ต่างประเทศอินโดจีน : กองร้อยชาร์ลีกับ 50 ปี “มี๋ลาย”

16 มีนาคม 1968 คือวันที่เกิดเหตุขึ้นที่บ้านมี๋ลาย หมู่บ้านเซิ่นมี๋ จังหวัดกว๋างหงาย ตอนกลางของเวียดนาม

มีการทบทวนตรวจสอบเหตุการณ์ในสงครามเวียดนามย้อนหลังมากมาย ตามข้อมูลที่ประมวลโดยกองทัพอเมริกันเอง ในการทำสงครามเวียดนาม “ภาคพื้นดิน” ระหว่างปี 1965 จนถึงปี 1973 เกิดเหตุการณ์ที่สามารถถือได้ว่าเป็น “อาชญากรรมสงคราม” อยู่มากกว่า 300 เหตุการณ์ จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตในช่วงดังกล่าวอยู่ระหว่าง 1 ล้านถึง 2 ล้านคน

ในจำนวนนี้ เหตุที่มี๋ลายโดดเด่นที่สุด น่าแตกตื่นที่สุด

เพราะที่มี๋ลาย ทหารอเมริกันทำสถิติฆ่าพลเรือนไว้มากที่สุด ในเวลาสั้นที่สุด นั่นคือเพียง 3-4 ชั่วโมงของวันนั้นชาวบ้านมี๋ลายมือเปล่าถูกฆ่าไปมากถึง 504 คน

เป็น “เจตนาฆ่า” ที่ “อำมหิต” เกินปกติธรรมดา เพราะไม่เพียงฆ่าแม้แต่เด็ก ชรา และผู้หญิงแล้ว ยังมีการ “รุมโทรม” เด็กและผู้หญิงก่อนสังหาร

จับโยนลงบ่อแล้วโยน “น้อยหน่า” ตามลงไป

ต้อนเด็กและผู้หญิงให้ลงไปอัดรวมกันอยู่ในคูข้างทางแล้วจัดการสังหารไม่เลือก

รวมทั้งการจู่ๆ เข้าไปจ่อยิงศีรษะหน้าตาเฉยอีกด้วย

ทหารอเมริกันที่รับผิดชอบในเหตุการณ์ดังกล่าวคือหมวดลาดตระเวนที่ 1 สังกัดกองร้อยชาร์ลี, กองพันทหารราบที่ 1 ในสังกัดกรมทหารราบที่ 10 ของกองพลน้อยที่ 11 ภายใต้กองพลทหารราบที่ 26

มี ร.ท.วิลเลียม แอล. แคลลีย์ จูเนียร์ เป็นหัวหน้าหมวด

ที่น่าสนใจก็คือ ทหารทั้งหมดในหมวดลาดตระเวนที่ 1 ดังกล่าวนี้อายุเฉลี่ยเพียง 20 ปี!

กว๋างหงาย เมื่อ 50 ปีก่อนเป็นพื้นที่สีแดง เวียดกงเคลื่อนไหวคึกคัก มี๋ลายจัดเป็น “พิงก์วิลล์” หรือพื้นที่สีชมพูเข้มทีเดียว

ก่อนเกิดเหตุ 2 วัน หน่วยลาดตระเวนของกองร้อยชาร์ลีเจอกับระเบิด จ่าทหารนายหนึ่งเสียชีวิตคาที่ อีกรายตาบอดไปตลอดชีวิต ที่เหลืออีกไม่น้อยได้รับบาดเจ็บไปตามๆ กัน

วันเกิดเหตุ กองร้อยชาร์ลีส่งหมวดลาดตระเวนของแคลลีย์ข้าไปปฏิบัติภารกิจ “ค้นหาและทำลาย”

 

ฮิวจ์ ทอมป์สัน จูเนียร์ นักบินเฮลิคอปเตอร์ ซึ่งได้รับภารกิจบินสนับสนุน เป็นทหารอเมริกันคนเดียวที่พยายามเข้าแทรกเพื่อยับยั้งการฆ่าหมู่ครั้งนั้น เขากับพลประจำ ฮ. อีก 2 นาย ช่วยอพยพชาวบ้านมาได้เพียงหยิบมือ ทหารที่เหลือหากไม่ร่วมลงมือก็ได้แต่วางเฉยตามคำสั่ง

ทอมป์สันบอกว่า เหตุเมื่อ 2 วันก่อนทำให้หมวดลาดตระเวนของแคลลีย์เดินทางเข้าไปยังมี๋ลายในสภาพ “เลือดขึ้นหน้า” และพร้อมที่จะ “ยิงทุกอย่างที่ขยับ”

แต่แรงจูงใจให้ฆ่ามีมากกว่านั้น มีตั้งแต่ประเด็นที่ว่า ทหารอเมริกันในสงครามเวียดนามโดยเฉลี่ยแล้วไม่เคย “แน่ใจ” ว่า “ศัตรู” ของตนคือใคร น้อยครั้งเหลือเกินที่จะเผชิญกันซึ่งๆ หน้า ในขณะเดียวกัน กองทัพเองก็มีนโยบายให้มีเขต “ยิงสังหารโดยเสรี” ขึ้นมา โดยให้ยึดถือว่า พื้นที่ใดๆ ที่ได้รับการเตือนแล้ว ใครก็ตามที่ไม่อพยพออกถือว่าเป็น “เวียดกง” หรือไม่ก็คือ “แนวที่ห้า”

นอกจากนั้น ทหารเกณฑ์อเมริกันเองก็ผ่านการฝึกมาน้อยมาก ทำให้ทุกคนที่ถูกเกณฑ์เข้ามาได้แต่ท่องจำ “กฎอย่างไม่เป็นทางการ” จนขึ้นใจว่า มีแต่ “ฆ่าทุกอย่างที่ขวางหน้า” ให้ได้เท่านั้นจึงสามารถเอาตัวรอดได้

หลังการสังหารโหดมีความพยายามปกปิด แต่สุดท้ายความจริงที่น่าตกตะลึงก็ปรากฏต่อสังคมอเมริกัน เมื่อภาพของจ่ารอน เฮเบอร์เล ถูกตีพิมพ์ในอีกเกือบ 2 ปีต่อมา

ร.ท.แคลลีย์ ถูกสอบในปี 1970 ถูกศาลทหารตัดสินว่าผิดจริงในปี 1971 ให้จำคุกตลอดชีวิต แต่ติดคุกเพียง 3 วัน ริชาร์ด เอ็ม. นิกสัน ก็ใช้อำนาจประธานาธิบดีลดโทษ เหลือเพียงกักบริเวณอยู่กับบ้าน 3 ปี

แต่ใช้ชีวิตที่เหลืออยู่กับการ “สำนึกเสียใจ” กับสิ่งที่ตนและพวกกระทำลงไปในวันนั้น

50 ปีผ่านไป เวียดนามจัดงานรำลึกใหญ่ที่มี๋ลาย ไม่ใช่เพื่อรื้อฟื้นสงคราม แต่เพื่อสันติภาพ มีแต่ผู้คนที่เจ็บปวดลึกซึ้งจากสงคราม จึงตระหนักถึงคุณค่าแห่งสันติภาพ

ไมก์ แฮสตี แพทย์สนามในสงครามเวียดนามชาวโอเรกอนคือหนึ่งในทหารผ่านศึกอเมริกันที่มาเข้าร่วมทุกปี เพราะเห็นความสำคัญของการไม่ลืมเหตุการณ์มี๋ลาย

เพราะเชื่อว่าบาปมหันต์ที่สุด ยิ่งกว่าการฆ่าหมู่ครั้งนั้นคือการลืมเลือนมันนั่นเอง