“In Bruges” ก่อนการมาถึง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ของผู้กำกับฯ มาร์ติน แม็กดอนาห์

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับที่ 1961 มีบทความที่กล่าวถึงภาพยนตร์ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ให้ได้อ่านอย่างจุใจ

ไม่ว่าจะเป็น “โกรธ” ของนพมาส แววหงส์, มิดเดรก เฮย์ส : การต่อสู้ของคนตัวเล็ก ของอาจารย์มิ่งมนัสชน จังหาร และ “อำนาจของสื่อ” ของวัชระ แวววุฒินันท์ หรือ “เอาคืน” อย่างไรให้สาสม? ในคอลัมน์รักคนอ่านของทราย เจริญปุระ

บทความชิ้นนี้ จึงอยากจะขอ “ย้อนรอย” ถึงผลงานเก่าของผู้กำกับฯ “มาร์ติน แม็กดอนาห์” กับภาพยนตร์ที่มีชื่อว่า In Bruges หนังปี 2008 ที่ควรจะ “ขีดเส้นใต้” ตัวโตๆ เอาไว้ว่าเป็นผลงานกำกับฯ และเขียนบทคุณภาพอีกเรื่องหนึ่งของแม็กดอนาห์ที่น่าจดจำ

ไม่แพ้หนังรางวัลอย่าง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ที่ส่งให้ฟรานซิส แม็กดอร์มันด์ ได้รับรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิง กับ แซม ร็อกเวลล์ ในสาขาสมทบชายไปครองได้อย่างสมศักดิ์ศรี

“อิน บรูจส์” เล่าเรื่องราวของอาชญากร “เรย์” (โคลิน ฟาร์เรลล์) นักฆ่ารุ่นน้อง ผู้กล้ำกลืน ฝังใจอยู่กับเหตุการณ์อันน่าสลดที่ตัวเองไม่ตั้งใจจะก่อให้เกิด

เขากระอักกระอ่วนเจียนบ้าแทบทุกครั้งเมื่อนึกถึงและรู้สึกเปลี่ยวเหงาที่ตัวเองต้องมาหลบซ่อนตัวอยู่ในเมืองเล็กๆ อันเงียบสงบของเบลเยียม

ผิดแผกจากรุ่นพี่ “เคน” (เบรนแดน กลีซัน) ที่ดูสนอกสนใจและหลงใหลดื่มด่ำกับการตระเวนท่องทัวร์ในเมืองบรูจส์มากเป็นพิเศษ

ภาพของชายต่างวัยทั้งสองตลอดเส้นทางในการทอดชมเมืองจึงละม้ายคล้ายพี่ชายที่แสนดีเดินจูงมือน้องชายจอมดื้อรั้นให้ติดสอยห้อยตามไปในสถานที่แปลกถิ่นต่างภาษา

(ชาวเบลเยียมแบ่งออกเป็นชน 2 กลุ่มใหญ่ มีภาษาราชการหลายภาษา ทางตอนเหนือเป็นที่อยู่ของชาวเฟลมิชใช้ภาษาดัตช์ ทางตอนใต้เป็นที่อยู่ของชาววัลลูนใช้ภาษาฝรั่งเศส บริเวณพรมแดนทางตะวันออกที่ติดกับเยอรมนีใช้ภาษาเยอรมัน ส่วนในกรุงบรัสเซลส์เมืองหลวงใช้ทั้งภาษาดัตช์และฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ)

ครรลองชีวิตในแต่ละวันของทั้งสองจึงพาดผ่านเข็มนาฬิกาหมดไปกับการทัศนาจรเที่ยวชมเมืองเสียเป็นส่วนใหญ่ ตั้งแต่การล่องเรือในคูคลองชมเมือง, เดินขึ้นชมวิวในหอระฆังสูง, ขวักไขว่อยู่ท่ามกลางศาลากลางจังหวัดสมัยโกธิก, เยี่ยมชมโบสถ์ที่เกี่ยวข้องกับทางศาสนา (ซึ่งมีโกศที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระผู้เป็นเจ้าบรรจุอยู่) รวมทั้งศิลปะอันเลื่องลือแบบเฟลมมิชและการพักผ่อนหย่อนใจในสวนสาธารณะริมทะเลสาบ

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อประวิงเวลารอคำสั่งจาก “แฮรี่” (ราล์ฟ ไฟน์) นายใหญ่ของพวกเขาโทร.เรียกตัวกลับลอนดอน

ซึ่งนอกจากเรย์ต้องตะลอนทัวร์ตามจุดต่างๆ อย่างจำใจร่วมกับเคนในแต่ละวันแบบจำเจแล้ว ในยามที่เขาปลีกวิเวกอยู่คนเดียวท่ามกลางความเงียบสงบของเมืองโอบอุ้ม ห้วงเวลาเหล่านั้นกลับสร้างภาพหลอกหลอนในอดีตให้เขื่องขุ่นขึ้นเกาะกุมจิตใจของเขา

เรย์เกิดอาการประหวั่นพรั่นพรึงทุกคราเมื่อนึกเห็นภาพสะทกสะท้อนใจในลอนดอนที่จากมา จนบางครั้งแทบควบคุมสติเอาไว้ไม่อยู่

และนึกอยากยุติชีวิตตัวเองให้อันตรธานสูญสลายหายไปจากโลกนี้

ทว่าไม่นานนักหลังเหี่ยวแห้งเฉาตายซากกับสภาพชีวิตและกระเง้ากระงอดหวนไห้เสียงอึกทึกในกรุงลอนดอนอยู่บ่อยครั้ง เมืองบรูจส์ก็สรรค์สรรพคุณกระเพื่อมไหวให้หัวใจของเรย์ได้พองโตไม่กะปลกกะเปลี้ย เมื่อ “โคลอี้” (คลีเม็นซ์ โฟเอซี่) สาวสวยคณะละครโปรยเสน่ห์รายทางให้เขาได้ทำความรู้จัก

ห้วงโมงยามในเมืองบรูจส์ของเรย์จึงเริ่มแย้มพรายพอกพูนความอภิรมย์หวานฉ่ำ ฟอกชีวิตที่กำลังระส่ำระส่ายให้กระชุ่มกระชวยเข้าที่เข้าทางจนไม่อยากกลับลอนดอน

เช่นเดียวกับเคนที่นับวันเริ่มนำพาชีวิตตัวเองให้เหวี่ยงไหวขึ้นจากหุบเหวและมองเห็นความนิ่งสงบงันของชีวิตเป็นสัจธรรมที่ควรค่าแก่การแสวงหา

เมืองบรูจส์ได้กระเตื้องเติมเต็มสิ่งน่าอภิรมย์หลายอย่างเคล้าคนให้เคนใคร่กระหายอยากสัมผัสความธรรมดาสามัญของชีวิต จนนึกอยากละวางผันตัวเองจากแวดวงอาชญากรรมสามานย์มาประกอบสัมมาชีพสุจริตเหมือนคนปกติทั่วไป…

ราวกับว่านักฆ่ามือเปื้อนเลือดจากเกาะอังกฤษทั้งสองคนกำลังถูกสภาพแวดล้อมของเมือง เจียระไนเหลี่ยมคมชีวิตให้สลักเสลาปราศจากมลทินขึ้นใหม่อีกครั้ง

อันที่จริง “การกำเนิด” ใหม่ของทั้งสองในบรูจส์ ก็นับว่าคล้ายคลึงกันกับหนังดังในอดีตอย่าง Local Hero (1983) ไม่น้อย (เปลื้องผ้าจากมือปืนมาเป็นนักธุรกิจ) นับตั้งแต่หนุ่มนักธุรกิจเดินทางไปกว้านซื้อที่ดินริมชายทะเลในสกอตแลนด์เพื่อนำมาสร้างโรงกลั่นน้ำมัน แต่ทว่าช่วงผันผ่านเพียงไม่กี่วันของเขา บรรยากาศรายล้อมของที่นี่ก็ได้ซึมซับวิถีชีวิตที่เรียบง่ายสุขสงบอันแสนจะแตกต่างกับชีวิตอันเร่งรีบเร็วรี่ในอเมริกาของเขา

เขากำซาบในเวลาต่อมาว่า ความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุนิยมและเทคโนโลยีใหม่ๆ ไม่สามารถทดแทนเปลือกหอยบนชายหาดและท้องน้ำทะเลสีครามบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ได้

ในที่สุดเขาก็ได้ปลดเปลื้องค่าความเป็นนักทุนนิยมทั้งหมดออกจากชีวิต ก่อนจรดเท้าเดินตีนเปล่าสัมผัสผืนดินและผืนน้ำอย่างคนตระหนักรู้และเข้าใจชีวิตอย่างถ่องแท้

แต่สิ่งที่เหนือความคาดหมายข้ามไปจาก Local Hero และหนึ่งชั่วโมงแรกใน In Bruges นั้นก็คือ สัจธรรมชีวิตของเรย์และเคนเดินทางมาถึงช้าเกินไปเท่านั้นเอง…

หากความรักเพียงหนึ่งวันกับหนึ่งคืนในกรุงเวียนนาของเจสซี่และซีลีนในภาพยนตร์ Before Sunrise (1995) ทำให้คุณว้าวุ่นอยากเดินเตร็ดเตร่พลอดรักในกรุงเวียนนากับใครสักคนได้ขึ้นมาจับจิต

ใน In Bruges ก็คงให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกัน เพราะท่ามกลางความงดงามราวโลกนิทานเฟลมมิชพาฝันอย่างเมือง “บรูจส์” ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญที่สุดของยุโรป-ด้วยอาณาบริเวณที่ล้อมรอบด้วยคลองทั้งใหญ่และเล็กมากมาย จนถูกขนานนามให้เป็น “เวนิซของยุโรปตอนเหนือ” (The Venice of the North) หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “อัญมณีแห่งแฟลนเดอร์” (Jewel of Flanders) ในสมัยยุคกลางที่สวยงามไม่แพ้ที่ใดในโลก ซึ่งนั่นคงเพียงพอแล้วที่จะทำให้คุณหลงเคลิ้มและรื่นรมย์ระหว่างชมภาพยนตร์เรื่องนี้

อีกทั้งยังทำให้เห็นความเหมือนบางอย่างในตัวละครมือปืนกลับใจอย่างเรย์และเคน กับสารวัตรวิลโลห์บี (วูดดี้ แฮร์เรลสัน) และลูกน้องคนสนิทอย่างดิกซอน (แซม ร็อกเวลล์) ในภาพยนตร์ Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ราวกับแม็กดอนาห์ต้องการจะบอกว่าชีวิตของคนเรานั้น เมื่อได้รู้คุณค่าของการมีชีวิตอยู่ อยู่อย่างมีคุณค่าต่อโลกใบนี้ ก็ต่อเมื่อชีวิตเดินมาสุดปลายทาง

และยากจะย้อนกลับไปแก้ไขในอดีตที่ผ่านมา…