วางบิล/ เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์/สู่ร่มกาสาวพัสตร์ ทบทวนธรรมชาติ

วางบิล
เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์

ทบทวนธรรมชาติ

เมื่อพระหัวหน้าจบบทกรวดน้ำ จะพอดีกับบรรดาญาติโยมเทน้ำในโถ หรือในภาชนะที่รองขนาดเล็ก หรือขัน หรือภาชนะอื่นใดรองน้ำนั้นจนหมดเช่นกัน พระหัวหน้าจึงขึ้นบทให้พร
“สัพพีติโย…” พระสงฆ์ที่นั่งเป็นอันดับตามต่อด้วย “วิรัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง ฯ”
แม้ยังมีส่วนที่ต่อเนื่องจากนี้ แต่เท่าที่พระปานอ่านจากคำแปลภายหลัง คิดว่าการกรวดน้ำ และญาติโยมรับพรจากพระนับว่าเพียงพอ ซึ่งทั้งบทกรวดน้ำและบทให้พร เมื่อนำมาถอดความเป็นคำไทยฟังทั้งไพเราะมีความหมายสมบูรณ์อยู่แล้ว
เมื่อจบบทให้พรและต่อเนื่องจากนั้น เป็นอันจบพิธีสงฆ์ ภิกษุลุกกลับกุฏิพร้อมเครื่องอัฐบริขารซึ่งญาติผู้วายชนม์ถวาย

การกรวดน้ำเท่าที่พระปานเห็นมาหลายครั้งเมื่อมีโอกาสไปสวดมนต์ฉันเพลหรือพิธีอื่น มักจะระดมกันกรวดน้ำทีละหลายคนนั่งเป็นวง ส่วนเจ้าภาพ หรือผู้เป็นประธาน หากนั่งบนเก้าอี้จะใช้ที่กรวดน้ำลำพังเพียงคนเดียว ถ้าเป็นพิธีหลวง จะมีเจ้าหน้าที่คอยถือพานเล็กรองรับน้ำที่หลั่งลงมาจากกรวยน้ำ
ญาติโยมที่กรวดน้ำร่วมกัน บ้างพยายามแหย่นิ้วเข้าไปตรงขันรอง บ้างแตะตัวผู้ที่อยู่ใกล้ขันกรวดน้ำ มีบางคนเท่านั้นที่นั่งพับเพียบหรือขัดสมาธิยกมือไหว้ ซึ่งหากมิได้เป็นผู้กรวดน้ำ มิได้เป็นประธาน หรือเป็นเจ้าภาพ การยกมือไหว้จนจบบทกรวดน้ำและรับพรน่าจะเพียงพอแล้ว
การกราบพระเช่นเดียวกัน พระปานเห็นหลายคนทั้งชายทั้งหญิง ส่วนมากเป็นหญิง เมื่อก้มตัวลงกราบจะแบหุบมือ 3 ครั้งลงกับพื้น โดยไม่เงยหน้า เมื่อครบจึงยกมือขึ้นไหว้ บางคนไม่ได้ก้มลง เพียงแบมือทั้งสองลงบนพื้นทั้งสามครั้ง ดูไม่รู้ว่าเป็นการกราบพระแบบไหนกันแน่ เช่นเดียวกับการกราบศพ ตามวิธีที่ถูกต้องประกบมือทั้งสองข้างยกขึ้นจรดใบหน้าแล้วก้มลงวางสันมือลงบนที่รองหรือบนพื้น ไม่ต้องแบมือเหมือนกราบพระ
แต่พระปานเห็นแบมือกราบเช่นเดียวกันการกราบพระนักต่อนัก

พุทธศาสนิกชนน่าจะฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เพื่อให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ไม่ใช่ว่าจะทำอย่างไรก็ได้
เมื่อครั้งเป็นนักเรียน พระปานเคยเข้ารับการปวารณาเป็นพุทธศาสนิกชน ทั้งจากนั้นยังมีการฝึกปฏิบัติในพิธีการเกี่ยวกับพิธีทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการกราบ การประเคน การรับของจากพระ ผู้ชายรับของจากพระท่านโดยตรงได้ แต่ผู้หญิงต้องแบมือรับ แม้พระเองรับของถวายของประเคนจากผู้ชายสามารถรับโดยตรง แม้เมื่อรับจากผู้หญิงต้องใช้ผ้ารองรับอีกทีหนึ่ง จึงถูกต้อง เพราะผู้หญิงถูกต้องตัวพระมิได้
วิถีชีวิตคนไทย อย่างน้อยควรแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีวัฒนธรรม ได้รับการฝึกฝนมาดีแล้ว แม้จะตัดพิธีทางศาสนาพราหมณ์ออก ยังต้องเกี่ยวข้องกับพิธีทางพุทธศาสนาหลายอย่าง เช่น การกราบพระ เป็นต้น
การประพฤติปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมทางศาสนาไม่ใช่เรื่องยากเย็นแต่อย่างใด เคยเห็นคนจีนที่อยู่เมืองไทยมานานมีลูกหลานเรียนในระดับมหาวิทยาลัยกราบอย่างถูกต้องทั้งกราบพระ กราบผู้ใหญ่ กราบครู แม้แต่การกรวดน้ำ ยังนึกชมลูกหลานของคนผู้นั้นว่าเอาใจใส่วัฒนธรรมไทยดี
แม้ชาวชนบทมางานศพญาติที่วัด เวลากราบพระ ถวายของพระ ถูกต้อง กิริยานุ่มนวล อ่อนน้อม ด้วยจิตศรัทธาโดยแท้ ผิดกับคนกรุงเทพฯ ไม่ค่อยสนใจเรื่องเหล่านี้ ขอให้เสร็จๆ ไปเป็นใช้ได้
บางคนเคยแย้งกับปานว่า พระในกรุงเทพฯ ไม่เห็นจะประพฤติปฏิบัติองค์ให้น่าเลื่อมใส แรกๆ ปานอึ้งไปเหมือนกัน ทั้งออกจะเห็นคล้อยตาม แต่เมื่อคิดถึงตามหลักความจริงแล้ว การกระทำดังกล่าวผู้กระทำต่างหากจะเป็นผู้ได้รับ ไม่ใช่พระ
การกระทำในสิ่งที่ถูกต้อง อ่อนน้อม นุ่มนวล มีสัมมาคารวะ ผู้ปฏิบัติเองจะได้กับตัวเอง เช่น สบายใจ และได้รับกุศลผลบุญจากการกระทำนั้น ไม่มีใครเอาไปได้

อีกอย่างที่ได้ยินได้ฟัง ทั้งเห็นการกระทำนั้นด้วยตัวเอง ในขณะเป็นพระ คือการเคาะโลงศพเมื่อพระเริ่มสวดพระอภิธรรม บางคนเคาะเสียแรงเสียงดัง จนเกรงว่าคนตายจะรำคาญ ท่านเจ้าคุณใหญ่เคยเทศน์เรื่องนี้ให้ฟังครั้งหนึ่ง ถูกใจพระปานมาก
ท่านเจ้าคุณใหญ่เทศน์ว่า การเคาะโลงศพไม่มีประโยชน์อะไร เพราะผู้นั้นตายไปแล้ว ร่างกายที่นอนในโลงเหมือนท่อนไม้ ไม่มีความรู้สึกรับรู้สิ่งใดอีก มีแต่จะเน่าเปื่อยผุพังไปตามกาลเวลา ไม่สามารถรับรู้ธรรมที่พระสวดได้ แท้ที่จริงควรชักชวนมาฟังเทศน์ฟังธรรมเสียตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อมีชีวิตชักชวนกันไปทำอย่างอื่น ไม่ชักชวนมาฟังเทศน์ฟังธรรมเพื่อสะสมบุญกุศล และขยายความว่า
“เมื่อตายไปแล้วกลับมาเคาะโลงเพื่อให้ฟังธรรม มันก็แปลกดี การประพฤติปฏิบัติธรรมนั้น ต้องกระทำเมื่อมีชีวิตและร่างกายแข็งแรงพร้อม จึงจะได้ผลสมบูรณ์ เมื่อปฏิบัติบ่อยจะเป็นอุปนิสัย เป็นผู้ที่มีสติสัมปชัญญะ ทำอะไรด้วยความรอบคอบไตร่ตรอง ไม่ถลำลงไปในสิ่งที่เป็นโทษเป็นบาป”
อีกอย่างหนึ่ง ปานเคยพบในหนังสือพิมพ์ที่มีผู้เขียนเรื่องการเลี้ยงอาหารเมื่อพระสวดจบที่สาม ว่าไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใด มีแต่จะสิ้นเปลืองโดยเฉพาะสมัยนี้ และเป็นวัดในกรุงเทพฯ ยิ่งไม่จำเป็น เพราะพระจะสวดเสร็จยังไม่สามทุ่ม อย่างเร็วสองทุ่มครึ่ง ผู้ที่มาในงานส่วนใหญ่มักรับประทานอาหารเย็นมาแล้ว บ้างยังไม่ถึงเวลา ทั้งยังไม่เสียเวลาหากใครจะรับประทานข้าวเย็นเสียก่อน ไปถึงวัดสักทุ่มครึ่งเป็นดี พระเพิ่งเริ่มมาที่ศาลา การไม่เลี้ยงอาหารเป็นการประหยัดไปได้มาก ไม่ต้องเป็นกังวล เลี้ยงแต่เครื่องดื่มน้ำหวานน้ำส้มก็เพียงพอแล้ว
เมื่อมีการเลี้ยงอาหาร เช่น ข้าวต้มเครื่องสำเร็จ ต้องมีการนำไปวางไว้ข้างโลงให้คนตายได้กินด้วย คนตายไปแล้วจะกินอย่างไร บางครั้งแมวจะเข้าไปกินเสียเอง เดือดร้อนต้องคอยไล่แมว ยิ่งเป็นแมวดำยิ่งต้องระวัง ไม่รู้ว่าเป็นความเชื่อมาแต่ครั้งไหน ว่าหากแมวดำกระโดดข้ามศพจะไม่เป็นมงคล หรือมีเรื่องร้าย
ปานเคยเห็นบางคนแทบหกล้มหัวแตกเพื่อวิ่งไล่แมวที่เข้าไปกินอาหารเซ่นผี
การออกไปสวดที่เมรุแต่ละครั้ง พระปานมักได้ข้อคิดเกี่ยวกับธรรมะมาเสมอ ยังคิดว่า ผู้ที่ไปงานศพน่าจะสำนึกไว้เสมอว่า นั้นเป็นธรรมของจริงแท้ยิ่งกว่าธรรมทั้งหลาย ชีวิตเมื่อเกิดมาแล้วย่อมเป็นไปตามวัฏสงสาร ไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นการเกิดแก่เจ็บตายไปได้
ทุกสิ่งไม่เที่ยงเป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน ไม่ใช่เขาไม่ใช่เรา
มีเกิดมีดับสลับไปตราบเท่าที่จิตยังเวียนว่ายไม่แสวงหาทางหลุดพ้น