อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ALIVE นิทรรศการที่ผสมผสานงานศิลปะ จากสองยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน (จบ)

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ตอน 1

ถ้าพูดถึงสตรีตอาร์ต หรือ กราฟฟิตี้ คนทั่วไปในบ้านเรามักจะคิดถึงแก๊งเด็กเกรียนป่วนเมือง หรือพวกมือบอน ที่ชอบพ่นชื่อสถาบันประกาศศักดาตามกำแพงต่างๆ จนเลอะเทอะเปรอะเปื้อน

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ศิลปะ สตรีตอาร์ต เป็นงานศิลปะที่ทำกันมาอย่างจริงจัง ยาวนาน

ด้วยความที่เป็นงานศิลปะที่มีความมีอิสระ และเป็นขบถสูง และไม่ขึ้นกับสถาบัน มันจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม การเมือง และถ่ายทอดความอัดอั้นตันใจของผู้คนที่ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคมได้อย่างตรงไปตรงมายิ่ง

“การลักลอบทำสตรีตอาร์ตมันคือความสนุก มันมีปัจจัยให้ต้องออกไปทำอย่างงั้น เช่น เราอยากประท้วงอะไรสักอย่าง

ผมว่าสตรีตอาร์ตมันต้องมีแง่มุมบางอย่างทำให้คนฉุกคิดหรือต้องการเรียกร้องอะไรบางอย่างอยู่ในนั้น แล้วถ้าเราจะประท้วงหรือแอนตี้อะไรสักอย่าง มันก็ต้องแอบทำน่ะ

ยกตัวอย่างเช่น เราแอนตี้องค์กรอะไรสักแห่ง แล้วกำแพงนี้เป็นกำแพงที่เหมาะที่สุด ตรงคอนเซ็ปต์ที่เราจะเล่าได้ดีที่สุด มันต้องเป็นตรงนั้น และต่อให้เราขอเขาก็ไม่ให้แน่ๆ เพราะฉะนั้นเราก็ต้องแอบทำ ต่อให้ทำแล้วถูกลบทิ้ง เราก็จะทำอยู่ดี แล้วมันทำได้ในเวลาไม่นานไง สมมติเราผ่านไปตรงนั้นพอดี ทำแป๊บๆ เสร็จ ก็ไปละ

อีกอย่างก็คือเอาง่ายๆ เลยนะ คือเคลียร์ง่ายกว่าขอ ผมเจอหลายทีละ บางทีขอแล้วเรื่องเยอะ อย่างงั้นอย่างงี้อย่างโง้น พ่นไปแล้ว เคลียร์ทีหลังดีกว่า

แต่กำแพงนั้นมันก็ต้องเป็นกำแพงที่เราชอบด้วยนะ คือตอนหลังมีปัญหาก็คือ มีคนติดต่อมาบอกว่ามีกำแพงให้พ่น แต่กำแพงนั้นมันไม่สร้างแรงบันดาลใจ หรือไอเดียอะไรให้เรา มันไม่ทำให้เรามีความอยากที่จะพ่น สุดท้ายก็แล้วแต่สถานการณ์นั่นแหละ ว่า ณ ตอนนั้นเราต้องแอบทำไหม

ถามว่าทุกวันนี้ผมแอบทำไหม?

มันก็จะเป็นแอบซน แอบไปแปะสติ๊กเกอร์รูปงานผมอะไรมากกว่า แต่ไปพ่นเป็นเรื่องเป็นราวเหมือนเมื่อก่อนก็คงไม่ได้ทำแล้ว เพราะมันไม่มีเวลาด้วย เมื่อก่อนเวลามันเยอะไง เดี๋ยวนี้ทั้งลูกเอย งานเอย ร่างกายก็นอนดึกเหมือนเมื่อก่อนไม่ไหวแล้ว

กลายเป็นว่าวิธีการพ่นของผมตอนนี้ก็เปลี่ยนไป คือทำงานหาเงินก็ส่วนหนึ่งละ

งานที่เราไปทำในเทศกาลกราฟฟิตี้ก็ส่วนหนึ่ง หรือพื้นที่ส่วนรวมที่ผมไปพ่นแล้วรู้สึกว่ามันแชร์อะไรได้ อีกอย่างนึงที่ผมคิดกันกับเพื่อนก็คือ อยากไปพ่นในพื้นที่ที่มันรกร้าง พื้นที่ที่มันซบเซา ที่พอเราไปพ่นแล้วทำให้มันครึกครื้นขึ้นมาอีกครั้ง

อย่างล่าสุดเพื่อนผมไปทำที่คลองเจ็ด ซึ่งตรงนั้นเป็นตลาดร้อยปี มันมีเรื่องราวของชุมชน แต่ตอนหลังมันไม่มีใครไป เหมือนตลาดมันถูกลืมและกำลังจะตาย พอไปทำเสร็จปุ๊บคนก็กลับไปถ่ายรูป ไปเดินตลาดอีกครั้ง ชาวบ้านแถวนั้นก็แฮปปี้ด้วย”

ได้รับเชิญไปร่วมสร้างผลงานในงานเทศกาลศิลปะและนิทรรศการศิลปะสตรีตในหลายประเทศทั่วโลก อาทิ งาน The Rendezvous โดย Southeast Asia Urban Art Event ในกรุงย่างกุ้ง เมียนมา, Moni-ker Art Fair ที่ Truman Brewery ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร, ThaiTai Pro-ject โดย JUT Foundation (MOT) ที่กรุงไทเป ไต้หวัน และ Urban up Korea ในงาน Street Art Festival ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ รวมถึงกราฟฟิตี้เวิร์กช็อป Break the Ice ที่โบโด นอร์เวย์

และมีผลงานแสดงเดี่ยวทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องมาจวบจนถึงปัจจุบัน


ย้อนกลับมาที่ตัวนิทรรศการล่าสุดของเขาอย่าง ALIVE เป็นนิทรรศการแสดงเดี่ยวของ อเล็ก เฟส ที่นำเสนอผลงานศิลปะชุดใหม่กว่า 30 ชิ้น ที่เล่าเรื่องราวของตัวละครเด็กสามตาหน้าบึ้งที่พลัดหลงเข้าไปในสระบัว โดยมันถูกถ่ายทอดในหลากหลายเทคนิคและการนำเสนอ ตั้งแต่งานจิตรกรรม ภาพลายเส้น งานประติมากรรมขนาดใหญ่ ไปจนถึงงานกราฟฟิตี้บนผนังด้านนอกของหอศิลป์

ผลงานศิลปะในนิทรรศการนี้เป็นการหลอมรวมกันระหว่างผลงานสตรีตอาร์ตเข้ากับผลงานอิมเพรสชั่นนิสม์” ระดับมาสเตอร์พีซที่เขาหลงใหล

“อิมเพรสชั่นนิสม์ (Impressionism) กระแสเคลื่อนไหวทางศิลปะในศตวรรษที่ 19 ที่มุ่งเน้นในการนำเสนอชีวิตในยุคสมัยใหม่ โดยเฉพาะภาพทิวทัศน์ และภาพวิถีชีวิตของคนทั่วๆ ไปผ่านการสังเกตอย่างตรงไปตรงมา และมักจะวาดภาพด้วยการใช้ฝีแปรงหยาบๆ ด้วยความรวดเร็วเพื่อจับห้วงเวลาชั่วขณะที่อยู่ตรงหน้าที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในชั่วพริบตา

โดยมีศิลปินเด่นๆ อย่าง เอดูอาร์ มาเนต์ (Edouard Manet), คามิลล์ ปิซาร์โร (Camille Pis-sarro), เอ็ดการ์ เดอกาส์ (Edgar Degas), โคล้ด โมเนต์ (Claude Monet) และ ปีแยร์ – โอกุสต์ เรอนัวร์ (Pierre Auguste Renoir) เป็นอาทิ

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับกระแสศิลปะนี้ได้ในตอน “ศิลปะฉาวที่ถูกคัดทิ้ง”

“ตอนแสดงงานปี 2012 ผมทำงานแบบนี้ไว้รูปนึง มันผุดขึ้นมาในวินาทีสุดท้าย ผมวาดรูปท้องฟ้า ก้อนเมฆเล่นๆ อยู่ มันทำให้ผมคิดถึงฟีลลิ่งของอิมเพรสชั่นนิสม์น่ะ ผมก็เลยขึ้นงานชิ้นใหม่เลย

ผมคิดถึงภาพวาดบึงบัวที่มีสะพานของโมเนต์ (Claude Monet – Bridge over a Pond of Water Lilies, 1899) แล้วผมก็วาดเด็กสวมชุดกระต่ายกำลังเดินข้ามสะพานอยู่ เหมือนผมหลุดเข้าไปในโลกของอิมเพรสชั่นนิสม์ ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยเห็นงานจริงของโมเนต์มาก่อนเลย ผมอยากเห็นงานจริงของเขามากเลย เพราะผมเคยก๊อบปี้รูปโมเนต์เลี้ยงชีพสมัยเพิ่งจบใหม่ๆ

ตอนวาดผมก็สงสัยมาตลอดว่างานโมเนต์จริงๆ มันเป็นยังไง สีเป็นยังไง ทีแปรงของจริงมันเป็นยังไง พอดีช่วงที่ไปยุโรปนี่แหละ ผมไปเจอชิ้นแรกที่อังกฤษ เข้าพิพิธภัณฑ์ไปดู เหมือนเจอดาราคนโปรดน่ะ ดูอย่างเพลิน ยืนดูแต่โมเนต์ทั้งวัน จน รปภ. มาเล็งผมเลย บอกให้ยืนห่างๆ หน่อย เพราะผมเข้าไปดูจนชิดรูปเลยน่ะ

แล้วก็ไปดูอีกทีตอนไปญี่ปุ่น มันมีนิทรรศการหมุนเวียนมาแสดงพอดี โคตรโชคดี ได้ดูบึงบัว ได้ดูหลายชิ้นเหมือนกัน ชิ้นนี้มันก็ต่อเนื่องมาจากทำชิ้นแรกที่ว่านั้น

ทุกครั้งที่ผมดูอิมเพรสชั่นนิสม์ ผมรู้สึกว่ามันมีความคล้ายคลึงกับสตรีทอาร์ต ทั้งๆ ที่รูปแบบมันคนละเรื่องเลยนะ แต่มันมีจุดร่วมบางอย่างที่คล้ายกัน

เช่น มันโดนต่อต้าน ไม่เป็นที่ยอมรับในยุคแรกๆ เหมือนกัน เพราะมันขบถออกมาจากวิถีดั้งเดิม มันก็เป็นเรื่องปกติที่คนจะไม่เข้าใจในตอนแรก

อิมเพรสชั่นนิสม์มันเป็นจุดเปลี่ยนของศิลปะ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ศิลปินไม่ทำงานรับใช้ศาสนา ไม่รับใช้สังคมชั้นสูงอีกต่อไป แต่ศิลปินหันมาทำงานรับใช้ตัวเอง รับใช้สังคม หันมาเขียนรูปคนทั่วไป แล้วมันก็ทำงานกลางแจ้งเหมือนกันด้วย

ซึ่งตรงจุดนี้มีความคล้ายคลึงกับกราฟฟิตี้มาก

เมื่อก่อนผมอยากเป็นศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์ด้วยไง ไปไหนผมเอาเฟรมไปสองอันประกบกันไป มีขาหยั่ง อุปกรณ์พร้อม อย่างสองรูปในนิทรรศการเป็นรูปที่ผมวาดตั้งแต่สมัยเรียน มันเป็นความคลั่งไคล้ วันไหนฟ้าสวยๆ เนี่ย ต้องเก็บ วิ่งไปเอาเฟรมมาวาดรูปหน้าบ้าน

นิทรรศการนี้ก็เหมือนเราก็เอาตัวตนที่เราชอบทั้งสองอย่างมารวมกัน”

ด้วยความที่งานของ อเล็ก เฟส ดูรูปลักษณ์เหมือนตัวการ์ตูนเด็กๆ ที่มีความน่ารักสดใส จึงไม่น่าแปลกใจที่มันจะเป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ และมีเด็กๆ มาชมมากมากมาย ในช่วงเทศกาลวันเด็ก ทางหอศิลป์ก็เปิดพื้นที่ให้เด็กๆ มาเที่ยวชมผลงาน และมีกิจกรรมทางศิลปะสนุกๆ ให้เด็กได้ร่วมเล่นด้วย

“ตอนที่เดินทางไปดูงานในยุโรป ผมเห็นเด็กมาดูงานศิลปะในพิพิธภัณฑ์ ผมก็รู้สึกว่า กว่าเราจะได้ไปดูก็ปาไปป่านนี้ ตอนสมัยเราเรียนประวัติศาสตร์ศิลป์ เราโคตรอยากดูงานพวกนี้ แต่ไม่มีปัจจัยให้เราได้ดู ถ้าผมได้ดูตอนช่วงนั้นผมจะอินแตกมากกว่านี้อีกแบบ

ถ้าตอนนั้นกูได้มานี่กูกรี๊ดไปละ กูคงอินหนักกว่านี้ ก็เลยอยากจะเอาความรู้สึกแบบนั้นเข้ามาอยู่ในนิทรรศการของผม

แล้วผมดีใจมากเลยนะ ที่พอแสดงแล้วมีเด็กมาดูงานเยอะ เพราะเหมือนเด็กได้ดูงานศิลปะที่ให้ความรู้สึกเหมือนได้ดูงานในพิพิธภัณฑ์ตั้งแต่เด็กๆ ถึงแม้มันจะเป็นของก็อปก็เถอะ แต่อย่างน้อยมันได้อารมณ์ไง ผมจำลองอารมณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่ได้ไปเห็นมา”

แต่ในอีกแง่หนึ่ง ถ้ามองลึกลงไปภายใต้ฉากหน้าของผลงานแต่ละชิ้นที่ดูน่ารัก สวยงาม แต่สีหน้าของมันก็แฝงเอาไว้ด้วยความกังวลใจ และภายใต้บรรยากาศอันแสนสดใสและสงบเงียบของสระบัวที่เป็นฉากหลัง มันก็แฝงไว้ด้วยความรู้สึกที่อึมครึมและยากที่จะคาดเดาสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นใต้น้ำนั่น

ซึ่งเป็นการซ่อนนัยยะและชี้ชวนให้นึกถึงสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยในปัจจุบันด้วย

“ในนิทรรศการนี้ผมก็เอาอิมเพรสชั่นนิสม์มาผสมผสาน หยิบเอาบึงบัวของโมเนต์มา ซึ่งเป็นตัวแทนความรู้สึกเราตอนเด็กๆ ที่เราอยู่บ้านนอกกับบึงบัวกับคลอง แต่ในอีกแง่นึงผมก็อยากพูดถึงสังคมตอนนี้ ที่มันเป็นภาวะนิ่งๆ สถานการณ์การเมืองที่มันราบเรียบ แต่ไม่รู้ว่ามันมีอะไรอยู่ใต้น้ำหรือเปล่า

ทุกอย่างดูเหมือนสงบเงียบ สวยงาม แต่เราพูดอะไรไม่ได้

เราแสดงความคิดเห็นอะไรไม่ได้ไง เหมือนเราจมอยู่ในน้ำ น้ำมันท่วมปากเราอยู่ งานชุดนี้ก็จะมีภาพเด็กจมอยู่ในน้ำ มีน้ำท่วมปาก พูดอะไรไม่ได้

ผมไม่ได้พูดตรงๆ หรอก แต่เป็นการเปรียบเปรยมากกว่า หรือภาพที่เด็กที่อยู่กับบึงบัว อยู่กับน้ำ มันมีความอันตรายซ่อนอยู่

เด็กในภาพที่เห็นมันลงไปว่ายน้ำเล่นหรือกำลังจะจมน้ำกันแน่? ผมเลยตั้งชื่อนิทรรศการนี้ว่า ALIVE (รอดชีวิต) มันเหมือนสุดท้ายแล้ว จะไปหวังพึ่งใครก็ไม่ได้หรอก

เราต้องเอาตัวรอดกันเองในสถานการณ์แบบนี้ให้ได้นั่นแหละ”

ถึงนิทรรศการ ALIVE จะจบลงไปแล้ว แต่คิดว่าเราๆ ท่านๆ คงหาดูงานของศิลปินผู้นี้ไม่ยากเย็น แค่นั่งรถผ่านหรือเดินเล่นในเมืองก็อาจจะได้เห็นกันแล้ว เพราะจะว่าไป ท้องถนนก็ไม่ต่างอะไรกับหอศิลป์ของศิลปินสตรีตอาร์ตนั่นแหละ

ขอบคุณภาพจาก BANGKOK CITYCITY GALLERY