การ์ตูนที่รัก : แมรี่ แอนนิ่ง / นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

แมรี่ แอนนิ่ง

 

หนังปี 2020 เรื่อง Ammonite เคต วินสเลต รับบทแมรี่ แอนนิ่ง (1799-1847) นักบรรพชีวินวิทยาชาวอังกฤษ ร่วมด้วย Saoirse Ronan นักแสดงที่มีชื่ออ่านออกเสียงไม่ตรงกันมากที่สุดคนหนึ่งรับบทคนรักหญิงของเธอ

เป็นหนังเงียบๆ ลุ่มลึก ใช้นักแสดงฝีมือดีสองคน หนังดี ตัวหนังมิได้โฟกัสที่ความเป็นนักบรรพชีวินวิทยา (paleontologist) ของเธอ หรือความสำคัญของเธอต่องานขุดค้นฟอสซิลและบรรพชีวินวิทยา (paleontology) แต่ไปขับเน้นเรื่องความรักระหว่างเพศเดียวกัน

เป็นหนังแอลเรตอาร์ที่ทำฉากพิศวาสได้ดีซึ่งคงต้องปิดตาเด็กๆ

คนนอกวงการขุดค้นซากสิ่งมีชีวิตโบราณบ้านเราอาจจะไม่ได้รู้จักเธอมากนัก ประวัติของเธอ แมรี่ แอนนิ่ง ทำเป็นหนังสือนิทานประกอบภาพสำหรับเด็กมากมายหลายเล่ม ทำเป็นหนังการ์ตูนสั้นมากมายหลายเรื่อง นับเฉพาะคลิปอ่านนิทานก็มีหลายคลิปให้เลือกดูได้ในยูทูบ

ที่ไหนได้เธอเป็นไอดอลคนหนึ่งของเด็กๆ เลยทีเดียว

หนังฉายเพียงเรื่องความรักและการขุดค้นซากหอยโบราณที่ชายหาด เท่านี้จะเป็นไอดอลได้อย่างไร การ์ตูนที่รักวันนี้เชิญชวนเปิดยูทูบดูคลิปการ์ตูนประวัติของเธอสักเรื่องหนึ่ง เรื่องที่ทำภาพแอนิเมชั่นได้สวยงามแบบการ์ตูนๆ และดูสนุกยกให้เรื่อง Mary Anning – Princess of Paleontology – Extra History ความยาว 9 นาที เป็นของ Extra Credits ซึ่งทำคลิปการ์ตูนความรู้ไว้หลายเรื่อง

เปิดดูกันนะครับ สนุก

 

คลิปนี้เริ่มด้วยรูปน่ารักของเธอและคำพูด She sells sea shells by the sea shore แปลว่าเธอขายเปลือกหอยที่ชายหาด ในหนังเรื่องแอมโมไนต์เราจะเห็นเธอหิ้วตะกร้าไปขุด คุ้ย และเขี่ยกองเปลือกหอยที่หาดหินริมหน้าผาเพื่อนำเปลือกหอยสวยๆ ไปขายให้แก่นักท่องเที่ยว

บริเวณนั้นคือเมือง Lyme Regis ที่ช่องแคบอังกฤษ เขตดอร์เซ็ตทางตะวันตกเฉียงใต้ของอังกฤษ หน้าผาที่เห็นจะเชื่อมต่อกันกับหน้าผาขาวที่เดวอนซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี บริเวณที่เธอขุดค้นคือส่วนที่เรียกว่า Blue Lias และหน้าผา Charmouth Mudstone วันนี้เป็นเขตมรดกโลกมีเปลือกหอยโบราณยุคจูราสสิก อายุ 195-200 ล้านปีมากมาย บริเวณที่เรียกว่าชายหาดจูราสสิกนี้มีความยาวถึง 154 กิโลเมตร

เปลือกหอยโบราณขนาดใหญ่ที่ใช้เป็นโลโก้ของหนังคือ Ammonite

 

กลับมาดูคลิปการ์ตูนต่อ แมรี่ แอนนิ่ง ขุดเปลือกหอยไปขาย แต่เธอทำมากกว่านั้น เธอคือสตรีชาวอังกฤษที่ขุดพบฟอสซิลไดโนเสาร์หลายชิ้นโดยที่ไม่ได้รับการยกย่องในตอนแรก อาจจะพูดได้ว่าเธอเป็นคนวางรากฐานของงานบรรพชีวินวิทยา พี่สาวของเธอเสียชีวิตด้วยแผลเพลิงไหม้ ส่วนพี่เลี้ยงของเธอถูกฟ้าผ่าตายขณะอุ้มเธออยู่

แมรี่ใกล้ชิดกับพ่อ ติดตามพ่อไปขุดคุ้ยหาหอยที่ชายหาดเสมอ ตอนที่เธออายุ 8 ขวบ พ่อของเธอลื่นตกหน้าผาและถึงแก่กรรมในสามปีต่อมา ทิ้งหนี้เอาไว้ให้แม่และลูกสองคนจ่าย แมรี่ช่วยงานแม่ด้วยความขยันขันแข็ง แต่เธอยังคงชอบไปขุดคุ้ยเปลือกหอยที่ชายหาด เธอนำเปลือกหอยมาขายให้แก่นักท่องเที่ยว ได้เงินมาช่วยจุนเจือค่าใช้จ่าย

คลิปเล่าสั้นๆ เท่านี้ กลับไปอ่านประวัติของเธอ แม่ของเธอมีลูก 10 คน เกือบทั้งหมดตายตั้งแต่เป็นทารก ลูกคนแรกเป็นผู้หญิงชื่อแมรี่ คนที่สามชื่อโจเซฟ แมรี่คนแรกถูกไฟคลอกตายเมื่ออายุ 4 ขวบ แมรี่ แอนนิ่ง ถือกำเนิดห้าเดือนหลังการตายของพี่สาวและได้ชื่อว่าแมรี่เหมือนกัน (ยังจะกล้าตั้งชื่อ)

มีเพียงโจเซฟและแมรี่ แอนนิ่ง ที่รอดชีวิตจนเติบใหญ่ ที่เหลือเสียชีวิตตั้งแต่คลอดหรือเป็นทารก อัตราการตายระดับนี้เป็นเรื่องธรรมดาของอังกฤษเวลานั้น แมรี่ของเราเกิดเมื่อเดือนพฤษภาคมปี 1799 หลังการปฏิวัติฝรั่งเศสเพียง 10 ปีเท่านั้น

เรื่องเล่าต่อมายิ่งน่าตื่นตะลึง วันที่ 19 สิงหาคม ปี 1800 เพื่อนบ้านของเธอ Elizabeth Haskings ซึ่งอุ้มแมรี่อายุขวบนิดหน่อยเอาไว้ถูกฟ้าผ่าตายพร้อมสตรีสองคนที่ยืนใกล้กัน แมรี่ถูกนำตัวออกจากที่เกิดเหตุไปแช่น้ำอุ่นและรอดชีวิต กลายเป็นเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ของหมู่บ้าน (ถ้าตั้งชื่ออื่น ตายไปแล้ว)

 

กลับมาดูคลิปต่อ ปี 1811 โจเซฟพี่ชายของเธอเป็นคนค้นพบหัวกะโหลกสัตว์ที่คล้ายจระเข้ในวันหนึ่ง แต่โจเซฟมิได้สานงานนี้ต่อเพราะจากไปทำงาน แมรี่ทุบกระปุกจ้างผู้ช่วยขุดค้นได้โครงกระดูกเพิ่มเติมอีกหลายชิ้นนำมาประกอบร่าง เวลานั้นเธออายุ 12 ขวบและค้นพบ Ichthyosaurus เป็นครั้งแรกของโลก

เธอขายงานชิ้นนี้ได้หลายตังค์พอจ่ายค่าจ้างคนงาน โครงกระดูกถูกนำไปแสดงที่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอนดึงดูดความสนใจของนักวิชาการจาก Geological Society of London พวกเขาถกเถียงกันว่ามันเป็นปลา หรือกิ้งก่า หรือนกในทะเลกันแน่ ยิ่งกว่านั้นนี่เป็นการค้นพบที่ท้าทายความเชื่อเรื่องพระผู้เป็นเจ้าคือผู้สร้าง

นักวิชาการเหล่านั้นเป็นผู้ชายทั้งหมด พวกเขาถกเถียงเรื่องไดโนเสาร์และพระเจ้า แต่ไม่สนใจว่าใครเป็นคนขุดค้นพบฟอสซิลสมบูรณ์ชิ้นนี้ พวกเขาพากันมาที่ชายหาดและรับซื้องานของแมรี่เพิ่มเติมแล้วประกาศการค้นพบใหม่ๆ อีกโดยที่มิได้พูดถึงเธอเช่นเดิม

 

แต่แมรี่มีสติปัญญามากพอที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น เธอเป็นสตรีด้อยการศึกษาบ้านนอกแต่เธออ่านได้

แล้วเธอก็เริ่มอ่านตำราฟอสซิล

 

ตอนนี้เธอไม่เพียงขุดแต่เธอชำแหละสิ่งที่เธอพบด้วย เมื่อถึงปี 1823 ตอนนั้นเธออายุ 24 ปี เธอก็พบ Plesiosaurus แม้ว่าจะมีการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์คอยาวในทะเลตัวนี้ที่อื่นมาก่อนแล้วแต่ที่เธอพบมีชิ้นส่วนครบสมบูรณ์ที่สุด นักวิชาการกล่าวหาว่าเป็นของปลอม แต่ในที่สุดก็พิสูจน์ได้ว่าเป็นของจริง

งานค้นพบเหล่านี้นำไปสู่ศาสตร์แขนงใหม่คือบรรพชีวินวิทยา และแมรี่ แอนนิ่ง ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหญิงแห่งบรรพชีวินวิทยา

ระหว่างการขุดค้นนั้นเองที่แมรี่สังเกตเห็นก้อนหินรูปทรงเหมือนอึในลำไส้ของไดโนเสาร์ เธอพบว่ามันเป็นฟอสซิลของอึและน่าจะเป็นกุญแจไขไปสู่คำตอบว่าไดโนเสาร์กินอะไรและสูญพันธุ์ได้อย่างไร

นักวิชาการเรียกอึเหล่านี้ว่า coprolytes แล้วตีพิมพ์งานโดยไม่ให้เครดิตเธอเช่นเดิม

 

แมรี่ไม่ย่อท้อ เธอทำงานของเธอต่อไป ผลจากพายุที่ถล่มหน้าผาในคราวหนึ่งเธอก็ขุดค้นพบไดโนเสาร์บิน Pterosaurs ในปี 1928 ตามด้วย Squaloraja ในปี 1929 ซึ่งจะเป็นที่ถกเถียงกันในเวลาต่อมาว่าเป็นปลาหรือไม่ใช่ปลา

ชั่วชีวิตของสตรีด้อยการศึกษาคนหนึ่งเธอขุดค้นพบไดโนเสาร์ถึง 4 ตัว และเริ่มงานค้นคว้าอึไดโนเสาร์เอาไว้

กลับไปอ่านประวัติของเธอ งานของเธอมิใช่คนธรรมดาที่ทำได้ เธอทำงานในฤดูหนาวซึ่งหนาวจัดเป็นระยะทางหลายกิโลเมตรไปตามไหล่ผาที่ดินถล่มได้ หรือใต้หน้าผาที่หินถล่มได้ แล้วหมาของเธอก็ถูกหินถล่มตายไปจริงๆ แต่เธอยังคงอ่าน ชำแหละ และเขียนงานต่อไปไม่หยุดยั้ง

เธอหาทุนทำวิจัยเองทั้งชีวิตด้วยการขายเปลือกหอยที่ค้นพบแก่นักท่องเที่ยวและนักวิชาการจากลอนดอน จนกระทั่งเปลือกหอยหายากขึ้น เธอยากจนลง ป่วยด้วยมะเร็งปอดและถึงแก่กรรมเมื่ออายุ 47 ปีโดยที่เพิ่งจะมีการเชิดชูเธอหลังจากนั้น

คลิปการ์ตูนขึ้นรูปว่า too little too late น้อยเกินไป และช้าเกินไป