คุยกับทูต ‘เมเอียร์ ชโลโม’ ไทย-อิสราเอล ยกระดับกระชับความร่วมมือ

“ผมเป็นแบ็กแพ็กเกอร์ หรือที่เรียกว่านักท่องเที่ยวสะพายเป้ เกือบในทันทีที่ปลดประจำการจากเป็นทหารเกณฑ์ เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในเอเชียราวหนึ่งปีกับแฟนซึ่งก็คือภริยาในปัจจุบัน ได้ไปเยือนอินเดีย เนปาล และพม่าสมัยนั้น ก่อนมาเที่ยวพักผ่อนในเมืองไทยสองเดือนด้วยความสุขสนุกสนาน แล้วกลับไปศึกษาต่อ เมื่อเริ่มงานต่อมาจึงกลายเป็นนักการทูตจนกระทั่งทุกวันนี้”

ดร.เมเอียร์ ชโลโม (H.E.Mr. Meir Shlomo) เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย เริ่มการสนทนาด้วยท่วงท่าสบายๆ เมื่อเอ่ยถึงความหลัง

เนื่องจากประเทศอิสราเอลมีการเกณฑ์ทหารทั้งชายหญิง ซึ่งจะถูกเกณฑ์ทหารทันทีที่จบมัธยมศึกษาอายุ 18 ปี ผู้ชาย 3 ปี ผู้หญิง 2 ปี เมื่อเป็นทหารแล้วจึงไปทำงานหรือศึกษาต่อได้

“ผมเกิดในกรุงเทลอาวีฟ ปี ค.ศ.1954 จบการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ปริญญาโทสาขาการสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยฮีบรูแห่งเยรูซาเลม (HUJI) และปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีส 8 (University of Paris VIII) ประเทศฝรั่งเศส”

“ก่อนหน้านี้ผมได้รับตำแหน่งทางการทูตให้ไปประจำที่ประเทศเอลซัลวาดอร์ เปรู เดนมาร์ก อินเดีย และสหรัฐอเมริกา ตามลำดับ ทำให้ผมมีโอกาสพูดได้ 5 ภาษา ได้แก่ ภาษาฮีบรู อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส และเดนมาร์กอีกนิดหน่อยด้วย”

“มาเป็นเอกอัครราชทูตครั้งแรกที่ประเทศไทยและได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนปีที่แล้ว โดยมีเขตอาณาครอบคลุมราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งก็ได้เข้าเฝ้าฯ ทูลเกล้าฯ ถวายอักษรสาส์นตราตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 22 พฤศจิกายน ปีที่แล้วเช่นกัน”

นายเมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

“อันที่จริง หลังจากการเยือนไทยครั้งแรกในปี ค.ศ.1980 ผมยังได้กลับมาเมืองไทยอีกตามที่เคยตั้งใจไว้ในระหว่างที่มาประจำอินเดีย ปี ค.ศ.1995-1998 และอีกครั้งในปี ค.ศ.2009 คราวนี้ผมรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับความเจริญเติบโตของกรุงเทพมหานครที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย หากเทียบกับตอนที่มาครั้งแรกเมื่อสามสิบปีที่แล้วที่ยังไม่มีสตาร์บัคส์ทุกหนทุกแห่งเช่นตอนนี้”

“และเป็นเรื่องที่น่าตื่นเต้นมากในปัจจุบัน เพราะเป็นครั้งแรกที่พวกเราทุกคนได้มีโอกาสมาอยู่ที่นี่พร้อมกัน ภริยา (Mrs. Bracha Shlomo) และลูกๆ ของผมคือ Ido และ Noa ก็รักประเทศไทย ลูกทั้งสองเติบโตเป็นผู้ใหญ่กันหมดแล้วไม่ได้อยู่ประจำที่นี่ แต่มาเยี่ยมเราในช่วงเทศกาลคริสต์มาส”

สําหรับผู้แทนคนแรกของอิสราเอลในไทยคือ นายแพทย์เปเรซ จาคอบสัน ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์ในปี ค.ศ.1953 โดยเป็นผู้ที่ให้ความช่วยเหลือผู้อพยพชาวอิสราเอลราว 200 คนในช่วงสงครามโลก

6. พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รองนายกรฯและ รมต.ยุติธรรมให้การต้อนรับทูตอิสราเอลในโอกาสเข้าเยี่ยมคารวะ

ความสัมพันธ์ทางการทูตเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ค.ศ.1954 เมื่อสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลเปิดขึ้นในกรุงเทพฯ ปี ค.ศ.1958 โดยมีนายมอร์เดคาย คิดรอน เป็นเอกอัครราชทูตอิสราเอลคนแรกประจำประเทศไทย

“การเสด็จเยือนอิสราเอลของพระราชวงศ์ฝ่ายไทย ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ครั้งทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา นับเป็นการเสด็จเยือนในประวัติศาสตร์แห่งความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ”

นอกจากนี้ ได้มีการเยือนอิสราเอลโดยบุคคลสำคัญของไทย และบุคคลสำคัญของอิสราเอลที่มาเยือนประเทศไทยรวมถึงผู้บัญชาการทหารสูงสุดของอิสราเอล นายยิตซ์ฮัก ราบิน และผู้นำซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกได้แก่ รัฐมนตรีต่างประเทศ นายอับบา อีบัน นางโกลดา เมียร์ นายโมเช ดายัน และนายชิมอน เปเรส

“ซึ่งเป็นเพียงบางส่วนที่แสดงถึงความสัมพันธ์แบบทวิภาคีที่มีอยู่อย่างแน่นแฟ้นของทั้งสองประเทศกว่า 64 ปี เรามีประสบการณ์ร่วมกันอย่างต่อเนื่องและแบ่งปันความรู้ในหลายด้านรวมทั้งด้านเกษตรกรรม การจัดการน้ำ การเริ่มต้นธุรกิจ นวัตกรรมทางเทคโนโลยี การศึกษา การแพทย์และวัฒนธรรม”

ท่านทูตกล่าว

ทั้งนี้ ไทยและอิสราเอลต้องการผลักดันกิจกรรมทางการค้าเพื่อให้บรรลุเป้าการค้าที่กำหนดไว้ที่ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี ค.ศ.2020 อาทิ การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคทางการค้า เพื่อการส่งออกและนำเข้า

นอกจากนี้ ยังจะร่วมกันจัดกิจกรรมส่งเสริมการค้าต่างๆ อาทิ การเข้าร่วมงานแสดงสินค้า การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจ รวมทั้งแสวงหาโอกาสในการลงทุนโดยเฉพาะในสาขาอุตสาหกรรมอนาคต การพัฒนาและการวิจัย (R&D) ที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญและสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

นายเมเอียร์ ชโลโม เอกอัครราชทูตรัฐอิสราเอลประจำประเทศไทย

ปัจจุบัน อิสราเอลเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 5 ของไทยในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกกลาง ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ของอิสราเอลในภูมิภาคอาเซียน (รองจากเวียดนามและมาเลเซีย) สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในอิสราเอล ได้แก่ สินค้ารถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าข้าว อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ เฟอร์นิเจอร์ ของประดับบ้าน สาขาที่ไทยมีศักยภาพเข้าไปลงทุน ได้แก่ ธุรกิจท่องเที่ยว ร้านอาหาร การผลิตอาหารโคเชอร์

อาหารโคเชอร์ (Kosher) กําหนดตามหลักศาสนาจูดาย (Judaism) หมายถึง อาหารที่ได้มาตรฐานตามกฎของชาวยิว (Jewish Law) ที่สามารถบริโภคได้ โดยมีหลักคัชรูท (Kashrut) เป็นข้อกำหนดเรื่องอาหารที่กําหนดไว้ในคัมภีร์โตราห์ (Torah) ว่าสิ่งใดรับประทานได้ สิ่งใดรับประทานไม่ได้ รวมทั้งการเตรียมอาหารและวิธีการรับประทาน

ทูตอิสราเอลเข้าเยี่ยมคารวะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

“โครงการหลักของเราในขณะนี้ คือความพยายามในการบรรลุข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างอิสราเอลและไทย เป็นกระบวนการที่เราเริ่มต้นเมื่อไม่นานมานี้ เพียงแต่มีปัญหาติดขัดอีกเล็กน้อย ซึ่งผมเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในการก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน” เอกอัครราชทูตชโลโมกล่าว

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจของอิสราเอลนั้นสามารถปรับตัวให้เข้ากับแผนเศรษฐกิจไทย 4.0 ได้เป็นอย่างดีที่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูง ได้แก่ เทคโนโลยีทางการเงินและเทคโนโลยีไซเบอร์ซึ่งเป็นจุดแข็งที่อิสราเอลมีความเชี่ยวชาญ และเป็นโอกาสที่ทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกัน”