ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ : ลัทธิบูชาต้นไม้ใหญ่ ภายใต้ร่มเงาของพระพุทธศาสนา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

เมื่อปี พ.ศ.2556 ได้มีนักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่ชื่อ โรบิน โคนิงแฮม (Robin Coninham) จากมหาวิทยาลัยเดอร์แฮม (Durham University) ประกาศผลการขุดค้นทางโบราณคดีของเขา ที่ดำเนินการในพุทธสถานแห่งหนึ่งที่สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล

และสิ่งที่มิสเตอร์โคนิงแฮมได้ประกาศออกมานั้น ก็ค่อนข้างที่จะชวนให้ชาวพุทธตกตะลึงกันมากทีเดียวนะครับ

เพราะเขาประกาศว่า ผลการขุดค้นในครั้งนั้นทำให้เขาค้นพบพุทธสถาน (ก็ “วัด” ในภาษาบ้านๆ ของเรานั่นแหละ) ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบมา

แถมนั่นก็เก่าพอที่จะทำให้เราจำเป็นต้องกำหนดอายุสมัย ของปีศักราชที่พระพุทธเจ้าประสูติให้เก่าแก่กว่าเดิมขึ้นไปอีกด้วยเลยทีเดียว

 

เรื่องของเรื่องมันเกิดจากการที่ “สวนลุมพินีวัน” เป็นสถานที่สำคัญ เพราะเป็นที่ประสูติของพระพุทธองค์ตามเรื่องเล่าในพระไตรปิฎก ในบริเวณที่เชื่อกันว่าเป็นที่ประเสริฐของพระพุทธเจ้านั้น พระเจ้าอโศกมหาราชคนดัง ได้สร้างพุทธสถานครอบทับไว้เมื่อปี พ.ศ.294 ตามปีที่ระบุอยู่ในศิลาจารึกของพระองค์

วัดแห่งนี้ปัจจุบันรู้จักกันในชื่อของ “วัดมายาเทวี” ตามพระนามของพระนางสิริมหามายา พระราชมารดาของเจ้าชายสิทธัตถะ ที่ต่อไปจะตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็น พระพุทธเจ้า และก็เป็นที่วัดแห่งนี้เองที่นายโคนิงแฮม ได้ทำการขุดค้นจนนำมาซึ่งประกาศที่ชวนให้ตกตะลึงข้างต้น

ผลการขุดค้นของมิสเตอร์โคนิงแฮมทำให้โลกได้รู้ว่า เบื้องล่างอาคารอิฐที่พระเจ้าอโศกสร้างวัดครอบทับไว้นั้น ยังมีซากของพุทธสถานเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งซึ่งสร้างขึ้นจากไม้

ซึ่งเขาก็ได้เอาเศษถ่านที่พบอยู่ในนั้นไปทำการกำหนดอายุด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์สองวิธี คือ การหาค่าคาร์บอน 14 และวิธีเทอโมลูมีเนสเซนต์

ซึ่งค่าอายุที่ได้ใกล้เคียงกันคือราว 2,500 ปีที่แล้ว

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ สิ่งปลูกสร้างที่คุณโคนิงแฮมขุดพบนั้น เป็นอาคารไม่มีหลังคาคลุมแบบที่เรียกว่า “โพธิฆระ”

(ความตรงนี้ผมคงตามบทความไว้ อันที่จริงแล้ว สิ่งปลูกสร้างที่สร้างล้อมรอบต้นโพธิ์ในพุทธศาสนามีสองแบบ คือ “แบบที่มีหลังคาคลุม” เรียกว่า “โพธิฆระ” กับ “แบบที่ไม่มีหลังคาคลุม” เรียกว่า “โพธิมัลลกะ” ดังนั้น การใช้คำศัพท์เรียกประเภทของสิ่งปลูกสร้างของนายโคนิงแฮม จึงแสดงให้เห็นถึงความสับสนในการเรียกชื่อประเภทของศาสนสถาน)

และเมื่อเป็น “โพธิฆระ” นายโคนิงแฮมจึงอ้างว่าเป็นสิ่งปลูกสร้างในพระพุทธศาสนา พร้อมกับให้สัมภาษณ์เอาไว้กับนิตยสารสารคดีชื่อดังของโลกอย่าง National Geographic ในบทความที่มีชื่อว่า “Oldest Buddhist Shrine Uncovered May Push Back the Buddha”s Birth Date” (ซึ่งอาจจะแปลเป็นชื่อภาษาไทยง่ายๆ ได้ว่า “พุทธสถานในเนปาล ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการค้นพบบนโลก อาจทำให้อายุสมัยที่พระพุทธเจ้าประสูติเก่าแก่ขึ้นไปอีก”) โดย แดน เวอร์กาโน (Dan Vergano) ดังความที่ว่า

“…มันเป็นข้อถกเถียงอันยิ่งใหญ่ว่า พระพุทธเจ้ามีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงเวลาใดกันแน่ และตอนนี้เราค้นพบโครงสร้างของพุทธสถานที่อยู่ในช่วง 2,500 ปีที่แล้ว…”

แต่ในบทความเดียวกัน ผู้เขียน ควบตำแหน่งผู้สัมภาษณ์คือ นายเวอร์กาโน ยังได้สัมภาษณ์ความคิดเห็นของนักวิชาการท่านอื่นๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้เอาไว้ด้วยนะครับ

และใครคนที่หล่นข้อคิดเห็นสำคัญเอาไว้ก็คือ จูเลีย ชอว์ (Julia Shaw) ซึ่งเป็นผู้บรรยายวิชาเกี่ยวกับโบราณคดีเอเชียใต้ ในมหาวิทยาลัยคอลเลจ ลอนดอน (University College London) ได้ให้ความเห็นที่แย้งกับข้อเสนอของโคนิงแฮมเอาไว้ว่า

“…บ่อยครั้งที่ศาสนสถานในลัทธิการบูชาต้นไม้ใหญ่จะมีลักษณะเป็นแท่นบูชาอย่างง่ายๆ ซึ่งพบร่องรอยกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในศาสนาของอินเดียโบราณ มันจึงมีการทับซ้อนกันอยู่ระหว่างพิธีกรรมของพุทธศาสนา กับพิธีกรรมดั้งเดิมก่อนมีศาสนาพุทธ เป็นไปได้ว่าศาสนสถานแห่งนี้ (หมายถึง ที่คุณโคนิงแฮมขุดพบ) เป็นของในลัทธิการบูชาต้นไม้ใหญ่มาแต่เดิม และไม่ได้เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ของศาสนาพุทธเลย…”

พูดง่ายๆ อีกทีก็ได้ว่า ร่องรอยการนับถือและบูชาต้นไม้ใหญ่ในอินเดีย (และพื้นที่อื่นๆ ในโลก รวมถึงในภูมิภาคอุษาคเนย์ และประเทศไทย) มีมาแต่โบราณ ก่อนที่จะมีศาสนาพุทธแล้วนั่นแหละ ดังนั้น ศาสนสถานสำหรับบูชาต้นไม้ ที่นายโคนิงแฮมขุดพบก็ไม่เห็นจำเป็นต้องเป็นวัดในพระพุทธศาสนาเสียหน่อย?

 

ศาสนาพุทธเองก็ได้รับเอาวัฒนธรรม และความเชื่อดั้งเดิมของการบูชาต้นไม้ใหญ่เหล่านี้มาอย่างเห็นได้ชัดเจน

ลองคิดดูง่ายๆ นะครับว่า ทำไมพระพุทธเจ้าจึงต้องประสูติใต้ต้นสาละ ตรัสรู้ใต้ต้นโพธิ์ และปรินิพพานใต้ต้นรังคู่ นี่ยังไม่นับรวมว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ยังได้ทรงประทับ และได้ถวายเนตรเพื่อแสดงความขอบคุณให้กับต้นพระศรีมหาโพธิ์ แล้วเดินจงกรมรอบต้นไม้อีกอย่างละ 1 สัปดาห์ จากนั้นยังได้เสด็จไปประทับยังควงไม้ไทร (อชปานิโครธ) ไม้จิก (มุจลินท์) และไม้เกด (ราชยตนะ) ก่อนที่จะเสด็จออกสั่งสอนพระธรรมคำสั่งสอนอีกต่างหาก

อันที่จริงแล้ว พระพุทธกิจเหล่านี้ก็คือ ภาษาสัญลักษณ์ที่หลอมรวมเอาลัทธิการบูชาต้นไม้ใหญ่แต่ละประเภท เข้ามาอยู่ภายใต้ร่มกาสาวพัสตร์ของพระพุทธศาสนาได้อย่างแยบยล โดยมี “ต้นโพธิ์” เป็นสัญลักษณ์แทนลัทธิการบูชาต้นไม้ดั้งเดิมแต่ละประเภทเหล่านั้น

และคงจะไม่ใช่พียงเพราะแค่ต้องการใช้ร่มเงาไม้บดบังแสงแดดคลายร้อนอย่างที่มักอธิบายกันในชั้นหลังเท่านั้นหรอกนะครับ

ในชมพูทวีป ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะต้นสำคัญๆ ที่เคยมีผู้คนกราบไหว้บูชาเป็นกรณีพิเศษ (คงจะไม่ต่างอะไรนักกับรุกขเทวดา หรือเจ้าพ่อไทร เจ้าแม่ตะเคียนของบ้านเรา ที่ต่างก็มีผู้คนไปขึ้นในปริมาณความนิยมที่ไม่เท่ากัน ทั้งๆ ที่เป็นไม้ชนิดเดียวกัน เพราะให้โชคลาภ หรือเลขเด็ดได้อย่างแม่นยำ หรือดีเทียบเท่ากัน) ได้กลายมาเป็นสถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปรินิพพาน หรืออะไรต่อมิอะไรอื่นอีกมากของพระพุทธเจ้า

ในขณะเดียวกัน ต้นไม้ที่เคยศักดิ์สิทธิ์ด้วยตนเองมาแต่เดิมต่างๆ เหล่านี้ ก็ถูกนำไปปลูกภายในวัดของพระพุทธศาสนาด้วยข้อหาที่แปลกใหม่ว่า เป็นต้นไม้ที่มีความสัมพันธ์ผูกโยงอยู่กับพุทธประวัติ

แต่ยังมีสถานที่ให้สักการะอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบที่มีหลังคาคลุมอย่าง โพธิฆระ หรือไม่มีหลังคาคุลม ซึ่งเรียกว่า โพธิมัลลกะ (ทำนองเดียวกับที่นายโคนิงแฮมขุดพบใต้วัดมายาเทวี) ก็ตาม ต่างก็ล้วนแต่เป็นการเอาศาสนสถานเดิมของลัทธิบูชาต้นใม้ใหญ่ที่มีมาก่อน ผนวกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวัดในพระพุทธศาสนา

ซึ่งก็แน่นอนว่าย่อมเรียกแขก หรือบรรดาสานุศิษย์ผู้มีศรัทธาในลัทธิดั้งเดิมเหล่านั้นให้หันมานับถือศาสนาพุทธ ที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ด้วย

 

กลวิธีเช่นนี้ยังทำให้ศาสนาพุทธเข้าถึงผู้คนในอารยธรรมอื่นๆ ที่อยู่ภายนอกขอบข่ายภูมิภาคชมพูทวีปได้ง่ายเข้า

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดๆ ก็ภูมิภาคอุษาคเนย์ และโดยเฉพาะไทยเรานี่แหละครับ ที่มีการบูชาต้นไม้ใหญ่อยู่แล้ว

เมื่อศาสนาพุทธเปิดทางให้บูชากันต่อได้ ก็ยิ่งทำให้หนทางในการยอมรับนับถือศาสนาพุทธยิ่งสะดวกโยธินเข้าไปใหญ่

โดยเฉพาะเมื่อคำว่า “พนัสบดี” ซึ่งแปลตรงตัวได้ว่า “เจ้าแห่งป่า” ในวรรณกรรมตั้งแต่ยุคอยุธยาเป็นต้นมา มีความหมายถึง “ต้นไม้ใหญ่” ไม่ใช่ราชสีห์ สิงโต ช้าง เสือโคร่ง หรือสัตว์ใหญ่ประเภทอื่นๆ ที่ไหน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจอะไรที่เราจะมีประเพณีการค้ำจุนพระพุทธศาสนา ในรูปแบบท้องถิ่นที่ไม่มีในอินเดีย อย่างประเพณี “ค้ำโพธิ์” ที่เผลอๆ จะเป็นพิธีข้างศาสนาผีที่มีอยู่ก่อนแล้วในภูมิภาค

ภาพเหตุการณ์ในทำนองเดียวกันนี้ จึงย่อมเคยเกิดขึ้นในดินแดนที่เรียกว่า ชมพูทวีป มาก่อน อย่างน้อยก็มีตัวอย่างจากพระเจ้าอโศกเองนั่นแหละ ที่ผนวกเอาศาสนสถานดั้งเดิมของลัทธิบูชาต้นไม้ใหญ่ ให้มากลายเป็นวัดในพระพุทธศาสนา

แถมยังทรงอ้างว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นบนสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าคือ วัดมายาเทวี ที่สวนลุมพินีวันอีกด้วย

และเอาเข้าจริงแล้ว บริเวณวัดมายาเทวีเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้าหรือเปล่าก็ยังไม่แน่นัก? เพราะตามพุทธประวัติ เจ้าชายสิทธัตถะประสูติในสวนลุมพินีวัน ใต้ต้นสาละไม่ใช่หรือครับ ไม่เห็นมีคัมภีร์ฉบับไหนว่า ประสูติใต้ต้นโพธิ์ที่มีแท่นบูชาในลัทธิบูชาต้นไม้ใหญ่ อย่างที่นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ที่ชื่อนายโคนิงแฮมเขาขุดพบเลยเสียหน่อย?