ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 เมษายน 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | พื้นที่ระหว่างบรรทัด |
ผู้เขียน | ชาตรี ประกิตนนทการ |
เผยแพร่ |
พื้นที่ระหว่างบรรทัด
ชาตรี ประกิตนนทการ
ร่องรอยบางกอกยุคต้นรัตนโกสินทร์
ในแผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย (1)
เป็นที่รับรู้กันมานานในกลุ่มคนที่ศึกษาเรื่องแผนที่เก่าว่า แผนที่กรุงเทพฯ ชุดแรกสุดที่ได้มีการรังวัดสำรวจอย่างละเอียดแยกออกเป็นระวางย่อยหลายแผ่นตามระบบมาตรฐานการทำแผนที่สมัยใหม่นั้น
จัดทำขึ้นราวครึ่งหลังของทศวรรษที่ 2420 และตีพิมพ์อย่างเป็นทางการในปี พ.ศ.2430
อย่างไรก็ตาม แผนที่ชุดดังกล่าวกลับไม่มีใครเคยเห็น ไม่ทราบแน่ชัดว่ามีจำนวนทั้งสิ้นกี่ระวาง และสำรวจพื้นที่กรุงเทพฯ กว้างไกลมากน้อยเพียงใด
ที่สำคัญคือ วงวิชาการส่วนใหญ่คิดว่าแผนที่ชุดสำคัญนี้น่าจะหายสาบสูญไปหมดแล้ว
ส่วนใหญ่เชื่อกันว่า แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับเก่าที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่จากการสำรวจครั้งนั้น คือแผนที่ฉบับที่ตีพิมพ์หลังจากนั้นถึง 9 ปี (พ.ศ.2439)
ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าแผนที่กรุงเทพฯ “ฉบับนายวอนนายสอน”
แผนที่ฉบับนี้มีลักษณะเป็นแผนที่แผ่นเดียว มาตราส่วน 1 : 11,880 ขนาดกว้าง 72 ซ.ม. ยาว 102 ซ.ม. โดยแสดงอาณาบริเวณเมืองทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี
บนแผนที่มีการระบุชื่อสถานที่สำคัญเอาไว้หลายแห่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาประวัติศาสตร์เมืองกรุงเทพฯ ได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการทำความเข้าใจโครงสร้างเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงรอยต่อของการปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ความเป็นสมัยใหม่ในรัชกาลที่ 5
ในส่วนที่มาของการทำแผนที่ฉบับนี้มีระบุเอาไว้บริเวณมุมขวาบนของแผนที่ ข้อความว่า
“พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ รับพระบรมราชโองการ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานแผนที่ทำขึ้น เมื่อปีกุณ นพศก 20 ศักราช 1249 (พ.ศ.2430-ผู้เขียน) ครั้งนั้น แล้วกรมแผนที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมตึกถนน บ้านเรือน ตามที่เปลี่ยนแปลงใหม่ ในทุกวันนี้รวบรวมเข้า ทั้งสองฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา ลงเป็นแผ่นเดียวกัน ข้าพเจ้า นายวอน นายสอน เป็นผู้เขียน แล้วแต่วันที่ 18 ธันวาคม ร.ศ.115”
ข้อความนี้ทำให้เรารู้ว่า “ฉบับนายวอนนายสอน” เขียนขึ้นจากแผนที่ฉบับ พ.ศ.2430 นั่นเอง โดยมีการเติมรายละเอียดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของบ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วงราว 10 ปีที่ผ่านไป
แผนที่ฉบับนี้ถูกใช้อ้างอิงมากในวงวิชาการไทยตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาในฐานะของแผนที่กรุงเทพฯ ที่รังวัดสำรวจแบบสมัยใหม่ ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลืออยู่
ควรกล่าวแทรกไว้ก่อนว่า ในความเป็นจริง แผนที่กรุงเทพฯ ที่มีการสำรวจและเขียนขึ้นอย่างเป็นระบบตามวิธีสมัยใหม่ มีการทำก่อนหน้านั้นแล้ว ฉบับแรกน่าจะคือ Plan of the City of Bangkok ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Calendar พ.ศ.2403 และแผนที่ Map of the City of Bangkok พ.ศ.2413 อย่างไรก็ตาม ทั้งสองแผ่นมิใช่การสำรวจรังวัดที่ทำอย่างละเอียดแยกเป็นระวางย่อยที่แสดงลักษณะทางกายภาพเมืองอย่างสมบูรณ์เท่ากับแผนที่ฉบับ พ.ศ.2430
ย้อนกลับมาที่ “ฉบับนายวอนนายสอน” แม้ว่าแผนที่ฉบับนี้จะให้ภาพรวมลักษณะกายภาพเมืองกรุงเทพฯ ทศวรรษ 2430 ได้ดี
แต่ข้อเสียคือ ไม่สามารถศึกษาในรายละเอียดของสภาพอาคารสถานที่ต่างๆ ได้มากนัก เพราะการลงลายเส้นของแผ่นที่มีลักษณะที่ค่อนข้างหยาบ
นอกจาก “ฉบับนายวอนนายสอน” แล้ว ยังมีแผนที่เก่าอีก 2 ฉบับที่มีอายุสมัยไล่เลี่ยกัน แต่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักแพร่หลายนัก
ฉบับแรก คือแผนที่กรุงเทพฯ แสดงอาณาบริเวณเฉพาะฝั่งพระนครที่กว้างออกไปจนถึงบริเวณคลองผดุงกรุงเกษมซึ่งถูกเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดดำรงราชานุภาพ
แผนที่ฉบับนี้น่าเสียดายที่ไม่ระบุปีในการสำรวจและตีพิมพ์ แต่จากการที่ผมเองได้เคยใช้แผนที่ฉบับนี้ในงานวิจัยเมื่อหลายปีก่อนและนำไปเทียบกับ “ฉบับนายวอนนายสอน” เห็นได้ชัดว่าฉบับนี้มีถนนบางเส้นที่ยังไม่ถูกตัดและอาคารบางแห่งยังไม่ถูกสร้าง ในขณะที่ “ฉบับนายวอนนายสอน” ปรากฏให้เห็นแล้ว
แสดงว่าแผนที่ฉบับนี้มีอายุเก่ากว่า
และทำให้ผมเองสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชุดต้นแบบในการคัดลอกของนายวอนนายสอน ซึ่งหากเป็นจริง นั่นก็หมายความว่า เป็นฉบับที่จัดทำขึ้นเมื่อ พ.ศ.2430 นั่นเอง
ข้อดีของแผนที่ฉบับนี้คือการลงลายเส้นที่คมชัดมากกว่า “ฉบับนายวอนนายสอน” อย่างเทียบกันไม่ได้ จนทำให้เราสามารถใช้ในการศึกษาอาคารบ้านเรือนในระดับรายละเอียดได้ แต่ข้อเสียคือการที่ไม่มีข้อความอะไรระบุกำกับไว้เลย ทำให้ไม่ทราบข้อมูลอะไรมากนักอีกเช่นกัน
ส่วนแผนที่ฉบับที่สอง เก็บรักษาอยู่ที่หอจดหมายเหตุแห่งชาติ ลักษณะทั่วไปเหมือนกับ “ฉบับหอสมุดดำรงฯ” ทุกประการ แต่เมื่อดูละเอียดพบว่า มีการเพิ่มเส้นร่างถนนบางส่วนมากขึ้นจาก “ฉบับหอสมุดดำรงฯ” เล็กน้อย แต่ก็ยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของเมืองมากเท่ากับ “ฉบับนายวอนนายสอน”
ดังนั้น จึงอาจระบุได้อย่างกว้างๆ ว่า “ฉบับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ” คือชุดเดียวกันกับ “ฉบับหอสมุดดำรงฯ” แต่ถูกเขียนรายละเอียดบางอย่างเพิ่มเติมลงไป
ที่กล่าวมา คือแผนที่กรุงเทพฯ 3 ฉบับ ที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ ตามความเข้าใจที่เชื่อกันมานาน
อย่างไรก็ตาม เมื่อปลายปี พ.ศ.2558 ได้มีการตีพิมพ์หนังสือแผนที่ชุดหนึ่งออกมา
แผนที่ชุดนี้ประกอบไปด้วย 2 เล่ม
เล่มแรกชื่อว่า “แผนที่กรุงเทพฯ จ.ศ.1249” ภายในประกอบไปด้วยแผนที่จำนวน 18 ระวาง
และเล่มที่สองชื่อว่า “แผนที่ธนบุรี จ.ศ.1249” ภายในประกอบไปด้วยแผนที่จำนวน 13 ระวาง
แผนที่ชุดนี้เป็นสมบัติของ “สมาคมกิจวัฒนธรรม” โดยคุณธงชัย ลิขิตพรสวรรค์ ซึ่งเป็นผู้ค้นพบแผนที่ชุดนี้โดยบังเอิญ (ความเป็นมาของการค้นพบน่าสนใจมาก ใครอยากทราบควรถามไถ่จากคุณธงชัยเองจะได้อรรถรสมากกว่าให้ผมเล่าในที่นี้)
ต่อมาได้รับการสนัยสนุนจาก “ธนาคารกสิกรไทย” ในการจัดพิมพ์แผนที่ชุดนี้ออกมาเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2558
แม้การตีพิมพ์จะใช้ ชื่ออย่างเป็นทางการว่า “แผนที่กรุงเทพฯ จ.ศ.1249” และ “แผนที่ธนบุรี จ.ศ.1249” แต่ผมเองอยากจะขอเรียกแผนที่ชุดนี้ว่า “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” มากกว่า เพื่อให้เกียรติกับคุณธงชัยในฐานะผู้ค้นพบเอกสารสำคัญชุดนี้
โดยส่วนตัวเห็นว่า การตีพิมพ์ครั้งนี้เป็นการตีพิมพ์หลักฐานทางประวัติศาสตร์ชุดที่สำคัญที่สุดในสังคมไทยในรอบหลายสิบปีที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้
เพราะ “แผนที่กรุงเทพฯ ฉบับธงชัย” คือ แผนที่กรุงเทพฯ พ.ศ.2430 ที่เป็นต้นฉบับให้แก่แผนที่ “ฉบับนายวอนนายสอน”, “ฉบับหอสมุดดำรงฯ” และ “ฉบับหอจดหมายเหตุแห่งชาติ” นั่นเอง
ดังนั้น แผนที่ชุดนี้คือ แผนที่กรุงเทพฯ ที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการทำรังวัดสำรวจตามวิธีการทำแผนที่สมัยใหม่ ที่สำคัญคือ ให้รายละเอียดข้อมูลทางกายภาพของเมืองกรุงเทพฯ และกรุงธนบุรีที่สืบย้อนกลับไปได้ไกลที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน
หากพิจารณาแผนที่ชุดนี้ในภาพรวม ข้อมูลที่ปรากฏแก่สายตาในทันทีคือภาพของกรุงเทพฯ ในทศวรรษที่ 2430 ที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่ความเจริญสมัยใหม่แบบตะวันตก ผ่านเครือข่ายถนนหนทางและอาคารราชการตามแบบสมัยใหม่ที่เริ่มกระจายแทรกอยู่ตามส่วนต่างๆ ของเมือง
อย่างไรก็ตาม ผมอยากชวนให้มองและอ่านนัยยะของแผนที่ชุดนี้ในอีกแง่มุมหนึ่งที่ต่างออกไป
ในขณะที่คนทั่วไปเมื่อมองแผนที่ชุดนี้ โดยเลือกที่จะอ่านมันเพื่อทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงสู่ความเป็นสมัยใหม่ช่วงแรกเริ่มของสยาม แต่ผมอยากชวนมาอ่านมันในฐานะแผนที่ที่ทิ้งร่องรอยของสภาพบ้านเมืองในยุคต้นรัตนโกสินทร์ ที่สมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันแทน
แน่นอน แผนที่ชุดนี้เป็นสิ่งที่ถูกผลิตขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งไม่ใช่หลักฐานร่วมสมัยยุคต้นรัตนโกสินทร์ แต่หากพิจารณารายละเอียด แผนที่ชุดนี้ได้ทิ้งร่องรอยบางอย่างที่ทำให้เราฉายภาพย้อนกลับไปในอดีตได้ไกลกว่ายุคสมัยที่ตัวมันได้ถูกจัดทำขึ้น
เป็นภาพของเมืองบางกอกในยุคต้นรัตนโกสินทร์ที่พร่าเลือนหากมองจากหลักฐานประเภทอื่น
แต่มันกลับแจ่มชัดมากขึ้นเมื่อเรามองมันผ่านแผนที่ชุดนี้