ในประเทศ : เคราะห์ซ้ำกรรมซัด!! “เรตติ้ง” ตก “ทุจริต” พุ่ง “เงินใต้โต๊ะ” สูงสุดรอบ 3 ปี

หลัง “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ สะกิดเตือนรัฐบาลและ คสช. “กองหนุนลด” กลายเป็น “โดมิโน” ลามไปเรื่องอื่นๆ ไม่มีหยุด

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่เพิ่งมาเกิดหลัง “ครม.ประยุทธ์ 5” ที่ทำงานได้ 2 เดือนกว่า แต่เกิดขึ้นตั้งแต่ คสช. ก้าวเข้ามาแล้ว ที่กำลังจะเข้าปีที่ 4 เดือนพฤษภาคมนี้ ถือว่าเป็นการอยู่เกือบครบ 1 วาระของรัฐบาลปกติ แน่นอนว่า 4 ปีที่ผ่านมา เจอมรสุมมาหลายลูก แต่ละลูกก็สร้าง “บาดแผล” ทิ้งไว้พอสมควร

แต่สิ่งเหล่านี้มาถูกโฟกัสมากขึ้น ตั้งแต่เข้า “ครม.ประยุทธ์ 5” ที่มีเรื่องมีราวไม่หยุดหย่อน และแต่ละฝ่ายก็สามัคคีพุ่งโจมตีมาที่ คสช. เป็นตำบลกระสุนตก แม้ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะขอให้ “ลดราวาศอก” กันบ้างก็ตาม

โดยเฉพาะกรณี “นาฬิกาหรูยืมเพื่อน” ของ “พี่ใหญ่ คสช.” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ในฐานะ “พี่ที่เคารพ” ของ “บิ๊กตู่” ก็ทำให้เกิด “โดมิโน” ตามมาหลายๆ เรื่อง ทั้งกระแสกดดัน “ให้ลาออก” หลัง พล.อ.ประวิตร ไปประกาศไว้ว่า “ถ้าประชาชนไม่ต้องการ ก็พร้อมจะไปจากตำแหน่ง” ตอนหลัง “กลับลำ” ไม่ลาออก ขออยู่จนกว่าจะจบภารกิจ

ต่อด้วยวิวาทะสุดร้อนแรงกับ “หมอธี” นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ วิจารณ์นาฬิกาหรูหนัก ที่ลอนดอน เรียกได้ว่า “แทงใจ” พล.อ.ประวิตร ไปไม่น้อย และเชื่อได้ว่ายัง “คาใจ” พล.อ.ประวิตร อยู่ถึงวันนี้ก็ยังไม่ได้ยินคำว่า “ให้อภัย” หรือส่งสัญญาณใดๆ ว่า “ไม่ติดใจ” จาก พล.อ.ประวิตร เลย

แม้ “บิ๊กตู่” จะรับบทเป็นตัวกลางเรียกมา “เคลียร์ใจ” แล้วก็ตาม

 

ล่าสุด นายต่อตระกูล ยมนาค ประธานอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันการทุจริต ในคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ แสดงความกังวลต่อบทบาทของ คตช. ในสถานการณ์วิกฤตปัจจุบัน ในกรณี พล.อ.ประวิตร เรื่องนาฬิกาหรู แต่นายกฯ กลับตอบกลับว่า กำลังทำให้วุ่นวายไป

“ทำเรื่องการทุจริต แต่ก็อย่าทำให้มันวุ่นวาย ให้มันมีปัญหา ให้มันสับสนอลม่านไปหมด ให้กลไกในการตรวจสอบทำไป และถ้าตรวจสอบมาแล้วมีการทำความผิดจริง ก็เข้าไปสู่กระบวนการของศาลยุติธรรม ศาลตัดสินออกมา ก็เป็นเรื่องของศาล” นายกฯ กล่าว

“คนรอบข้างคงไม่ได้บอกท่านว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องซีเรียส สำคัญ และมันกระทบต่อตัวนายกฯ จริงๆ” นายต่อตระกูล แจงกลับ

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นชัดเจน “บิ๊กตู่” ยังคงเล่นบท “อุ้ม” และ “เข็น” พล.อ.ประวิตร ต่อไป ซึ่ง 2 เดือนที่ผ่านมา ก็เป็น “แผล” ของรัฐบาลไม่น้อย ยิ่งฉุดเรตติ้งรัฐบาลลงไปด้วย ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล

โดยเฉพาะ “ภาพลักษณ์” ในการปราบปรามการทุจริตหรือการเอาจริงเอาจังในการตรวจสอบ โดยเฉพาะกับ “บุคคลใกล้ชิด” ยังไม่นับรวมถึงเรื่องที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้

ทั้งโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ ที่มี “บิ๊กโด่ง” พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร อดีต รมช.กลาโหม เป็นผู้ริเริ่มโครงการสมัยเป็น ผบ.ทบ. แม้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะยืนยันว่าไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่พบการทุจริต แต่สิ่งเหล่านี้ก็ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของสังคมต่อไป

โดยกระแสในช่วงเวลานั้นก็ทำให้รัฐบาลเขวไม่น้อย ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ก็เลือกที่จะ “อุ้ม” พล.อ.อุดมเดช ไว้ ไม่ปลดออกจากคณะรัฐมนตรี จนมาหลุด “ครม.ประยุทธ์ 5” ปลายปี 2560 เช่นเดียวกัน กรณี พล.อ.ประวิตร ก็ต้องรอผลการตรวจสอบจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก่อน

 

ล่าสุด นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย (ซีเอสไอ) ช่วงเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งทำสำรวจทุกๆ 6 เดือน ครั้งนี้สำรวจ 2,400 ตัวอย่าง พบว่า ดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยโดยรวมอยู่ที่ระดับ 52 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ ระดับ 53

ส่วนดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 51 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 52 และแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ระดับ 53 แย่ลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 54

ทั้งนี้ หากแยกดูรายละเอียด เทียบเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า “แย่ลงเกือบทุกตัว” ได้แก่ ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระดับ 42 จากระดับ 44 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชั่นอยู่ที่ระดับ 53 จากระดับ 54 ยกเว้นดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึกดีขึ้นอยู่ที่ระดับ 62 จากเคยอยู่ที่ระดับ 60

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ความคิดเห็นและข้อเท็จจริงจากกลุ่มตัวอย่างที่มีประสบการณ์ด้วยตัวเองหรือจากคนรอบข้าง พบว่า มี 24% ที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ (เงินใต้โต๊ะ) แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริต เพิ่มขึ้นจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งจ่าย 18% นับว่าเป็นสัดส่วนสูงสุดในรอบ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2558 ส่วนไม่จ่าย มี 54% ลดลงจากเดือนมิถุนายน 2560 ซึ่งไม่จ่าย 59%

อย่างไรก็ตาม เปอร์เซ็นต์เงินเพิ่มพิเศษที่ผู้ประกอบการต้องจ่ายแก่ข้าราชการหรือนักการเมืองที่ทุจริตเพื่อให้ได้สัญญา เฉลี่ยอยู่ที่ 5-15% ทรงตัวจากช่วงที่ผ่านมา คิดเป็นเงิน 6.62 หมื่นล้านบาท ถึง 1.98 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 2.29-6.86% ของงบประมาณรายจ่ายทั้งหมด และคิดเป็นสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) 0.41-1.23%

นายธนวรรธน์ เปิดเผยอีกว่า ส่วนความเชื่อมั่นต่อการทำงานของ ป.ป.ช. และองค์กรอิสระอื่นๆ ที่ทำหน้าที่ต่อต้านคอร์รัปชั่นลดลง แต่ความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ และสื่อมวลชน รวมถึงภาคประชาชนในการช่วยต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับเพิ่มขึ้น

“รับแจ้งว่าเป็นการชี้แจงทางหลักวิชาการเฉยๆ ซึ่งไม่ได้มีหลักฐานชัดเจน เพียงแต่ว่าเป็นการประมาณการ ประเมินสถานการณ์ ถ้าเราจะจับให้ได้จริงๆ ว่าทุจริตจริงๆ เท่าไหร่ ต้องไปหาคนให้หลักฐานมา” นายกฯ แจง

อย่างไรก็ตาม บางเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ “รัฐบาล” โดยตรง แต่ส่งผลต่อรัฐบาลไม่น้อย ในการบังคับใช้กฎหมายกับ “กลุ่มนายทุนใหญ่” โดยเฉพาะกรณี “เจ้าสัวเปรมชัย” และ “ทายาทกระทิงแดง” อีกทั้งกรณี “พระธัมมชโย” ก่อนหน้านี้ด้วย ที่ยังคงเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในสังคม

แม้กระแสจะลดลงตามช่วงเวลา แต่ยังคงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายรอ “การดำเนินคดีทางกฎหมาย” ที่ตรงไปตรงมาและเป็นรูปธรรม เพื่อสะท้อนถึงการบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียมและน่าเชื่อถือ

ล่าสุด “กรุงเทพโพลล์” ได้สำรวจความคิดเห็นประชาชน เรื่อง “ความเห็นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผิดผู้กระทำความผิด” โดยเก็บข้อมูลกับประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ 1,202 คน พบว่า ประชาชน 64.2% เห็นว่าคดี “เปรมชัยล่าสัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร” จะไม่สามารถเอาผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ รองลงมาคือ “คดีทายาทกระทิงแดงชนตำรวจตาย” 53.3% และ “คดีวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย” 50.4%

เมื่อถามว่า จากเหตุการณ์หรือคดีที่ผ่านมา คิดว่าคนกลุ่มใดเมื่อทำความผิดแล้วกระบวนการยุติธรรมยากที่จะเอาผิด พบว่า 69.2% เห็นว่าเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล รองลงมาคือ นักการเมือง 63.6% ตามมาด้วย คนรวย ไฮโซ 61.5% อีกทั้งข้าราชการ ตำรวจ ทหาร 45.2% และพระ 21.1%

สำหรับความเห็นต่อการดำเนินการของกระบวนการยุติธรรมนั้น ได้ผลว่า 37.6% เห็นว่ามีช่องโหว่ให้ผู้กระทำผิดพ้นผิด รองลงมา 28.6% เห็นว่าดำเนินการแบบ 2 มาตรฐานเลือกปฏิบัติ และ 23.6% เห็นว่าการลงโทษผู้กระทำผิดยังเบาไป ไม่รุนแรง ทำให้ไม่เกรงกลัว กลับมาทำผิดอีก

ส่วนความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมในการเอาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีมากน้อยเพียงใด พบว่า ส่วนใหญ่ 71.7% เชื่อมั่นค่อนข้างน้อยถึงน้อยที่สุด และ 28.3% เชื่อมั่นค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

ส่วนกระแสโซเชียลมีเดียและสื่อมวลชนที่มาช่วยตรวจสอบและตีแผ่เหตุการณ์หรือคดีต่างๆ ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม พบว่า 61.3% เห็นว่าจะช่วยตรวจสอบอีกด้านทำให้สังคมรู้โดยละเอียด รองลงมา 57.4 % เห็นว่าจะทำให้คดีคืบหน้าเร็ว จับตัวคนผิดได้เร็ว

และ 54.8% เห็นว่าจะมีส่วนทำให้ตำรวจต้องจริงจังในการทำงานหาหลักฐานเพื่อปิดคดีให้ได้เร็ว

 

ทั้งหมดนี้เป็น “บทสรุป” ว่า “ปัญหาคอร์รัปชั่น” และ “กระบวนการยุติธรรม” ยังคงมี “เครดิสติดลบ” ในสายตาของสังคม แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อ “เรตติ้ง” ของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัย และยิ่ง “รัฐบาลรัฐประหาร” ที่ประกาศชัดว่ามากวาด “ทุจริต” จาก “รัฐบาลเลือกตั้ง” และอาศัย “เกราะความดี” ดำรง “ความชอบธรรม” ในการอยู่ในตำแหน่ง

แต่กลับถูกทวงถาม “ความสุจริต” โดยเฉพาะปัญหา “เงินใต้โต๊ะ” ที่พุ่งสูงในรอบ 3 ปี

อีกทั้งกลุ่ม “มวลชน” ที่ปูทาง “รัฐประหาร” กลับยัง “เงียบ” กับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ออกมาเคลื่อนไหวเท่ายุค “รัฐบาล” ที่ไม่ได้ “สนับสนุน” ด้วย

ก็เข้าสำนวนที่ว่า “ว่าแต่เขา อิเหนาเป็นเอง”!!