มุกดา สุวรรณชาติ : มาตรฐานการทำงานของ สนช. ประชาชน ศาลฎีกา กรรมการสรรหา ต้องตามให้ทัน

มุกดา สุวรรณชาติ

หน้าที่และอำนาจของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ในขณะที่ยังไม่มีรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ

1. หน้าที่และอำนาจด้านนิติบัญญัติ

2. หน้าที่และอำนาจด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน

3. หน้าที่และอำนาจให้ความเห็นชอบให้บุคคลดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

4. หน้าที่และอำนาจในกรณีที่รัฐธรรมนูญให้รัฐสภาประชุมร่วมกัน

ขณะนี้จะเห็นว่า สนช. ทำหน้าที่ ข้อ 1 และข้อ 3 ลงมติกันอย่างมีระเบียบเรียบร้อย แต่ประชาชนยังข้องใจหลายเรื่อง

 

การยกเลิก กกต.เดิม และไม่รับ กกต.ใหม่

13 กันยายน 2560 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ออกมา มีผลให้ กกต.ชุดปัจจุบันต้องพ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่ได้มาตรฐานตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่ยังให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่มาทำหน้าที่

แต่คุณสมบัติของ กกต.ชุดใหม่ มีคนวิจารณ์ว่า มาตรฐานสูงมากจะไปหาใครมาเป็น…

มาตรา 8 คณะกรรมการการเลือกตั้งประกอบด้วยกรรมการจำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา จากบุคคลดังต่อไปนี้

(1) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่างๆ ที่จะยังประโยชน์แก่การบริหารและจัดการการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ซึ่งได้รับการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหาจำนวน 5 คน จากผู้ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

(ก) รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่ามาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (คนแบบนี้ถ้าไม่เคยเป็นอธิบดีหลายกรม ก็ต้องไต่ไปถึงปลัดกระทรวง)

(ข) เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี (เป็น ผอ.รัฐวิสาหกิจมา 5 ปีจะมีกี่คน)

(ค) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์

(ง) เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพโดยประกอบวิชาชีพอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่องมาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปีนับถึงวันที่ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองการประกอบวิชาชีพจากองค์กรวิชาชีพนั้น

(จ) เป็นผู้มีความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหาร การเงิน การคลัง การบัญชี หรือการบริหารกิจการวิสาหกิจในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี

(ฉ) เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตาม (ก) (ข) (ค) หรือ (จ) รวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี

(ช) เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี ตามที่คณะกรรมการสรรหากำหนด

(2) ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ด้านกฎหมาย และเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษา หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี

ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 2 คน

มาตรา 9 เป็นคุณสมบัติทั่วไป เช่น

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

(2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี

(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

ฯลฯ

 

ข้อห้ามที่จำกัดคนสมัคร กกต.

ดูจากข้อห้ามแล้ว จะรู้ว่าคนที่จะมีคุณสมบัติแบบนี้ ต้องเป็นอดีตข้าราชการที่เกษียณ หรือเกือบเกษียณจะตรงสเป๊กที่สุด…

มาตรา 10 กรรมการต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้

(1) เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระใด

(2-7) เป็นข้อห้ามทั่วไป เช่น ติดยาเสพติด ฯลฯ

(8-17) เป็นข้อห้ามสำหรับผู้เคยต้องคำพิพากษาให้ลงโทษ ทั้งคนธรรมดา ข้าราชการ นักการเมือง

(18) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ข้าราชการการเมือง หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

(19) เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งอื่นของพรรคการเมืองในระยะ 10 ปีก่อนเข้ารับการคัดเลือกหรือสรรหา

(20) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

(21) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ

(22) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในห้างหุ้นส่วนบริษัท หรือองค์กรที่ดำเนินธุรกิจโดยมุ่งหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน หรือเป็นลูกจ้างของบุคคลใด

(23) เป็นผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ

(24) มีพฤติการณ์อันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง จะเห็นว่าข้อห้าม 18-19 ใช้ห้ามนักการเมือง แม้เลิกไปแล้วก็ต้องเกิน 10 ปี

ข้อห้าม 20-23 ห้ามคนทุกอาชีพไม่ให้สมัคร นอกจากจะลาออกจากงานก่อน

แบบนี้จะมีคนสมัครได้กี่คน แต่ก็มีคนสมัคร

และ กรรมการสรรหาและที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ก็เก่งมาก สามารถคัดมาได้ 7 คน

 

มาตรฐานการพิจารณาของ สนช. สูงจริงหรือ

แต่สุดท้าย สนช. ลงมติลับไม่ให้ความเห็นชอบผู้ได้รับเสนอชื่อทั้ง 7 คน ถือเป็นครั้งแรกที่โหวตคว่ำยกชุด

โดยมีผลคะแนน ดังนี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ ไม่เห็นชอบ 156 เห็นชอบ 27 งดออกเสียง 17

นายเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ ไม่เห็นชอบ 175 เห็นชอบ 10 งดออกเสียง 14

นางชมพรรณ์ พงษ์เจริญ สุธีรชาติ ไม่เห็นชอบ 168 เห็นชอบ 16 งดออกเสียง 16

นายอิสสรีย์ หรรษาจรูญโรจน์ ไม่เห็นชอบ 149 เห็นชอบ 30 งดออกเสียง 21

นายประชา เตรัตน์ ไม่เห็นชอบ 125 เห็นชอบ 57 งดออกเสียง 86

นายฉัตรไชย จันทร์พรายศรี ไม่เห็นชอบ 128 เห็นชอบ 46 งดออกเสียง 26

นายปกรณ์ มหรรณพ ไม่เห็นชอบ 130 เห็นชอบ 41 งดออกเสียง 29

วิเคราะห์จากคะแนนที่ได้ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจากสมาชิก สนช. ทั้งหมด (124 คน) จากสมาชิก สนช. ทั้งหมด 248 คน เมื่อไม่ผ่าน ก็ต้องหาใหม่ และทั้ง 7 คนเดิมจะไม่สามารถกลับมาสมัครใหม่ได้ และการหาใหม่ให้ถูกใจ สนช. ไม่น่าจะง่าย

ดูฟอร์มของ สนช. แล้ว ให้คะแนนทั้ง 7 คนต่ำมาก อย่าว่าแต่ 50 เปอร์เซ็นต์ 20 ยังไม่ได้เลย ทีแรกมีคนคิดว่าขาดคุณสมบัติ เมื่อคุณสมบัติผ่าน แสดงว่าการตั้งมาตรฐานของ สนช. สูงแน่ แต่ก็มีคนค้านว่าไม่ใช่ เพราะดูจากกรณีต่ออายุ ป.ป.ช. แล้วไม่รู้จะหามาตรฐานใดจาก สนช.

 

เรื่อง ป.ป.ช. ขาดคุณสมบัติ
แต่ต่ออายุให้ครบ 9 ปี
สนช. ใช้หลักการอะไรตัดสิน

ย้อนดูเรื่อง กรธ. เสนอให้รีเซ็ต ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติขัดรัฐธรรมนูญปี 2560 คุณสมบัติของ ป.ป.ช. ได้กำหนดไว้ในมาตรา 232 ว่า ผู้ที่ได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ต้องมีคุณสมบัติและข้อห้ามคล้าย กกต. ส่งผลให้ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน ขาดคุณสมบัติ 7 คน แต่ สนช. ให้อยู่ในตำแหน่งต่อไปจนครบ 9 ปี นับตั้งแต่วันที่ ป.ป.ช. แต่ละคนได้รับการแต่งตั้ง

1. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เมื่อปี 2557 ติดเงื่อนไขพ้นจากข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปี

2. นายปรีชา เลิศกมลมาศ เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. ในปี 2552 ถือเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการ แต่นับเวลาดำรงตำแหน่งไม่ถึง 5 ปี

3.พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง เคยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 3 เมื่อปี 2548 ก่อนย้ายเป็นจเรตำรวจ เกษียณอายุราชการปี 2555 เทียบเท่าตำแหน่งอธิบดี เมื่อนับเวลาดำรงตำแหน่งไม่ครบ 5 ปี

4. นายณรงค์ รัฐอมฤต เคยเป็นเลขาธิการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2555 เข้ารับการสรรหาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อปี 2556 นับเวลาดำรงตำแหน่งไม่ถึง 5 ปี

5. นายวิทยา อาคมพิทักษ์ เคยเป็นกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เมื่อปี 2557 เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากเคยเป็นกรรมการองค์กรอิสระ

6. พล.อ.บุณยวัจน์ เครือหงส์ เป็นอดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณกลาโหม ถึงปี 2555 นับเวลาการดำรงตำแหน่งไม่ครบ 5 ปี

7. นางสาวสุภา ปิยะจิตติ เคยเป็นรองปลัดกระทรวงการคลัง ระดับ 10 เทียบเท่าอธิบดี ตั้งแต่ปี 2549-2553 เข้ารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช. ปี 2557 แสดงว่าเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ตํ่ากว่าอธิบดี ไม่ถึง 5 ปี

ส่วนกรรมการ ป.ป.ช. อีก 2 คน มีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญใหม่ คือ นางสุวณา สุวรรณจูฑะ เป็นอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ตั้งแต่ปี 2549 จนมาเป็น ป.ป.ช. ปี 2558 แสดงว่าเกินกว่า 5 ปี และ นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร เคยเป็นอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ เกินกว่า 5 ปี

เรื่องนี้ใน สนช. มีคนค้านแค่ 26 คน

ความเห็นของนายจาตุรนต์ ฉายแสง ต่อเรื่องนี้คือ

“รัฐธรรมนูญนี้ เขียนอำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. ไว้ แล้วให้ กรธ. ไปเขียนคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ ป.ป.ช. ไว้ในกฎหมายลูก ซึ่ง สนช. ได้ต่ออายุกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันไปจนกว่าจะครบวาระ คืออีก 7-8 ปี ทั้งที่กรรมการหลายคนไม่มีคุณสมบัติ ซึ่งไปโดนที่ประธาน ป.ป.ช. เข้าเต็มๆ จึงกลายเป็นว่า ที่อวดอ้างว่ารัฐธรรมนูญปราบโกง ที่จริงแล้วจะไม่ได้ใช้ระบบต่อต้านการคอร์รัปชั่น ที่จะใช้กันต่อไปอีกหลายปี ก็คือ ระบบของ คสช. โดย คสช. และเพื่อ คสช. นั่นเอง ดังนั้น เรื่องทุจริตคอร์รัปชั่นที่กำลังอื้อฉาว จึงชัดเจนแล้วว่าระบบไม่เพียงล้มเหลวในการจัดการกับพวกพ้องของ คสช. เอง แต่ยังล้มละลายในเรื่องความเชื่อถือที่ประชาชนมีต่อระบบนี้ด้วย ระบบต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่ล้มละลายยาวนาน คือสิ่งที่ คสช. มอบให้แก่ประชาชนไทย”

 

บทบาทของ สนช. วันนี้ใหญ่มาก

ออกกฎหมายใช้บังคับได้ทั้งหมด มีอำนาจตั้งกรรมการทุกองค์กรอิสระ เวลานี้ จึงกลายเป็นผู้มีอำนาจเหนืออำนาจ ทุกองค์กรต้องเกรงใจ แม้จะมีอำนาจเช่นกัน

กกต.ในทางการเมือง เป็นกรรมการในการแข่งขัน ว่าใครจะได้เข้าไปสู่วงการเมือง เพื่อเข้าสู่อำนาจรัฐ อำนาจ ป.ป.ช. คือชี้ถูก ชี้ผิดขั้นต้น สามารถทำให้นักการเมืองและข้าราชการต้องถูกทำโทษ ถูกผลักออกไปจากตำแหน่งหน้าที่ หลุดจากอำนาจรัฐ

ถ้า กกต. หรือ ป.ป.ช. เอียงเข้าข้างใคร จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบทันที แค่ดึงไว้ หรือถ่วงเวลาก็มีผล เป็นปัจจัยที่สร้าง หรือล้มอำนาจรัฐได้

ประชาชนอยากได้คนซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา แต่ประชาชนไม่ได้เลือก งานนี้ สนช. เป็นผู้เลือก และ สนช. ก็ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน เพราะประชาชนไม่ได้ตั้ง สนช. ขึ้นมา สนช. จึงทำตามกฎการเมืองเป็นตัวแทนชนชั้น ตามปกติ ใครก็ตามที่จะสมัครกรรมการ จะสรรหาคนส่งให้ สนช. ดูให้ดีก่อน ว่าพวกท่านจะเอาอย่างไร จึงจะถูกใจ สนช. และผู้มีอำนาจ

สนช. ยังมีหน้าที่ข้อ 2 ที่ยังไม่เห็นผลงาน คือ หน้าที่และอำนาจด้านการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็น ส.ส. ป่านนี้คงตั้งกระทู้ถามรัฐบาลหลายเรื่องแล้ว เช่น ทำไมเอาข้าวดีๆ ไปขายในราคาอาหารสัตว์ เรื่องนาฬิกา หรือเรื่องที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว แต่ยังไล่จับดำเนินคดีกับคนที่เรียกร้องการเลือกตั้งตามโรดแม็ป

สนช. ต้องทำหน้าที่เอากระพรวนไปผูกคอแมว แต่ถ้าไม่ทำเลย ก็เข้าใจได้ว่า เพราะเป็น สนช. สายตรง