ศัลยา ประชาชาติ : ทีวีดิจิตอล-มือถือ ฝันค้าง บิ๊กตู่-คสช. ถอยกรูด เบรก ม.44 หลอนพิษเอื้อ “ทรู-เอไอเอส”

รอเก้ออีกตามเคยสำหรับกลุ่มผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล เมื่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วันที่ 27 มีนาคม 2561 ยังไม่ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกมาตรการช่วยเหลือทั้งฝั่งทีวีดิจิตอลและโทรคมนาคม

โดยสั่งให้คณะทำงานที่มีรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม เป็นประธานไปทบทวนใหม่ และให้กลับมารายงานผลอีกครั้งภายใน 7 วัน

แม้ก่อนหน้านี้ทั้งตัวแทนหน่วยงานรัฐและผู้ประกอบการจะพูดคุยกันมาแล้วหลายรอบ จนได้ข้อสรุปเมื่อ 15 มีนาคมที่ผ่านมาว่า … จะใช้อำนาจมาตรา 44 พักหนี้ค่าประมูลช่องทีวีดิจิตอล 3 ปี และให้ กสทช. สนับสนุนค่าเช่าโครงข่ายภาคพื้นดิน สำหรับแพร่ภาพออกอากาศ 50% เป็นเวลา 24 เดือน

ในส่วนการประมูลคลื่น 900 MHz จะให้ทรูและเอไอเอส ยืดการชำระค่าประมูลคลื่น 900 MHz ก้อนสุดท้ายที่ครบกำหนดในปี 2562 กว่า 6 หมื่นล้านบาท แบ่งจ่ายเป็น 5 งวด ในเวลา 5 ปี โดยมีดอกเบี้ยปีละ 1.5%

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ระบุถึงสาเหตุว่า ยังมีเวลา และยังไม่มีข้อมูลชัดเจน อีกทั้งควรเป็นความรับผิดชอบของภาคธุรกิจที่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงในการลงทุนด้วย

“ควรหรือไม่ที่รัฐบาลจะต้องมารับผิดชอบ ตอนนี้กำลังพิจารณาอยู่ ยังมีเวลา และยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าจะมีมาตรการใด หลายอันเป็นเรื่องของธุรกิจ ต้องดูตรงนี้ แก้ไขตรงนี้ให้ได้ว่าจะแก้ไขอย่างไร เพราะอนาคตยังต้องมีการประมูลต่อไปอีก การประมูลยังมีอีกหลายคลื่นความถี่ ทำอย่างไรถึงจะไม่เกิดเรื่องแบบนี้อีก บางอย่างเป็นเรื่องการทำงานในยุคนี้ก็ต้องยุ่งยาก ถ้าปล่อยไปเรื่อยเปื่อยก็จะไม่มีอะไร”

นั่นทำให้ “คสช.” คิดหนักว่า “ควรหรือไม่ที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ” และ “จะทำอย่างไรจึงไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก”

เพื่อไม่ให้การใช้ ม.44 กับกรณีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในอนาคต ซึ่งจะต้องมีการประมูลครั้งต่อไป หรือบานปลายไปยังกรณีอื่นๆ ที่เอกชนอาจยกมาอ้างเพื่อขอให้รัฐช่วยเหลือ

 

ก่อนหน้าที่ข้อเสนอจากคณะทำงานร่วมที่มีรองนายกฯ “วิษณุ เครืองาม” จะเข้าที่ประชุมเพื่อให้ “คสช.” พิจารณาก็มีเสียงท้วงติงถึงความไม่เหมาะสมในการใช้มาตรา 44 จากหลายฝ่าย

โดยประธานสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TRDI) ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ระบุว่า กรณีทีวีดิจิตอล คสช. ไม่ควรรีบร้อนด่วนสรุปว่า กสทช. มีความบกพร่องจนเป็นเหตุให้รัฐต้องหามาตรการช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงระดับความเสียหาย ในเมื่อคดีที่บริษัทไทยทีวี (ของเจ๊ติ๋ม ทีวีพูล) ฟ้อง กสทช. ยังไม่สิ้นสุด คสช. จึงควรรอคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดก่อน เพราะเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจขาดทุนมาจากการแข่งขันที่สูงขึ้น และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ถือเป็น “ความเสี่ยงทางธุรกิจโดยปกติ” ที่ คสช. และรัฐบาลไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ

ในฝั่งโทรคมนาคม ประธาน TDRI ย้ำว่า ไม่ปรากฏชัดเจนว่าหน่วยงานรัฐ หรือ กสทช. ทำอะไรบกพร่อง โดยผู้เข้าประมูลในเวลานั้นยอมรับเงื่อนไขหลักเกณฑ์ต่างๆ ถึงเข้าร่วมจึงไม่มีเหตุผลที่ต้อง “อุ้ม”

แม้ดูเหมือนรัฐไม่เสียประโยชน์ เพราะได้ดอกเบี้ย แต่เอกชนได้ประโยชน์ เพราะหากกู้มาจ่าย อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 9% ผิดนัดไม่จ่าย ต้องจ่ายดอกเบี้ย 15% แต่มาตรการนี้ เอกชนจ่ายดอกเบี้ยแค่ 1.5%

ประโยชน์ที่ “คสช.” ยกให้จึงมีมูลค่าสูงถึงรายละ 1.6 หมื่นล้านบาท

ดร.สมเกียรติตั้งข้อสังเกตการ “อุ้มนายทุนโทรคมนาคม” โดยยก “คสช.” ไปเปรียบเทียบกับรัฐบาล “ทักษิณ 1” อีกต่างหาก

 

บรรดาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลที่รอเก้ออีกครั้งพูดในทำนองเดียวกันว่า สาเหตุที่ คสช. แตะเบรกมาตรการช่วยเหลือ มาจากการที่คณะทำงานร่วมได้ “พ่วง” มาตรการเยียวยาทรู-เอไอเอสเข้าไปด้วย ทำให้ทีวีดิจิตอลที่กำลังย่ำแย่ต้องร้องเพลงรอต่อไป

ทั้งๆ ที่ “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เคยออกมายืนยันหลายครั้งตั้งแต่ก่อนสิ้นปี 2560 ด้วยซ้ำว่า จะมีมาตรา 44 ออกช่วยธุรกิจทีวีดิจิตอลแน่นอน

หลายฝ่ายประเมินว่าผู้ที่จะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการยืดจ่ายค่าคลื่นงวดสุดท้าย หนีไม่พ้น “กลุ่มทรู” เพราะภาระค่าคลื่นงวดสุดท้ายสูงถึงกว่า 6 หมื่นกว่าล้านบาท แม้ผลประกอบการปี 2560 ที่ผ่านมา กลุ่มทรูจะมีกำไรกว่า 2,000 ล้านบาท และเพิ่งประกาศจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นเป็น “เงินสด” ครั้งแรกในรอบ 20 กว่าปี

ต่างจาก “เอไอเอส” ที่มีกำไร และจ่ายปันผลผู้ถือหุ้นมาตลอด แม้ต้องจ่ายค่าคลื่นงวดสุดท้ายเป็นเงินจำนวนมากเช่นกัน

 

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ระบุว่า การมุ่งไปที่ว่ามาตรการดังกล่าวเอื้อประโยชน์ให้บริษัทเอกชนที่ยังมีกำไร เป็นการมองแค่มุมมองเดียวว่า “ใครได้ใครเสีย ณ ตอนนี้” ไม่ได้มองภาพรวมในระยะยาวว่าประเทศกำลังพัฒนา และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมช่วยสนับสนุนได้

“มาตรการนี้ไม่ได้มีผลต่อกำไรหรือขาดทุนของบริษัท เพราะเงินค่าประมูล ในทางบัญชีได้บันทึกเป็นค่าเสื่อมราคาของไลเซนส์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว แต่จะมีผลมากต่อกระแสเงินสดที่จะนำไปใช้ลงทุนโครงข่าย และพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดบริการใหม่ๆ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประชาชนและเศรษฐกิจโดยตรง ถ้าให้บริษัทลงทุนเท่ากับเงินที่มี

ทรูย้ำด้วยว่า หากสุดท้ายแล้ว คสช. “ไม่ช่วย” บริษัทก็ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเดิม ส่วนเรื่องการพัฒนาโครงข่าย และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้คงต้องหารือกันอีกที แต่ยังมีความหวังว่าเพื่อประโยชน์ของประชาชน และการพัฒนาประเทศ คสช. น่าจะให้การสนับสนุน”

คงต้องมาดูกันต่อว่า หลังจากคณะทำงานไปหาข้อมูลเพิ่มเติม สุดท้ายแล้ว คสช. จะมีบทสรุปในเรื่องนี้อย่างไร