คำ ผกา : ท่องเที่ยวอย่างไรไม่มีอะไรให้โดยสาร?

คำ ผกา

รู้สึกตัวเองเริ่มซึมซับความเป็นคนกรุงเทพฯ มากขึ้นทุกที

เมื่อวันหยุดยาวสงกรานต์คือห้วงเวลาที่จะจำศีลอยู่ในบ้าน และอยู่ในกรุงเทพฯ แทนการกลับบ้านที่เชียงใหม่

เหตุที่ต้องยกเว้นการกลับบ้านที่เชียงใหม่ (ทั้งๆ ที่ใครๆ ก็อยากไปสงกรานต์เชียงใหม่) เพราะสภาพอากาศเชียงใหม่ในเดือนเมษายนนั้นไม่เพียงแค่ร้อน แต่สภาวะฝุ่นควันพิษนั้นสาหัสมากขึ้นทุกปี

หนักถึงขั้นเลือดออกจากจมูก หายใจติดขัด มีเสียงวี้ดๆ ออกจากลำคอกันเลยทีเดียว

และอีกเหตุผลที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ในช่วงเทศกาลเช่นนี้ตั๋วเครื่องบินก็แพงพรวดพราดอย่างแน่นอน

ไม่นับสภาวะการจราจรติดขัด คับคั่ง

สำหรับเมืองที่ไม่สามารถไปได้ด้วยทางเครื่องบิน อย่างเขาใหญ่ โคราช หัวหิน ปราณบุรี เข้าใจว่ารถจะติดในระดับที่ต้องนั่งภาวนากันไปตลอดทางจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

ฉันนึกถึงเรื่องนี้ขึ้นมาหลังจากเห็นข่าวว่า ททท. และรัฐบาลพยายามจะกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยวเมืองรอง แน่นอน ถ้าทำได้ก็ถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะที่คนบ่นกันเหลือเกินว่าทำมาค้าขายไม่คล่องเอาเสียเลย)

นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเมืองหลักเมืองรองนี้ก็น่าสนใจ

อะไรที่ทำให้เมืองอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต กลายเป็นเมืองท่องเที่ยวเมืองหลัก

แน่นอนว่ามีต้นทุนที่ติดตัวมาแต่เดิม เช่น ภูเก็ตมีทะเลสวย มีหาดทรายสวย มีประวัติศาสตร์ของการเป็นเมืองแบบวิโน โปรตุกิส มีความเป็นเมืองเหมืองแร่เก่า มีวัฒนธรรมพ่อค้า ดังนั้น จึงมีทั้งธรรมชาติ และเสน่ห์ทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

เชียงใหม่มีต้นทุนทางธรรมชาติ คือป่า เขา น้ำตก ลำห้วย (ที่เหลือน้อยลงเรื่อยๆ) มีประวัติศาสตร์ที่ค่อนข้าง exotic ทั้งตัวประวัติศาสตร์จริง ทั้งประวัติศาสตร์แบบแฟนตาซี มีสีสัน มีโบราณสถาน มีวัดวาอาราม มีประเพณีประดิษฐ์ใหม่ๆ มาตอบสนองนักท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่อง มีศิลปะ หัตถกรรมที่คลี่คลายต่อยอดไปได้เรื่อยๆ เช่น งานไม้ งานผ้า ในช่วงหลังยังเป็นเมืองแห่งหัตถกรรมอาหาร กาแฟ ฯลฯ

นอกจากต้นทุนที่ติดตัวมาแล้ว เมืองท่องเที่ยวเมืองหลักมีข้อได้เปรียบคือมีสนามบิน และเป็นสนามบินนานาชาติ ทำให้การเดินทางไปเมืองเหล่านี้สะดวก รวดเร็ว (อย่าลืมว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่มีเวลาเที่ยวอันจำกัด ดังนั้น ความรวดเร็วของการเดินทางจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางด้วย)

แม้กระนั้นสิ่งที่ไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงๆจังๆ ทั้งๆ ที่สองเมืองอย่างเชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นเมืองท่องเที่ยวของเมืองไทยมาหลายทศวรรษ เกือบครึ่งศตวรรษด้วยซ้ำ ทำรายได้ให้กับประเทศชาติปี หนึ่งๆ ไม่รู้เท่าไหร่ มีส่วนในการสร้างจีดีพีให้ประเทศชาติมาไม่รู้เท่าไหร่

แต่ไม่มีใครจริงจังกับการที่สองเมืองนี้ไม่มีขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพเสียที

ไม่มีใครคิดเลยหรือ (คงคิดแหละ แต่ไม่ทำ หรือทำไม่ได้สักที ไม่รู้ทำไม) ว่า เพียงแต่เมืองท่องเที่ยวหลักของเมืองไทยทุกเมืองจะมีวิธีการเดินทางที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ในราคาที่สมเหตุสมผล – เพียงแค่นี้!!!! มันจะกระตุ้นการท่องเที่ยวได้อีกสักเท่าไหร่????

อย่าแต่เมืองหลัก เมืองรอง ในเชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลฯ อุดรฯ นครพนม เพียงแต่มีขนส่งมวลชนที่ดี สะดวก รวดเร็ว รื่นรมย์ การท่องเที่ยวจะกระจายไปยังตำบลอื่นๆ อำเภออื่นๆ ที่ไม่ใช่จุดหมายปลายทางหลักเดิมๆ ของการท่องเที่ยว และมันจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกอักโข

สินค้าเพื่อการท่องเที่ยวนั้นไม่จำเป็นต้องเป็นต้นทุนที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เช่น น้ำตก ทะเล ธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นก็ได้

สำหรับฉันรู้สึกเสียดายโอกาสของการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ของประเทศไทยอย่างยิ่ง

เช่น บางหมู่บ้าน บางตำบล มีการทำน้ำตาลมะพร้าวที่อร่อยที่สุด บางที่มีการทำน้ำปลาดีที่สุด

บางที่มีงานจักสานสวยสุดๆ

บางที่มีการทำปลาร้าอย่างอลังการที่สุด

บางที่มีปลาส้ม

บางที่มีกุ้งจ่อม

บางที่มีปั้นหม้อ

บางที่มีทำเส้นก๋วยเตี๋ยว

บางตำบลมีทำมีดแบบแฮนด์เมดงดงาม ฯลฯ

เหล่านี้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ ทำดีๆ ทำให้เป็น ทำให้มีรสนิยม เราจะได้ทั้งการต่อยอด “ความเป็นไทย” ที่ไม่ใช่แค่การใส่ชุดนางลิเก นางละครฟ้อนแก้บนกันไปวันๆ

แต่ได้มอบลมหายใจอันกระปรี้กระเปร่า มอบศักดิ์ศรีความสง่างามให้แก่งานหัตถกรรม รวมถึงวัฒนธรรมว่าด้วยอาหารการกินอีกสารพัด และโดยละทิ้งความอนุรักษนิยม

องค์ความรู้เหล่านี้ยังสามารถไปปะทะสังสรรค์กับความรู้ใหม่ๆ ในโลกกว้าง ก่อให้เกิดความงอกงามเติบโตในงานหัตถศิลป์เหล่านี้ออกไปอีกอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

และการท่องเที่ยวก็ไม่ต้องมาทุลักทุเล ขุดขายสินค้าตัวเก่าๆ ภาพเดิมๆ จนชอกจนช้ำ

แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ในเมื่อเราไม่มี “หนทาง” ให้นักท่องเที่ยวได้มีโอกาสไปสัมผัส ไปรู้ ไปเห็น

แผนที่เพื่อการท่องเที่ยวอันจะก่อให้เกิดประสิทธิภาพ และเม็ดเงินสูงสุดจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราสามารถเชื่อมโยงสถานที่ต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างมีเรื่องราว

และแน่นอน มี “ยานพาหนะ” ที่นำพานักท่องเที่ยวไป

ยานพาหนะที่ว่านี้ก็ไม่ควรเป็นรถยนต์ด้วย เพราะการเดินทางด้วยรถยนต์ นำทุพภิกขภัยมาสู่นักท่องเที่ยวแค่ไหน ก็ขอให้จินตนาการถึงทิวแถวรถยนต์ที่จะขึ้นดอยอินทนนท์ในช่วงปีใหม่

รถจำนวนมหาศาลที่จะไปภูทับเบิก

รถจำนวนมหาศาลที่ติดกันยาวเหยียดคับคั่งในตัวเมืองของจังหวัดต่างๆ

รถติดยาวเหยียดจากกรุงเทพฯ ไปเขาใหญ่ ไปหัวหิน ติดชนิดที่เราไม่ควรเรียกการเดินทางนี้ว่าการท่องเที่ยว แต่ควรเรียกว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยามากกว่า

และรถที่ติดอย่างเอกอุนี้ยังนำมาซึ่งมลภาวะอากาศเสีย การเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง เผาผลาญเวลาไปอย่างโง่เง่าและน่าละอายที่สุดเท่าที่จะเกิดขึ้นได้กับมนุษยชาติ

ดังนั้น หากเราอยากสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้เลยที่จะต้องคิดเรื่องการขนส่งระบบราง รถไฟที่ทันสมัย สะอาด ปลอดภัย (และไม่จำเป็นต้องเป็นรถไฟความเร็วสูง)

หรือแม้กระทั่งเรื่องรถราง และแน่นอน หากอยากเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในสเกลที่เล็กลงไปอีกก็ต้องทำทางจักรยาน เชื่อมทุกอำเภอ ตำบลเข้าด้วยกัน เชื่อไหมว่า ทุกตำบล อำเภอ จังหวัด สามารถเชื่อมต่อด้วยทางจักรยานอันร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย มีร่มไม้สวยๆ ได้เมื่อไหร่ ต่อให้เมืองที่ไม่มีอะไรน่าเที่ยวเลย สุดท้ายก็จะเกิด “กิจการเพื่อการท่องเที่ยว” ขึ้นมาตอบสนองผู้มาเยือนไปโดยอัตโนมัติ

การเดินทางด้วยการปั่นจักรยานอำนวยให้คนเห็นรายละเอียดระหว่างทาง เห็นร้านค้าเล็กๆ สามารถจอดแวะได้ทุกเมื่อตามอำเภอใจ

จุดแข็งของทางจักรยานคือ มันจะกระตุ้นให้เกิดร้านค้าเล็กๆ น้อยๆ ข้างทาง (ที่ไม่ใช่แผงลอย) ได้เองตามธรรมชาติ

และร้านเล็กๆ ย่อมกระจายรายได้ได้มากกว่าคอมมิวนิตี้มอลล์ใหญ่ๆ ของกลุ่มทุนใหญ่ (ที่เกิดและโตกับวัฒนธรรมรถยนต์)

อย่าบอกว่า เมืองไทยร้อน ฝนตก ต้นไม้จะหักจะหล่นใส่หัวคนถ้าทำทางจักรยาน

นั่นเป็นเพียงข้ออ้างที่จะไม่ทำ (แต่ก็นั่นแหละนะ การออกแบบทางสาธารณะของประเทศไทยก็มีความสามารถพิเศษยิ่งในการออกแบบเพื่อให้เป็นภัยอาจถึงแก่ชีวิตหรือพิการต่อผู้สัญจรจนเป็นปกติอยู่แล้ว)

เพราะหากจะทำจริงๆ มันสามารถทำให้ก้าวพ้นอุปสรรคเรื่องฝนเรื่องแดดเรื่องกิ่งไม้หักได้ ในญี่ปุ่นที่เห่อๆ ไปดูซากุระกัน ก็ยังไม่เคยได้ยินข่าวกิ่งซากุระหักตกใส่หัวใครตายสักคน

นี่แค่ประเด็นของเมืองหลักนะ ยังไม่พูดเรื่องเมืองรองว่าในท่ามกลางความพิกลพิการเรื่องขนส่งมวลชนที่เป็นอยู่ในประเทศไทย เราจะส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้อย่างไร? จะให้เดินทางไปยังเมืองเหล่านั้นด้วยวิธีไหน

ลองคิดดูว่า ถ้าต้องนั่งรถทัวร์จากเชียงใหม่จะไปเที่ยวลพบุรี ต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง หรือจะนั่งรถทัวร์จากกรุงเทพฯ ไปเที่ยวอ่างทอง ต้องใช้เวลากี่ชั่วโมง

หรือแม้กระทั่งขับรถไปเอง ต้องเสียเวลาไปกี่ชั่วโมง

สุดท้ายจะได้เที่ยวสักกี่วันกี่ชั่วโมง

ไหนจะความเหนื่อยล้าที่เกิดจากการเดินทาง และถ้ารถไม่ติด ถนนหนทางสะอาด ปลอดภัย ก็เป็นอีกเรื่อง

ไปถึงเมืองนั้นๆ แล้วจะให้เที่ยวด้วยวิธีไหน? ขับรถ? นั่งสองแถว? เช่ารถ? ทั้งหมดนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกโก่งราคา ขึ้นราคาชนิดแพงเลือดซิบ

ราคาแท็กซี่สนามบินเชียงใหม่ ภูเก็ตนั้น สามร้อย สี่ร้อยขึ้นไป ราคาเหมาทั้งวันสองพันบาทขึ้นไป!!!

นี่ขนาดเมืองใหญ่ แล้วเมืองเล็กที่ไม่มีแกร็บ ไม่มีอูเบอร์ – โอ๊ยยย ไม่อยากจะคิด

และส่งเสริมท่องเที่ยวเมืองรองแล้วจบที่ใครๆ ก็ขับรถไปเที่ยวเมืองนั้น ก็เท่ากับเราไปสร้างความเดือดร้อนให้คนท้องถิ่นต้องมาเจอกับรถติดและมลภาวะทั้งปวงอีก

ททท.จะทำมาหากินกับการท่องเที่ยว ก็คงต้องใช้พลังในการผลักดันโครงการขนส่งมวลชนสาธารณะและระบบโลจิสติกส์ทั้งมวลให้เกิดขึ้นและเป็นจริงด้วย

นอกจากนี้ ท้องถิ่นเมืองรองทั้งหลายที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างเม็ดเงินรายได้เข้าประเทศก็ต้องถามตัวเองหนักมากว่า ทุนของโครงสร้างพื้นฐาน การจัดการปัญหาขยะ และค่า “เสื่อม” ของเมือง ที่นักท่องเที่ยวต้องเข้ามาร่วมใช้สาธารณูปโภคต่างๆ ของคนท้องถิ่นนั้น ต้นทุนตรงนี้ใครจะรับผิดชอบ

เพราะเมืองท่องเที่ยวในหลายประเทศ เทศบาลบริหารจัดการดูแลเงินเข้าเมืองนั้น เป็นรายได้ของเมืองนั้น เอามาใช้บริหารจัดการเมืองนั้น

ไม่ใช่เอาลำปางมาเป็นเมืองท่องเที่ยว หารายได้ได้เยอะแยะ เสร็จแล้วส่งเงินเข้ามาส่วนกลางแล้ว

เมืองรองเมืองเล็กทั้งหลายก็ได้งบฯ ไปดูแลจังหวัดของตัวเองแบบที่ไม่รู้ว่าจะคุ้มกับการเอาตัวเองเป็นเมืองท่องเที่ยวหรือเปล่า

แต่ก็นั่นแหละ แผนเที่ยวเมืองรองนั้น อันดับแรกเลย ททท.คงต้องตอบคำถามให้ได้เป็นเบื้องต้นก่อนว่า จะไปถึงเมืองรองอย่างไร ไปแล้วจะ “โดยสาร” ยานพาหนะใดเที่ยว?