Midnight Diner : ร้านอาหารเที่ยงคืน

มาดามหลูหลี[email protected]

กรุงเทพฯ กับโตเกียวดูจะคล้ายกันอยู่คือ เป็นเมืองที่ไม่ยอมหลับใหล มีที่เที่ยวที่กินได้ตลอด 24 ชั่วโมง หลังมื้อเย็น ยังมีมื้อดึกให้เลือกกินก่อนกลับบ้าน

Midnight Diner / Tokyo Diner หรือ Shinya Shokudo (2009) ซีรี่ส์ญี่ปุ่นภาค 1 จำนวน 10 ตอน ที่เริ่มต้นเรื่องด้วยเสียงเจ้าของร้านบอกว่า “ตกเย็น ทุกคนต่างเร่งรีบกลับบ้าน หลังการทำงานที่เหนื่อยล้า แต่วันของผมเพิ่งเริ่มต้น ร้านอาหารจะเริ่มเปิดตอนเที่ยงคืน และปิดร้านเวลา 7 โมงเช้า…”

ร้านอาหารซ่อนตัวอยู่ในตรอกเล็กๆ ย่านชินจูกุ มีทางเดินแคบๆ ให้แค่รถเข็นขายของจุกจิกผ่านได้เท่านั้น เป็นร้านเล็กๆ คูหาเดียว เจ้าของร้านที่ทุกคนเรียกว่า “เถ้าแก่” (Master) ยืนทำอาหารในครัวเล็กๆ ที่มีเพียงผ้าม่านบังตากั้นเพื่อบอกขอบเขต ตรงกลางเว้นว่างให้เถ้าแก่ใช้เสิร์ฟอาหาร หรือยืนรับคำสั่งอาหารของลูกค้าและพูดคุยกับลูกค้า มีเคาน์เตอร์ (Counter) ล้อมรอบและเก้าอี้ไม่มีพนักพิงให้ลูกค้านั่ง

เมนูอาหารมีเท่านี้คือ ซุปหมูแบบดั้งเดิม และเมนูที่เหลือลูกค้าสามารถสั่งได้ ถ้าเถ้าแก่ทำได้จะเสิร์ฟให้

ส่วนเครื่องดื่มมีการระบุว่าให้ดื่มแค่ 3 แก้วเท่านั้น เป็นกฎที่วางไว้ชัดเจน

 

ลูกค้าที่มากินอาหารมื้อดึกที่ร้านเป็นลูกค้าประจำ หรือไม่ก็มีการแนะนำต่อๆ กัน ดูเหมือนต่างจะรู้จักกันเพราะมากันบ่อยๆ หมุนเวียนกันมา

แต่ละคนมักเล่าเรื่องราวของตัวเองสู่กันฟัง เล่าเหมือนไม่ตั้งใจเล่า และคนฟังเหมือนไม่ตั้งใจฟัง เพราะต่างไม่รู้เบื้องหลังของกันและกัน ส่วนเถ้าแก่จะยืนฟังเงียบๆ อย่างตั้งใจ และมักจะเป็นผู้ขมวดปมตอนจบให้อีกฝ่ายรับรู้

เมนูหลักของร้านคือ ซุปหมูแบบดั้งเดิม หรือ “ทันเมง” เป็นเมนูนำเสนอช่วงไตเติ้ลก่อนเข้าสู่ละครแต่ละตอน ซึ่งถ่ายทำได้น่ากินมาก มีหมูติดมันหรือเบคอน ผัดเกือบสุก แล้วใส่ผักต่างๆ มี กะหล่ำปลี แคร์รอต ต้นหอมญี่ปุ่น เติมน้ำซุป พอเดือดตักเสิร์ฟได้

“ทันเมง” เป็นชื่อตอนแรกของละคร มีคนขับแท็กซี่ที่เป็นผู้หญิงมานั่งกินและสั่งทันเมง เธอเล่าเรื่องชีวิตของเธอให้ลูกค้าอีกคนฟัง ซึ่งเป็นนักจัดรายการวิทยุ ระหว่างขับแท็กซี่รับผู้โดยสาร เธอมักฟังรายการของผู้จัดคนนี้ เป็นรายการวิทยุเล่าเรื่องราวชีวิต คล้ายๆ กับคลับฟรายเดย์ของเจ้ฉอด

เรื่องราวของเธอถูกถ่ายทอดสู่รายการวิทยุ เป็นเรื่องราวในใจของเธอที่อยากบอกให้คนที่เคยรักได้รับรู้เหมือนได้ระบายใจ รู้สึกตัวเบาและสบายใจ

ชื่ออาหารจึงเป็นชื่อตอนของละครทั้ง 10 ตอน ซึ่งตัวละครในแต่ละตอนมักมีเมนูอาหารได้เข้ามามีส่วนอยู่ความทรงจำหรือความประทับใจ

บางเรื่องราว เป็นความเกี่ยวพันกันของนักแสดงตลกที่เคยเป็นอดีตหัวหน้ากับลูกน้อง เมื่อเวลาเปลี่ยนบางสิ่งบางอย่างก็เปลี่ยน ชื่อเสียงถดถอย การยอมรับลดน้อยลง ขณะที่คนรุ่นใหม่ก็ก้าวขึ้นมาแทนที่

ลูกน้องเก่าแอบให้ความช่วยเหลือรุ่นพี่หัวหน้าเก่า มีเพียงเถ้าแก่ที่รับรู้เรื่องราว เมนูคอร์นด็อก (ไส้กรอกชุบแป้งทอดมีกลิ่นข้าวโพด เป็นอาหารสไตล์อเมริกัน) จานอาหารพิเศษนั้น เถ้าแก่จึงทำให้ลูกน้องคนดีคนนี้

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของผู้คนอีกหลายคน ที่มีความรักความหลังต่างๆ เรื่องราวที่บอกเล่ากับคนแปลกหน้า ที่ไม่ใช่คนในครอบครัว อาจให้ความสะดวกใจกว่า

หรืออีกมุมหนึ่ง ผู้คนในสังคมทุกวันนี้ คงโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงามาก จนไม่รู้จะเล่าเรื่องชีวิตให้ใครฟังเมื่อมีคนที่ยินดีรับฟังเรื่องราว และสถานที่ที่ยินดีต้อนรับ มันให้ความรู้สึกที่ดีงาม

 

แต่ละตอน ลูกค้าเล่าเรื่องราวของตัวเองหรือของคนใกล้ตัว อันเกี่ยวข้องกับเมนูอาหาร ชื่อแต่ละตอนของละคร จึงเป็นชื่อเมนูอาหาร

เถ้าแก่จึงเป็นผู้รับฟังที่ดี โดยที่ไม่เคยเล่าเรื่องราวของตัวเองเลย ไม่รู้ว่าเถ้าแก่มีที่มาที่ไปอย่างไร ทำไมจึงมาเปิดร้านอาหารมื้อดึกแบบนี้ และใบหน้าที่มีแผลเป็นรอยบาดลึกเกิดจากอะไร เกิดจากอุบัติเหตุหรือถูกทำร้ายหรือว่าเถ้าแก่เคยเป็นยากูซ่ามาก่อน?!

คาโอรุ โคบายาชิ นักแสดงอาวุโสซึ่งมีผลงานแสดงมากมาย ทั้งละครซีรี่ส์และภาพยนตร์ รับบทเป็นเถ้าแก่เจ้าของร้านอาหารเที่ยงคืน

บทพูดมีไม่มากแต่เขาแสดงได้ราวกับว่าเป็นเจ้าของร้านที่มีชีวิตจริงอยู่ที่นี่

 

Midnight Diner สร้างจากมังงะเรื่อง “Shinya Shokodo” ของยาโระ อาเบะ และร่วมเขียนบทกับนักเขียนบทคะทสึฮิโกะ มานาเบะ, โคสุเกะ มูคาอิ และทาคูโระ โออิคาวะ โดยทีมผู้กำกับฯ โจจิ มะทสึโอกะ, โนบุฮิโระ ยามาชิตะ และทาคูโระ โออิคาวะ

ละครชุดที่ดูนี้คือภาค 1 มี 10 ตอน ฉายเมื่อปี 2009 ส่วนภาค 2 ปี 2011, ภาค 3 ปี 2014 และภาค 4 ปี 2015 ชื่อ “Late Night Restaurant” หรือ “Simyashikdang”

คาโอรุ โคบายาชิ นักแสดงท่านนี้ เคยได้รับรางวัล “Outstanding Performance by an Actor in a Supporting Role” ครั้งที่ 31 งาน Japan Academy Prize ปี 2008 จากเรื่อง Tokyo Tower, Mom and Me และ And Sometimes Dad

ละครดูยามดึก ให้ความรู้สึกอบอุ่นในใจ แต่ร่างกายรู้สึกอยากกินอาหารกับเครื่องดื่ม และเพื่อนคุย (*!*)

 

——————————————————————————————————————-

วาซาบิ : Shinjuku Golden-gai เป็นตรอกเล็กๆ แถวสถานีรถไฟชินจูกุ ที่มีร้านอาหารแนวผับหรือบาร์ เรียงรายอยู่ทั้งสองข้างทางประมาณ 300 ร้าน มีทั้งร้านเก่าแก่ซึ่งยังคงรักษาบรรยากาศสมัยปี 2493 และร้านที่เจ้าของเป็นคนรุ่นใหม่เปิดกิจการภายใต้รูปแบบที่ทันสมัย