อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : นักปฏิบัติการศิลปะแสดงสดอันยาวนาน และยากลำบากสุดขั้ว

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

 

นักปฏิบัติการศิลปะแสดงสดอันยาวนาน

และยากลำบากสุดขั้ว

 

ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดที่ต่อเนื่องยาวนานจนทำให้ทุกคนตกอยู่ในสภาวะอันยากลำบากกันถ้วนหน้า

เราขอกล่าวถึงผลงานศิลปะของศิลปินผู้หนึ่งที่ทำงานเกี่ยวกับสภาวะที่ว่านี้กัน

ศิลปินผู้นั้นชื่อว่า เฉียเต๋อชิ่ง (Tehching Hsieh)

ศิลปินแสดงสดชาวไต้หวันผู้อพยพไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกา

เขาเป็นบุคคลที่ศิลปินเจ้าของฉายา “แม่ใหญ่แห่งศิลปะแสดงสด” มารีนา อบราโมวิช (Marina Abramovic) เรียกขานว่า “Master” (ปรมาจารย์) กว่าสามสิบปีของอาชีพศิลปิน เฉียทำงานศิลปะแสดงสดอันสุดแสนยาวนานและยากลำบากอย่างเหลือเชื่อ

เขาเกิดในปี 1950 ที่เมืองชนบทเล็กๆ ทางตอนใต้ของประเทศไต้หวัน

ในช่วงวัยรุ่น เฉียระเห็จออกจากโรงเรียนกลางคันเพื่อทุ่มเทเวลาให้การวาดภาพ

หลังจากเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้สามปี และออกมาแสดงนิทรรศการเดี่ยวในหอศิลป์ในไต้หวัน เขาก็หยุดวาดภาพอย่างสิ้นเชิง และหันมาทำงานศิลปะแสดงสดที่เขาเรียกว่า “action” หรือ “ปฏิบัติการ” แทน

โดยเริ่มต้นจาก Jump Piece (1973) ปฏิบัติการแสดงสดครั้งแรก ที่เขากระโดดลงจากหน้าต่างอาคารชั้นสอง ในความสูง 15 ฟุต ลงมาบนพื้นคอนกรีต จนทำให้กระดูกข้อเท้าแตกทั้งสองข้าง

เขาใช้กล้องถ่ายหนัง 8 ม.ม. บันทึกภาพเอาไว้

ซึ่งวิธีการนี้เองที่ต่อมากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่เฉียใช้ตลอดอาชีพการทำงาน

 

Jump Piece (1973), ภาพจาก https://bit.ly/3DfIxeU

 

แต่ในช่วงเวลานั้น สถานการณ์ทางการเมืองของไต้หวันเต็มไปด้วยความอนุรักษนิยม ประชาชนและคนทำงานสร้างสรรค์ต่างถูกปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก

เฉียก็เป็นเช่นเดียวกับศิลปินหลายคนที่ต้องการหนีออกไปอยู่ในดินแดนที่มีเสรีภาพมากกว่าอย่างนิวยอร์ก ที่เป็น “ศูนย์กลางแห่งศิลปะของโลก”

แต่การขอวีซ่าอย่างถูกกฎหมายในยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ยากยิ่ง

ในปี 1974 เขาจึงสมัครเข้าทำงานเป็นกะลาสีในเรือบรรทุกน้ำมันที่มุ่งหน้าไปนิวยอร์ก แล้วลักลอบกระโดดลงจากเรือใกล้กับท่าเรือในฟิลาเดลเฟีย และจับแท็กซี่ไปยังนิวยอร์ก ที่ซึ่งเขาอาศัยและทำงานนับตั้งแต่นั้นมาเป็นระยะเวลาถึง 14 ปี ในฐานะผู้แอบลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายโดยไม่มีกรีนการ์ด จนได้รับการนิรโทษกรรมและกลายเป็นพลเมืองของสหรัฐอเมริกาในปี 1988

ถึงแม้จะเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นศิลปินอย่างแรงกล้า แต่เฉียก็ต้องเผชิญหน้ากับความเป็นจริงอันโหดร้ายที่เขาเป็นคนต่างด้าวที่อยู่ในนิวยอร์กอย่างผิดกฎหมาย แถมภาษาอังกฤษก็ไม่กระดิก

เขาจึงต้องหาเลี้ยงชีพด้วยการทำงานล้างจานและทำความสะอาดในร้านอาหาร และหลีกเลี่ยงการใช้ระบบขนส่งมวลชนอย่างเด็ดขาด เพื่อหลบหนีตำรวจตรวจคนเข้าเมือง

โดยแทบไม่รู้เรื่องราวเกี่ยวกับแวดวงศิลปะอันคึกคักของนิวยอร์กในช่วงทศวรรษ 1970-1980 เลยด้วยซ้ำ

 

หลังจากต้องกระเสือกกระสนดิ้นรนหาเลี้ยงชีพและต้องใช้ชีวิตอย่างหลบๆ ซ่อนๆ จากเงื้อมมือของกฎหมาย จนไม่มีแก่ใจหรือหัวคิดจะทำงานศิลปะอันใด

ในวันหนึ่งเขาก็ค้นพบวิธีการทำงานศิลปะอันแปลกใหม่ที่กลายเป็นแนวทางหลักในการทำงานของเขาในภายหลัง

วิธีการที่เขาไม่จำเป็นต้องออกไปแสวงหาข้อมูลหรือวัตถุดิบในการทำงานศิลปะจากที่ไหน เพราะเป็นสิ่งที่อยู่กับตัวเขามาตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งนั้นก็คือ “เวลา” นั่นเอง

“สำหรับผม การทำงานศิลปะและการใช้ชีวิตมีสิ่งที่เหมือนกันคือการใช้เวลา ศิลปะทุกแขนงต่างก็มีที่มาจากชีวิตทั้งสิ้น”

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 1970 เขาเริ่มต้นทำงานศิลปะที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของศิลปะแสดงสด ด้วยปฏิบัติการแสดงสดที่กินเวลาต่อเนื่องถึงหนึ่งปีเต็ม โดยเริ่มจากผลงาน One Year Performance 1978-1979 (Cage Piece) ที่เฉียขังตัวเองอยู่ในห้องติดลูกกรง ภายในมีเพียงอ่างล้างหน้า หลอดไฟ ถังสำหรับขับถ่าย และเตียงนอนแคบๆ

 

One Year Performance 1978-1979 (Cage Piece), ภาพจาก https://mo.ma/2Wlc5qe

 

ในช่วงเวลาหนึ่งปี เขาไม่อนุญาตให้ตัวเองพูดจาสื่อสารกับใคร ไม่อ่าน เขียน ฟังวิทยุ ดูโทรทัศน์ หรือรับรู้ข่าวสารจากภายนอกโดยสิ้นเชิง

มีเพียงเพื่อนของเขาที่คอยส่งอาหาร น้ำ เก็บขยะ/ของเสียจากเขา และบันทึกภาพเขาเอาไว้วันละหนึ่งภาพทุกวัน

ปฏิบัติการแสดงสดที่ว่านี้ถูกจับตาอย่างเข้มงวดโดยพยานและทนาย เพื่อให้แน่ใจว่าเขาไม่ออกจากห้องเลยเป็นเวลาหนึ่งปี

โดยเปิดให้ผู้ชมเข้ามาสังเกตการณ์กิจวัตรประจำวันอันไร้แก่นสารของเขาทุกๆ สามอาทิตย์ในช่วงเวลา 11 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น

 

หลังจากจบผลงานแรกในเดือนกันยายน 1979 ในเดือนเมษายน 1980 เฉียเริ่มทำปฏิบัติการแสดงสดครั้งที่สามของเขาอย่าง One Year Performance 1980-1981 (Time Clock Piece) ด้วยการโดดเดี่ยวตัวเองอยู่ในสตูดิโอ และบันทึกการไหลผ่านของเวลาด้วยการตอกบัตรในเครื่องบันทึกเวลาในทุกๆ ชั่วโมง ตลอดหนึ่งปีเต็ม ไม่ว่าเวลานั้นเขาจะกินอาหาร นอนหลับ หรือขับถ่ายอยู่ก็ตาม

 

One Year Performance 1980-1981 (Time Clock Piece), ภาพจาก https://bit.ly/3B9jPLm ดูวิดีโอภาพต่อเนื่องได้ที่ https://bit.ly/3j9FaOC

 

ในแต่ละครั้งที่ตอกบัตร เขาจะถ่ายภาพตัวเองเอาไว้หนึ่งภาพ (ซึ่งต่อมาถูกนำมาร้อยเรียงกันเป็นวิดีโอความยาว 6 นาที แสดงภาพของเฉียในเวลาหนึ่งปี ตั้งแต่ตอนผมสั้นเกรียนไปจนผมยาวรุงรัง)

ผลงานชิ้นนี้ของเขาอ้างอิงไปถึงตำนานเทพปกรณัมของซิซีฟัส ผู้ถูกสาปให้เข็นก้อนหินขึ้นภูเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปชั่วนิรันดร์

เฉียกล่าวถึงประสบการณ์ที่เขาได้รับในครั้งนั้นว่า “ไม่ต่างอะไรกับการอยู่บนปากเหวนรก ที่ถูกสาปให้ต้องรอตอกบัตรครั้งต่อไปอย่างไม่รู้จบ”

 

ถึงแม้เฉียจะปฏิเสธว่าเขาไม่ใช่ศิลปินหัวการเมือง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าผลงานชุดนี้ของเขาแฝงนัยยะอุปมาไปถึงวิถีชีวิตอันยากเข็ญ ซ้ำซากจำเจ แห้งแล้งและไร้ซึ่งความหวังของชนชั้นแรงงานในระบบอุตสาหกรรม

ในขณะที่ผลงานชุดต่อมาของเขาก็แสดงออกถึงความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางชนชั้นได้อย่างทรงพลัง อย่างผลงาน One Year Performance 1981-1982 (Outdoor Piece)

 

One Year Performance 1981-1982 (Outdoor Piece), ภาพจาก https://bit.ly/3jasE1h

 

ที่เขาใช้ชีวิตในพื้นที่กลางแจ้งเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม โดยไม่อนุญาตให้ตัวเองเข้าไปอยู่ภายในอาคาร สิ่งก่อสร้าง หรือพาหนะที่มีหลังคาคลุมหัวเป็นอันขาด

ตลอดหนึ่งปีเขาระหกระเหินไปทั่วนิวยอร์กในช่วงฤดูหนาวที่หนาวจัดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเพียงกระเป๋าเป้และถุงนอนเท่านั้น (มีเพียงครั้งเดียวที่เขาละเมิดกฎเพื่อไปขึ้นศาลจากการถูกจับกุมในข้อหาเป็นคนจรจัด)

ในปี 1983 เฉียเปลี่ยนจากการปฏิบัติการแสดงสดแบบฉายเดี่ยวมาทำงานเป็นคู่ ในผลงาน Art / Life : One Year Performance 1983-1984 (Rope Piece) ที่เขาและศิลปินหญิงชาวอเมริกัน ลินดา มอนทาโน (Linda Montano) ผูกตัวเองเข้าด้วยกันที่เอวด้วยเชือกความยาว 8 ฟุต และอาศัยใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันทั้งในห้องพักและภายนอก เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม โดยไม่สัมผัสตัวกันและกันเลยแม้แต่น้อย

เมื่อเริ่มปฏิบัติการแสดงสด ทั้งคู่โกนหัวและปล่อยให้ผมค่อยๆ ยาวขึ้นในเวลาหนึ่งปี พวกเขาทำทุกๆ กิจวัตรร่วมกัน

หลายครั้งเฉียต้องเดินทางไปสอนหนังสือร่วมกับมอนทาโนด้วย

 

Art / Life : One Year Performance 1983-1984 (Rope Piece), ภาพจาก https://bit.ly/3DfIxeU

 

หลังจากนั้นในปี 1985 เฉียทำปฏิบัติการอีกชุดของเขาอย่าง One Year Performance 1985-1986 (No Art Piece) ด้วยการไม่ยุ่งเกี่ยวกับศิลปะในทุกวิถีทางที่เป็นไปได้ เขาไม่สร้างงานศิลปะ ไม่พูดถึงศิลปะ ไม่ดูสิ่งที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ ไม่อ่านหนังสือใดๆ ก็ตามที่มีเรื่องราวเกี่ยวกับศิลปะ และไม่เข้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะหรือหอศิลป์ใดๆ ก็ตามเป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม

ในปี 1986 เฉียเริ่มต้นสร้างผลงานชุดสุดท้ายของเขาที่มีชื่อว่า Tehching Hsieh 1986-1999 (Thirteen Year Plan) โดยประกาศว่า

ในระหว่างนี้เขาจะวางแผนทำปฏิบัติการศิลปะชุดหนึ่งโดยไม่แสดงสู่สาธารณะ ปฏิบัติการครั้งนี้จะเริ่มต้นในวันเกิดครบรอบอายุ 36 ปีของเขา ในวันที่ 31 ธันวาคม 1986 และจบลงในวันที่เขามีอายุ 49 ปี ในวันที่ 31 ธันวาคม 1999 โดยในวันที่ 1 มกราคม ปี 2000 เขาออกแถลงการณ์สรุปปฏิบัติการศิลปะที่กินเวลายาวนานถึง 13 ปี ของเขาว่า ผลงานที่ว่าคือ “การที่เขามีชีวิตอยู่รอดจนผ่านวันที่ 31 ธันวาคม 1999 มาได้” นั่นเอง

หลังจากปฏิบัติการศิลปะชุดสุดท้ายของเขาจบลง เฉียประกาศยุติบทบาทศิลปินและปฏิญาณว่าเขาจะไม่ทำงานศิลปะอีกต่อไป เขากล่าวว่า

“ผมไม่มีอะไรจะพูดอีกต่อไปแล้ว”

 

ถึงแม้เขาจะไม่เป็นที่รู้จักในแวดวงศิลปะเท่าไรนักในช่วงแรกของอาชีพการทำงาน มีเพียงการกล่าวขานจากปากต่อปากเท่านั้น

เขามาได้รับความสนใจในวงกว้างก็เมื่อช่วงปี 2009 หลังจากที่หยุดทำงานศิลปะไปเกือบสิบปีแล้ว

แต่ในขณะเดียวกัน ปฏิบัติการแสดงสดของเขาเองก็ขยายพรมแดนของศิลปะแสดงสดให้กว้างไกลขึ้นอย่างมหาศาล ด้วยการสำรวจความหมายของเวลาและธรรมชาติการดำรงอยู่ของมนุษย์ ด้วยกิจกรรมอันเรียบง่ายธรรมดาสามัญแต่ทำได้อย่างลำบากยากเข็ญสุดขั้ว และส่งแรงบันดาลใจให้ศิลปินแสดงสดรุ่นหลังมากมาย

ดังคำกล่าวของศิลปินแสดงสดตัวแม่อย่างมารีนา อบราโมวิช ที่ว่า

“ผลงานของเขาเป็นเครื่องมือในการยอมรับชีวิตอย่างที่มันเป็น นั่นทำให้งานเหล่านี้ไม่มีวันตาย เพราะมันพูดถึงธรรมชาติของชีวิตนั่นเอง”

ข้อมูล www.tehchinghsieh.com, https://bit.ly/3BcHpH7, https://bit.ly/3DfIxeU, https://bit.ly/3kdPm80