Chroma การสำรวจอารมณ์ความรู้สึก แห่งสีสันอันหลากหลาย ผ่านภาพวาดของ อำนาจ วชิระสูตร

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา ในตอนนี้เราขอต่อเนื่องด้วยนิทรรศการศิลปะร่วมสมัยที่เรามีโอกาสได้ไปชมมาอีกงาน

นิทรรศการนี้มีชื่อว่า Chroma โดย อำนาจ วชิระสูตร จิตรกรชาวไทยผู้ทำงานจิตรกรรมที่ผสมผสานระหว่างความเป็นรูปธรรมและนามธรรม ด้วยการใช้สีสันและร่องรอยบนพื้นผิวอันเปี่ยมเอกลักษณ์ เพื่อสร้างบทสนทนาอันเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ตีความได้อย่างอิสระ

ก่อนหน้านี้ มิตรรักนักดูงานผู้ติดตามแวดวงศิลปะร่วมสมัยในบ้านเรา อาจคุ้นเคยกับผลงานของอำนาจในนิทรรศการครั้งที่ผ่านๆ มา กับภาพวาดสีน้ำมันที่ใช้โทนสีเอกรงค์ (Monochrome) ที่มีสีสันแต่เพียงน้อย

หากแต่สร้างมิติและรายละเอียดของภาพวาดด้วยการใช้พื้นผิวและฝีแปรงอันเปี่ยมพลังความเคลื่อนไหวแทน

นิทรรศการ Chroma

หากแต่ในนิทรรศการครั้งนี้ อำนาจหันมาสำรวจธรรมชาติของสี ที่มีคุณสมบัติอันหลากหลายผ่านกระบวนการการทำงานของเขา โดยเลือกใช้สีสันหลายหลากตั้งแต่สีขาวและดำอันเรียบง่ายและเคร่งขรึม สีแดงสดบาดตา สีเขียวสดใสชุ่มฉ่ำ สีส้มแสดสว่างไสว สีน้ำเงินลึกล้ำ ไปจนถึงสีพาสเทลอันอ่อนหวาน

การเลือกใช้และผสมผสานสีสันต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างกลมกลืนและเต็มเปี่ยมไปด้วยจังหวะจะโคน รวมถึงการใช้พื้นผิวและฝีแปรงที่ยังคงเปี่ยมพลังความเคลื่อนไหวไม่เสื่อมคลายของอำนาจ นั้นดูไม่ต่างอะไรกับการทำงานของวาทยากร ผู้ผสานสุ้มเสียงและท่วงทำนองที่ขับขานจากเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เข้าด้วยกัน จนกลายเป็นบทเพลงอันไพเราะเสนาะหูก็ไม่ปาน

นิทรรศการ Chroma

นิ่ม นิยมศิลป์ ภัณฑารักษ์ผู้ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับอำนาจตั้งแต่นิทรรศการครั้งที่ผ่านมาจนถึงนิทรรศการครั้งนี้ กล่าวถึงที่มาที่ไปของจุดเปลี่ยนในการทำงานของศิลปินผู้นี้ว่า

“เราคิดว่าในนิทรรศการคราวนี้ถึงจุดของศิลปินแล้ว ที่ควรจะต้องลองสำรวจอะไรสักอย่างที่ต่างจากสิ่งที่คนคุ้นเคยจากเขา ด้วยความที่นิทรรรศการครั้งนี้เป็นโครงการที่เราทำร่วมกันกับเขา พอย้อนกลับไปมองในตอนที่เราทำนิทรรศการเดี่ยวของอำนาจด้วยกันในคราวที่แล้ว”

“คราวนี้เราก็เลยมาคุยกับเขาว่า ในนิทรรศการครั้งที่แล้ว (นิทรรศการ Elemental (2020) จัดแสดงที่ 333 Gallery) เรามองภาพเป็นอย่างไร นิทรรศการครั้งนี้เราอยากทำงานประมาณไหน ที่ไม่ซ้ำกับภาพเดิม ก็เลยได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นผลงานชุดนี้”

นิทรรศการ Chroma

“แนวคิดของงานในนิทรรศการครั้งนี้มีส่วนที่เชื่อมโยงกับนิทรรศการ Elemental ในจุดตั้งต้น และวัตถุดิบของความคิด แต่ในส่วนของการสร้างงาน เราอยากที่จะสำรวจการใช้สีสันในผลงานให้มากขึ้น ด้วยความที่อำนาจเป็นจิตรกรฝีมือดีคนหนึ่งในวงการ”

“จากที่เราคุยกับเขาว่า ทำไมเขาถึงชอบสีน้ำมันและรู้สึกอย่างไรกับสื่อศิลปะชนิดนี้”

“เขาบอกเราว่า สีน้ำมันมีความเป็นไปได้เยอะมาก ทั้งในเรื่องของการผสานสี เทคนิค พื้นผิวต่างๆ สิ่งเหล่านี้ท้าทายเขาในฐานะศิลปิน และทำให้เขาอยากสร้างงานให้ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เราก็เลยคุยกันว่า ในส่วนของโทนสีของสีน้ำมันนั้นมีอะไรให้เราสำรวจเยอะมากจากที่ผ่านๆ มา แต่การใช้โทนสีที่หลากหลายก็ไม่ใช่สิ่งที่เขาไม่เคยทำมาก่อน เพราะถ้าย้อนกลับไปถึงงานชุดที่เขาทำตั้งแต่สมัยเรียน ก็มีการใช้สีสันหลากหลายอยู่แล้ว แต่ในช่วงหลังคนจะคุ้นเคยกับเขาจากงานที่เป็นสีน้อยๆ มากกว่าเท่านั้นเอง”

“นอกจากนี้ สิ่งที่เราสนใจเกี่ยวกับอำนาจ คือเรื่องของความรู้สึก เรารู้สึกว่างานของอำนาจนั้นเด่นในเรื่องของความรู้สึก เวลาไปดูงานของเขาเราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกบางอย่าง ทั้งความรู้สึกเชื่อมโยงกับ ความรู้สึกของศิลปินที่ถ่ายทอดผ่านผลงานออกมา เวลาเราเข้ามาในพื้นที่แสดงงานของเขา เรารู้สึกว่าเราเข้ามาในพื้นที่ของเขา และสามารถสัมผัสกับความรู้สึกของเขาในขณะที่ทำงานเหล่านี้ได้จริงๆ”

นิทรรศการ Chroma

นิ่ม ผู้รับบทภัณฑารักษ์ของงานยังเผยถึงความหมายเบื้องของหลังชื่อนิทรรศการครั้งนี้ว่า

“ชื่อนิทรรศการ Chroma หมายถึงเรื่องของสี เพราะพอเราเน้นเรื่องโทนสี เราก็เลยคิดว่าภาพลักษณ์ไหนที่จะสื่อถึงแก่นแกนบางอย่างที่เชื่อมโยงกับแนวทางการทำงานของอำนาจด้วย”

“ตอนที่เราทำงานชุดนี้กับอำนาจ เขาอธิบายเกี่ยวกับเรื่องสีให้เราฟังเยอะมาก เหมือนเราพยายามท้าทายซึ่งกันและกันในฐานะศิลปินและภัณฑารักษ์ ว่าเราจะลองใช้สีสันแบบนี้ดูไหม ว่าศิลปินจะทำให้ได้หรือไม่ ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่แปลกดี เพราะเราเองก็ไม่ใช่จิตรกร”

นิทรรศการ Chroma

“ระหว่างคุยกับศิลปิน เราก็จะมีจุดตั้งต้นว่าแกนหลักของงานจะเป็นอย่างไร แต่ระหว่างการเดินทาง ระหว่างกระบวนการทำงาน เราก็ต้องคอยสำรวจว่าทำแบบนี้แล้วโอเคไหม ศิลปินก็ต้องคอยเช็คความรู้สึกของตัวเองกับสิ่งที่ทำอยู่ตรงหน้าตลอดเวลา อย่างพอทำได้ถึงจุดหนึ่งแล้ว ในฐานะภัณฑารักษ์ เรารู้สึกว่ามีบางสีที่ขาดไปอยู่ เพราะพอเราเจาะจงว่าทำนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องของสี เราก็ควรจะทำให้ครบทุกสีใช่ไหม เราก็ต้องท้าทายหรือต่อรองกับศิลปิน ว่าเขาจะทำให้ได้หรือไม่ แต่ทุกอย่างก็ขึ้นอยู่กับศิลปินนั่นแหละ ว่าเขาจะตัดสินใจอย่างไร”

“เราทำหน้าที่แค่กระตุ้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ออกมา พอทำงานแบบปลายเปิดแบบนี้ก็มีข้อดีตรงที่ ทำให้ศิลปินกล้าที่จะทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม คราวนี้เขาจะไปทางไหนต่อก็ไปได้แล้ว”

นิทรรศการ Chroma

อํานาจ วชิระสูตร ศิลปินเจ้าของผลงาน เสริมถึงแนวทางในการทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์คู่ใจในนิทรรศการครั้งนี้ของเขาว่า

“งานชุดนี้เริ่มจากการที่เราอยากให้นิทรรศการครั้งนี้แตกต่างจากนิทรรศการครั้งที่แล้ว จากการใช้สีสันน้อยๆ แบบเอกรงค์ มาทำอะไรที่มีความหลากหลายมากขึ้น และที่สำคัญ กระบวนการของนิทรรศการครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกับภัณฑารักษ์อย่างแท้จริง เพราะเราไม่อยากใช้อีโก้ของตัวเองในการทำงานอย่างเดียว เราอยากเปิดใจรับฟังว่าเขาแนะนำอะไรมา อันไหนถ้าทำไม่ไหว ก็ไม่ทำ แต่ถ้าทำไหว ก็จะเกิดอะไรใหม่ๆ ที่เราคาดไม่ถึงขึ้นมาเต็มไปหมด”

อำนาจยังนิยามแนวทางการทำงานของเขาที่แตกต่างไปจากความเข้าใจเดิมๆ ของเราและมิตรรักแฟนศิลปะทั้งหลายว่า

“เราอยากเรียกวิธีการทำงานของเราว่าเป็นงานแบบ อิมเพรสชั่นนิสต์ (Impressionist) มากกว่างานแบบนามธรรม (Abstract) เพราะข้อมูลในการทำงานของเราคือความประทับใจที่มีต่อสภาพแวดล้อม และสิ่งที่เราเห็นรอบตัว เราใช้วิธีการถ่ายภาพสิ่งที่เราประทับใจมาใช้เป็นต้นแบบ เป็นสารตั้งต้นในการทำงาน แต่เราก็ไม่ได้ลอกเลียนแบบภาพถ่ายให้เหมือนเป๊ะๆ แต่เราสะท้อนอารมณ์ความรู้สึกภายในที่มีต่อสภาพแวดล้อมเหล่านั้นผ่านภาพวาดออกมา”

“เป็นความประทับใจที่เราถ่ายทอดออกมาโดยฉับพลันทันทีที่เราเห็นภาพ จะเรียกว่าเป็นอิมเพรสชั่นนิสต์ของยุคสมัยนี้ก็ได้”

ใกล้พลบ Twilight (2023)
ลำนำเรณู 1 (รายละเอียด)
ลำนำเรณู 2 (รายละเอียด)

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการในนิทรรศการครั้งนี้ก็คือ แทนที่จะจัดแสดงผลงานภาพวาดแบบแขวนให้ดูชมบนผนังแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนนิทรรศการศิลปะตามปกติทั่วๆ ไป ในนิทรรศการครั้งนี้กลับเลือกการจัดแสดงในหลากหลายรูปแบบ ทั้งการแขวนให้ดูบนผนังตามปกติ ไปจนถึงการวางภาพวาดบนหิ้งพิงกับผนังอย่างสบายๆ และวางภาพวาดบนแท่นวางงานแนวนอนบนพื้นใน ให้คนก้มลงนั่งพินิจพิจารณาอย่างน่าสนเท่ห์ ซึ่งภัณฑารักษ์ของงานเฉลยถึงเหตุผลในการจัดแสดงแบบนี้ว่า

“ที่เราจัดแสดงในลักษณะนี้เพราะเราอยากเล่นกับการรับรู้ของผู้ชม เพราะนิทรรศการนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับสีและการรับรู้ เราก็อยากให้คนมองงานของอำนาจในหลายมุม เราจัดแสดงงานทั้งในแนวตั้ง และแนวนอน จริงๆ อยากให้มีวิธีการจัดแสดงมากกว่านี้ บางงานเราก็อยากแค่วางพิงกับผนัง ก็เลยไม่แขวน แต่วางบนชั้นวางแทน เราก็ต้องดูว่างานแต่ละชิ้นเหมาะกับจะวางในมุมมองไหน ซึ่งการวางงานในแนวนอนก็ทำให้ผู้ชมมองงานได้ใกล้ชิดขึ้น และทำให้ดูรายละเอียดของงานได้มากขึ้น และทำให้ความรู้สึกของการเข้าไปซึมซับงานแตกต่างออกไปจากเดิม”

ทางแห่งดวงดาว Highway star (2023)
หนังสือสีชมพู

“ทำให้ผู้ชมน่าจะได้อะไรมากขึ้นจากการดูงานในนิทรรศการครั้งนี้”

นิทรรศการ Chroma โดย อำนาจ วชิระสูตร และภัณฑารักษ์ นิ่ม นิยมศิลป์

จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 4-28 พฤษภาคม 2566 ที่ 333 Gallery, Warehouse 30

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Instagram : 333gallerygroup Facebook: 333Gallery

อุณหภูมิชมพู (รายละเอียด)

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์