การ์ตูนที่รัก/นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์/THE BEST WE COULD DO (จบ)

นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

การ์ตูนที่รัก
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

THE BEST WE COULD DO (จบ)

เรื่องที่พ่อได้พบกับแม่ที่มหาวิทยาลัยนั้นควรเป็นเรื่องรักโรแมนติก แต่ไม่ใช่ ในเวอร์ชั่นของแม่เรื่องนี้เป็นความสูญเสีย พ่อทำตัวเป็นเจ้าข้าวเจ้าของแม่ตั้งแต่ปี 1 และแม่สูญเสียทารกคนแรกในเวลาน้อยกว่าเก้าเดือนหลังจากนั้น
ครอบครัวฝ่ายแม่ไม่มีใครเห็นด้วยกับการแต่งงานครั้งนี้เลย เพราะพ่อจน
พ่อและแม่ย้ายหนีทุกคนไปฮาเตียน เมืองสวยงามด้วยทัศนียภาพตระการตาแบบเวียดนาม สองหนุ่มสาวไม่มีลูก ไม่มีผู้ใหญ่ ทำงานเป็นครูทั้งคู่และรับเงินเดือนทั้งสองคน เป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่มีความสุขเสมือนหนึ่งฮันนีมูน
ปี 1965 สงครามเวียดนามแท้จริงก็เริ่มต้น เครื่องบินทิ้งระเบิดอเมริกันหว่านระเบิดนาปาล์มลงบนแผ่นดินเวียดนามเหนือ ทหารอเมริกันพาเหรดเข้าไซ่ง่อนและเวียดนามใต้
สินค้าอเมริกันชั้นดีไหลตามเข้ามาด้วยแต่ไปตกอยู่ในมือพ่อค้าคนกลาง ราคาสินค้าทวีสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง แต่เงินเดือนครูนั้นเท่าเดิม บุหรี่ที่พ่อสูบทุกวันแพงลิบ
เวียดนามใต้กลายเป็นรัฐตำรวจ และประชาชนกลายเป็นศัตรูของรัฐ มีการตรวจค้นและกักขังหน่วงเหนี่ยว พ่อและแม่เคยถูกปลุกออกมานั่งคุกเข่าเรียงหน้ากระดานกลางดึก ใครขัดขืนถูกตบด้วยปืน
“ทำกับประชาชนเหมือนอาชญากร ใครๆ ก็เกลียดพวกมัน” พ่อว่า
“พูดแรงไปรึเปล่า พวกเขาพยายามป้องกันเมืองนี่นา” แม่แก้ต่าง

ฉันถามถึงภาพถ่ายนายพลยิงขมับชายชาวเวียดนามคนหนึ่งถึงเลือดกระฉูดออกเป็นทาง พ่อบอกว่า “ชายที่ถูกยิงเป็นเวียดกง สื่อมวลชนอเมริกันกระจายภาพนี้ไปทั่วโลกทำให้เวียดนามใต้ดูแย่ แต่ที่คนไม่รู้คือก่อนหน้านั้นพวกเวียดกงได้สังหารหมู่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน”
ตกลงพ่อเกลียดหรือชอบนายพลคนนั้นกันแน่ แล้วพ่อชอบหรือไม่ชอบคอมมิวนิสต์กันแน่ อันที่จริงนี่เป็นคำถามที่ง่ายเสียจนตอบยาก เพราะสหรัฐอเมริกาได้วาดภาพคนดีและคนร้ายในสงครามเวียดนามเสียยิ่งกว่าชัดแจ้ง ทหารอเมริกันเป็นคนดี เวียดกงเป็นคนไม่ดี ส่วนคนเวียดนามใต้มีหลายชนิดที่แยกจากกันโดยเด็ดขาด โสเภณี ข้าราชการคอร์รัปชั่น ทหารเวียดนามใต้ เด็กเวียดนามใต้ และผู้เฒ่าเวียดนามใต้
มนุษย์แต่ละคนปะหน้าได้ 1 อย่าง
เอ็ดดี้ อาดัมส์ ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ปี 1969 จากภาพการประหารที่ไซ่ง่อน Saigon Execution อันมีชื่อเสียงนั้นยอมรับว่าตนเองได้กระทำการอันไม่สมควรแก่รางวัล นั่นคือการประทับตราคนคนหนึ่งให้มีมิติเดียว เอ็ดดี้ออกเดินทางตามหานายพลเวียดนามคนนั้นในเวลาต่อมาจนกระทั่งพบว่าเขาเป็นคนขายพิซซ่าที่เวอร์จิเนีย
ภาพนั้นได้ทำหน้าที่ของมันอย่างดี การเดินขบวนประท้วงสงครามเวียดนามเกิดขึ้นทั่วสหรัฐอเมริกา แล้วสงครามเวียดนามก็สิ้นสุดลง ตอนนั้นฉันอายุ 3 เดือน
การประทับตราบุคคลมักเกิดในสถานการณ์ที่ยุ่งเหยิงอย่างที่สุด ในเวลาที่ไม่ควรจะประทับตรามากที่สุด อ่านไปก็คล้ายสถานการณ์บ้านเราเวลานี้ คนหนึ่งคนมีตราประทับได้ตราเดียว สีเหลือง สีแดง รักทักษิณ เกลียดทักษิณ รักทหาร เกลียดทหาร เป็นต้น
คนหนึ่งคนไม่สามารถมีได้ 2-3 ตราในเวลาเดียวกัน

30 เมษายน ปี 1975 เวียดนามวันนี้เรียกว่าวันประกาศอิสรภาพ
สำหรับพวกเราผู้อพยพเรียกว่าวันที่เราสูญเสียประเทศของเรา
ภาพที่คุ้นเคยและเป็นสัญลักษณ์ของไซ่ง่อนแตกคือภาพเฮลิคอปเตอร์ขนผู้อพยพออกจากไซ่ง่อนครั้งใหญ่
ข่าวลือเรื่องทหารเวียดกงกำลังจะมาถึงและสังหารหมู่คนทั้งเมือง
พร้อมกับข่าวเขมรแดงอพยพคนทั้งหมดออกจากพนมเปญ
ไซ่ง่อนจะเป็นทะเลเลือด
แต่ไม่มีทะเลเลือด นายพลเวียดนามใต้ยอมแพ้ กองทัพเวียดกงเข้าสู่ไซ่ง่อนอย่างสงบ
พ่อไปรายงานตัวทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการ
แม่ไปรายงานตัวเป็นครูโรงเรียนมัธยมปลาย
แต่ทุกคนต้องเซ็นรับสารภาพความผิด และสอนหนังสือตามหลักสูตรที่กำหนดมาใหม่อย่างเคร่งครัด
มีผู้คนที่เริ่มหายตัวไป เพื่อนบ้านสอดส่องพ่อและแม่
แม้แต่ลูกที่ไปโรงเรียนก็ถูกสอนให้กลับมาสอดส่องพ่อแม่
แล้ววันหนึ่งทหารเวียดนามเหนือก็มาถึงบ้าน แม้ว่าพ่อกับแม่จะไม่เป็นอะไรมาก แต่เงินทองร่อยหรอลง พี่สาวสองคนของฉันเร่งอ่านนวนิยายที่เหลือเป็นกองก่อนที่จะถูกเผา
พ่อสูบบุหรี่หนักขึ้นแล้วจมลงสู่ก้นบึ้งแห่งความโศกเศร้าโดยปราศจากความเห็นใจจากแม่ เพราะแม่รู้สึกว่าเธอต่อสู้เพื่อครอบครัวอยู่คนเดียว
ทุกอย่างย่ำแย่ แม่ขายของในบ้านมาเป็นเงินใช้จ่าย และตั้งท้องอีกครั้งหนึ่ง ตามกฎหมายแล้วเธอต้องทำแท้ง แต่เธอยังจำลูกสองคนที่เธอสูญเสียไปได้ดี
พวกเรามีทางรอดทางเดียว หนีไปจากประเทศนี้ และนั่นเป็นปฏิบัติการที่แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่เพียงพวกเราหกชีวิตที่คนหนึ่งกำลังโตขึ้นในท้องแม่ทุกวันๆ
แต่ยังมีพ่อแม่ของพ่อแม่ที่แก่ชราซึ่งเราคงจะต้องทิ้งพวกท่านไว้ข้างหลัง

หนังสือปกแข็งเล่มนี้ออกมาในวันเวลาที่เหมาะสม คือยุคสมัยของทรัมป์และปีที่ผู้คน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวอเมริกันลืมเลือนสงครามเวียดนามไปแล้ว
แม้ว่าผู้เขียนจะเจตนาเล่าเรื่องครอบครัว ความรัก สงคราม ความเกลียดชัง และอาการแตกทำลายของประเทศหนึ่งเพียงเพื่อประสานช่องว่างระหว่างเธอกับพ่อแม่ของเธอก็ตาม เพียงเพื่อแสดงหลักฐานหรือเพื่อปลอบใจตัวเอง ว่าความห่างเหินระหว่างพ่อแม่กับเธอที่เกิดขึ้นมีที่มาที่ไปจริงๆ ทั้งสองท่าน จะผิดหรือถูก ได้ทำดีที่สุดแล้วในเวลานั้นๆ
เป็นเรื่องของยุคสมัยที่ปัจเจกบุคคลไม่สามารถเป็นปัจเจกบุคคล คนไม่มีเจตจำนงเสรี ต้องประทับตราเป็นพวกใดพวกหนึ่งอยู่เสมอ
เวียดนามหรือฝรั่งเศส เวียดกงหรือเวียดนาม เวียดนามหรืออเมริกัน
หนังสือเล่มนี้ให้ภาพรวมของประเทศหนึ่ง ที่มีพลเมืองตัวเล็กผิวคล้ำตาชั้นเดียว ขึ้นเรืออพยพมายังดินแดนเสรีภาพเช่นสหรัฐอเมริกาที่ซึ่งคนผิวขาวผมทองตัวใหญ่ยึดครองอยู่
ยิ่งไปกว่านั้นเป็นคนอเมริกันเองที่เผาบ้านเรือนของพวกเขาเป็นเถ้าถ่านก่อนจากมา และรังเกียจพวกเขาซ้ำเมื่อพวกเขาหนีตายตามมา
แม้หนังสือจะเล่าเรื่องราวของครอบครัวเดียวของประเทศเดียว แต่ดูเหมือนหนังสือจะไปกระทบจิตใจคนอเมริกันที่สีผมไม่เป็นสีทองและสีผิวไม่เป็นสีขาวจำนวนมากกว่ามาก
หรือนี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่คนอเมริกันถูกประทับตราเดียว เป็นหรือไม่เป็นคนอเมริกัน
เช่นเดียวกับบ้านเราวันนี้ เป็น หรือ ไม่เป็น