มองไทยใหม่ : อักขรวิธีภาษาไทย คำยืมที่ทำให้วิธีอ่านและเขียนไม่ธรรมดา

อักขรวิธีภาษาไทย VS อักขรวิธีภาษาอังกฤษ (๒)

อย่างไรก็ตาม ภาษาที่ใช้อยู่ในสังคมย่อมต้องมีภาษาอื่นเข้ามาปะปนด้วย ดังที่เรียกกันว่าคำยืม ซึ่งทำให้วิธีเขียนและอ่านภาษาไทยไม่ง่ายดายดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

เมื่อยืมคำจากภาษาอื่นมาใช้ก็ต้องเพิ่มรูปพยัญชนะตัวสะกดในแม่กน แม่กก แม่กด และแม่กบ เพื่อให้ตรงกับภาษาเดิม ดังนี้

แม่กน เพิ่มตัว ญ ณ ร ล ฬ เช่น หาญ ญาณ การ กาล กาฬ

แม่กก เพิ่มตัว ข ค ฆ เช่น เลข โชค เมฆ

แม่กด เพิ่มตัว ต จ ช ซ เช่น ฆาต กาจ ราช ก๊าซ

ฎ ฏ ฐ ฑ เช่น กฎ กฎหมาย รัฐ ครุฑ

ฒ ต ถ ท เช่น วุฒ จิต นาถ บาท

ร ศ ษ ส เช่น การ มาศ ดาดาษ มาส

แม่กบ เพิ่มตัว ป พ ภ เช่น บาป ภาพ ลาภ

ในกรณีที่ภาษาที่ยืมมาเป็นภาษาที่ใช้ตัวอักษรมาประกอบกันขึ้นเป็นคำ ก็จะมีการเทียบว่าตัวอักษรนั้นๆ ใช้อักษรไทยตัวใดแทนได้ แล้วก็มักจะรักษาตัวอักษรเหล่านั้นไว้ก่อน แล้วค่อยหาวิธีอ่านทีหลัง เช่น ใช้เครื่องหมายทัณฑฆาตกำกับตัวอักษรที่ไม่ออกเสียงในระบบของไทย เปลี่ยนรูปให้พออ่านได้ในภาษาไทย หรือ กำหนดขึ้นมาตรงๆ ว่าให้อ่านอย่างไร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ได้ระบุไว้ว่า ภาษาไทยมีคำซึ่งมีที่มาจากภาษาต่างๆ ถึง ๑๗ ภาษา

คำอย่าง รัตน์ จันทร์ ลักษมณ์ กษัตริย์ ฟิล์ม จึงเกิดขึ้น

คำอย่าง กรรณ (กรฺณ) วรรณ (วรฺณ) ธรรม (ธรฺม) เวิลด์ (world) จึงเกิดขึ้น

คำอย่าง ฤทธิ์ (อ่านว่า ริด) ฤดี (อ่านว่า รึดี) ฤกษ์ (อ่านว่า เริก) ฤๅษี (อ่านว่า รือสี) ตฤๅ (อ่านว่า ตรี) จึงเกิดขึ้น

คำบางคำก็อ่านได้ทั้งแบบภาษาเดิมและแบบภาษาไทย เช่น

ปกติ (อ่านว่า ปะกะติ หรือ ปกกะติ)

มกราคม (อ่านว่า มะกะราคม หรือ มกกะราคม)

สมดุล (อ่านว่า สะมะดุน หรือ สมดุน)

วิธีสอนการเขียนการอ่านภาษาไทยแบบแจกลูก คือไล่ไปตั้งพยัญชนะต้น สระ พยัญชนะตัวสะกด (ถ้ามี) และวรรณยุกต์ จึงใช้ไม่ได้กับคำประเภทนี้ ต้องใช้วิธีเรียงตัวอักษรตามที่ปรากฏ แล้วบอกเสียงอ่านเป็นคำๆ ไป ซึ่งมีผู้วิจารณ์ว่าเลียนแบบมาจากภาษาอังกฤษซึ่งไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอน

ในขณะที่ภาษาไทยใช้ตัวอักษรที่พัฒนามาจากอักษรปัลลวะของอินเดียฝ่ายใต้ ภาษาอังกฤษก็ใช้อักษรละติน ๒๖ ตัว คือ a ถึง z ภาษาอังกฤษจึงมีกฎที่ใช้กำหนดวิธีการเขียนอ่านไว้ด้วย แต่จะมีลักษณะซับซ้อนตามประวัติความเป็นมาอันยาวนานของภาษา ซึ่งทำให้เสียงหนึ่งเขียนได้หลายแบบ

และการเขียนในรูปแบบเดียวกันก็อาจจะอ่านได้หลายอย่างด้วย