ศรัทธา ปสาทะ : เสถียร โพธินันทะ

คล้ายกับ เสถียร โพธินันทะ เป็นคนไทยเชื้อสายจีน จึงมีความโน้มเอียงในทางพุทธศาสนาไปทางจีน นั่นก็คือ ทางด้านมหายาน

เห็นได้จากการเขียนถึงมองโกเลีย เขียนถึงทิเบต

เห็นได้จากการเรียบเรียง “สารัตถปรัชญามหายาน” ลงในนิตยสาร “ธรรมจักษุ” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2491

เห็นได้จากเมื่อเป็นผู้บรรยายในมหามกุฏราชวิทยาลัยก็แปล “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” จากภาษีจีนในปี พ.ศ.2499 และต่อมาในปี พ.ศ.2506 ก็ได้แปล “วิมลเกียรตินิทเทสสูตร” จากภาษาจีนออกมาอีก

ต่อมาก็ได้เรียบเรียง “เมธีตะวันออก” ลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร “ศุภมิตร” แห่งมูลนิธิส่งเสริมกิจการศาสนาและมนุษยธรรม (ก.ศ.ม.)

และต่อมาก็ได้พิมพ์เป็นเล่มเมื่อปี พ.ศ.2506

กระนั้น หากได้อ่านชีวประวัติ เสถียร โพธินันทะ อัน สุชีพ ปุญญานุภาพ เรียบเรียงในตอนว่าด้วยเป็นผู้วิ่งเต้นให้มีการแปลและพิมพ์หนังสือ

ก็จะประจักษ์ว่า เสถียร โพธินันทะ เป็นคนอย่างไร

เสถียร โพธินันทะ สนใจที่จะอ่านข้อความในปกรณ์ต่างๆ ที่อธิบายพระไตรปิฎกหรืออธิบายคัมภัร์อื่นจึงพยายามเป็นคนกลางวิ่งเต้นติดต่อให้ผู้นั้นผู้นี้จัดแปล ให้ผู้นั้นผู้นี้ช่วยทุนในการพิมพ์ ซึ่งทำให้เกิดตำราที่แปลจากภาษาบาลีสู่ภาษาไทยมากเล่มด้วยกัน

ดังจะยกตัวอย่างต่อไปนี้

ได้ไปขอร้องท่านเจ้าคุณเทพคุณาภรณ์ วัดสระเกศ เพื่อให้สมาคมศูนย์ค้นคว้าพระพุทธศาสนา จัดแปลและจัดพิมพ์ “คัมภีร์อัฏฐสาลินี อรรถกถา สังคณี แห่งอธิธรรมปิฎก”

อธิบายการรวมกลุ่มแห่งธรรม ได้แก่ จัดประเภทหลักธรรมที่สำคัญขึ้นแล้วสังเคราะห์ข้อธรรมต่างๆ ลงในประเภทนั้น คัมภีร์เล่มนี้ในภาษาบาลีมีเล่มเดียวขนาดใหญ่ เมื่อแปลสู่ภาษาไทยทางสมาคมแบ่งออกเป็น 4 ภาค

เสถียร โพธินันทะ ได้วิ่งเต้นชักชวนให้มีผู้บริจาคทุนพิมพ์ ภาค 2 3 4 เพื่อช่วยให้หนังสือผลิตออกมาได้สมประสงค์

เฉพาะผู้ที่มีศรัทธาบริจาคตั้งแต่หมื่นบาทขึ้นไป คือ พล.ต.ท.ประชา บูรณธนิต และ นายสิงโต เหล่าฤกษ์อุทัย แห่งห้างเมืองทองใกล้วัดกันมาตุยาราม หนังสือนี้พิมพ์ออกมาแล้วรวม 3 ภาค ภาค 4 กำลังอยู่ในระหว่างดำเนินการ

นั่นเป็นงานใหญ่งาน 1 ที่ เสถียร โพธินันทะ มีส่วนผลักดัน

ได้ไปติดต่อขอร้อง ท่านกิตติวุฑโฒภิกขุ แห่งอภิธรรมมูลนิธิ มหาธาตุวิทยาลัย ให้ช่วยส่งเสริมให้มีการแปลวิทยานิพนธ์ เรื่อง Central Philosophy of Buddhism ของ Dr.T.R.V.Murti แล้วไปติดต่อขอร้องท่าน พระมหาสุชิน สุชิโน วัดกันมาตุยาราม ศาสนศาสตรบัณฑิต และ M.A. จากมหาวิทยาลัยพาราณสี ให้ช่วยแปล

หนังสือเล่มนี้ให้ชื่อในภาษาไทยว่า “ปรัชญามาธยมิก”

หนังสือเล่มนี้หนา 382 หน้า ของหนังสือ 8 หน้ายกขนาดใหญ่ และได้แนะนำให้เจ้าภาพงานศพ นายบุญ ปิ่นโฑละ และ นางกุ้ยซิว ปิ่นโฑละ จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในงานนั้น

ขณะเดียวกัน เสถียร โพธินันทะ ได้เขียนคำชี้แจงในรูปวิจารณ์ด้วยตนเอง

เป็นการเขียนเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2509 ก่อนหน้าที่ตนจะถึงแก่กรรมในวันที่ 10 ธันวาคม 2509 คือก่อนไม่ถึง 2 เดือน

ต่อมาได้ไปติดต่อขอร้องให้ นายบานเย็น ลิ้มสวัสดิ์ ป.8 ศาสนศาสตรบัณฑิต อาจารย์ในสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงฆ์ ให้ช่วยแปลคัมภีร์ “นวนีตฎีกา” อธิบายอภิธัมมัตถสังคหะ ฉบับอักษรเทวนาครี

ท่วงทำนองทั้งหมดนี้สะท้อนได้อย่างเด่นชัดว่า จิตหนึ่งใจเดียวของ เสถียร โพธินันทะ คือจิตหนึ่งใจเดียวเพื่อการพระพุทธศาสนา

มิได้เลือกว่าเป็น “มหายาน” มิได้เลือกว่าเป็น “เถรวาท”

เพราะความเชื่อของ เสถียร โพธินันทะ หลักธรรมของพระพุทธศาสนามหายานและเถรวาทเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ข้อแตกต่างเพียงลัทธิประเพณี วัฒนธรรมและวิธีการเผยแผ่บางประการเท่านั้น

ทั้งหมดล้วนเป็น “พระพุทธศาสนา”