ปอกเปลือกทุรสมัย เปลือยใจ “เวฬุ เวสารัช” ผ่านหนังสือ “ถ้าพอ…จะเรียกมันว่าบทกวี”

เวฬุ เวสารัช

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์ “เวฬุ เวสารัช” โดย “สิรนันท์ ห่อหุ้ม” กับผลงานรวมบทกวีที่มีชื่อว่า “ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี”

13615072_1246964191994358_7625517253115512854_n

หนังสือรวม 50 บทกวีคัดสรรของ กวี นักเขียน นักหนังสือพิมพ์หนุ่ม ซึ่งในเล่มประกอบด้วยบทกวีฉันทลักษณ์เปิดเรื่องในแต่ละภาค ก่อนจะต่อด้วยบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่พูดถึงปัญหาประเด็นสังคมหนัก ๆ กระแทกอารมณ์อย่างตรงไปตรงมาด้วยภาษาและการเปรียบเทียบ การตั้งคำถามกับขนบ จารีต และความไม่เป็นธรรม คือสิ่งที่ถูกถ่ายทอดออกมาในแต่ละภาคซึ่งมีชื่อคล้องจองกันเป็นบทกวีได้แก่ ภาค 1. ทุรยุคอุบัติ ภาค 2. อสัตย์มธุรส, ภาค 3. ผองชนตื่นขบท , ภาค 4. ปรากฏสัจจะ

จุดเริ่มต้นในการเขียนบทกวีเริ่มจากอะไร ทำไมถึงใช้นามปากกา ไม่ใช้ชื่อจริงเหมือนเรื่องสั้น?
แรกสุดเลยย้อนไปวัยเด็ก ครอบครัวก็ไม่ได้ปลูกฝังเรื่องการอ่านหรือมีหนังสืออะไรให้อ่านมากนักหรอกนอกจากวารสาร “กำนันผู้ใหญ่บ้าน” ของพ่อ ที่จะมีเรื่องปกิณกะ กลอนที่ไม่รู้ว่าเพราะหรือเปล่า (ฮา) จำไม่ได้แล้ว สักช่วงประมาณ ม.2-3 ผมเริ่มสนุกกับวิชาพวกวรรณคดี กาพย์ กลอน ต่างๆ อ่านแล้วชอบ แม้บางศัพท์ต้องแปลไทยเป็นไทย แต่เวลาครูหาอาสาสมัครให้ลุกขึ้นยืนอ่านในห้องเรียน คือจริงๆ ก็อ่านไปพร้อมๆกันนั่นแหละ ผมก็จะอาสานำอ่านตลอด จนครูภาษาไทยชื่นชอบ ที่นี้ เวลาประกวดเขียนกลอนอะไรครูก็ให้เราลอง แต่ก็ไม่เคยได้รางวัลอะไรหรอก แต่จำได้ว่าเคยส่งเวทีแบบเด็กๆหลายเวทีเหมือนกัน

เวลาผ่านมาเรื่อย แทบไม่เคยคิดว่าจะกลับมาเขียนสิ่งที่เรียกว่าบทกวีอยู่แล้ว กระทั่งช่วงการเมืองวุ่นๆ ก็อยากลองสื่อสารแบบนี้บ้าง เขียนครั้งแรกเลยก็ตอนช่วงมีการทวงคืนปราสาทพระวิหาร สมัยพันธมิตรฯ ยึดทำเนียบ เขียนเป็นชุดเลยนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ประเด็นเรื่องเส้นแบ่งเป็นส่ิงสมมติ เรื่องไทย-เขมรล้วนเครือญาติกัน ฯลฯ สรุปคือเขียนเรื่องในประเด็นที่ว่าสถานการณ์โลกวันนี้ไม่ใช่การต้องมาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของอะไรแล้ว ส่งไปให้มติชนสุดสัปดาห์พิจารณาในช่วงนั้น ก็ปรากฏว่าได้รับการตีพิมพ์ หลายชิ้น ก็ติดใจทำมาตลอด แต่ช่วงที่เขียนหนักสุดน่าจะเป็นหลังจากที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม กปปส. ต่อเนื่องถึงการรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ซึ่งเห็นว่ามันไม่ใช่วิถีทางประชาธิปไตย ผมเบื่อ อึดอัด เซ็ง ถอนหายใจซ้ำๆกับการอ่านข่าวรายวันช่วงนั้น เลยเขียนระบาย(แม่ง)เลย

ส่วนเรื่องนามปากกา ตั้งใจไว้แต่แรกแล้วว่า ถ้าเป็นงานกวีนิพนธ์จะไม่ใช้ชื่อจริง ง่ายๆ เลยคือ เห็นกวีส่วนใหญ่เขามีนามปากกาเท่ๆ ก็เลยอยากมีบ้างนั่นแหละ ทีนี้เอาไงล่ะ คิดชื่อ อยากเท่บ้าง แต่ก็คิดไม่ออก สุดท้าย หยิบพจนานุกรมฉบับมติชน มาสุ่มเปิดเลย เปิดปุ๊บ หน้า 814 มีคำว่า “เวสารัช” กับ “เวฬุ” ที่ดูเท่ดี ความหมายดี “เวสารัช” แปลว่า ความเป็นผู้กล้าหาญ ส่วน “เวฬุ” แปลว่าป่าไผ่ เออวะ เท่ดี เอามาใช้เป็นนามปากกาเลย โดยรวมก็เลยน่าจะแปลว่า “ความเป็นผู้กล้าหาญในป่าไผ่” น่าจะเป็นพวกนักเก็บหน่อไม้มั้ง (ฮา)

บทกวีสามารถสื่อได้ถึงอะไร และมีหน้าที่ยังไงต่อคนเขียน และคนอ่าน?
สำหรับผมแล้วเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง เป็นอันดับหนึ่งเลย ว่ามันต้องเป็นอารมณ์นี้จริงๆ สุข เศร้า เหงา รันทด เจ็บปวด ฯลฯ เริ่มจากอารมณ์แล้วคำ และเสียงในหัวก็จะไหลตามมา โอเค อาจถามว่าไม่มีเหตุผลกำกับหรือ คือจริงๆแล้วเหตุผลเป็นเรื่องของวุฒิภาวะ ประสบการณ์ที่เราสั่งสมมาจากแต่ละขวบปีหรือแต่ละเรื่องที่ได้พานพบ พอมาเจอเรื่องนั้นเรื่องนี้ เราจะมีเหตุผลกับมันอย่างไรก็ชัดเจนอยู่แล้วตั้งแต่ต้น แต่ฉับพลันนั้นมันจะแสดงออกมาเป็นอารมณ์ด้วย

มันก็เลยตอบสนองหน้าที่คนเขียน สำหรับผมคือการระบายอารมณ์ ต่อคนอ่านก็คงจะเป็นการที่ว่าต่อเหตุการณ์นั้นๆ เรื่องนั้นๆ คุณจะได้รู้ว่าไอ้คนเขียนที่คุณพอจะเรียกว่ากวี สวมหมวกเบเรต์ เดินยืดคนนี้ คนนั้น คนโน้น มันคิดอย่างไร และมีอารมณ์แบบไหน

13876612_1044690775618806_8535635963336306393_n

รวมบทกวีเล่มนี้ ด้วยแนวคิดหรือแรงบันดาลใจ หรือแรงกระตุ้นแบบไหน ที่บอกว่าทำให้อึดอัด คับข้องใจ จนต้องเขียนออกมา?
อย่างที่บอกว่าเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ทีนี้พอถึงราวปี 2556-2557 ที่เริ่มมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า “กปปส.” ซึ่งเป็น “คนดี” ในวงเล็บนะ ออกมาชุมนุมหลังกรณีนิรโทษกรรมเหมาเข่ง ซึ่งผมก็คัดค้านเรื่องเหมาเข่งนะ แต่พอทีนี้ได้คืบจะเอาศอก เรียกร้องนายกยุบสภา ยุบแล้วไม่พอใจให้ลาออก ซึ่งมันทำไม่ได้ มันมีกฎหมายกำหนด เขาก็บอกจะเอานายกตาม มาตรา 7 ผมก็เริ่มรู้สึกว่า เอาแล้ว มันจะอะไรกันนักกันหนา แล้วก็อย่างที่เราได้รับรู้ในข่าว คือปิดถนนสนุกสนาน ขวาง-ล้มเลือกตั้ง เป่านกหวีดจนที่สุดทหารก็ออกมายึดอำนาจ

พอทหารยึดอำนาจ ก็อย่างที่เป็นภายใต้วาทกรรม “คืนความสุข” ถามว่าเรามีความสุขจริงมั้ย สำหรับผมแล้วไม่เลย ตลอด 2 ปีมานี้ผมยิ้มให้ตัวเองในกระจกแทบทุกวัน ก่อนที่จะเดินทางมาทำงานแล้วนั่งอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ จากนั้นก็ได้พบว่ารอยยิ้มเมื่อเช้ามันหดเล็กลงเรื่อยๆ เรื่อยๆ จนกลายเป็นหน้าบึ้ง

อึดอัดกับไอ้ 2 ช่วงนี่แหละ ยิ่งรับรู้ข่าวสารยิ่งอึดอัด เบื่อ เซ็ง แต่ในฐานะนักข่าวมันเลี่ยงไม่ได้ไง ก็เลยคิดว่า เอาวิธีนี้แล้วกัน อ่าน อ่าน อ่าน เสพ เสพ เสพ ให้มันแน่นเลยดูสิจะรู้สึกยังไง แล้วก็ระบายมันออกมาด้วยการเขียนนี่แหละ คือเหมือนโรคจิตนะ ยิ่งเบื่อ เซ็ง ก็ยิ่งอ่าน ตามข่าว เติมลมให้ลูกโป่งพองโตไปเรื่อยพอแตก ตูม ! กลายเป็นบทกวี (ฮา)

ถ้าพอจะเรียกมันว่าบทกวี แบ่งออกเป็นสี่ภาค ความแตกต่างของแต่ละภาคมีความหมายอย่างไร ทำไมต้องแบ่งแบบนั้น?
บทกวีแต่ละชิ้นผมเขียนจากเหตุการณ์ มีข่าวที่ติดตามผมก็เขียนออกมาชิ้นหนึ่ง เป็นแบบนี้ ทีละชิ้น ทีละบท จนได้ปริมาณที่มันมากพอและมีความคิดที่จะรวมเล่มนี่แหละ ก็เลยมานั่งดูอีกครั้ง แล้วคำว่า “ทุรยุค” ก็ผุดวาบขึ้นมาในหัว ก็ยังไม่อะไร ไล่อ่านไปเรื่อยๆ เห็นว่ามันมีเรื่องโกหก เรื่องผู้นำป้อนคำหวานอันไม่อาจทำได้เยอะจัง แล้วก็มีเรื่องนักศึกษาออกมาประท้วง ตอนนี้แหละได้แล้ว คิดแต่ละภาคได้เลย 4 ภาค อ่านรวมกันก็เป็น 1 บทกวี คือ ทุรยุคอุบัติ อสัตย์มธุรส ผองชนตื่นขบถ ปรากฏสัจจะ

ความแตกต่างของแต่ละภาคก็ตามชื่อนั้นเลย แรกจะพูดถึงปัญหาต่างๆในยุคสมัยนี้ ต่อคำหวานของท่านผู้นำที่วันนี้ก็ยังเป็นอสัตย์ เรื่องนักศึกษา และสุดท้ายก็มองสถานการณ์ปัจจุบันของสิ่งที่เคยเชื่อ สัจจะนั้นมันยังดำรงอยู่มั้ย อย่างบท “สีผ้าพระศรีอาริย์” โพธิสัตย์ที่จะมาเป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป และพุทธทำนายว่ากำลังบำเพ็ญบารมีอยู่ในยุคสมัยนี้ คือก็สงสัยว่าจะบำเพ็ญบุญ บำเพ็ญบารมีแบบไหนกัน คนแบบไหนที่จะนับถือพระองค์เป็นศาสดา ถ้าวันนี้พระองค์เองก็ถูกตีตรา สาดสีให้อยู่ในสีใดสีหนึ่งแบบในบริบทสังคมไทย

การเลือกใช้ลักษณะการเขียนแบบไร้ฉันทลักษณ์ สามารถตอบสนองหรือสัมพันธ์กับสิ่งที่ต้องการถ่ายทอดได้อย่างไร?
แน่นอน มีคำที่จะตอบสนองอารมณ์นั้นให้ใช้เพียบ เรียกได้ว่าไม่จำกัดเหมือนฉันทลักษณ์ที่มีกรอบตายตัว สัมผัสนอก สัมผัสใน นี่ต้องมาเชื่อมกับนี่ นี่ต้องมาจิ้มกับนี่ โอ้ย! วุ่นวาย ไหน ๆ จะเลือกระบายอารมณ์อยู่แล้ว ผมก็เลยไม่คิดจะไปประดิดประดอย หรือที่บรรณาธิการเล่มคือ กฤช เหลือลมัย เปรียบว่าเป็น “คำลิเก” อย่างนั้น คือจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม การเขียนฉันทลักษณ์มันมีชุดคำสำเร็จที่อยู่ในหัวเรา และมันพร้อมจะออกมาสวมชุดลิเกร่ายรำได้เสมอโดยที่เราไม่รู้ตัวอย่างว่านั่นแหละ ทั้งที่เราไม่ต้องการ แต่มันต้องมา เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไม่สัมผัส (ฮา)

ไร้ฉันลักษณ์สามารถตอบสนองอารมณ์ได้เต็มที่ อย่างบท “อนิจจา นักเขียน-กวี” ที่ผมรู้สึกถอนหายใจซ้ำแล้วซ้ำเล่ากับกลุ่มนักเขียน กวี ที่ไปเห็นดีเห็นงามกับการรัฐประหาร ท่อนจบที่ว่า
‘คุณนั่นแหละ คุณเชื่อหรือแท้จริงมืดบอด สยบยอมอยุติธรรมหวังรางวัลปากกาทองคำ
‘เถอะ, เป็นหมัดเกาะไข่หมาต่อไป ดูดเลือดกัดกลืนเศษซากสวะนั้น แล้วเชิญบรรลุธรรม’
ชิ้นนี้ตีพิมพ์ในมติชนสุดสัปดาห์ จากนั้นก็มีคนถามมาว่า ทำไมต้องเป็นหมัดเกาะไข่หมา เออวะ ผมย้อนคิดไปถึงอารมณ์ตอนนั้น หมัดเกาะที่อื่นมันคงไม่สะใจขนาดนี้มั้ง (ฮา) คือจะบอกว่าถ้าเป็นฉันทลักษณ์มันสนองอารมณ์นี้ไม่ได้

แต่ในเล่มนี้ แต่ละภาคก็จะเป็นบทกวีฉันทลักษณ์เปิดเรื่องนะ ตั้งใจใส่ไว้เปิดแต่ละภาค เดี๋ยวจะโดนกวีใหญ่ครหาว่าเขียนฉันทลักษณ์ไม่เป็น (ฮา)

บทกวีที่อ่านในเล่มนี้ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการเมือง มองว่าบทกวีสามารถที่จะถ่ายทอดเรื่องราวความขัดแย้งในสังคมไทยตอนนี้ ได้ในระดับไหน และการใช้บทกวีมาเป็นเครื่องมือในรูปแบบหนึ่ง แตกต่างกับการใช้รูปแบบทางวรรณกรรมอื่นในแง่ไหนบ้าง ในฐานะที่ก็เขียนเรื่องสั้นด้วย?
เป็นความตั้งใจและไม่ตั้งใจในเวลาเดียวกันที่จะให้เป็นกวีการเมือง (ฮา) คือบทกวีทั้งเล่มเขียนช่วงปี 2556 – 2559 สังคมไทยไม่มีเรื่องอะไรที่น่าสนใจ น่าเบื่อและน่าสนุก อยากกระโจนเข้าใส่และอยากกระโดดหนี ในเวลาเดียวกันอีกแล้ว ก็มีแต่เรื่องการเมืองนี่แหละ ตั้งใจจะเขียนกวีการเมืองและก็ประจวบเหมาะกับมีแต่เรื่องการเมืองในช่วงเวลานี้ ก็เลยเป็นอย่างที่เห็น ถามว่าถ่ายทอดเรื่องราวความขัดแย้งในสังคมตอนนี้ได้ระดับไหน แน่นอนว่าย่อมไม่เท่ากับการติดตามอ่านข่าวรายวัน แต่ในฐานะคนทำงาน โดยเฉพาะคนทำข่าว นอกจากเขียนข่าวแล้วก็อยากจะบันทึกอะไรที่ตัวเองรู้สึกที่มากไปกว่าข่าวนั้นๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้นๆ ก็อย่างที่เป็นคำโปรยชื่อหนังสือว่า “ห้วงรำพึงรำพันถึงทุรสมัย” และมันก็ต้องพิมพ์ตอนนี้ ออกตอนนี้สิถึงจะเหมาะ พลาดจากนี้ไปคนก็ไม่ได้ร่วมซึมซับอารมณ์นั้นแล้ว

อีกประเด็น ผมว่า คนที่อยู่ร่วมกับยุคสมัยนี้ ต่อให้เวลาผ่านไปอีกกี่ปี หยิบมาอ่านอีกครั้งภาพในช่วงนี้ก็จะฉายชัดขึ้นได้ เป็นบันทึกอย่างหนึ่งมั้ย ก็ใช่, 50-50 กับการเป็นบันทึกอารมณ์ของผม ส่วนที่ถามว่าแตกต่างจากวรรณกรรมรูปแบบอื่นมั้ย แน่นอน บทกวีมันอารมณ์สดๆ ลูกโป่งแตก ตูม! ตอนนั้นเลย ทันที ทันใด ส่วนเรื่องสั้นบางทีมีอารมณ์ เขียนๆไป ยังไม่จบขอกินเหล้าก่อน เปลี่ยนโหมดเลย

14021688_1271978769492900_3264318794451751680_n

บทกวีแสดงวิธีคิดที่ชัดเจน คิดว่าในสภาวะแบบนี้ ศิลปินอย่างนักเขียนกวีควรแสดงออกในแบบไหน จำเป็นมั้ยที่จะต้องรักษาตัว ให้ฝุ่นหายตลบแบบที่ผู้ใหญ่หลายคนมอง แล้วถ้าวันหนึ่งทุกอย่างไม่เป็นอย่างที่เราคิด คิดว่าจะสามารถรักษาความเชื่อมั่นในหลักการได้อย่างไร?
แสดงออกแบบที่ผมทำนี่แหละ (ห่า) จะรักษาตัวอยู่บนหิ้งรอฝุ่นหายตลบแล้วค่อยออกมามันไม่เห็นแก่ตัวไปหน่อยเหรอ คือเรามักได้ยินว่า ตอนนี้ฝุ่นมันยังฟุ้งมองไม่ชัด ยังไม่เข้าใจปัญหา ง่ายๆ นะ คือถ้าไม่เข้าใจก็ไปทำให้เข้าใจสิ ปัดโธ่ว มองว่านี่คือคำของพวกที่เอาแต่ได้ ไม่พร้อมจะเสีย ผมนับถือคนที่แสดงจุดยืนชัด แม้จะเป็นคนละพวกฝ่ายก็ต้องนับถือในหัวใจที่กล้า ชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองคิดในช่วงนั้นๆ นักเขียน กวี ถ้าไม่ชัดเจนในสิ่งที่ตัวเองคิด เชื่อ ผมแนะนำว่าน่าจะลองไปตัดแว่นหรือเช็ดกระจกสมองตัวเองดู

ส่วนถ้าวันหนึ่ง มันจะไม่เป็นอย่างที่เราคิด คิดว่าจะสามารถรักษาความเชื่อมั่นในหลักการได้อย่างไรนั้น มองว่าก็ในเมื่อไม่เป็นอย่างที่เราคิดแล้ว เมื่อก่อนเรายังโง่อยู่ หลักการที่เราเชื่อมันผิด โลกหมุนไปข้างหน้า จะไปรักษาหลักการอะไรที่ผิดๆ ทำไม

ครั้งหนึ่ง ก่อนปี 2549 ผมก็คนหนึ่งที่มองนักการเมืองชั่ว เลว คอรัปชั่น และผมก็เคยไปประท้วงไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ไปทุกวัน แล้วทำไปทำมา สุดท้ายทหารยึดอำนาจ เฮ้ย! เราถึงบางจะมึน ยืนเป็นบางจะเกร็ง แล้วก็ได้บางอ้อเลย เฮ้ย! ไอ้ที่เราเชื่อนั่นผิดนี่หว่า หรืออย่างวันนี้ พวกที่เป่านกหวีดไล่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เรียกร้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ตอนนั้นคุณเชื่อสุดจิตสุดใจภายใต้การนำของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ พอมันมีรัฐประหาร มีทหารมาปกครองประเทศ แล้วก็เป็นอย่างที่เป็นแบบนี้ คุณจะรักษาทำไมละไอ้หลักการกำนันแบบนั้น

เราวันนี้ กับเราเมื่อวานคนละคน อยู่ที่ว่าจะยอมรับความผิดพลาดของหลักที่ไม่ใช่ กล้าขอโทษ และพร้อมจะเปลี่ยนไปกับโลกมั้ย

สถานการณ์การสร้างงานศิลปะวรรณกรรมตอนนี้อย่างไร?
ท้าทาย สนุกดี ได้เห็นอะไรที่แหลมคม มีชั้นเชิงมากขึ้น ถ้าเทียบกับช่วงที่ผมเริ่มต้นเขียนหนังสือใหม่ๆ เมื่อสัก 10 กว่าปีที่แล้ว ที่พูดถึงนี่คืองานคนอื่นนะ ส่วนงานตัวเอง อาจเพราะเราถนัดการเล่นแบบนี้ เป็นนักฟุตบอลปีกขวามาทั้งชีวิต จับมาเล่นปีกซ้ายมันก็จะตัดเข้ากลางและยิงอย่างเดียวสิ (ฮา)
สำหรับตัวเองแล้ว ช่วงเวลานี้และจากนี้ไปต้องบอกว่า ได้เปลี่ยนโลกของคนทำงานศิลปะวรรณกรรมอย่างชนิดหลังเท้าเป็นหน้ามือ คือมันมีงานที่ไม่พร้อมจะเปลี่ยน เพราะต้องการรักษาสภาพความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเองไว้ โดยหารู้ไม่ว่ากำลังนับถอยหลังรอวันหายไป กับงานที่เกิดใหม่ ไปกับสังคม ไปกับโลก ยิ่งเมื่อได้ลับด้วยสภาพการณ์ที่พูดอะไรได้ไม่มาก บิด พลิก พลิ้ว มีลูกล่อลูกชนขึ้นมา ก็ยิ่งทำให้งานน่าสนใจ

ผลงานต่อจากนี้ วางไว้อย่างไร?
คาดว่าจะมีรวมเรื่องสั้นออกมาก่อนงานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ เดือนตุลาคมนี้ ชื่อเล่มก็น่าจะชัวร์แล้วว่า “ความป่วยไข้แห่งยุคสมัย” ก็ได้เพื่อนๆ พี่ๆ หลายคนช่วยกันอ่านและคัดเรื่องสั้นของผมที่เขียนและเคยตีพิมพ์ต่างกรรมต่างวาระมาให้เป็นกลุ่มก้อน ซึ่งก็ได้พบว่ามันคือรวมเรื่องสั้นการเมืองร่วมสมัย (ฮา)

อยากให้ลองติดตามดูว่า รสชาติของ “บทกวีการเมือง” กับ “เรื่องสั้นการเมือง” นั้นจะต่างกันอย่างไร

สั่งซื้อหนังสือได้เพียงคลิก BuyMatichonBooks