ตามรอยศิลปะ ณ ดินแดนสเปน : บาร์เซโลนา นครแห่งเกาดี

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ในตอนนี้เราขอต่อเนื่องด้วยการตามรอยผลงานของยอดสถาปนิกโมเดิร์นนิสม์ผู้ยิ่งใหญ่ชาวกาตาลันอย่าง อันโตนี เกาดี กันต่อ ด้วยความที่เรายังอยู่ในเมืองบาร์เซโลนา ซึ่งมีชื่อเรียกขานว่า “นครแห่งเกาดี” (The City of Gaudí) เลยทีเดียว

เริ่มต้นด้วยการเก็บตกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับผลงานชิ้นเอกของเกาดีอย่างมหาวิหารซากราดาฟามีเลีย ที่เราลืมเล่าให้อ่านไปในตอนที่แล้วกันก่อน

อย่างที่บอกไปแล้วว่า มหาวิหารแห่งนี้เป็นผลงานสถาปัตยกรรมของเกาดีที่ยังสร้างไม่เสร็จจวบจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็มีการคำนวณเอาไว้ว่าเมื่อสร้างเสร็จแล้ว มหาวิหารแห่งนี้จะมีความสูงถึง 172.5 เมตร ซึ่งนับได้ว่าเป็นวิหารที่มีความสูงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

กราฟิตี้รูป อันโตนี เกาดี บนท้องถนนในเมืองบาร์เซโลนา

แล้วที่เห็นผนังอาคารของมหาวิหารแห่งนี้มีร่องรอยตะปุ่มตะป่ำขรุขระแบบนี้ก็เพราะเกาดีได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมาจากภูเขาหินผานั่นเอง (ว่ากันว่าเหมือนภูเขาเสียจนมีนกเหยี่ยวขึ้นไปทำรังบนหอระฆังของวิหารอยู่บ่อยๆ อะนะ!)

ด้วยความที่เกาดีต้องการให้มหาวิหารแห่งนี้แสดงการเฉลิมฉลองโลกแห่งธรรมชาติ ซึ่งเขาเชื่อว่าสร้างขึ้นโดยพระผู้เป็นเจ้า เขาจึงใช้แต่เส้นโค้งในการออกแบบมหาวิหารซากราดาฟามีเลียโดยแทบไม่มีเส้นตรงเลย

เพราะเขากล่าวว่า เส้นตรงนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ ซากราดาฟามีเลียจึงถูกเรียกขานในอีกชื่อว่าเป็น “มหาวิหารแห่งเส้นโค้ง”

ผนังอาคารมหาวิหารซากราดาฟามีเลียที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภูเขาหินผา

และด้วยความที่เกาดีได้แรงบันดาลใจในการออกแบบมหาวิหารแห่งนี้จากธรรมชาติ โถงทางเดินภายในจึงถูกออกแบบให้ดูคล้ายกับเป็นป่าขนาดยักษ์

เพดานของวิหารเองก็ปกคลุมด้วยแขนงและกิ่งก้านสาขาของเสาคานที่ดูคล้ายกับกิ่งไม้ใบไม้

แถมยังประดับด้วยสัญลักษณ์รูปสัตว์ต่างๆ อย่าง งู, กิ่งก่า, หอยทาก, นก อยู่จนทั่ว

โถงทางเดินและเพดานของมหาวิหารซากราดาฟามีเลียที่ออกแบบคล้ายกิ่งก้านสาขาของต้นไม้
แผ่นหินสลักรูปจัตุรัสมหัศจรรย์ภายในผลงานประติมากรรมนูนต่ำพระทรมานของพระเยซู

องค์ประกอบเล็กๆ ที่น่าสนใจอีกส่วนหนึ่งของมหาวิหารแห่งนี้อยู่บนผนังด้านนอกของอาคาร ภายในผลงานประติมากรรมนูนต่ำ “พระทรมานของพระเยซู” ของ โจเซฟ มาเรีย ซูบิรักส์ ซึ่งปรากฏเป็นแผ่นหินสลักรูป “จัตุรัสมหัศจรรย์” หรือแผ่นสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่มีชุดตัวเลขในแนวตั้งและแนวนอนที่เมื่อนำตัวเลขที่เรียงกันในแต่ละแถว แต่ละตอน หรือแม้แต่ในเส้นทแยงมุมมาบวกกันแล้วจะมีค่าเท่ากับ 33 เหมือนกันทั้งหมด

ซึ่งเลข 33 ที่ว่านี้เองที่เชื่อกันว่าเป็นอายุขัยของพระเยซูคริสต์ในยามที่สิ้นพระชนม์นั่นเอง

สวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Chutiporn Klongvicha

นอกจากมหาวิหารซากราดาฟามีเลียแล้ว ในเมืองบาร์เซโลนายังมีผลงานเด่นๆ ของเกาดีอีกมากมายหลายแห่ง

ไม่ว่าจะเป็นสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล (Park Güell) บนเนินเขาการ์เม็ล ในเขตกราซิอา ที่เกาดีได้รับการว่าจ้างจาก เคาต์ เอาเซบี กูเอล (Count Eusebi Güell) ผู้อุปถัมภ์คนสำคัญของเขา ให้สร้างโครงการบ้านจัดสรรในสวน ตั้งแต่ปี 1900 ถึงปี 1914 โดยหวังว่าจะให้ที่นี่กลายเป็นชุมชนในอุดมคติที่แวดล้อมด้วยพื้นที่สีเขียว และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่

สวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Chutiporn Klongvicha

แต่สุดท้ายโครงการก็สร้างไม่เสร็จ และไม่มีใครสนใจมาซื้อบ้านและอยู่อาศัย

เกาดีจึงตัดสินใจย้ายเข้าไปอยู่ในบ้านที่สร้างเสร็จหลังหนึ่ง และอาศัยอยู่ที่นั่นจนเขาเสียชีวิตในปี 1926

นับแต่นั้นมา ปาร์กกูเอลถูกเปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะเทศบาล ที่ดึงดูดผู้มาเยี่ยมชมนับล้าน

บ้านที่เกาดีอยู่อาศัยก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์บ้านเกาดี (Gaudí House Museum) ไปในที่สุด

The Serpentine Bench ในสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn
The Serpentine Bench ในสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

ปาร์กกูเอล เป็นอีกผลงานชิ้นเอกอันโดดเด่นของเกาดีไม่แพ้ซากราดาฟามีเลีย ด้วยการออกแบบอันเปี่ยมสีสันสดใส สนุกสนาน เปี่ยมจินตนาการ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้เส้นโค้งเว้าของรูปทรงชีวภาพที่ได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติ

และการใช้เทคนิคตรังกาดิส หรือการใช้เศษกระเบื้องแตกๆ ค่อยปะติดเป็นลวดลายหลากสีสันประดับบนอาคารและสภาพแวดล้อมภายในสวนแห่งนี้

ซึ่งเศษกระเบื้องแตกๆ เหล่านี้ก็เป็นวัสดุเหลือทิ้งที่เก็บมาจากโรงงานเซรามิกในบาร์เซโลนานั่นเอง

The Serpentine Bench ในสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

องค์ประกอบที่โดดเด่นเตะตาเราที่สุดในสวนสาธารณะแห่งนี้คือ “The Serpentine Bench” ม้านั่งยาวเหยียดรูปร่างคล้ายกับงูทะเลที่ประดับด้วยเศษกระเบื้องหลากสีสัน บนดาดฟ้าของสวนสาธารณะ ให้ผู้มาเยี่ยมชมนั่งมองทิวทัศน์จากมุมสูงของเมืองบาร์เซโลนาอันงดงามสุดสายตา

ตัวที่นั่งที่ถูกออกแบบให้มีความโค้งเว้าคดเคี้ยวคล้ายกับลำตัวงู ซึ่งมีผู้สันทัดทางสถาปัตยกรรมเผยให้เราฟังว่า มันเป็นฟังก์ชั่นที่เปิดโอกาสให้ผู้นั่งหันหน้าเข้ามาพูดคุยสร้างปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันได้

The Serpentine Bench ในสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

แถมที่นั่งของม้านั่งเองก็มีส่วนเว้ารับสรีระของผู้นั่ง ลือกันว่า ขณะกำลังก่อสร้าง หนึ่งในคนงานก่อสร้างถึงกับถอดกางเกงนั่งประทับก้นลงบนปูนเปียกๆ เพื่อให้ที่นั่งโค้งเว้ารับบั้นท้ายให้นั่งสบายพอดิบพอดีกันเลยทีเดียว!

ทิวทัศน์บนดาดฟ้าของสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn
ทิวทัศน์บนดาดฟ้าของสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn
El Drac รูปปั้นน้ำพุรูปมังกรตรงบันไดทางขึ้นในสวนสาธารณะ ปาร์กกูเอล คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

อีกหนึ่งคือ “El Drac” รูปปั้นน้ำพุรูปมังกร หรือกิ้งก่ายักษ์ ที่ประดับด้วยเศษกระเบื้องหลากสีสัน หมอบคลานอยู่ตรงบันไดทางขึ้นในสวนสาธารณะ ราวกับเป็นยามเฝ้าประตูก็ไม่ปาน

ปล่องไฟของอาคารปาเลากูเอล ที่ดูคล้ายปะการังหรือบ้านลูกกวาดในนิทาน ภาพจาก www.palauguell.cat

การใช้เทคนิคปะติดกระเบื้องแตกหรือตรังกาดิส ยังถูกใช้กับปล่องไฟของอาคารที่เป็นอีกหนึ่งในผลงานชิ้นเอกของเกาดีอย่าง ปาเลากูเอล (Palau Güell) หรือ วังกูเอล (Güell Palace) คฤหาสน์ที่เกาดีออกแบบให้กับเคานท์กูเอลในช่วงปี 1886-1888

ปล่องไฟที่ว่านี้ดูราวกับเป็นปะการังในท้องทะเล หรือบ้านลูกกวาดในนิทานยังไงยังงั้น

คฤหาสน์คาซามิลา คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

หรือผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของเกาดีอย่าง คาซามิลา (Casa Milà) ที่ เปเร มิลา (Pere Milà) มหาเศรษฐีชาวสเปน ว่าจ้างให้เขาออกแบบคฤหาสน์อันพิลึกพิลั่น บนถนนปาเสส เดอ กราเซีย (Passeig de Gràcia) ในเมืองบาร์เซโลนา ที่เต็มไปด้วยเส้นโค้งเว้า โดยไม่มีเส้นตรงเลยแม้แต่น้อย

คฤหาสน์คาซามิลา คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

คฤหาสน์แห่งนี้มีฉายาว่า “เหมืองหิน” ด้วยหน้าตาที่ดูคล้ายกับเหมืองหินบนภูเขามากกว่าจะเป็นที่อยู่อาศัยของคนปกติ

บนยอดหลังคายังประดับด้วยประติมากรรมรูปร่างคล้ายกับเหล่าบรรดานักรบในชุดเกราะโบราณ หรือไม่ก็เหล่ายักษา ผู้คอยพิทักษ์รักษาคฤหาสน์แห่งนี้อยู่

คฤหาสน์คาซามิลา คุณ Noo Monthip Lipisumthorn
ประติมากรรมบนยอดหลังคาของคฤหาสน์คาซามิลา ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

หรือผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของเกาดีอย่าง คาซาบัตโย (Casa Batllö) ที่ตั้งอยู่บนถนนปาเสส เดอ กราเซีย เช่นเดียวกัน คฤหาสน์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี 1904 โดยดัดแปลงจากอาคารเก่า มันมีฉายาว่า Casa dels ossos (House of Bones) หรือ “บ้านแห่งโครงกระดูก”

ด้วยโครงสร้างของสถาปัตยกรรมภายในที่คล้ายกับกระดูกซี่โครง ทำให้เมื่อเดินเข้าไปภายใน ผู้เยี่ยมชมจะรู้สึกราวกับเดินเข้าไปภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิต

คฤหาสน์คาซาบัตโย ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

เมื่อมองดูภายนอกจะเห็นระเบียงที่ดูคล้ายกับหัวกะโหลก ส่วนหลังคาและโครงสร้างภายนอกของอาคาร ก็มีเส้นสายที่ดูคล้ายกับหลังมังกรที่ลายพร้อยไปด้วยเกล็ดพร่างพรายตา น่าอัศจรรย์ใจ

ถึงแม้เกาดีจะเป็นหนึ่งในสถาปนิกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งยุคสมัย และสร้างผลงานที่มีชื่อเสียงลือเลื่องเพียงใด แต่วาระสุดท้ายในชีวิตของเขากลับช่างน่าเศร้า เพราะเขาเสียชีวิตจากอุบัติเหตุถูกรถรางชน ในขณะกำลังเดินไปโบสถ์ยามเช้า หลังจากที่ถูกรถรางชน เขายังไม่เสียชีวิตด้วยซ้ำ แต่ด้วยความที่เขาแต่งกายซอมซ่อ (จากการหมกมุ่นกับงานจนลืมใส่ใจตัวเอง) จนคนผ่านไปผ่านมาคิดว่าเขาเป็นคนจรจัด ทำให้เขาไม่ได้รับการช่วยเหลือในทันที

คฤหาสน์คาซาบัตโย ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

เป็นเวลาเนิ่นนานกว่าที่จะมีพลเมืองดีนำตัวเขาไปส่งโรงพยาบาล (กว่าคนจะจำได้ว่าเขาคือเกาดีก็ปาเข้าไปอีกวันแล้ว) ทำให้อาการของเขาทรุดหนักเกินกว่าที่จะเยียวรักษา

คฤหาสน์คาซาบัตโย ภาพโดย คุณ Noo Monthip Lipisumthorn

ในที่สุดเขาก็เสียชีวิตในวันที่ 10 มิถุนายน 1926 ด้วยวัย 73 ปี เหลือทิ้งไว้แต่เพียงผลงานอันน่ามหัศจรรย์ที่ส่งแรงบันดาลใจอันนับไม่ถ้วนแก่คนรุ่นหลัง

ดูรายละเอียดและสนนราคาค่าเข้าชมแต่ละที่ได้ที่นี่ : ปาร์กกูเอล shorturl.at/egmS0, ปาเลากูเอล shorturl.at/rtxE4, คาซามิลา shorturl.at/zEIW5, คาซาบัตโย shorturl.at/ilMVX

ข้อมูลจากหนังสือ BARCELONA City Trails โดย Moira Butterfield Lonely Planer Kids

 

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์