ย้อนเวลาเรียบเรียงความทรงจำ ยามย่ำแดนไกลในวัยหนุ่ม ตอนที่ 4

มนุษย์ในสังคมโลกนี้ย่อมมีชั่วดีอยู่ร่วมปะปนกัน จึงคิดว่าถ้าจะต้องได้พบกับคนเลวชั่วเห็นแก่ตัวย่อมเป็นเรื่องของโชคชะตาบุญวาสนา จำเป็นต้องโยนไปให้เป็นเรื่องของฟ้ากำหนดซึ่งมันยากเกินที่สามารถจะหยั่งรู้ล่วงหน้า

พำนักพักพิงอยู่เมืองดิ มอยน์ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมลรัฐ “ไอโอวา” สหรัฐ (Des Moines Iowa,Usa) กับครอบครัวน้องชาย น้องสะใภ้ของหุ้นส่วนชีวิตอีก 2 คืนก่อนเขาจะขับรถพาไปส่งให้กับญาติอีกเมืองหนึ่งเพื่อเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยกันเนื่องจากว่าเขาจะต้องเดินทางไปทำธุระอยู่แล้ว เลยถือโอกาสพาเราไปสัมผัสสหรัฐในเส้นทางเหล่านั้น เท่ากับให้พี่กับน้องได้พบกันด้วย

บรรยากาศในเมืองดิ มอยน์ ละแวกที่ได้พักพิงเป็นสังคมของ “คนลาว+เวียดนาม” อพยพแทบทั้งหมด ไร้เงาของฝรั่งผิวขาว มีเพียงคนผิวสีปะปนอยู่บ้างแค่น้อยนิด

ผู้เดินทางได้รับการต้อนรับพาไปเลี้ยงดูยังร้านอาหาร (จีน) ในเมืองเป็นการต้อนรับ

ก่อนจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนเพียงแค่เดินข้ามถนนไปบ้านโน้นบ้านนี้ซึ่งเกี่ยวดองเป็นญาติชาวลาวทั้งสิ้นในแต่ละวัน บรรยากาศไม่แตกต่างไปจากสังคมตะวันออก เพียงแต่สถานที่เป็นแผ่นดินของประเทศมหาอำนาจอีกทวีปหนึ่ง

 

ผู้คนที่พลัดแผ่นดินมารวมตัวกันในสังคมของประเทศแห่งนี้มิได้หมายความว่าเป็นคนดี ไม่ดี หากแต่เป็นคนที่แผ่นดินเกิดของตนมีความขัดแย้งทางความคิด ในลัทธิ ระบบการปกครอง จนต้องลงมือรบพุ่งฆ่าฟัน พวกเขาเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในแผ่นดินของตนเองไม่ได้อีกต่อไป แต่ดูเหมือนว่าในโลกนี้ไม่ว่าจะเป็นเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ไหน ย่อมมีทั้งความจริงใจ แย่งชิงเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ และการสร้างภาพปะปนอยู่ด้วยกัน

รู้เพียงแต่ว่าผู้อพยพจากบ้านเกิดเหล่านั้นย่อมอยู่ฝ่ายประชาธิปไตย ฝั่งเดียวกับสหรัฐ ไม่อย่างนั้นคงไม่ได้รับการช่วยเหลือโอบอุ้มจากสหรัฐ หลังจากแพ้สงครามระหว่าง “คอมมิวนิสต์-ประชาธิปไตย” ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ “เขมร+ลาว+ญวน” ฉะนั้น ย่อมต้องรับผิดชอบกับผู้อพยพ

พันธมิตรของสหรัฐซึ่งมีพรมแดนติดต่อใกล้เคียงกันกับเขมร ลาว ญวน อย่างประเทศไทยย่อมได้รับผลกระทบไม่น้อยกับภาระต้องช่วยเหลือแบกรับผู้อพยพในช่วงระยะเวลาของการสู้รบ กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงดังที่ปรากฏจากเวลาที่ผ่านเลย

 

ได้พบกับญาติอีกคนหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่เมืองวิกเตอร์(Victor) ท่านเป็นแพทย์ เดินทางมาเรียนต่อสหรัฐ หลังจบจากแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แล้วมีครอบครัวได้ภรรยาเป็นผู้หญิงอเมริกัน มีทายาทเท่าที่รู้ 2 คน ชาย-หญิง จึงได้ลงหลักปักฐานประกอบอาชีพแพทย์อยู่ที่นี่

ไล่เรียงลำดับญาติตกอยู่ในตำแหน่งเป็นน้าของหุ้นส่วนชีวิต และน้าหมอท่านนี้แหละที่เกิดความขัดแย้งกับน้องชายจนต้องแยกย้ายไปต่อสู้แสวงโชคเอง

3 ชีวิตได้มาพักค้างแรมยังบ้านครอบครัวน้าชายของหุ้นส่วนชีวิต 1 คืน ส่วนน้องชายและภรรยาชาวลาวอพยพหลังจากพาเรามาส่งแล้วได้กลับไปยังชมรมชาวลาวอพยพเมืองดิ มอยน์ (Des Moines) เพื่อรอรับการกลับมาอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคนที่ช่วยเหลือตัวเองมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย มีชีวิตอิสระเลือกศึกษาเล่าเรียนในสิ่งซึ่งตนเองรักชอบพอก่อนจะพาตัวเองเข้าสู่งานอันแตกต่างจากสิ่งที่ได้เรียนมา จึงย่อมต้องใช้ความพยายามเป็นอันมากเพื่อศึกษาและปรับตัวก่อนจะเข้าใจจนเกิดความรักชอบพอในอาชีพ ซึ่งเป็นอิสระแต่รับผิดชอบตัวเอง สังคมโดยรวม และมีเสรีภาพ

เมื่อมาตกอยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาคนอื่นทุกๆ อย่าง ตั้งแต่เรื่องของการเดินทาง ที่พักอาศัย จึงไม่แปลกใจเลยว่ามันเกิดความอึดอัดเกรงใจ แต่พยายามอดทนตั้งสมาธิทั้งที่พยายามเร่งเวลาให้เดินเร็วขึ้นเพื่อจะได้กลับมายังเมืองดิ มอยน์ ก่อนกลับสู่ “ลอสแองเจลิส” (Los Angeles) เพื่อศึกษาท่องเที่ยวกับเพื่อนสนิท

แต่มันยังเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างได้ถูกวางตารางไว้เรียบร้อยแล้ว?

 

ครอบครัวของคุณน้า 3 คน พ่อ+แม่+ลูกสาว กับผู้เดินทางจากประเทศไทยอีก 3 รถอเมริกันคันนั้นจึงอัดกันเข้าไปถึง 6 คน ออกเดินทางจากเมืองวิกเตอร์ไปทางตะวันออกของเมืองดิ มอยน์ สู่รัฐอิลลินอยส์ (Illinois) ซึ่งต่อมาทราบว่าเป็นการนัดประชุมพบปะของเหล่าคุณหมอจากเมืองไทยและในสหรัฐ ซึ่งเป็นรุ่นเดียวกัน

ถ้าหากเอ่ยชื่อแพทย์เหล่านั้นย่อมเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีหลายคน

แต่คนที่โด่งดังเป็นพลุแตกขณะนั้นคือ “พลอากาศเอกนายแพทย์ประกอบ บุรพรัตน์” (เสียชีวิต) เดินทางจากเมืองไทยมาร่วมงานพบปะครั้งนี้ด้วย

จากความจำบ่งชี้ว่าระยะเวลาอยู่ระหว่างประมาณรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (เสียชีวิต) เป็นนายกรัฐมนตรี คุณหมอแห่ง “กองทัพอากาศ” ท่านนี้เป็นผู้คิดโครงการหาทุนจำนวนมากเพื่อทำการก่อสร้างอาคาร “คุ้มเกล้า” อาคารแพทย์หลังใหญ่ทันสมัยของโรงพยาบาลภูมิพล โรงพยาบาลสังกัดกองทัพอากาศ มีการออกสลากให้ซื้อมาขูดกันเพื่อค้นหารางวัลทั่วบ้านทั่วเมือง

ก่อกำเนิด “ธิดาคุ้มเกล้า” รวมทั้งเป็นคนแรกที่นำเอาระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ในวงการแพทย์ (2523) ในโรงพยาบาลของรัฐเป็นแห่งแรก จนได้รับรางวัลดีเด่นเป็น “คนดีศรีแพทย์ทหาร”

คาดว่าเป็นการประหยัดงบฯ ทั้ง 6 คนจึงต้องพักห้องเดียวกัน (น่าจะเป็นโรงแรมซึ่งมีการประชุมจัดไว้ให้) ซึ่งยอมรับว่าคับแคบอึดอัดมากทีเดียว เดินสวนกันยังลำบาก เวลาใช้ห้องน้ำแต่ละครั้งยิ่งหนักขึ้นไปอีก แต่จะทำอย่างไรได้นอกจากอดทนด้วยความเกรงใจเป็นอย่างยิ่ง

แต่มีสิ่งที่ไม่ค่อยสบอารมณ์คือ ความเข้ากันไม่ได้ของเด็ก (หลาน) ทำท่ารังเกียจ ซึ่งแสดงออกแบบไม่ค่อยเก็บอาการกับคุณแม่ของหุ้นส่วนชีวิตซึ่งนับญาติกันเป็นป้าของเธอนั่นเอง

 

แรกๆ ไม่ค่อยจะถือสาสักเท่าไรเนื่องจากเราเป็นผู้เข้ามาเบียดแย่งความสะดวกสบายในครอบครัวของเขาในยามที่จะเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อน

แต่วันที่ 2-3-4 ชักหงุดหงิดเพิ่มขึ้นเมื่อเธอแสดงอาการแบบเหยียดๆ ดูถูกผู้สูงอายุจากเมืองไทยในเรื่องการกิน การเคลื่อนไหว ในขณะที่น้องสะใภ้ (ฝรั่ง) แม้จะพยายามเก็บอาการแต่ก็ไม่ได้ทั้งหมด ทั้งๆ ที่เธอเคยเดินทางมาพบเจอที่เมืองไทยบ้างแล้ว น่าจะได้เข้าใจสภาพบ้านเกิดญาติพี่น้องข้างสามีบ้างพอสมควร

แต่ยังไงไม่เคยลืมบุญคุณที่ได้พาติดรถเดินทางท่องเที่ยวในรัฐอิลลินอยส์ (Illinois) และวิสคอนซิน (Wisconsin) พาไปรับประทานอาหารจีนในอิลลินอยส์เป็นปลาราดพริกสไตล์อาหารจีนในสหรัฐซึ่งใส่ถั่วลิสงลงไปด้วยจำนวนมาก แต่มันอร่อยไปอีกแบบ

หรือว่าเราไม่ได้ลิ้มรสอาหารไทย (จีน) นานหลายวันไม่รู้เหมือนกัน

เราไม่ได้พบปะกับคนอื่นนอกจากคุยกันเองจึงนับวันเวลาจะได้เดินทางกลับเสียที

บังเอิญในเวลานั้น ในทศวรรษดังกล่าวการติดต่อสื่อสารค่อนข้างอืดอาดสักหน่อย ไม่ใช่วันเวลาของโลกดิจิตอลอย่างเช่นทุกวันนี้ ไม่อย่างนั้นคงรบกวนน้องชายจากเมืองดิ มอยน์ให้มารับกลับก่อน

เพราะเรียนตรงๆ ว่าไม่ได้สนุกอะไรกับชนบทต่างๆ เมืองต่างๆ ที่น้าหมอพานั่งรถผ่านในแต่ละวัน ทั้งๆ ที่อเมริกานั้นแผ่นดินใหญ่โต และมีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมสรรพเท่าที่ในโลกนี้เขามีกัน

ทรัพยากรธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ ภูเขา ทะเล แร่ธาตุ น้ำมัน ทะเลทราย “สหรัฐอเมริกา” มีทั้งนั้น รวมทั้งผู้คนมากมายหลากหลายเผ่าพันธุ์ และดูเหมือนว่าจะมีมากกว่าประเทศในซีกโลกอื่นด้วยซ้ำ

แต่บางครั้งเขาพยายามส่งนักลงทุนของเขาไปลงทุนในชาติบ้านเมืองอื่น ใช้ทรัพยากรของประเทศอื่น นำเข้าทรัพยากรของประเทศอื่นๆ

ทำท่าเหมือนว่าจะอยู่ในโลกนี้เป็นประเทศสุดท้าย ถ้าหากทรัพยากรบางสิ่งบางอย่าง เช่น “น้ำมัน” ซึ่งมนุษย์ต้องพึ่งพาหมดสิ้นลง

 

ได้เดินทางมาถึงเมืองอะไรจำไม่ได้ (นานเหลือเกิน) รู้แต่ว่าเป็นเมืองท่องเที่ยว น้าหมอลงทุนเปิดรีสอร์ตสไตล์อเมริกันแบบโมเต็ลไม่ใหญ่โตนักให้พัก จากนั้นพาลงเรือล่องแม่น้ำเพื่อไปชมการแสดงโชว์ของ “อินเดียนแดง” (Indian) ท่ามกลางอากาศหนาวลมแรงจนเกิดอาการไข้เข้ามาเกาะกุม ซึ่งการแสดงไม่ได้เป็นสับปะรดขลุ่ยอะไรเลย (ความรู้สึกของผู้เดินทางจากเมืองไทยใน พ.ศ. นั้น)

วิสคอนซิน (Wisconsin) อยู่ประมาณตอนกลางของสหรัฐ เขตมิดเวสต์ (Mid West) อากาศค่อนข้างหนาว แม่น้ำที่เราล่องเรือไปน่าจะเป็นวิสคอนซิน ซึ่งตั้งชื่อมาจากอินเดียนแดง พลิกดูข้อมูลแปลว่า “ดินแดนหินแดง” รัฐนี้มีปศุสัตว์ เลี้ยงวัวมากจึงมีเรื่องของชีส และอื่นๆ ผลิตภัณฑ์จากวัวมากตามไปด้วย

วันต่อๆ มาน้าหมอของหุ้นส่วนชีวิตพาตระเวนเมืองท่องเที่ยวในรัฐนี้ซึ่งมีอะไรต่อมิอะไรอีกมากรวมทั้งมีเฮลิคอปเตอร์สำหรับให้เช่าพาบินวนดูวิวทิวทัศน์ด้วย แต่ความเบื่อเข้ามาเยือนจึงขอตัวนอนดูกีฬาทางโทรทัศน์ ซึ่งถ่ายทอดการแข่งขัน “โอลิมปิก ลอสแองเจลิส” (Olmpic Los Angeles 1984) เพียงคนเดียว

แอบโทรศัพท์ให้น้องชายที่เมืองดิ มอยน์ รีบมารับกลับบ้านเขาเมื่อเราเดินทางถึงเมืองวิกเตอร์ เนื่องจากไม่ต้องการพักค้างยังบ้านน้าของหุ้นส่วนชีวิตที่เมืองนี้อีก 1 คืน–

เนื่องจากหมดความอดทนกับอาการไม่ค่อยดีของ “ฝรั่งบ้านนอก แม่+ลูก” เต็มประดา