ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19 - 25 พฤษภาคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
หลังจากจบการตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปนไปเรียบร้อยแล้ว
ในตอนนี้เราขอกลับมาชมงานศิลปะในประเทศกันบ้าง คราวนี้เป็นผลงานของศิลปินร่วมสมัยชาวไทยที่ทำงานในสื่อภาพถ่ายอย่าง กรกฤช เจียรพินิจนันท์ กับนิทรรศการครั้งล่าสุดของเขาในชื่อ Thru the Straits of Demos ที่เป็นการสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างประสบการณ์และความทรงจำผ่านภาพถ่าย ในฐานะเครื่องมือในการสำรวจความจริง
กรกฤชกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการครั้งนี้ว่า
“นิทรรศการครั้งนี้มีที่มาจากการทำงานโครงการระยะยาว คือหนังสือบทกวีภาพชุด POEM ที่ทำมาตั้งแต่ปี 2016 และชุดที่ทำกับ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ในช่วงปี 2021 และ 2022 ที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ เป็นงานภาพถ่ายที่ได้จากการลงพื้นที่สามแห่งคือ สวนลุมพินี ในหนังสือเล่มที่ 19, ระนอง ในเล่มที่ 20 และที่อพาร์ตเมนต์ของเราเองแถวย่านอารีย์ ในเล่มที่ 21”
“แนวคิดของหนังสือเล่มนี้ เราพัฒนามาจากการเล่าเรื่องแบบนิราศ (งานประพันธ์แบบประเพณีของไทยที่บอกเล่าถึงเส้นทาง การเดินทาง และสิ่งที่พบเห็นระหว่างการเดินทาง) เป็นการเล่าเรื่องผ่านเหตุการณ์ที่เราพบเห็นระหว่างการเดินทาง เพื่อพูดถึงสภาวะภายใน”
“ในพื้นที่ที่สวนลุมฯ เราใช้เวลาในช่วงปี 2022 เพื่อลงพื้นที่หาข้อมูล ซึ่งได้ข้อมูลใหม่ๆ เยอะมาก เช่น ข้อมูลเรื่องผังและที่มาของการสร้างสวนลุมฯ ในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่มสร้างสวนลุมฯ เพื่อพยายามจำลองงานเอ็กซ์โปขึ้นมาใหม่ โดยได้แรงบันดาลใจในการจัดสวนจากงานยุคบาโร้ก ซึ่งยังคงมีหลักฐานหลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้”
“อย่างทางเข้าของสวนลุมฯ ที่การตกแต่งทำให้เรานึกไปถึงพระราชวังแวร์ซายส์ หรือจุดสังเกตที่แปลกๆ ที่เราไม่เคยสังเกตมาก่อนอย่างประติมากรรมนาฬิกาแดดรูปนกยูง หรือหอนาฬิกาทรงจีนผสมกับยุโรป หรือมุมกลางคืนในสวนลุมฯ ซึ่งเป็นจุดที่เราตามรอยจากแผนที่ลับของชาวเกย์ ที่เราเจอบนอินเตอร์เน็ต ซึ่งสวนลุมฯ เป็นแหล่งนัดพบของเกย์ในช่วงปลายยุค 80-90 เพราะใกล้กับแหล่งบันเทิง”
“เราก็ตามเส้นทางนี้ไปในช่วงเวลาประมาณสองทุ่ม จะมีจุดที่มีสะพานสวยๆ เก่าๆ มีแสงไฟสลัวๆ ให้บรรยากาศที่โคตรจะ Cinematic คือมีความเป็นหนังมากๆ ไม่แปลกที่จะมีคนมานัดพบกันที่นี่ พอเราเข้าไปสำรวจและหาข้อมูล”
“เราก็ได้พบว่าสวนลุมฯ มีพัฒนาการผ่านช่วงเวลามาหลายยุคสมัย ทั้งช่วงสงคราม ช่วงการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจ โดยมีการปรับแผนของโครงสร้างของสวนลุมฯ มาโดยตลอด”
“ส่วนอีกพื้นที่ที่ระนอง เราอยากไปดูตรงจุดที่เป็นคอคอดกระ กับเกาะญี่ปุ่น ซึ่งมีอะไรบางอย่างที่เราสนใจ โดยเราชวน คาเงะ (ธีระวัฒน์ มุลวิไล) และ จารุนันท์ พันธชาติ ศิลปินแสดงสดจากกลุ่ม B-Floor ร่วมเดินทางไปด้วยกัน ซึ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พื้นที่บนเกาะนี้เคยเป็นฐานทัพของญี่ปุ่นตรงชายฝั่งทะเลอันดามัน และมีความพยายามในการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อกับทางรถไฟสายกาญจนบุรี แต่ไม่สำเร็จ เพราะภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวย
เราก็เดินทางไปดูโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างฐานทัพและทางรถไฟที่ว่านี้ ซึ่งเหลือแต่ซากอิฐซากปูนจนดูไม่ออก และกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวไปหมดแล้ว
หลังจากนั้น เราก็ให้คาเงะและจารุนันท์ทำงานศิลปะแสดงสดในลักษณะที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่ให้เราถ่ายภาพเอาไว้ อย่างการแสดงสดของคาเงะที่เลือกใช้ผ้าเต็นท์ ก็เชื่อมโยงกับความเป็นฐานทัพและกองทหารของเกาะญี่ปุ่น โดยเราปล่อยให้นักแสดงมีปฏิกิริยาตอบสนองกับบริบทของพื้นที่กันด้วยตัวเอง”
“ส่วนพื้นที่ที่อพาร์ตเมนต์ของเรามาจากแนวคิดของการทำงานในช่วงล็อกดาวน์ จากการระบาดของโรคโควิด ที่เราต้องอยู่แต่ในพื้นที่ส่วนตัว ออกไปไหนไม่ได้ โดยเราชวนนายแบบและนางแบบสองคนมาร่วมงาน ผู้ชายเป็นพนักงานในร้านขายของที่ระลึกในพิพิธภัณฑ์ MOCA ผู้หญิงเป็นนางแบบและนักแสดง โดยถ่ายออกมาในรูปแบบของภาพถ่ายแฟชั่นที่เราเคยทำมาอย่างยาวนาน”
การจัดแสดงผลงานในนิทรรศการนี้ กรกฤชดึงเอาภาพถ่ายในหนังสือแต่ละเล่มมาเรียบเรียงใหม่ในรูปแบบของงานศิลปะจัดวางที่จัดแสดงทั้งในบริเวณพื้นที่ภายนอก, ห้องสมุดและร้านหนังสือของแกลเลอรี และห้องแสดงงานหลัก โดยใช้วิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของพื้นที่ และใช้ภาพถ่ายเป็นตัวนำการเคลื่อนไหวของผู้ชมในพื้นที่แสดงงาน เพื่อเข้าถึงชิ้นงานแต่ละชิ้น
โดยภาพถ่ายแต่ละภาพจะนำเราเข้าสู่ในประเด็นต่างๆ รวมถึงล้อไปกับโครงสร้างของพื้นที่แสดงงาน ระยะการมอง และบริบทของพื้นที่แสดงงานอีกด้วย
“ในนิทรรศการนี้เรายังใช้กระบวนการพิมพ์ภาพถ่ายที่ค่อนข้างหลากหลาย ทั้งการทำงานร่วมกับร้านอัดรูปทั่วๆ ไป แถวลาดพร้าว ที่คนใช้อัดภาพถ่ายแต่งงานหรือรับปริญญา และแล็บพิมพ์ภาพถ่ายคุณภาพสูงที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กัน และแล็บล้างอัดภาพโดยช่างฝีมือที่ใช้เทคนิคห้องมืดแบบดั้งเดิม ที่เราเลือกใช้วิธีการหลายแบบ เพราะเราคิดว่าในการวงการภาพถ่ายมีชนชั้นบางอย่างอยู่ ว่าร้านอัดรูปทั่วไปนั้นเป็นของช่างภาพมือสมัครเล่นหรือคนธรรมดาทั่วๆ ไป”
“ส่วนแล็บพิมพ์ภาพถ่ายคุณภาพสูงเป็นของช่างภาพมืออาชีพหรือศิลปิน แต่ในมุมมองของเรา มันขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอ ว่าเราต้องการนำเสนอภาพถ่ายที่สำรวจความเป็นจริงในรูปแบบไหนมากกว่า”
“ร้านอัดรูปแต่ละร้าน หรือแต่ละแล็บก็เหมาะกับการทำงานภาพถ่ายในแบบที่แตกต่างกันไป”
“ภาพถ่ายทั้งหมดเราเลือกใช้ฟิล์มถ่าย อย่างในช่วงล็อกดาวน์ออกไปไหนไม่ได้ เราก็จะใช้ฟิล์มหมดอายุถ่ายภาพ หรือเวลาถ่ายสถานที่ที่เป็นพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ เราก็จะเลือกถ่ายเป็นภาพขาวดำ แต่ถ้าถ่ายกิจกรรมที่เป็นวิถีชีวิตของคนร่วมสมัย เราก็จะเลือกถ่ายเป็นภาพสี”
สิ่งเหล่านี้ยังถูกนำเสนอผ่านการใช้วัสดุเข้ากรอบในรูปแบบต่างๆ ของภาพถ่ายของกรกฤช ทั้งการเข้ากรอบที่ล้อกับเทคโนโลยีกล้องถ่ายรูปในยุคโรแมนติกในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ที่ตัวกล้องทำจากไม้ ซึ่งพัฒนามาจากล้องรูเข็ม เขาก็ทำกรอบโดยใช้ไม้มะฮอกกานีซึ่งเป็นไม้ชนิดเดียวกันที่ใช้ทำกล้องโบราณ
การเข้ากรอบก็ใช้วิธีการเข้าลิ่มไม้แบบหางเหยี่ยวโดยไม่ใช้ตะปู ซึ่งเป็นเทคนิคเดียวกันกับที่ใช้ประกอบกล้องเหล่านี้ขึ้นมา
หรือกรอบรูปที่ทำจากประตู กรกฤชก็หยิบเอาต้นแบบมาจากประตูในห้องอพาร์ตเมนต์ของเขา เพื่อสื่อถึงสถานการณ์ทางสังคมการเมืองที่เกิดขึ้นรอบๆ ตัว ทั้งในแง่ส่วนตัวและสาธารณะ
“โดยส่วนตัว เรามองว่าประตูไม้แบบเก่าแบบนี้เป็นตัวแทนของความคิดในเชิงชาตินิยม ซึ่งควรจะถูกโละออกไปได้แล้ว เช่นเดียวกับที่เราโละประตูบานนี้ออกมาทำเป็นกรอบรูปนั่นแหละ”
บนพื้นของห้องแสดงนิทรรศการครั้งนี้ของกรกฤช ยังมีเทปกาวสีดำติดเป็นเส้นที่ดูคล้ายกับเส้นทาง หรือสัญลักษณ์บางอย่างที่ดูแปลกตาอีกด้วย
“เทปกาวพวกนี้เป็นมาส์กกิ้งเทป ที่ติดเป็นเส้นต่อเนื่องจากเส้นด้านนอก เราสังเกตว่าในพื้นที่ของหอศิลป์นี้ในเชิงสถาปัตยกรรมทั้งด้านในและด้านนอกมีความเชื่อมโยงกัน เราก็ติดเทปตรงทางเข้า ทางออก ประตู เพื่อให้เชื่อมโยงเป็นเส้นทางของการเข้ามาในพื้นที่”
“การใช้มาส์กกิ้งเทปยังมาจากการการที่อพาร์ตเมนต์ของเรามีกองถ่ายเข้ามาถ่ายภาพบ่อยๆ หรือเวลาไปสตูดิโอถ่ายภาพ จะมีการติดเทปกาวบนพื้น เพื่อระบุตำแหน่งวางไฟ วางกล้อง หรือจุดยืนโพสท่าของนายและนางแบบ”
“การกำหนดพื้นที่แบบนี้ก็ทำให้เรานึกถึงเรื่องของเส้นทาง ในแง่ของแผนที่หรือเส้นทางการบิน พอเป็นพื้นที่ของหอศิลป์ก็เป็นเหมือนเส้นทางการเลื่อนผ่านจากภาพหนึ่งไปยังอีกภาพหนึ่ง หรือเส้นที่ตีเป็นวงโค้งใกล้กรอบประตู รูปทรงก็จะดูคล้ายกับการกางหน้าหนังสืออีกด้วย”
“ชื่อนิทรรศการ Thru the Straits of Demos เราได้มาจากการอ่านหนังสือรวมบทกวีเล่มหนึ่งของกวีในยุค บีต เจเนอเรชั่น (Beat Generation) ชื่อ ลอว์เรนซ์ เฟอร์ลิงเก็ตติ (Lawrence Ferlinghetti) ซึ่งมีชีวิตจนถึงช่วงประมาณปี 2021”
“เขาอยู่ที่นิวยอร์ก และเขียนหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ A Coney Island of the Mind ในหนังสือจะมีบทกวีอยู่บทหนึ่งที่พูดถึงการล่องเรือที่มีประโยคว่า ‘Sailing thru the straits of Demos’ อยู่ ซึ่งพ้องกับการเดินทาง ที่มักปรากฏในนิราศ บทกวีของเขาแสดงออกถึงความเป็นอิสรชน”
“อ่านแล้วรู้สืกเหมือนประกายอะไรบางอย่างในตัวเราถูกจุดขึ้นมา อีกอย่าง เราสนใจกวีในยุคบีต เจเนอเรชั่น ในแง่ที่มีลักษณะการเล่นกับโครงสร้างของบทกวีให้มีลักษณะของความเป็นภาพ (Visual) ด้วย”
“ที่เราชอบทำหนังสือ เพราะหนังสือสามารถขยายขอบเขตของภาพถ่ายให้มีความเป็นไปได้ในแง่ของการเข้าถึงผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในความเรียบง่าย เข้าถึงได้ไม่ยาก สามารถสัมผัสจับต้องได้ และไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบแต่เพียงอย่างเดียว”
นิทรรศการ Thru the Straits of Demos โดย กรกฤช เจียรพินิจนันท์ จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 22 เมษายน-3 มิถุนายน 2023 ณ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่
เปิดทำการวันพุธ-เสาร์ เวลา 13:00-18:00 น. (ปิดวันอาทิตย์ถึงวันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
หนังสือเล่มใหม่ทั้งสามเล่มจากโครงการบทกวีภาพ POEM จะจัดจำหน่ายที่ห้องสมุดและร้านหนังสือของแกลเลอรี
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 08-3087-2725, อีเมล [email protected]
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022