ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 6 - 12 สิงหาคม 2564 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Painting X
นิทรรศการที่ค้นหาคำตอบว่า
จิตรกรรมคืออะไร? (1)
เคยสงสัยกันไหม ว่าเหตุใด ภาพวาด หรือที่เรียกกันอย่างเป็นทางการว่า “จิตรกรรม” ซึ่งเป็นหนึ่งในสื่อศิลปะที่เก่าแก่โบราณที่สุดของมนุษยชาติ นั้นไม่เคยล้าสมัยหรือล้มหายตายจากไปไหน แต่กลับยังคงถูกทำขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนานจวบจนถึงทุกวันนี้
ในคราวนี้ เราขอแนะนำนิทรรศการศิลปะที่อาจตอบคำถามที่ว่านี้ได้
นิทรรศการนั้นมีชื่อว่า Painting X
“X” เป็นตัวอักษรละตินลำดับที่ 24 เป็นเลขโรมันที่มีค่าเท่ากับ 10
หากชื่อของนิทรรศการครั้งนี้แทนค่าของ X ในทางคณิตศาสตร์ที่หมายถึงตัวแปรไม่ทราบค่า อันเป็นตัวแทนของคำถามที่เรียบง่ายที่สุดว่า “จิตรกรรมคืออะไร?”
นิทรรศการครั้งนี้เป็นอารัมภบทของการเริ่มต้นสำรวจงานจิตรกรรมในแง่มุมต่างๆ ทั้งมุมมองต่อศิลปิน มุมมองต่องานจิตรกรรมร่วมสมัยในประเทศไทย เพื่อรวบรวมผลงานของจิตรกรร่วมสมัยที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย
และสำรวจความเป็นไปได้ในการขยายขอบเขตการให้ความหมายในงานจิตรกรรม ผ่านผลงานจิตรกรรมหลากรูปแบบหลายแนวทาง ที่สร้างสรรค์โดย 25 ศิลปินร่วมสมัยชาวไทยและสากล
อังกฤษ อัจฉริยโสภณ ภัณฑารักษ์ผู้ริเริ่มโครงการและคัดสรรผลงาน กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของนิทรรศการในครั้งนี้ว่า “นิทรรศการ Painting X มีจุดเริ่มต้นจากการร่วมกันก่อตั้งกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘จิตรกรวันเสาร์’ (Saturday Painter) หมายถึงกลุ่มจิตรกรที่ทำงานจิตรกรรมกันอย่างจริงจัง (ซึ่งล้อกับคำว่า ‘จิตรกรวันอาทิตย์’ (Sunday Painter) ที่หมายถึงจิตรกรสมัครเล่น) โดยมีสมาชิกเริ่มต้น 16 คน หลังจากจัดแสดงงานร่วมกันครั้งแรก เราตั้งใจกันว่าจะจัดแสดงงานร่วมกันทุกๆ ปี เพื่อกระตุ้นการทำงานศิลปะด้วยสื่อจิตรกรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมวิจารณ์ผลงานของกันและกัน”
“จากประสบการณ์การทำงานแบบจิตรกรมืออาชีพ เพราะเราต่างเชื่อว่า ‘งานจิตรกรรมไม่มีวันตาย’ แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทำให้เราต้องเว้นระยะห่างทางสังคม นิทรรศการครั้งที่สองจึงยังไม่เกิดขึ้นเสียที”
“จนกระทั่ง XSPACE Art Gallery เชิญให้ผมร่วมจัดนิทรรศการสำหรับพื้นที่ห้องแสดงผลงานศิลปะขนาดใหญ่ ความคิดเกี่ยวกับนิทรรศการประจำปีของกลุ่มจิตรกรวันเสาร์จึงกลับมาเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง”
นิทรรศการครั้งนี้จึงตั้งต้นจากการคัดเลือกผลงานของสมาชิกจิตรกรวันเสาร์อย่าง สุรพงศ์ สุทัศน์ ณ อยุธยา ศิลปินแนวศิลปะรูปลักษณ์ (Figurative Art) ผู้ผันตัวมาสร้างผลงานภาพวาดกึ่งนามธรรมทรงพลังในประเด็นกรรมาชีพ ที่แรงงานเป็นเสมือนเครื่องจักรกลขับเคลื่อนสังคมนี้
กริช จันทรเนตร จิตรกรแนวฟิกเกอร์เรทีฟฝีมือฉมังผู้ใช้รูปร่างของมนุษย์ในการสื่อสารผ่านงานจิตรกรรมมาโดยตลอด ด้วยการเล่นกับเทคนิคของการสร้างพื้นผิวให้เกิดร่องรอยมากขึ้นเพื่อสื่อสารเนื้อหาทางอารมณ์อันเข้มข้นออกมา
พชร ปิยะทรงสุทธิ์ จิตรกรผู้สนใจที่จะมองสังคมไปข้างหน้าด้วยการศึกษาภาพในโลกดิจิตอล เขาสร้างภาพทิวทัศน์ร่วมสมัยที่เกิดจากภาพของความทรงจำที่เราคุ้นเคยมากจนถูกละเลยอย่างภาพสำเร็จรูปที่ดื่นดาษกลาดเกลื่อนอินเตอร์เน็ต
ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ จิตรกรผู้มองว่าผลงานจิตรกรรมเป็นเสมือนพื้นที่ว่างหรือเวทีสำหรับรองรับการกระทำของศิลปินในท่วงทีต่างๆ ด้วยอุปกรณ์ที่มีเพียงปากกา ไม้บรรทัด การจัดระเบียบร่างกาย สมาธิ และเวลาเท่านั้น
อํานาจ วชิระสูตร จิตรกรผู้เชื่อว่างานจิตรกรรมคือเรื่องของ ‘จิต’ ล้วนๆ เขาทำงานกึ่งนามธรรมด้วยสีเอกรงค์ (Monochrome) แต่สร้างพื้นผิวที่สะท้อนแสงเมื่อมองต่างมุม สร้างมิติของภาพด้วยสีเพียงสีเดียว
ทวีศักดิ์ อุชุคตานนท์ จิตรกรผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการศิลปะมาหลายสิบปี เขาจริงจังกับการวาดภาพมากขึ้นเรื่อยๆ พอๆ กับการเดินนับก้าวอย่างมีวินัย ทวีศักดิ์เห็นว่าการทำงานศิลปะคือการสะสางอารมณ์ ความคิด และความรู้สึก
นพนันท์ ทันนารี จิตรกรผู้ใช้ทิวทัศน์ธรรมชาติเป็นต้นแบบในการวาดภาพ โดยทดลองนำผงหินอ่อนมาผสมกับสีน้ำมันเพื่อวาดภาพเชิงจิตวิญญาณ สะท้อนปรัชญาตะวันออกที่อ่อนน้อมต่อธรรมชาติ
พีรนันท์ จันทมาศ จิตรกรผู้สนใจความแบนของงานจิตรกรรม ด้วยการวาดภาพแบบเหมือนจริงเพื่อสร้างมิติลวงตาบนพื้นผิวที่แบนเรียบที่มีต้นแบบมาจากฉากละครเวที สี่แผ่นดิน เดอะมิวสิคัล ที่เขาเลือกมาจากคลิปวิดีโอในยูทูบ เพื่อเล่าปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางสังคมและการเมืองร่วมสมัย
วันสว่าง เย็นสบายดี สถาปนิกผู้หันมาเอาดีทางการวาดภาพ เขาทำงานศิลปะแบบเดียวกับการปรับปรุงที่พักอาศัยด้วยเทคนิคการปะติด (Collage) ที่เกิดจากการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาสร้างขึ้นใหม่ เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นนามธรรมของภาพ
อาจิณโจนาธาน อาจิณกิจ จิตรกรผู้มองหาความเป็นไปได้ของงานจิตรกรรมและความเป็นต้นฉบับ อาจิณโจนาธานทำงานที่เกิดจากการสังเกตร่องรอยของสีที่เลอะอยู่บนแอร์ บับเบิล หรือพลาสติกกันกระแทกจนเกิดเป็นความงาม
วิทวัส ทองเขียว จิตรกรผู้ประท้วง ต่อต้าน ปลดแอก เรียกร้องความยุติธรรมและเสรีภาพ ด้วยท่าทีที่นิ่งสงบ เขาใช้ภาพทิวทัศน์ที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และใช้เทคนิคทางจิตรกรรมแบบเหมือนจริงเพื่อบันทึกยุคสมัยของการแย่งชิงความหมายในความสัมพันธ์เชิงอำนาจ
จิตรการ แก้วถิ่นคอย จิตรกรผู้วาดภาพเหมือนจริงแนวสัญลักษณ์นิยม ที่ระบายสีสร้างน้ำหนักด้วยโครงสีเดียว เพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับสังคม ความเป็นเมือง การถูกครอบงำ และการมีอยู่ของระบอบบางอย่างที่กักขังเสรีภาพและจินตนาการ
เจะอับดุลเลาะ เจ๊ะสอเหาะ จิตรกรผู้วาดภาพด้วยเทคนิคการจุด, หยดสี อันเป็นเอกลักษณ์ลวดลายพื้นถิ่น สะท้อนมุมมองจากที่เกิดเหตุในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่แสดงพลังและความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา
ปริทรรศ หุตางกูร จิตรกรผู้สร้างชื่อเสียงจากผลงานศิลปะแนวป๊อปอันฉูดฉาดจัดจ้าน (Aggressive Pop) เพื่อสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย บันทึกมรดกทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นและยังคุกรุ่นอยู่ภายในตัวเรา เพื่อพร้อมเผชิญหน้ากับสังคมแห่งความเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน
สุทธิเกียรติ พุ่มพวง จิตรกรชาวเชียงใหม่ผู้มีพื้นฐานมาจากจิตรกรรมไทยประเพณี เขานำโครงสร้างการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังมาประยุกต์กับเรื่องราวร่วมสมัย
งานของสุทธิเกียรติไม่ได้รับใช้ศาสนา ชนชั้น และอำนาจ แต่ย้อนกลับไปตั้งคำถามต่อสิ่งเหล่านี้…
นิทรรศการ Painting X จัดแสดง ณ อาคาร XSPACE Art Gallery ซอยปรีดีพนมยงค์ 14 ถนนสุขุมวิท 71
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม-5 พฤศจิกายน 2564 (จันทร์ถึงเสาร์ เวลา 10:00 – 17:00 น.)
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโปรดติดต่อ โทร. 06-6073-2332, อีเมล [email protected]
ชมตัวอย่างผลงานได้ที่นี่ https://xspace.gallery/exhibition