ล้านนาคำเมือง : นพีสี

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “นะ พี สี”

“นพีสี” เป็นชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งของเมืองเชียงใหม่

คำนี้มีที่มาค่อนข้างซับซ้อน คือทั้งได้จากชื่อเดิมด้วย และได้จากการผูกศัพท์ตามความหมายของชื่อเมืองด้วย กล่าวคือ

บริเวณที่ตั้งของเมืองเชียงใหม่ เดิมชื่อ “เวียงนพบุรี” แปลว่าเมืองของชาวลัวะทั้งเก้าตระกูล

เมื่อพระยามังรายสร้างเมืองใหม่สวมทับเวียงนพบุรี จึงตั้งชื่อเมืองว่า “เชียงใหม่” (เชียงคือเมือง) พ้องกับชื่อเดิมคือ นพบุรี ที่สามารถแปลความหมายได้ว่า เมืองใหม่ หรือเชียงใหม่ก็ได้

อนึ่ง สถานที่ตั้งดังกล่าว ตามตำนานยังว่าเป็นที่อยู่ของฤาษีเก้าตน จึงมีการผูกศัพท์เป็นภาษาบาลีพ้องคำเดิมว่า “นพีสี” โดยคำว่า “นพ” มาจาก นว แปลว่า เก้า หรือ ใหม่ และคำว่า “อิสี” หมายถึง ฤๅษี หรือนักบวช ซึ่งในภาษาโบราณล้านนาเรียกนักบวชว่า “เชียง” ด้วย

ดังนั้น “นพีสี” จะแปลว่า ฤๅษีทั้งเก้า หรือ เชียงใหม่ ก็ได้ทั้งสองความหมาย

ตัวอย่าง คำว่า “นพิสี” ที่เอาไปใช้ในความหมาย ที่หมายถึงเมืองเชียงใหม่ ได้แก่

พระนามของ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลนาคนพีสี ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า “ผู้ปราศจากมลทินแห่งเมืองเชียงใหม่” พระธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติกับ พระราชชายาเจ้าดารารัศมี ราชนิกุลเมืองเชียงใหม่

ประสูติเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2432 ข้าราชบริพารชาวเหนือในวังหลวงเรียกชื่อเล่นว่า เสด็จเจ้าน้อย

เล่ากันว่าพระราชชายาโปรดให้ เสด็จเจ้าน้อย แต่งตัวนุ่งซิ่นแบบเจ้านายเมืองเหนือตลอดเวลา

เด็กผู้หญิงตัวเล็กๆ ที่แต่งตัวแปลกออกไป และอยู่ในวังหลวง จึงด้านหนึ่งเป็นที่เอ็นดูของผู้พบเห็น และเป็นที่โปรดปรานของพระราชบิดา

แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นที่หมั่นไส้ ริษยาของบรรดานางในวัง

เสด็จเจ้าน้อย มีบุญน้อย ประชวรและสิ้นพระชนม์เมื่ออายุได้เพียง 4 ชันษา คนเชียงใหม่เล่าต่อๆ กันมาว่า เสด็จเจ้าน้อย “ถูกวางยาพิษ” ซึ่งก็ไม่ได้มีหลักฐานใดมายืนยันเสียงร่ำลือนี้

โถ เด็กในวัยนี้เจ็บป่วยง่าย แถมสมัยนั้นการแพทย์บ้านเรายังไม่ทันสมัย ขนาดสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าชายศิริราชกกุธภัณฑ์ หรือ เจ้าฟ้าศิริราช ยังตายตั้งแต่เด็กด้วยโรคท้องเสียได้เลย

แต่ความจริงคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าทรงเสียพระทัยมาก ทรงรับสั่งกับ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ว่า ทรงเสียพระทัยยิ่งนักที่มิได้ทรงตั้งพระธิดาพระองค์นี้ให้เป็น “เจ้าฟ้า” เห็นทีเสด็จเจ้าน้อยจะน้อยพระทัยเป็นเหตุให้สิ้นพระชนม์

ส่วนพระราชชายาเจ้าดารารัศมีก็ทรงเสียพระทัยมาก ถึงกับทรงทำลายรูปพระฉายาทิสลักษณ์หมู่ 3 พระองค์พ่อแม่ลูกเสียสิ้นในทันที

ปัจจุบันพระอัฐิของเสด็จเจ้าน้อย ได้รับการอัญเชิญมาประดิษฐานรวมกับพระราชมารดา ณ กู่เจ้านายฝ่ายเหนือที่วัดสวนดอกวรมหาวิหาร

อีกชื่อหนึ่ง พระนพีสีพิศาลคุณ แห่งวัดเชียงมั่น คือชื่อชั้นยศของ พระมหาปิง ซึ่งอาจจะแปลได้ว่า “ผู้มีความดีอันกว้างไกลในเมืองเชียงใหม่” ท่านไปร่ำเรียนธรรมที่วัดบวรนิเวศ ในกรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ.2436 จนกระทั่งจบการศึกษาระดับเปรียญ เป็น “พระมหา”

นับเป็นพระธรรมยุติกนิกายรูปแรกของเชียงใหม่ที่มีวัตรปฏิบัติเคร่งครัดยิ่ง มหาปิงพยายามจะจัดแผนการศึกษาและจารีตของพระสงฆ์ในเชียงใหม่ ให้เป็นแบบพระสงฆ์ในพระนคร

ด้วยเหตุนี้จึงเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในวงการสงฆ์เมืองเชียงใหม่ ถึงกับเกิดการแบ่งแยกว่า “จะไหว้ตุ๊ป่า หรือจะไหว้ตุ๊บ้าน” และร่วมสังฆกรรมกันไม่ได้

ทางกรุงเทพฯ จึงต้องส่งพระราชาคณะมาจัดการกับคณะสงฆ์ แต่งตั้งเจ้าคณะฝ่ายมหานิกาย (ฝ่ายพื้นเมือง) และเจ้าคณะธรรมยุตขึ้นมา เพื่อยุติความขัดแย้ง

ในเชียงใหม่จึงมีคณะสงฆ์ 2 นิกาย นับตั้งแต่บัดนั้นมา

แต่ก่อนในเมืองเชียงใหม่ ยังมี “โรงเรียนอนุบาลนพีสี” และมี “ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพีสี” ซึ่งมีความหมายว่าเป็นองค์กรของจังหวัดเชียงใหม่

อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ คนรุ่นใหม่แทบจะไม่รู้จักคำว่า “นพีสี” และไม่มีใครใช้อีก

จึงสมควรได้รับการบันทึกไว้ก่อนที่จะลืมกันไปหมด