อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ศิลปินผู้ท้าทายเผด็จการ ด้วยงานศิลปะวิดีโอ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ศิลปินผู้ท้าทายเผด็จการ
ด้วยงานศิลปะวิดีโอ

ในยุคสมัยที่บ้านเมืองตกอยู่ภายใต้ระบอบเผด็จการ ประชาชนถูกกดขี่ข่มเหงโดยอำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม ศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์และต่อต้านอยู่เสมอ

ในตอนนี้เราขอนำเสนอเรื่องราวของศิลปินผู้หนึ่งที่ใช้งานศิลปะในการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์เผด็จการอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ศิลปินผู้นั้นมีชื่อว่า เลทีเซีย พาเรนตี (Letícia Parente)

ศิลปินชาวบราซิล ผู้เชี่ยวชาญในการทำงานศิลปะในสื่อวิดีโอ หรือวิดีโออาร์ต (Video art) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมือง

ผลงานวิดีโอขนาดสั้นของเธอนำเสนอองค์ประกอบของงานศิลปะที่ใช้ร่างกายเป็นสื่อในการแสดงออกอย่างบอดี้อาร์ต (Body art) และศิลปะแสดงสด (Performance art) ที่มุ่งเน้นในการประท้วงและเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงและการทรมานนักโทษการเมืองโดยรัฐบาลเผด็จการทหารบราซิลในช่วงปี 1964-1985

อันที่จริงพาเรนตีไม่ได้ร่ำเรียนและเริ่มต้นอาชีพทางศิลปะมาตั้งแต่แรก

เดิมทีเธอเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์จนได้รับปริญญาเอกสาขาเคมี

พาเรนตียังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของบราซิล

พาเรนตีเริ่มต้นทำงานศิลปะเมื่อตอนอายุ 40 กว่าปี หลังจากแต่งงานและมีลูกได้ 5 คนแล้ว

โดยในปี 1971 เธอเริ่มต้นเข้าเวิร์กช็อปเรียนศิลปะภาพพิมพ์ที่ศูนย์ศิลปะและความคิดสร้างสรรค์ (Núcleo de Artes e Criatividade) ในริโอเดจาเนโร ก่อนที่จะพบกับเหล่าศิลปินหัวก้าวหน้าที่แนะนำให้เธอรู้จักกับเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดในยุคนั้นอย่าง “วิดีโอ”

เธอจึงเริ่มต้นทำงานศิลปะด้วยสื่อชนิดนี้อย่างต่อเนื่องและจริงจังตลอดมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานที่มีประเด็นเกี่ยวกับการเมืองและการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างเผ็ดร้อน ซึ่งเป็นอะไรที่เสี่ยงคุกเอามากๆ ในยุคสมัยที่บราซิลปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารอย่างยาวนานเกือบ 20 ปี

ในยุคนั้นรัฐบาลทหารบราซิลทำการจับกุม, คุมขัง และทรมานนักโทษการเมืองผู้ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายซ้ายและเป็นศัตรูของรัฐนับร้อยคน

หนึ่งในกระบวนการทรมานของเจ้าหน้าที่รัฐก็คือการชอร์ตไฟฟ้าที่ใบหูและฝ่าเท้าของผู้ต้องหาทางการเมือง

พาเรนตีตีแผ่กระบวนการอันป่าเถื่อนนี้ผ่านผลงานที่เป็นที่รู้จักที่สุดของเธอย่าง Marca Registrada (“Registered Trademark”) (1975) ผลงานวิดีโออาร์ตความยาว 10:24 นาที ที่เธอบันทึกภาพตัวเองขณะกำลังบรรจงเย็บคำว่า “MADE IN BRASIL” ลงบนฝ่าเท้าของเธอ

    Marca Registrada ภาพจาก https://bit.ly/3qjlcSl
               Marca Registrada ภาพจาก https://bit.ly/3qjlcSl
               Marca Registrada (1975) https://bit.ly/39nkDzP

ราวกับจะบอกว่าการถูกกดขี่ทรมานนั้นเป็นการติดป้ายยี่ห้อบ่งบอกความเป็นคนบราซิลในยุคสมัยนั้นก็ปาน

ผลงานวิดีโออาร์ต/บอดี้อาร์ตที่เล่นกับความเจ็บปวดของพาเรนตีชิ้นนี้ เป็นสัญลักษณ์แทนยุคสมัยแห่งความเลวร้ายของบราซิล ภายใต้การปกครองของเผด็จการทหารที่ใช้ความรุนแรง, กดขี่, ปราบปราม และปิดกั้นการแสดงออกทางความคิดประชาชน ไม่ว่าจะเป็นสื่อต่างๆ ไปจนถึงการทำงานศิลปะ

บทบาทของศิลปะในเวลานั้นจึงเป็นเหมือนหนทางระบายความคับข้องของผู้ถูกกดขี่ ไม่มีปากเสียงจากอำนาจรัฐ ร่างกายของศิลปินกลายเป็นเครื่องมือในการเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการถูกทรมาน การละเมิดศีลธรรม และความเจ็บปวดทุกข์ยากของผู้คนในช่วงเวลานั้น

“สถานะทางร่างกายเป็นพยานถึงสถานการณ์ทางวัฒนธรรม, การเมือง และสังคม ฉันต้องการแสดงออกถึงสิ่งเหล่านี้ในผลงานวิดีโอของฉัน ในผลงานชิ้นนี้ ฉันเย็บฝ่าเท้าของตัวเองด้วยเข็มและด้ายสีดำเป็นถ้อยคำว่า ‘ผลิตในบราซิล’ ลงไป มันเป็นประสบการณ์ที่ทรมานมาก เวลาที่เข็มทิ่มแทงเข้าไปข้างใน ฉันเจ็บเท้ามากๆ แต่มันก็ต้องเป็นเท้าของฉันเองเท่านั้นที่ถูกเย็บ (หาใช่เท้าคนอื่นไม่)” พาเรนตีกล่าว

 

หรือผลงานอีกชิ้นอย่าง In (1975) วิดีโออาร์ตความยาว 1:42 นาที ที่พาเรนตีแขวนเสื้อของเธอที่เธอยังสวมใส่อยู่ด้วยไม้แขวนเสื้อ และห้อยตัวเองอยู่ในตู้เสื้อผ้า ก่อนที่จะปิดประตูขังตัวเองไว้ข้างใน

ผลงานชิ้นนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์เหตุการณ์การประหารชีวิตนักข่าวชาวบราซิล วลาดิเมียร์ แฮร์ซอก (Vladimir Herzog) อย่างทารุณ

แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับอำพรางคดีว่าเป็นการฆ่าตัวตาย โดยพบร่างของเขาถูกแขวนคออยู่ในห้องขัง

นอกจากทำงานในประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์ความโหดร้ายของรัฐเผด็จการ พาเรนตียังทำงานศิลปะด้วยแนวคิดแบบสตรีนิยม

ดังเช่นในผลงาน Tarefa I (“Task 1”) (1982) ที่เธอปีนขึ้นไปนอนคว่ำหน้าบนโต๊ะรีดผ้าให้ผู้หญิงอีกคนใช้เตารีดรีดเสื้อผ้าที่สวมอยู่บนตัวเธอ

                     In (1975) ภาพจาก https://bit.ly/3sioS8B

ผลงานชิ้นนี้เสียดเย้ยบทบาทภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวันของผู้หญิงในการเป็นแม่บ้านแม่เรือนตามขนบค่านิยมของสังคม และการจำใจต้องอยู่ภายใต้ความเป็นระเบียบเรียบร้อยในสายตาของรัฐเผด็จการโดยไม่มีปากเสียงของประชาชน ไม่ต่างอะไรกับการทนนอนให้คนอื่นเอาเตารีดร้อนๆ รีดเสื้อผ้าที่ยังสวมอยู่บนร่างกายโดยไม่ขยับตัวหรือปริปากใดๆ

พาเรนตีใช้กิจกรรมธรรมดาสามัญในบ้านที่อาจจะดูน่าเบื่อหน่ายของผู้หญิง อย่างการเย็บผ้า, รีดผ้า เพื่อวิพากษ์วิจารณ์การใช้ความรุนแรงและการทรมานประชาชนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอย่างโหดเหี้ยมของรัฐบาลเผด็จการทหาร ไปจนถึงสำรวจและตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทและสถานภาพของผู้หญิงในสังคมบราซิลได้อย่างแนบเนียนและแหลมคม

            Tarefa I (1982) ภาพจาก https://vimeo.com/106539010

นอกจากผลงานวิดีโออาร์ต พาเรนตียังทำผลงานในสื่อภาพนิ่ง อย่างงานในชุด Série 158 (Project 158) (1975) ที่เธอหยิบเอาภาพใบหน้านางแบบจากนิตยสารมาทำการตัดต่อให้ผิดรูปด้วยการยืดหรือหดองคาพยพบนใบหน้าให้ผิดสัดส่วน

              Série 158 (1975) ภาพจาก https://bit.ly/3i6rt0v

หรือเอาเข็มกลัดมากลัดบนดวงตาและปากของนางแบบในภาพเหล่านั้นในผลงานอีกชุด

Untitled, ผลงานในชุด “Mulheres” (1975) ภาพจาก https://bit.ly/3qjlcSl

ผลงานเหล่านี้วิพากษ์วิจารณ์ค่านิยมลัทธิชายเป็นใหญ่และลัทธิชาตินิยม เกี่ยวกับคุณค่าของผู้หญิงที่ถูกตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก จนทำให้ผู้หญิงต้องแต่งหน้าแต่งตัวให้สะสวย ฟิตหุ่นให้เฟิร์ม หรือแม้แต่ทำศัลยกรรมให้ใบหน้าและร่างกายสวยงามตามมาตรฐานความงามอันดีของสังคม

ถึงแม้จะมีผลงานโดดเด่นในแวดวงศิลปะ แต่พาเรนตีก็ยังไม่ละทิ้งงานหลักของเธอ

เธอยังเขียนตำราวิทยาศาสตร์, ทำงานสอนในโรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัย และทำงานเป็นผู้อำนวยการของหน่วยงานการจัดการศึกษาท้องถิ่น และใช้เวลาที่เหลือถ่ายทำผลงานศิลปะส่วนใหญ่ที่อพาร์ตเมนต์ส่วนตัวของเธอในริโอเดจาเนโร

ในช่วงแรกๆ ของการทำงานศิลปะ พาเรนตีรู้สึกอึดอัดคับข้องกับสองบทบาทที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกันในการทำงานสายวิทยาศาสตร์และการทำงานศิลปะของเธอ

จนกระทั่งเธอค้นพบในภายหลังว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์นั้นสามารถช่วยในการทำงานศิลปะของเธอได้

“ผลงานศิลปะบางชิ้นอาจใช้มุมมองหรือวิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการทำลายความเชื่อหรือค่านิยมทางสังคมที่ไม่อาจแตะต้องได้ เพราะบางครั้ง ความเป็นเหตุเป็นผลทางวิทยาศาสตร์ก็ไม่ได้ถูกใช้เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเท่านั้น หากแต่สามารถใช้ในการวิพากษ์วิจารณ์และประณามความบิดเบี้ยวและไม่เป็นธรรมในสังคมได้ด้วย”

ดังเช่นในผลงาน Medidas (Measurements) (1976) ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ที่ผสมผสานศิลปะและวิทยาศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน โดยผู้ชมถูกเชิญให้เข้าไปทำการตรวจวัดร่างกายในรูปแบบต่างๆ อย่างความสูง, กรุ๊ปเลือด, ใบหน้า, รูปร่าง, ความจุปอด ฯลฯ ผลงานชิ้นนี้เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ธุรกิจเครื่องสำอางและศัลยกรรมเสริมความงาม รวมถึงค่านิยมของสังคมที่กดขี่ผู้หญิงอยู่

                           Medidas (1976) ภาพจาก https://bit.ly/38BMKfG

หรือผลงาน Preparação II (Preparation II) (1976) ที่เธอใช้เข็มฉีดยาฉีดตัวเอง และจดบันทึกเอาไว้ว่าเป็นวัคซีนป้องกันอคติทางสังคม อย่างการต่อต้านการล่าอาณานิคมทางวัฒนธรรม, การเหยียดผิว และการทำให้การเมือง (และศิลปะ) เป็นเรื่องไกลตัว (น่าเอามาฉีดให้คนแถวนี้จริงๆ)

ถึงแม้พาเรนตีมีชีวิตอยู่จนถึงวันที่ได้เห็นการล่มสลายของรัฐบาลเผด็จการทหารบราซิลในปี 1985 ก่อนที่เธอจะเสียชีวิตไปในปี 1991

แต่กว่าหนึ่งในสามของผลงานวิดีโออาร์ตที่ทำในช่วงเวลานั้นก็สูญหายไปจากการเสื่อมความนิยมของเทคโนโลยีวิดีโอและความไม่ใส่ใจของสถาบันศิลปะในบราซิล

แต่ผลงานที่ยังคงหลงเหลืออยู่ของพาเรนตี ก็กลายเป็นหลักฐานและมรดกทางความคิดอันทรงพลังในการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์อำนาจรัฐที่กดขี่

รวมถึงท้าทายบรรทัดฐานทางสังคมที่ไม่อาจแตะต้องได้

ดังคำกล่าวของลูกชายของเธอว่า

“ในยุคสมัยที่สังคมคอยสั่งให้คุณแต่งตัวหรือวางตัวอย่างไร ผลงานศิลปะของเลทีเซีย พาเรนตี จะคอยประจันหน้ากับสิ่งเหล่านั้นอยู่เสมอมา”

 

ข้อมูล หนังสือ Forgotten Women : The Artists โดย Zing Tsjeng, Facebook @MarcaRegistradaLeticiaParente, https://bit.ly/3skj6U3, https://bit.ly/39tKFlf