ชำแหละ “ผลงานการศึกษา 2 ปี” นักวิชาการให้แค่ 6 คะแนน!?!

โดย ขติยา มหาสินธ์

รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงผลงานการศึกษาภายใต้ด้านสังคม ในโอกาสครบรอบ 2 ปี (กันยายน 2557-กันยายน 2559) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

มี 6 ประเด็นสำคัญ

ได้แก่


1.การปฏิรูปหลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้
อาทิ โครงการนักเรียน ป.1 อ่านออกเขียนได้ใน 1 ปี ซึ่งในปี 2559 ปรับลดจำนวนนักเรียนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้จาก 11.60% เหลือ 3.94% และจะทำให้เหลือ 0% ในปี 2560

โครงการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ ในปี 2558 ได้นำร่อง 4,100 โรงเรียนทั่วประเทศ พบว่านักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 มีค่าเฉลี่ยผลการทดสอบในภาพรวมสูงขึ้น ปี 2559 จะขยายผลอีก 19,997 แห่ง และขยายผลให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในปี 2560

บูรณาการการสอนและการเรียนรู้ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM Education) ซึ่งในปี 2559 ได้ดำเนินการในโรงเรียน 2,495 แห่ง และจะขยายผลให้ครบทุกโรงเรียนในปี 2564

การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เดิมใช้เวลาเรียนภาษาอังกฤษเพียง 1 คาบ/สัปดาห์ ได้ขยายเป็น 5 คาบ/สัปดาห์ และจัดทำแอพพลิเคชั่นกว่า 260 เรื่อง บรรจุลงในสมาร์ตโฟน

โรงเรียนประชารัฐ ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ ที่ดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐ เอกชนประชาสังคม 69 หน่วยงาน มีเป้าหมายพัฒนาโรงเรียนประชารัฐ 7,424 แห่ง ระยะแรกดำเนินการแล้ว 3,312 แห่ง

ส่วนที่เหลือจะดำเนินการในปี 2560

2.การผลิตและพัฒนาครู อาทิ การบริหารจัดการโรงเรียนขนาดเล็ก มุ่งเน้นจัดการโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 20 คนลงมา 827 แห่ง เพื่อให้เด็กได้เรียนรวมกันในโรงเรียนที่ดีและอยู่ใกล้บ้าน ภายใต้ชื่อโครงการ “โรงเรียนดีใกล้บ้าน” โดยปี 2559 มีแผนจะดำเนินการในโรงเรียน 421 แห่ง และปี 2560 ในอีก 406 แห่ง

การเกลี่ยอัตรากำลังครู 68,000 อัตรา จะเกลี่ยจากโรงเรียนที่เกินไปให้โรงเรียนที่ขาดให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2559 การจัดทำแผนอัตรากำลัง 10 ปี เพื่อทดแทนอัตราครูที่เกษียณ

โครงการครูผู้ทรงคุณค่าแห่งแผ่นดิน โดยสรรหาครูเกษียณที่เก่งมาปฏิบัติการสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลนในโรงเรียนทั่วประเทศ

โครงการผลิตครูเพื่อพัฒนาท้องถิ่น เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาวิชาเฉพาะ และดึงคนเก่งมาเป็นครู โดยในปี 2559 มีแผนจะบรรจุ 4,079 อัตรา

และในอีก 10 ปีข้างหน้า (ปี 2569) จะดึงนักศึกษาที่เก่งให้มาเป็นครูไม่น้อยกว่า 44,200 อัตรา


3.การพัฒนาระบบการทดสอบ ประเมิน และประกันคุณภาพการศึกษา

อาทิ การปฏิรูประบบทดสอบ โดยปรับลดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) จาก 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็น 5 กลุ่ม

การเฉลยข้อสอบโอเน็ต

เป็นต้น


4.การผลิตและพัฒนาคนให้ตรงกับความต้องการของประเทศ

อาทิ อาชีวศึกษาทวิภาคี ปัจจุบันมีสถานศึกษาเข้าร่วม 426 แห่ง ร่วมกับผู้ประกอบการ 13,686 แห่ง ตั้งเป้าปี 2564 ทุกสถานศึกษาจะร่วมจัดหลักสูตรอาชีวศึกษาทวิภาคีอย่างน้อย 1 สาขา

สหกิจศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้ร่วมกับภาคเอกชน 14,428 บริษัท ส่งนักศึกษา 37,472 คน จาก 127 สถาบันอุดมศึกษา เข้าไปฝึกงานเพื่อได้รับประสบการณ์จริง

Re-Profile สถาบันอุดมศึกษาให้มีความเป็นเลิศเฉพาะทาง เพื่อรองรับการขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศไทย 4.0, ปรับระบบการศึกษาให้ยืดหยุ่น โดยปรับให้ผู้เรียนทั้งสายสามัญและสายอาชีพเรียนข้ามสายได้


5.ไอซีทีเพื่อการศึกษา

อาทิ ขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ต ศธ. ร่วมกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สร้างโอกาสทางการเรียนรู้ให้ทุกโรงเรียน

โดยกำหนดเป้าหมายการวางโครงข่ายอินเตอร์เน็ตในโรงเรียน 8,396 แห่งที่อินเตอร์เน็ตยังเข้าไม่ถึง

และ 6. การบริหารจัดการ อาทิ การบริหารราชการของ ศธ. ในภูมิภาค เพื่อดำเนินงานด้านการศึกษาในระดับพื้นที่ การย้ายครู ผู้บริหาร ข้าราชการ การให้ทุกส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาสังคมมีส่วนร่วมจัดการศึกษา

การจัดการศึกษาให้กับเด็กตกหล่น

การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา แก้ไขปัญหาความยากจน โดยมี คสช. เพื่อจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย และจัดสรรงบประมาณปี 2560 จำนวน 39,900 ล้านบาท สำหรับเด็กไทย 7 ล้านคน

การแก้ไขปัญหาธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา, การจัดทำแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (พ.ศ.2560-2574)

เป็นต้น

นายสมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ให้คะแนนรัฐบาล 6.5 จากคะแนนเต็ม 10 รัฐบาลทำเรื่องการศึกษารอบด้านและทุกเรื่อง แต่เนื้องานไม่เห็นผลชัดเจน

จากการพูดคุยกับคนวงการศึกษา ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าการศึกษาดีขึ้น แต่เปลี่ยนแปลงไม่มาก ที่อ้างได้ว่าเป็นผลงานรัฐบาลชุดนี้ คือ การใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแก้ไขปัญหาการทุจริตซึ่งโดดเด่น แต่นโยบายอื่นๆ เป็นงานปกติของระบบราชการ

“รัฐบาลมีผลงานเยอะจริง เพราะทำรอบด้าน แต่ในความรู้สึกประชาชน รู้สึกว่าไม่เปลี่ยนแปลง การศึกษาบ้านเราล้มลุกคลุกคลานมานาน คนต้องการเห็นการผ่าตัดรุนแรงและกล้าตัดสินใจมากกว่านี้ แต่นโยบายที่ผ่านมาลอยๆ ดูดีแต่ขาดเนื้องานที่คมชัดและโดนความรู้สึก คือ ไม่ตอบโจทย์ประชาชนที่เฝ้ามองและอยากเห็นการเปลี่ยนแปลง” นายสมพงษ์ กล่าว

นายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา มองว่า รัฐบาลโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มุ่งมั่น ตั้งใจ และเข้าใจวัฒนธรรมและธรรมชาติของการศึกษาสูงมาก แต่ผลงานยังไม่เกิด ส่วนตัวจึงให้ 6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รัฐบาลทำหลายเรื่อง สะเปะสะปะเกินไป รูปธรรมที่ชัดเจนจึงยังไม่เกิด

อย่างเรื่องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ รัฐบาลชี้แจงว่าประสบความสำเร็จ ถ้าไปถามครูในพื้นที่ โดยไม่เอาตามรายงานของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ครูทุกคนจะตอบตรงกันว่าเป็นการเพิ่มเวลาเรียน ไม่ใช่ลดเวลาเรียน สาเหตุที่ไม่สำเร็จทั้งที่หลักการดีมาก ก็เพราะยังไม่มีการปรับหลักสูตร

ส่วนเรื่องเกลี่ยครู เป็นเรื่องที่ยังทำไม่ได้ ส่วนการปรับให้ผู้ที่จบสาขาอื่นที่ไม่ใช่คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ สามารถมาสอบเป็นครูผู้ช่วยโดยที่ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูซึ่งถือเป็นนวัตกรรมใหม่นั้น ถือเป็นเรื่องดี แต่ไม่มีโครงการเตรียมความพร้อมก่อนการสอนซึ่งครูจะทำแผนการสอนไม่เป็น

“การนำมาตรา 44 ไปแก้ไขปัญหาทุจริตและธรรมาภิบาล ยังไม่ได้ผลเพราะปัญหามหาวิทยาลัยมีมาก ส่วนด้านอาชีวศึกษาที่มีจุดเน้นให้เด็กหันมาเรียนสายอาชีวะมากขึ้นนั้น เดินมาถูกทาง แต่ยังไม่เห็นรูปธรรม เพื่อให้เห็นรูปธรรมที่ชัดเจนภายใต้เวลาที่เหลืออยู่ ศธ. ควรโฟกัสเฉพาะเรื่องที่มีผลกระทบต่อประเทศ เช่น ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โฟกัสเรื่องการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กให้เป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน ขับเคลื่อนหลักสูตรใหม่เพื่อรองรับการลดเวลาเรียน ลดภาระงานครู ด้านอาชีวศึกษา เปลี่ยนทัศนคติที่มีต่อสายอาชีวะตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ด้านอุดมศึกษา ผลักดันร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบการบริหารงานบุคคลในสถาบันอุดมศึกษา ผลักดันแผนการศึกษาชาติ 15 ปี”

นายอดิศร กล่าว

ภาพรวมด้านสังคม รัฐบาลได้ 8.45 คะแนนจากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน 1,237 ตัวอย่างของสำนักวิจัยซูเปอร์โพล เจาะเฉพาะด้านการศึกษา นักวิชาการให้แค่ 6-6.5 คะแนน

ซึ่งก็คงไม่ต่างจากความรู้สึกของคนวงการศึกษาส่วนใหญ่ที่ไม่ได้รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลงของการศึกษามากนัก

สะท้อนว่าภายใต้กรอบเวลาที่เหลืออยู่ รัฐบาลโดย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการ ศธ. ยังต้องทำงานหนัก

ด้วยว่าประชาชนคาดหวังว่า พล.อ.ดาว์พงษ์ จะใช้ความกล้าตัดสินใจและตัดสินใจเร็วมาผ่าตัดการศึกษา…