิจการของครอบครัวมาปักหลักทำกิจการของตัวเองอย่างเป็นงานเป็นการเมื่อปี 2015

 

ถึงตอนนี้ “สเนลไวท์” มีผู้ลอกเลียนแบบเกลื่อนจนต้องติดสติ๊กเกอร์ป้องกันการปลอมแปลงและติดตั้งคิวอาร์โค้ดในผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเพื่อไม่ให้เหมือนกับของปลอมทั้งหลาย

ที่น่าทึ่งก็คือ 30 เปอร์เซ็นต์ของยอดขายสเนลไวท์ มาจากบรรดานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้ามาเที่ยวในไทยและพากันซื้อหากลับไปเป็นจำนวนมาก กลายเป็นสินค้า “ฮิต” ที่ต้องมีประจำสนามบินสุวรรณภูมิ

นั่นทำให้สราวุฒิต้องยื่นขออนุมัติอย่างเป็นทางการจากสำนักงานอาหารและยาของจีน และได้รับอนุมัติมาเรียบร้อยแล้ว ทำให้สามารถส่งสเนลไวท์ไปขายในจีนได้มากขึ้นผ่านผู้จัดจำหน่ายท้องถิ่นในจีน

ฟอร์บส์อ้างข้อมูลของบริษัทวิจัยด้านการตลาดชื่อดังอย่างนีลเซน ระบุเอาไว้ว่า ตลาดครีมสำหรับใบหน้าในประเทศไทยมีมูลค่ารวม 320 ล้านดอลลาร์ ราวครึ่งหนึ่งในจำนวนนั้นเป็นมูลค่าของครีมทาเพื่อให้หน้าขาว โดยเฉพาะความนิยมในระดับคลั่งไคล้ทำนองนี้ไม่ได้จำกัดอยู่ที่ไทย แต่ยังระบาดไปถึงหลายประเทศในเอเชีย ตั้งแต่จีน เกาหลีใต้ เรื่อยไปจนถึงอินเดีย

ถึงขนาดที่อินเดียต้องมีการจัดตั้งองค์การไม่แสวงกำไรขึ้นมาเพื่อต่อต้านอิทธิพลของความขาวโดยเฉพาะ เรียกว่า “วีเมน ออฟ เวิร์ธ” ซึ่งรณรงค์เรื่อง “ดาร์ก อีส บิวตี้ฟูล” มาช้านานแล้วจนประสบผลสำเร็จในการกดดันให้มี “แนวทางเข้มงวด” ออกมาเพื่อจำกัดการโฆษณาสินค้าที่ชู “ความขาว” นี้โดยเฉพาะ

“ความขาว” ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่อยู่ในเมืองไทยในเวลานี้ครับ