คุยกับทูต พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ปากีสถานกับการดำเนินงานการทูตโดยฝ่ายทหาร (จบ)

การที่คณะนายทหารระดับสูงของปากีสถาน นำโดยพลโทบิลัล อัคบาร์ (Lt. Gen.Bilal Akbar) เสนาธิการทหารบก (CGS) เดินทางไปเยือนอัฟกานิสถาน ตามด้วยการไปเยือนของพลโทนาเว็ต มุคตาร์ (Lt. Gen. Naveed Mukhtar) เมื่อปีที่แล้ว เป็นความพยายามนำการทูตทหารมาแก้ไขข้อขัดแย้งหลังจากความพยายามดังกล่าวได้หยุดชะงักไปหลังเกิดการปะทะกันบริเวณจุดข้ามแดนเข้าสู่อัฟกานิสถานที่ชามาน (Chaman)

การผลักดันการปรองดองในอัฟกานิสถานนับเป็นเงื่อนไขที่สำคัญ เพื่อให้อัฟกานิสถาน ปากีสถาน และประเทศต่างๆ ในภูมิภาครักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความมีเสถียรภาพในระยะยาว

“ปากีสถานสนับสนุนการรักษาสันติภาพและแสวงหาแนวทางเพื่อสร้างสันติภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาค โดยการปฏิสัมพันธ์กับผู้นำอัฟกานิสถานและใช้วิธีการทูตเชิงสันติโดยฝ่ายทหาร”

พันเอกไซยิด มูฮัมหมัด ราซา อุล ฮัซเนน (Colonel Syed Muhammad Raza Ul Hasnain) ผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารสาธารณรัฐอิสลามปากีสถานประจำประเทศไทย กล่าวถึงการเดินเกมการทูตโดยฝ่ายทหารของกองทัพปากีสถานในหลายๆ ด้าน

.การทูตโดยฝ่ายทหาร กองทัพบกปากีสถานร่วมการประชุมกับฝ่ายอ้ฟกานิสถาน

การประชุมแบบพหุภาคี (Multinational Forums)

“สหรัฐอเมริกา อัฟกานิสถาน และปากีสถาน เข้าร่วมการประชุมไตรภาคีในด้านความมั่นคงทางชายแดน การแบ่งปันข้อมูล และจัดการกับสถานการณ์ด้านความมั่นคงร่วมกัน ซึ่งแต่ก่อนกองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (ISAF) และ New Resolution Support Mission : RSM ได้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมดังกล่าวด้วย”

กองกำลังสนับสนุนด้านความมั่นคงนานาชาติ (Internationl Security Assistance Force : ISAF) จัดตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เมื่อปลายเดือนธันวาคม ค.ศ.2001 เพื่อรักษากรุงคาบูลและพื้นที่โดยรอบ นาโต้ (NATO) รับช่วงบัญชาการ ISAF ในปี ค.ศ.2003 ISAF ประกอบด้วยทหารจาก 42 ประเทศ และมีสมาชิกนาโต้เป็นแกนหลักของกำลัง

“สมัยก่อน เจ้าหน้าที่ติดต่อประสานงานของเราประจำอยู่ในอัฟกานิสถานเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน การประชุมไตรภาคีนี้ได้แสดงความมุ่งมั่นที่จะกำจัดกลุ่มก่อการร้ายดาอิซ (Daesh) ออกจากพื้นที่ และเห็นพ้องในการแบ่งปันข้อมูล ส่งเสริมช่วยเหลือกันซึ่งกันและยกระดับความร่วมมือให้มากขึ้น” พันเอกราซา อุล ฮัซเนน ชี้แจง

ISIS หรือ ISIL หรือ Islamic State in Iraq and al-Sham คือ รัฐอิสลามในอิรัก หรือจะเรียก ISIL หรือ Islamic State in Iraq and Levant อันหมายถึง รัฐอิสลามในอิรัก และเลแวนต์ (ซึ่งเลแวนต์ ก็จะหมายถึงซีเรียเช่นเดียวกัน) ส่วนภาษาอาหรับนิยมเรียกชื่อย่อว่า ดาอิซ (daesh)

กลุ่มประสานงานสี่ฝ่าย (Quadrilateral Coordination Group)

“ปากีสถานเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มประสานงานสี่ฝ่าย ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกา จีนและอัฟกานิสถาน”

“กลุ่มดังกล่าวมีความพยายามที่จะฟื้นฟูกระบวนการสันติภาพระหว่างรัฐบาลอัฟกานิสถานและกลุ่มทาลิบัน โดยกระตุ้นให้ทุกฝ่ายเข้ามาเจรจากัน”

“แต่น่าเสียดายที่กระบวนการต้องสะดุดลงด้วยข้อขัดแย้งทางผลประโยชน์”

“อย่างไรก็ดี ปากีสถานยังคงมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนทุกเวทีสนทนาเพื่อเสถียรภาพในอัฟกานิสถานและสันติภาพที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาค”

เสนาธิการทหารบกปากีสถานร่วมการประชุมในคาบูล อัฟกานิสถาน

การประชุมไตรภาคี (Trilateral Forum)

“ในเวทีการประชุมสามฝ่ายนี้ ประกอบด้วย จีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ซึ่งต่างก็ให้คำมั่นว่าจะร่วมกันมีบทบาทในการนำสันติภาพมาสู่ภูมิภาคนี้”

“การประชุมไตรภาคีเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม ค.ศ.2017 มุ่งเน้นการปรึกษาหารือในสามหัวข้อหลักๆ อันได้แก่ การสนับสนุนความร่วมมือในระดับไตรภาคี ในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และความมั่นคง”

จีนได้ทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพรับรองเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากอัฟกานิสถานและปากีสถาน ในความพยายามที่จะไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่ระอุมานานระหว่างกาบูลและอิสลามาบัด ทั้งสามฝ่ายเห็นพ้องกันที่จะสร้างความไว้วางใจทางการเมือง โดยการประนีประนอมและเลิกเป็นศัตรูต่อกัน

จีน ปากีสถาน และอัฟกานิสถาน ต่างมีความเห็นเป็นเอกฉันท์ที่จะดำเนินมาตรการที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อต่อต้านภัยของการก่อการร้าย การประชุมไตรภาคีเป็นส่วนหนึ่งแห่งการริเริ่มของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เพื่อกระชับความสัมพันธ์และพัฒนาความร่วมมือระหว่างทั้งสามประเทศ

“เมื่อปลายปีที่แล้ว เสนาธิการทหารบก (COAS) ปากีสถานได้พบกับประธานาธิบดีอัชราฟ ฆานี (Ashraf Ghani) แห่งอัฟกานิสถาน”

“ประธานาธิบดีได้กล่าวว่า ทั้งอัฟกานิสถานและปากีสถานต่างก็เป็นมิตรประเทศที่มุ่งหน้าไปสู่สันติภาพและความมั่นคง ได้ร่วมมือกันต่อต้านภัยคุกคาม และการก่อการร้ายต่างๆ มีการแบ่งปันข่าวกรอง การติดต่อสัมพันธ์ทางการค้าและการพาณิชย์ และมีความเห็นพ้องให้มีการเจรจาหารือกันอย่างสม่ำเสมอในหลายระดับ เป็นการพัฒนากระบวนการทวิภาคีเพื่อลดความเข้าใจผิดต่อกัน อันเป็นการเสริมสร้างสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค”

อดีตประธานาธิบดีอัฟกานิสถานคนที่ 12 ฮามิด การ์ไซ (Hamid Karzai) กล่าวว่า ปากีสถานและอัฟกานิสถาน เป็นพี่น้องที่ไม่อาจแยกจากกันได้ (inseparable brothers) อันสืบเนื่องจากความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ ศาสนา ชาติพันธุ์ และความผูกพันอื่นๆ

ผู้ช่วยทูตทหารปากีสถานประจำประเทศไทยเล่าว่า

“ปากีสถานและอัฟกานิสถานเป็นประเทศอธิปไตย ทั้งสองประเทศมีสิทธิในการมีสันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง แต่จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อผืนแผ่นดินประเทศของเราไม่ได้ถูกทำให้เป็นสถานที่แห่งความขัดแย้งกัน ดังที่ผมจะกล่าวต่อไปนี้”

ประการแรก ขณะนี้ เรายังคงมีผู้อพยพชาวอัฟกันเกือบ 2.7 ล้านคนที่มาขอลี้ภัยอยู่ในปากีสถาน ซึ่งตกเป็นเป้าหมายของกลุ่มทาลิบัน (TTA) และเครือข่ายฮักกานี (Haqqani) กลุ่มอิสลามมิสต์หัวรุนแรงทรงอำนาจมากกลุ่มหนึ่งในเขตนอร์ธ วาซิริสถาน (North Waziristan) ใกล้ชายแดนอัฟกานิสถาน ได้ใช้ประโยชน์โดยการชักจูงให้เข้าเป็นสมัครพรรคพวกและกลมกลืนหายไปในหมู่ผู้อพยพในปากีสถาน”

“ถึงเวลาแล้ว ที่ผู้อพยพชาวอัฟกันเหล่านี้จะถูกส่งกลับอัฟกานิสถานอย่างมีศักดิ์ศรี เพราะเป็นวิธีเดียวที่จะทำให้เราได้มั่นใจว่า จะไม่มีผู้ใดได้ใช้แผ่นดินปากีสถานและไมตรีจิตจากการต้อนรับของเราไปในทางที่ผิด โดยไปก่อความเสียหายอย่างร้ายแรงในอัฟกานิสถาน ซึ่งสงครามในอัฟกานิสถานขณะนี้มีค่าใช้จ่ายโดยประมาณสูงถึง 46 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี”

ประการต่อมา เรามีมาตรการหลายขั้นตอน ณ บริเวณชายแดนปากีสถาน-อัฟกานิสถาน มีการบริหารจัดการพื้นที่ชายแดนใหม่ มีการก่อสร้างด่าน หอตรวจการณ์ และป้อมปราการพิทักษ์กว่าร้อยแห่ง สร้างรั้วลวดหนามยาวเหยียดตลอดแนวพรมแดนติดกับอัฟกานิสถานและปากีสถาน เพื่อควบคุมการข้ามแดน ยุติการแฝงตัวของผู้ก่อการร้าย และป้องกันการโจมตีข้ามชายแดน มีการติดตั้งระบบการตรวจลงตราทั้งแบบเดิมและแบบทันสมัย พร้อมกับมีการติดตั้งเครื่องสแกนอีกด้วย เพื่อจะได้มั่นใจว่าสามารถคัดกรองผู้ก่อการร้ายไม่ให้เข้ามาเคลื่อนไหวบริเวณชายแดน ในขณะเดียวกันก็สามารถอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไปในการผ่านแดนได้”

โดยใช้งบประมาณมากกว่า 532 ล้านเหรียญสหรัฐ อันเป็นความพยายามของปากีสถานที่ต้องการจะถอนรากถอนโคนกลุ่มก่อการร้ายให้หมดไปจากประเทศและเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เกิดขึ้นในภูมิภาคโดยรวม

เมื่อปี ค.ศ.2017 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการศึกษายุทธศาสตร์ (2017 International Institute for Strategic Studies Report) รายงานว่า กองทัพปากีสถานเป็นกองทัพที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับหกของโลกโดยมีกำลังรบประจำการ 653,800 คน

ปัจจุบันประเทศที่ได้รับการระบุว่ามีนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองมีทั้งหมด 9 ประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้รวมปากีสถานด้วย

ผู้ช่วยทูตทหารปากีสถานประจำประเทศไทย สรุปตอนท้ายว่า

“อย่างไรก็ตาม ปากีสถานยึดมั่นอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติระหว่างประเทศที่ว่า การปรองดองทางการเมืองเป็นทางออกเดียวในประเด็นปัญหาอัฟกานิสถาน แม้เราสนับสนุนยุทธศาสตร์ใหม่ของสหรัฐในภูมิภาค แต่เราจะไม่ละทิ้งอุปสรรคใดๆ โดยไม่ได้ใช้ความพยายาม เพราะเราจะพยายามทำทุกอย่างให้ดีที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ เพื่อนำผู้ขัดแย้งทุกฝ่ายไปสู่โต๊ะเจรจาในที่สุด”

AFP PHOTO / AAMIR QURESHI