โลกหมุนเร็ว/ เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง/พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จอินเดีย

ภาพประกอบเรื่องนี้ By jesuits - Die katholischen Missionen, CC BY 3.0, https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=11972308 มาจากการค้นคว้า เป็นภาพที่ไม่ค่อยเห็นกันบ่อยนัก แสดง Emperor หรือจักรพรรดิในโลกขณะนั้น จะเห็นว่ามาจากซีกโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ในซีกโลกตะวันออกมีเพียงจีน ญี่ปุ่น และสยามคือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

โลกหมุนเร็ว
เพ็ญศรี เผ่าเหลืองทอง
[email protected]

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จอินเดีย

พระพุทธเจ้าหลวงเสด็จอินเดียตั้งแต่พระชนมายุ 19 พรรษา
ไม่ใช่ในฐานะมกุฎราชกุมาร แต่ในฐานะกษัตริย์
ทรงขึ้นครองราชย์เมื่อพระชนมายุเพียง 15 พรรษา โดยมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จนได้บรมราชาภิเษกเมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา
เสด็จประพาสอินเดียในเดือนมกราคม-มีนาคม พ.ศ.2414 ขณะนั้นทรงมีพระชนมายุ 19 พรรษา จึงทรงเป็นยุวกษัตริย์
เมื่อผู้เขียนค้นคว้าเพิ่มเติมถึงการเสด็จประพาสในครั้งนั้นก็มีความประทับใจมากกับสองเรื่องด้วยกัน
อย่างแรก คือเกร็ดที่มีผู้เล่าถึงตอนเสด็จทัชมาฮาลซึ่งสร้างในสมัยชาห์เจฮันใน ค.ศ.1632 และใช้เวลาอีก 17-22 ปีจึงแล้วเสร็จ โดยใช้เงินมหาศาล
ในครั้งนั้นพระองค์ทรงปรารภว่าเงินจำนวนนั้นหากได้ใช้ไปในการก่อสร้างถนนกับสะพานและขุดคลอง น่าจะเป็นประโยชน์มากกว่า ซึ่งแสดงชัดถึงความเป็นห่วงความเจริญของประเทศและความสุขของประชาชน
นี่คือความคิดของยุวกษัตริย์ในวัยเพียง 19 พรรษา
การเสด็จไปอินเดียของรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จไปพร้อมกับพระเจ้าน้องยาเธอและขุนนางรุ่นเยาว์ รวมทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียก็เข้าสู่พิธีบรมราชาภิเษกเมื่อมีพระชนมายุ 20 พรรษา
และได้เริ่มกระบวนการ “ปฏิรูป” ประเทศอย่างรวดเร็วและจริงจัง ด้านการเก็บภาษีอากร การจัดองค์กร การเมืองการปกครอง และเลิกประเพณีธรรมเนียมต่างๆ ที่ล้าสมัย

นักวิชาการชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปสยามในรัชสมัยของพระองค์เป็นผลมาจากการเสด็จประพาสอินเดีย
ในวันที่ไปร่วมฟังศิลปวัฒนธรรมเสวนาหัวข้อ “อินเดียโมเดล กับสยามใหม่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีวิทยากร 3 ท่านคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.กัณฐิกา ศรีอุดม ศ. (พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ และ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์
วงเสวนาซึ่งมีชีวิตชีวาอย่างมากดำเนินไปโดยมีความคิดหลักคือการเสด็จประพาสอินเดียของรัชกาลที่ 5 มีความสำคัญต่อการปฏิรูปเมืองไทยในด้านต่างๆ มากกว่าการเสด็จเยือนยุโรปเมื่อมีพระชนมายุ 44 พรรษา
ข้อมูลส่วนใหญ่ของการเสวนาในวันนั้น อ้างถึงหนังสือชื่อ “ยุวกษัตริย์รัชกาลที่ 5 เสด็จอินเดีย” เขียนโดยนายสัจฉิทานัน สหายชาวอินเดีย และแปลโดย ดร.กัณฐิกา ได้กล่าวถึงการเสด็จประพาสอินเดีย ตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม ถึง 16 มีนาคม พ.ศ.2414 โดยเป็นการเดินทาง 92 วันจากพระนคร และ 47 วันในอินเดีย
และมีเอกสารสำคัญซึ่งเป็นเอกสารหายากประกอบการเสวนาคือ “ระยะทางเสด็จประพาสอินเดีย” ที่จัดทำโดย ผศ.ดร.กัณฐิกา

เอกสารนี้ทำให้ผู้เขียนมีความประทับใจทั้งต่อผู้บรรยายคือ ผศ.ดร.กัณฐิกา ที่ได้นำเอกสารหายากนี้มาเผยแพร่ โดยเรียบเรียงใส่ตารางเรียบร้อย ง่ายต่อการค้นคว้า
และทำให้ผู้เขียนประทับใจประการที่ 2 ต่อยุวกษัตริย์ ตรงที่ได้เห็นพระวิริยะอุตสาหะในการรอนแรมและเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากบรรดาเพื่อนบ้านรายทางตั้งแต่สิงคโปร์ พม่า ไปจนถึงอินเดีย ซึ่งต่างก็เป็นอาณานิคมของอังกฤษ ทรงเสด็จโรงกษาปณ์ สโมสรศิลปะและวรรณคดี เยี่ยมชมเรือนจำ ศาสนวิหาร สวนสาธารณะและโรงเลี้ยงสัตว์ โรงกรองน้ำ ชมการสวนสนามของทหารม้า เป็นต้น
ดูเหมือนจะทรงพยายาม “ศึกษาดูงาน” ให้ได้ครบหมดทุกด้าน
บ่อยครั้งที่ทรงพักแรมในกระโจม ซึ่งก็คงไม่ได้สะดวกสบายนัก อย่างเช่น “กระโจมในแมกไม้ที่กุตุบ” ในตอนนั้นซึ่งเป็นปี 2414 อินเดียเองก็ยังไม่มีโรงแรมดีๆ ทรงต้องพักบนเรือบ้าง บ้านพักของอุปราชอังกฤษตามเมืองต่างๆ บ้าง วังของราชาแห่งรัฐต่างๆ บ้าง บนตู้รถไฟบ้าง
นอกจากการทรงดูงานในช่วงกลางวันแล้ว กลางคืนก็เสด็จงานเลี้ยงต้อนรับและลีลาศ ซึ่งก็ทำให้พระองค์ได้เรียนรู้การเข้าสังคมแบบตะวันตกไปในตัว
ทรงต้องวางพระองค์ด้วยไหวพริบ ความสุขุมไตร่ตรอง บางครั้งก็ต้องใช้ชั้นเชิง เพื่อให้อังกฤษได้ตระหนักถึงความเป็นกษัตริย์ของประเทศที่เป็นอิสระไม่เป็นอาณานิคมใคร
ตัวอย่างเช่น ในเมื่ออุปราชอังกฤษเดินเข้าพระมหาเจดีย์ชเวดากองโดยสวมรองเท้า ถึงแม้พระองค์จะทรงทราบว่าคนพม่าและชาวพุทธไม่ใส่รองเท้า แต่เพื่อแสดงถึงความเท่าเทียมกับอังกฤษ พระองค์ก็ทรงตัดสินพระทัยสวมฉลองพระบาทเข้าพระมหาเจดีย์ชเวดากองเช่นกัน

และก็ตามเคยสำหรับ ดร.ชาญวิทย์ นอกจากความรู้เพียบแล้วก็สร้างสีสันด้วยการเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเสริม ทั้งสนุกและได้ข้อมูลลึกๆ ส่วน ดร.ธำรงศักดิ์ ก็ใส่ชีวิตชีวาและดำเนินการอภิปรายแบบมืออาชีพ การสนทนาเป็นไปอย่างลื่นไหล กลมกล่อม
สำหรับคนไทยที่ไม่ได้อยู่ร่วมรัชสมัยของพระองค์ การศึกษาถึงพระราชกรณียกิจไม่ว่าจะด้วยการค้นคว้า การอ่าน หรือรับฟังจากปากของผู้ที่ได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับพระองค์ก็ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตาว่าทรงทำงานหนักเช่นเดียวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่เรามีโอกาสได้รู้ได้เห็นด้วยตัวเราเอง
การเป็นที่ยอมรับในความเป็นกษัตริย์ผู้ทรงพระปรีชาสามารถ ไม่เพียงแต่สำหรับคนไทยเท่านั้น ในสังคมโลก พระองค์ก็ทรงเป็นที่ยอมรับเป็นอย่างสูง ดังปรากฏในภาพที่แสดงถึงจักรพรรดิในโลกในเวลาต่อมา
ข้อสังเกตเจ็บๆ คันๆ จาก ดร.ชาญวิทย์ ผู้มีคุณลักษณะพิเศษในการให้ความเห็นเชิงเหน็บแนมที่ได้รับแถมท้ายมาในวันนั้นก็เช่น ท่านเล่าให้ฟังว่าเมื่อเร็วๆ นี้ได้ลองนั่งรถไฟจากกรุงเทพฯ ไปอยุธยา ได้พบว่าความเร็วของรถไฟยังเท่าในสมัยรัชกาลที่ 5 ในขณะที่ในญี่ปุ่นซึ่งได้เริ่มเดินรถไฟพร้อมกับเราไปถึงการมีชิงกันเซนตั้งนานแล้ว
อีกเรื่องคือรัชกาลที่ 5 ได้ทรงประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้คนไทยเลิกหมอบคลาน แต่จนบัดนี้คนไทยก็ยังชอบหมอบคลานกันอยู่
เอ หรือคนไทยชอบมีเจ้านาย หรือเคยชินกับการมีเจ้านาย ก็ไม่ทราบนะเจ้าคะ