นโยบาย “หันหน้าหาเอเชีย” หลังยุคโอบามา ใครจะสานต่อ?

การเดินทางเยือนเอเชียครั้งสุดท้ายของประธานาธิบดี บารัค โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกา เต็มไปด้วยความรู้สึกอาลัยอาวรณ์และการมาถึงของบทสรุปส่งท้าย

หลังช่วงเวลา 8 ปีของ “ประธานาธิบดีแห่งแปซิฟิก” ผู้นี้ บรรดาผู้นำของเอเชียจะได้ร่วมงานกับฝ่ายบริหารใหม่ของสหรัฐอเมริกาในเร็วๆ นี้

โอบามาได้รับการปรบมือเป็นเกียรติในการอำลาจากบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ 20 ชาติ หรือ จี20 ในการประชุมที่จีนและบรรดาผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน แสดงความยกย่องชื่นชมเขาในการประชุมที่ลาว

ขณะที่ นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่ากล่าวขอบคุณเขาสำหรับการผลักดันประเทศของเธอไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย

สำหรับเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวและตัวของโอบามาเองนั้น บทเพลงสุดท้ายในการอำลาเอเชียถือเป็นบทสรุปของนโยบาย “หันหน้าหาเอเชีย” ในการดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 8 ปี

“ความคาดหวังของผมคือผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากผมจะยังคงดำรงรักษาไว้ซึ่งแนวทางความสัมพันธ์นี้” โอบามา กล่าวขณะที่ใกล้จะเสร็จสิ้นภารกิจการเดินทางเยือนลาว

ระหว่างช่วงเวลาการดำรงตำแหน่ง 2 สมัยในทำเนียบขาว โอบามาพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงการให้ความสำคัญของสหรัฐอเมริกาต่อภูมิภาคที่ติดหล่มสถานการณ์ยากลำบากหลายด้านอย่างตะวันออกกลาง มายังเอเชียที่มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็ว

เขาได้ปรับปรุงความสัมพันธ์กับพม่า เวียดนาม และลาว ขณะที่สนับสนุนส่งเสริมกรอบความร่วมมือต่างๆ ในภูมิภาค และสร้างการถ่วงดุลอำนาจต่อความทะเยอทะยานในภูมิภาคของจีน

ทว่า คำถามสำคัญหลังจากนี้คือ จุดยืนในการสนับสนุนเอเชียของโอบามาจะได้รับการสานต่อหรือไม่

โดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนพรรครีพับลิกันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเคยแสดงความกังขาต่อสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกากับเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นเสาหลักสำคัญในนโยบายของสหรัฐอเมริกาต่อเอเชียนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม แนวคิดในด้านยุทธศาสตร์นโยบายต่างประเทศของทรัมป์เป็นเรื่องยากที่จะประเมิน แม้แต่นักการทูตของเอเชียหลายรายเองยังยอมรับว่าประสบความยากลำบากในความพยายามสื่อสารในเรื่องนี้กับทีมงานหาเสียงของทรัมป์

ขณะที่คู่แข่งของทรัมป์ อย่าง นางฮิลลารี คลินตัน ตัวแทนพรรคเดโมแครตชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ในฐานะอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของโอบามา มีส่วนร่วมอย่างสำคัญและใกล้ชิดกับการกำหนดนโยบาย “หันหน้าหาเอเชีย” นำไปสู่การมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นกับเอเชียไปจนถึงการถ่วงดุลอำนาจต่อการแผ่ขยายอิทธิพลของจีน

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ฮิลลารีคัดค้านการให้สัตยาบันในความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) ที่มี 12 ชาติเข้าร่วมและไม่มีจีนรวมอยู่ด้วย

บิล บิช็อป ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนแห่งวารสารจดหมายข่าวซิโนซิสม์ บอกว่า ในฐานะผู้ที่เป็นไปได้ว่าจะสืบทอดตำแหน่งต่อจากโอบามา จุดยืนในการคัดค้านทีพีพีของฮิลลารีจะผลักดันให้พันธมิตรของสหรัฐในเอเชียมีความกังวลต่อจีนมากขึ้น

“หากปราศจากองค์ประกอบในการถ่วงดุลทางเศรษฐกิจที่สำคัญ จะเกิดความไม่ชัดเจนว่าการถ่วงดุลนั้นจะได้ผล” บิช็อปบอก และว่า

“สำหรับพันธมิตรในภูมิภาคเอเชีย ความมั่นคงเป็นเรื่องสำคัญมาก แต่เศรษฐกิจก็เช่นกัน”

ขณะที่ทะเลจีนใต้จะเป็นประเด็นท้าทายใหญ่หลวงที่สุดในด้านนโยบายต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนต่อไป

ในระหว่างช่วงเวลาที่โอบามาดำรงตำแหน่งในทำเนียบขาว จีนได้ปฏิบัติการอ้างสิทธิครอบครองเหนือพื้นที่ทางน้ำสำคัญแห่งนี้อย่างก้าวร้าว

โอบามาได้ยืนยันถึงสิทธิในการบินหรือล่องเรือในพื้นที่อย่างมีเสรี แต่เขาได้ชี้ด้วยว่าสหรัฐอเมริกาจะไม่ทำสงครามในการแย่งชิงเกาะ สันทราย หรือแนวปะการังในพื้นที่ห่างไกล

ภายใต้มุมมองนี้ บูรณภาพแห่งดินแดน หลักนิติรัฐ การยึดมั่นในพันธกรณีตามสนธิสัญญาระหว่างประเทศเป็นเรื่องที่พึงปฏิบัติ แต่ไม่จำเป็นต้องเสี่ยงที่จะแลกมาด้วยไฟสงครามหรือเลือดเนื้อของทหารอเมริกัน

ทั่วทั้งภูมิภาคเฝ้าจับตาดูอย่างใกล้ชิดว่าจีนจะใช้ช่วงเวลาระหว่างนี้ไปจนถึงกว่าที่สหรัฐจะได้ฝ่ายบริหารชุดใหม่ทำอะไรในพื้นที่พิพาทอีกบ้าง อาทิ การประกาศเขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศเพิ่ม หรือการติดตั้งขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน

ซึ่งนั่นจะทำให้ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ต้องพบงานหนักนับตั้งแต่วันแรกของการดำรงตำแหน่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้