ไซเบอร์ วอทช์แมน : จิบกาแฟมองไทย “ทัน” หรือ “วิ่งตามหลัง” ยุคดิจิตอล

ในขณะที่กระแสโลกออนไลน์มีหลายเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจติดตามอย่างหวย 30 ล้าน, คดีเปรมชัยทุ่งใหญ่ หรือการโซเชียลชวนคนอยากเลือกตั้ง ที่ทำให้ คสช. ตื่นตระหนกจนต้องสอดส่องตั้งแต่บนหน้าเฟซบุ๊กยันจ้องมอง บันทึกภาพหน้าบุคคลบริเวณพื้นที่ชุมนุม

เหตุการณ์หลายอย่างที่ผู้เขียนเอ่ยขึ้นมา เป็นเพียงส่วนหนึ่งของกิจกรรมบนโลกออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้นในโลกยุคดิจิตอล และยังมีอีกหลายอย่างที่โลกค่อยๆ เปลี่ยนโฉมจนแตกต่างไปจากเดิม

แล้วประเทศไทย สังคมไทย เปลี่ยนไปมากแค่ไหนกัน?

 

เมื่อสองสัปดาห์ก่อน ผู้เขียนได้พบกับมิตรสหายที่เก่งและเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทใหญ่แห่งหนึ่ง ทั้งผู้เขียนและเพื่อนคนนี้ เราสนใจสิ่งเดียวกันคือ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เราสองคนนั่งจิบกาแฟสนทนากัน เรียกว่าเสียงดังระดับหนึ่ง เพราะเราทั้งตื่นเต้นและจริงจังกับเรื่องพวกนี้

แต่พอพูดถึงสังคมไทย หลายครั้งเราสองคนแทบระอาใจกับภาวะ “ทากคลาน” ของไทยโลกยุคดิจิตอล

มิตรท่านนี้เล่าให้ผู้เขียนฟังว่า โมเดลบริษัทหลายแห่งที่กำลังปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิตอล โดยเฉพาะบริษัทที่มีโครงสร้างองค์กรขนาดใหญ่ กำลังเจอปัญหาการปรับตัว แม้ผู้บริหารจะผลักดันเป็นยุทธศาสตร์ แต่การเปลี่ยนจากภายในก็นับว่ายาก เพราะวิธีคิดของบุคลากรเปลี่ยนแปลงช้ามาก

บริษัทเหล่านี้จึงต้องหาทางแก้ด้วยการตั้งบริษัทลูกขึ้นมา ที่มีแต่พนักงานหนุ่มสาวเจนวาย คิดไอเดียบนพื้นที่ Co-working space ไม่มีออฟฟิศแบ่งซอยเป็นบล๊อก นั่งอยู่ในกล่องสี่เหลี่ยมชวนอึดอัด ที่ให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรม หาแรงบันดาลใจ เขียนงานบนคอมพิวเตอร์และส่งงานกลับไปยังบริษัทใหญ่ตั้งแต่โปรเจ็กต์จนถึงนโยบายบริษัทที่ทำให้เดินหน้าบนโลกดิจิตอลต่อไปได้

สภาพการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านาย-ลูกน้อง ทำงานใกล้ชิดกันมากขึ้น และบทบาทที่เราเคยเชื่อก็เปลี่ยนไปอีกด้วย

พนักงานแต่ละคนไม่ต้องมีโต๊ะทำงานของตัวเอง เพราะพวกเขาพกโต๊ะทำงานอย่างคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต และด้วยอุปกรณ์ที่ทันสมัย บวกกับอินเตอร์เน็ตแรงๆ ทำให้สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องนั่งอยู่ในบริษัททุกวัน ยกเว้นวันที่ต้องประชุมหรือนำเสนองาน

ส่วนบริษัทไม่ต้องมีออฟฟิศส่วนตัว ก็สามารถปรับพื้นที่ใช้สอย ให้สามารถทำงานอย่างปลอดโปร่งใจ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ให้ได้ผ่อนคลายระหว่างคิดไอเดียงานไปด้วย

 

มิตรท่านนี้ ยกตัวอย่างบริษัทอสังหาริมทรัพย์บางแห่งในไทย ตั้งบริษัทลูกคู่ขนานแบบนี้แล้ว หรืออีกตัวอย่าง เช่น บริษัทโทรคมนาคมเอกชนรายใหญ่ของไทย ก็มีบริษัทลูกที่ว่านี้ แต่ตั้งชื่อไม่ให้รู้ว่าเป็นของบริษัทแม่ จะมีผู้บริหารไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่า บริษัทที่ว่านี้เป็นบริษัทลูก ที่มีพนักงานแต่คนหนุ่มสาวทำงานในฐานะที่ปรึกษา คอยให้คำแนะนำกับผู้บริหารในการบริหารองค์กรให้เท่าทันในโลกยุคใหม่นี้

ซึ่งมิตรท่านนี้บอกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะมันมีผลต่อทางจิตวิทยาด้วย ไม่ให้บุคลากรในบริษัทหลักที่มีขนาดใหญ่ และหลายคนอายุงานมากนั่งในตำแหน่งที่เชื่อว่าสูงและมีอำนาจกำกับดูแลพนักงานรุ่นน้อง รู้สึกว่ากำลังถูกเด็กชี้นิ้วสั่ง

ทั้งหมดนี้ คือผลของเทคโนโลยี ที่ไม่เพียงเปลี่ยนงานที่ทำ แต่ยังเปลี่ยนวิธีการทำงาน สภาพแวดล้อมและความสัมพันธ์ในการทำงานอีกด้วย หลายบริษัทที่ยังมีวิธีการทำงานแบบหน่วยงานราชการของไทย ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ ก็อาจสายเกินไป

บรรดาท่านที่กำลังเจอความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ จะยอมปล่อยวางและเปิดใจรับสิ่งใหม่ หรือจะกอดเก้าอี้อดีตอันรุ่งโรจน์ที่กำลังหมดความหมายนี้ต่อไป?

 

มิตรท่านนี้ยังเล่าอีกว่า นวัตกรรมด้านสื่อสารและการมีปัญญาประดิษฐ์นี้ บวกกับคนหนุ่มสาวที่มีวิธีคิดแตกต่างจากคนเฒ่าคนแก่หลายอย่าง ยังส่งผลต่อการกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศด้วย

โดยคนรุ่นใหม่นี้ตั้งบริษัทที่ปรึกษาในการพัฒนาเมืองและโอนงานนโยบายจากภาครัฐมาให้เอกชนบริหารจัดการ เพื่อลดขั้นตอนอันมากมายและดำเนินการสร้างสาธารณูปโภคได้อย่างรวดเร็ว

มิตรสหายท่านนี้ตั้งข้อสังเกตว่า การพัฒนาประเทศไทยตลอดหลายปียังคงพัฒนาอย่างเชื่องช้า หัวใจสำคัญอยู่ที่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ศูนย์กลางอำนาจในกรุงเทพฯ ไม่เปิดให้โอกาสท้องถิ่นมีสิทธิกำหนดอนาคตของตัวเองทั้งบริหารนโยบายและการคลัง

แต่กลับใช้ความเป็นส่วนกลาง ส่งต่อวิธีคิดแทรกซึมไปยังหน่วยงานท้องถิ่น จนทำให้เวลาจะทำอะไรหรือของบประมาณก็ต้องรอคำตอบจากส่วนกลางก่อน

ทำให้เห็นความพยายามของเอกชนในบางจังหวัด เช่น ขอนแก่น ตัดสินใจรวมตัวและตั้งองค์กรเพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาเมืองของตัวเองขึ้น

มิตรของผู้เขียนเล่าไอเดียให้ฟังว่า ในต่างประเทศใช้เทคโนโลยีทำให้ประชาชนในพื้นที่ส่งความต้องการผ่านแอพพลิเคชั่น ก่อนที่ข้อมูลจะถูกรวบรวมส่งให้กับฝ่ายบริหารเมืองเพื่อกำหนดนโยบาย แต่ว่าการประชุมพบปะแบบ town hall ยังคงมีอยู่เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างประชาชนกับผู้บริหาร

นี่จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่า เทคโนโลยีจะถูกใช้ได้เต็มประสิทธิภาพ โครงสร้างสังคมจะต้องเปิดกว้างเท่านั้น ความเชื่อที่ว่าทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นและรวมตัวคือแก่นที่ควรมี ส่วนเทคโนโลยีคือส่วนเสริมที่ทำให้ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ดังนั้น ความก้าวหน้า ไม่ได้ดูเพียงนวัตกรรมเพียงอย่างเดียว แต่เราต้องเห็นค่าของ “คน” และ “เสียง” ที่พวกเขาเปล่งออกมาได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกปิดกั้น

 

ผู้เขียนจะยกอีกเรื่องที่มิตรสหายท่านนี้เล่าให้ฟัง กรณีที่เรามีศูนย์ป้องกันภัยไซเบอร์ของรัฐเพื่อป้องกันภัยคุกคามจากเทคโนโลยีหรือสอดส่องฝ่ายต่อต้านรัฐบาลก็แล้วแต่ ในรายละเอียดการสมัครงานเขียนละเอียดยิบว่าต้องการคนที่มีความรู้ด้านความมั่นคงไซเบอร์ เจาะเข้าระบบ หรือป้องกันการถูกแฮ็กเกอร์เจาะเข้าเซิร์ฟเวอร์

แต่ให้ค่าตอบแทนตามวุฒิแค่ 15,000 บาท

แล้วถ้าเป็นบริษัทเอกชนแจกแจงงานละเอียดเหมือนกันแต่ให้ค่าจ้าง 50,000 ขึ้นไป (ระดับเงินเท่าอธิบดีก็ว่าได้) คนที่จะสมัครเค้าจะเลือกทำงานที่ไหน?

มิตรท่านนี้ยังแซวให้ผู้เขียนฟังเลยว่า ผู้มีอำนาจในรัฐบาลหลายคนได้ใช้แม็คบุ๊กส์รุ่นล่าสุด แต่กลับไม่รู้ว่าเปิดเครื่องยังไง ใช้งานยังไง ไม่รู้ว่าระบบปฏิบัติการไอโอเอสของแอปเปิลมันไม่เหมือนกับวินโดว์ของไมโครซอฟต์ ก็เกิดอาการช็อกทางเทคโนโลยีไปพักหนึ่งก่อนจะเรียนรู้วิธีการใช้งาน

จริงๆ ยังมีสารพัดเรื่องของไทยกับโลกยุคดิจิตอลที่ผู้เขียนกับมิตรท่านนี้คุยกันสนุก แถมยังคุยหนังแบล็ก แพนเธอร์อีกด้วย และหนังเรื่องนี้ ที่น่าสังเกตคือ เทคโนโลยีสุดล้ำของชุดแบล็ก แพนเธอร์ที่ให้กษัตริย์ทีชาล่าสวมใส่ มาจากมันสมองของ “ชูริ” น้องสาวของทีชาล่า ที่มาร์เวลยูนิเวิร์สจัดให้เป็นตัวละครที่ฉลาดที่สุด

นี่แหละ ทำไมคนหนุ่มสาวถึงมีพลังสร้างอนาคต