วงค์ ตาวัน : อย่าปฏิรูปเพียงแค่ตำรวจ

วงค์ ตาวัน

ประเทศเป็นบ้าน ทหารเป็นรั้ว…บ่งบอกความสำคัญของกองทัพ ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องอธิปไตย รักษาเขตประเทศไม่ให้ใครมารุกล้ำ ไปจนถึงต่อสู้กับข้าศึกศัตรูเพื่อให้ประชาชนได้อยู่กันอย่างสงบสุข เหล่านี้คือภารกิจอันยิ่งใหญ่มีเกียรติศักดิ์ศรีของเหล่าทหารหาญ

แต่ที่ผ่านมา ความเป็นไปในบ้านเมืองเรา เกิดสภาพที่เรียกกันว่าวงจรอุบาทว์ ทำให้การเมืองและประชาธิปไตยวนเวียนเหมือนพายเรือในอ่าง

มีสาเหตุมาจากหลายประการ มาจากความผิดพลาดของหลายๆ ฝ่าย

“แต่ส่วนหนึ่งก็คือ มีการนำกองทัพมาใช้ในทางที่ผิด”

นั่นคือ นำเอากองทัพมาใช้แทรกแซงแก้ปัญหาการเมือง ซึ่งเอาเข้าจริงกับเพิ่มปัญหาให้กับพัฒนาการเมืองไทยเสียมากกว่า

เมื่อเกิดข้ออ้างว่าการเมืองมีความขัดแย้งจนตกลงกันไม่ได้ เมื่อเกิดข้ออ้างว่านักการเมืองโกงกินคอร์รัปชั่นจนประเทศชาติจะไปไม่ไหว

“ก็ใช้ทหารเข้ามาก่อรัฐประหาร!”

แต่ทุกครั้งที่มีการปฏิวัติยึดอำนาจ นั่นคือ ทำให้การเมืองต้องถอยหลังกลับไปไกล ก่อนจะต้องมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่ ซึ่งนี่คือ การฉุดพัฒนาการเมืองอย่างร้ายแรงที่สุด

แทนที่จะปล่อยให้ประชาธิปไตยเดินต่อไปเรื่อยๆ ประชาชนมีส่วนร่วม มีความตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันเรียนรู้ และร่วมกันยกระดับ

“นั่นจะเป็นหนทางทำให้การเมืองไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนและมั่นคง”

การรัฐประหารหนสุดท้ายเกิดขึ้นในเดือนนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้ว

โดยต้นเหตุที่มา เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร ที่ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544 กับกลุ่มอำนาจเก่าของสังคมไทย ที่หวาดระแวงนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีเสียงสนับสนุนมากมายกว้างขวางอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบท

จนนำมาสู่การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เพื่อหยุดทักษิณให้ได้ แต่หลังจากนั้นเมื่อมีการเลือกตั้ง พรรคฝ่ายทักษิณก็ยังชนะอีกหลายครั้ง

จนกระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมือง โดยผ่านดีลลับ ส่งผลให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ขึ้นเป็นนายกฯ โดยการโหวตในสภาเมื่อเดือนธันวาคม 2551

“แต่เบื้องหลังก็ดังที่เปรียบกันว่า เป็นนายกฯ ที่เกิดในค่ายทหาร จากนั้นมารัฐบาลอภิสิทธิ์ ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นคนเดินหมากสำคัญ ก็บริหารประเทศโดยมีความใกล้ชิดกับกองทัพอย่างมาก”

ทำให้ฝ่ายเสื้อแดงจัดชุมนุมในปี 2553 เพื่อเรียกร้องให้ยุบสภา ด้วยข้ออ้างที่ว่าเป็นรัฐบาลที่มีที่มาไม่ชอบธรรม

แทนที่จะใช้ตำรวจปราบจลาจลเข้าแก้ไขการชุมนุม ตามหลักสากล และเป็นไปตามมติรัฐบาล อานันท์ ปันยารชุน หลังเหตุการณ์พฤษภามทิฬ 2535 ที่ห้ามใช้ทหารปราบม็อบอีก

แต่แล้วรัฐบาลอภิสิทธิ์ อาศัยข้ออ้างว่ามีผู้ก่อการร้ายในม็อบ ใช้อำนาจ ศอฉ. ใช้ทหารเข้าสลายม็อบ จนนำมาสู่เหตุการณ์ 99 ศพ ซึ่งไม่มีผู้ก่อการร้ายตายแม้แต่ศพเดียว และเป็นความบาดหมางที่ยังดำรงอยู่จนถึงวันนี้

“นั่นก็เป็นอีกครั้งอีกเหตุการณ์ ที่ใช้บริการทหารในทางที่ผิด”

ต่อมามีการเลือกตั้งปี 2554 ยิ่งลักษณ์ได้เป็นนายกฯ ด้วยชัยชนะถล่มทลาย

แล้วก็เกิดการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนำโดย นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ต่อมานายอภิสิทธิ์และแกนนำประชาธิปัตย์ก็เข้าร่วม

เริ่มจากต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเหมาเข่ง แต่ต่อมาเมื่อรัฐบาลยอมถอยเรื่องนิรโทษ และยอมยุบสภา เพื่อให้เลือกตั้งใหม่

แกนนำม็อบนกหวีดกลับยืนยันยังไม่เลือกตั้ง ขอปฏิรูปก่อน นั่นก็คือ นำไปสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ จนถึงวันนี้!

ในการเลือกตั้งที่ควรจะเกิดขึ้นภายในปี 2562 มีเสียงเรียกร้องจากนักประชาธิปไตยว่า บทเรียนจากการครองอำนาจของรัฐบาลทหาร คสช. ยาวนานหลายปี จึงควรมีการปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจังเสียที

ปฏิรูปเพื่อให้กองทัพทำหน้าที่เป็นหลักของบ้านเมือง อันมีเกียรติศักดิ์ศรี ในด้านการปกป้องอธิปไตยและความมั่นคงของประเทศ

โดยไม่มีใครนำกองทัพมาใช้ในทางที่ผิดไปจากภารกิจหลักอีก นั่นคือ ไม่ให้เข้ามาเกี่ยวข้องการเมือง รวมถึงต้องไม่นำมาควบคุมสถานการณ์ชุมนุมประท้วงในเมืองอีก

“กองทัพจะได้ไม่เกิดข้อขัดแย้งกับฝ่ายใดๆ ไม่เป็นคู่กรณีกับนักการเมือง หรือกับมวลชนที่ชุมนุมประท้วงทางการเมือง”

มีข้อเสนอเรื่องการปฏิรูปภายในกองทัพ

โดยปรับการถ่วงดุลอำนาจ ระหว่างกระทรวงกลาโหม กับ 3 เหล่าทัพเสียใหม่

“เช่น ให้ปลัดกระทรวงกลาโหม มีความสำคัญมากขึ้น มีอำนาจมากขึ้น ไม่ใช่ตำแหน่งลอยๆ!”

โดยวิธีการคือ เปลี่ยนอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของทุกเหล่าทัพ มารวมไว้ที่ปลัดกลาโหม หรือตำแหน่งอื่นๆ ในสังกัดกลาโหม

ส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพต่างๆ ยังคงมีอำนาจในการคุมกำลังพลต่อไปเหมือนเดิม

แต่เมื่ออำนาจการจัดซื้อจัดจ้าง ย้ายไปขึ้นกับกลาโหมทั้งหมด

“จะทำให้ตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหม หรือตำแหน่งอื่นๆ ในสังกัดกลาโหม มีความสำคัญมากขึ้น สามารถถ่วงดุลกับ ผบ.เหล่าทัพต่างๆ ได้”

กล่าวกันว่า ข้อเสนอนี้ จะทำให้กองทัพได้รับการปฏิรูปไปในทิศทางใหม่

อำนาจภายในจะมีการถ่วงดุลกันเองมากขึ้น

เหนืออื่นใดทั้งหมด ต้องปฏิรูปเพื่อให้กองทัพ ไม่ถูกนำมายุ่งเกี่ยวในภารกิจอื่น ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองและต้องไม่มีการรัฐประหารเกิดขึ้นอีก

ด้วยข้ออ้างต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เพื่อทำให้การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้นเร็วนัก ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ในยุครัฐบาล คสช. ก็มีแต่การพูดถึงการปฏิรูปเพียงไม่กี่เรื่อง เน้นไปยังการปฏิรูปพรรคการเมือง ปฏิรูประบบการเมือง ไปจนถึงการปฏิรูปตำรวจ

เพราะตำรวจเป็นองค์กรที่แตะต้องได้ง่ายที่สุด

จริงอยู่ตำรวจเป็นหน่วยงานที่ใกล้ชิดประชาชน มีอำนาจหน้าที่ในการรักษากฎหมาย และมีเรื่องกระทบกระทั่งกับชีวิตชาวบ้านในทุกๆ วันมากที่สุด

“พอเอ่ยคำว่าจะปฏิรูปตำรวจ ก็มักมีแต่เสียงขานรับ”

แต่เมื่อมีการศึกษาปัญหาตำรวจจริงๆ มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปฏิรูปตำรวจอย่างเป็นเรื่องเป็นราว เหล่าผู้มีหน้าที่ได้เรียนรู้ศึกษาปัญหาตำรวจ ก็จะพบว่า หากเอาเป้าหมายการเมืองมาเป็นตัวตั้ง ก็จะทำให้การปฏิรูปตำรวจผิดทิศผิดทาง เพราะมุ่งจะลดอำนาจตำรวจ ทำให้เป็นหน่วยงานที่เล็กลง

“ขณะที่เอาเข้าจริงๆ จุดสำคัญที่สุดคือ ต้องทำให้ตำรวจ สามารถทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในทุกๆ วันได้มากที่สุดพร้อมที่สุด!”

อาจจะลดหน่วยงานหรือภารกิจที่ไม่ใช่งานหลักของตำรวจลงไปได้ แต่สำหรับหน่วยที่มีอำนาจด้านดูแลปราบปรามโจรผู้ร้าย ควรต้องขยายเพิ่มขึ้น และเสริมประสิทธิภาพให้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนเป็นสำคัญ

แต่เหนืออื่นใด ตำรวจไม่ใช่ปัญหาใหญ่ปัญหาเดียว ไม่ใช่เป้าหมายที่จะต้องปฏิรูปให้ได้อย่างเอาเป็นเอาตาย

“มีองค์กรอื่นๆ ที่ควรจะต้องปฏิรูปมากกว่า”

อย่าเอาแต่พูดเรื่องปฏิรูปตำรวจเท่านั้น

แต่การปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้เป็นองค์กรที่มีเกียรติศักดิ์ศรี ไม่นำมาใช้ในทางการเมือง

เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประชาธิปไตยได้ต่อเนื่อง ไม่สะดุด

เป็นเรื่องจำเป็นมากกว่าด้วยซ้ำ!