คดีข้ามชาติของ ‘ฮุน มะเนต’ ทายาททางการเมือง 3 ทศวรรษ ‘ฮุน เซน’ (ตอน1)

เมียช โสวันนรา (กลาง-บนสุด) เครดิตภาพ-AFP

“ฮุน มะเนต” เพิ่งอายุ 39 ปี สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิชาการทหารแห่งสหรัฐอเมริกา ที่รู้จักกันในชื่อ เวสต์ปอยต์ ปัจจุบันติดยศ พล.ท. ของกองทัพบกกัมพูชา

ได้ชื่อว่าเป็น “คนดัง” และ “มีอิทธิพล” มากที่สุดคนหนึ่งในประเทศ

เหตุผลไม่เพียงเพราะ ฮุน มะเนต คือบุตรชายคนโตของ สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เท่านั้น ยังดำรงตำแหน่ง รองประธานคณะเสนาธิการทหารร่วมของกองทัพกัมพูชา, รองผู้บัญชาการกองทัพบก และยังทำหน้าที่เป็นผู้บัญชาการกองทหารองครักษ์ประจำตัวนายกรัฐมนตรี หรือ “บอดีการ์ด ยูนิต” หน่วยทหารระดับ “หัวกะทิ” ที่มักตกเป็นเป้าถูกกล่าวหาว่า “ละเมิดสิทธิมนุษยชน” อยู่บ่อยๆ เท่านั้น

ฮุน มะเนต ยังถูกยึดถือกันทั่วไปว่าคือ “ทายาททางการเมือง” ที่จะสืบทอดอำนาจยาวนานกว่า 3 ทศวรรษของ ฮุน เซน อีกด้วย

แต่ตอนนี้ ฮุน มะเนต กำลังตกเป็น “จำเลย” ในคดีฟ้องร้องต่อศาลถึง 2 คดี

หากเป็นคดีภายในประเทศ ที่อยู่ภายใต้อำนาจศาลกัมพูชา ซึ่งถูกกล่าวหาอยู่เนืองๆ จากทั้งฝ่ายค้านภายในประเทศและสื่อมวลชนต่างประเทศ ว่าเป็นเพียง “เครื่องมือ” ทางการเมืองเท่านั้นก็คงพอทำเนา

ปัญหาก็คือ ฮุน มะเนต ตกเป็นจำเลยของ ศาลแขวงกลางแห่งแคลิฟอร์เนีย ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในคดีที่ค่อนข้างแปลก

และบางคนเชื่อว่า คดีนี้มีสิทธิที่จะกลายเป็นคดีประวัติศาสตร์ของประเทศได้ไม่ยาก

 

คําร้องในคดีที่ นายพลฮุน มะเนต ตกเป็นจำเลย และมี รัฐบาลกัมพูชา เป็นจำเลยร่วม ยื่นต่อศาลแคลิฟอร์เนียไว้เมื่อวันที่ 8 เดือนเมษายนต้นปีนี้

ผู้ยื่นคำร้อง คือ คณะทนายความที่นำโดย มอร์ตัน สคลาร์ นักกฎหมายที่ชาวกัมพูชาพลัดถิ่นในสหรัฐอเมริกาและบรรดาฝ่ายค้านในกัมพูชารู้จักดี ทำหน้าที่ยื่นคำร้องในฐานะตัวแทนที่ได้รับมอบอำนาจจาก เมียช โสวันนรา ผู้อำนวยการฝ่ายข่าวสารของพรรคกู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) ที่มี สม รังสี เป็นหัวหน้าพรรค

เกี่ยวเนื่องกับกรณีที่ โจทก์ คือนายโสวันนรา ถูกจำเลย ในฐานะผู้บัญชาการ “บอดีการ์ดยูนิต” หรือ “บียู” จับกุมในข้อหา ยุยง ปลุกปั่น ให้เกิดเหตุจลาจลขึ้นที่ “สวนเสรีภาพ” สถานที่ซึ่งรัฐบาลกำหนดให้เป็นพื้นที่ชุมนุมประท้วงในกรุงพนมเปญ เมื่อปี 2014 โดยอ้างว่า โสวันนรา ร่วมกับพวกนักเคลื่อนไหวอีก 10 คนยุยงจนเกิดการจลาจลปะทะกับเจ้าหน้าที่ขึ้น และในเวลาต่อมา เมียช โสวันนรา ถูกพิพากษาให้จำคุก 20 ปี

โจทก์อ้างว่า การจับกุมและการพิพากษาโทษจำคุกดังกล่าว เป็นการกระทำ “ตามอำเภอน้ำใจ”, ใช้อำนาจเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนดไว้ อันเป็นเหตุให้โจทก์ถูกจองจำยาวนานเกินกว่าเหตุ อันก่อให้เกิดความเสียหายทั้งร่างกายและจิตใจ

 

อีกคดีที่ต่อมาถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน คือคดีที่ พอล เฮย์ส นักสืบเอกชนที่ทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินกระบวนตามกฎหมาย นำคำฟ้องเป็นลายลักษณ์อักษรในคดีข้างต้นนี้ไปมอบให้กับ นายพลมะเนต ระหว่างการเดินทางเยือนชุมชนชาวกัมพูชาในสหรัฐอเมริกาในเดือนเมษายนที่ผ่านมาเช่นเดียวกัน แต่กล่าวหาว่า ถูกองครักษ์ของนายพลมะเนตทำร้ายร่างกาย จนจำต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล เหตุเกิดที่ภัตตาคารลาลูน ในย่านลองบีช รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

คดีนี้ ผู้พิพากษา จอร์จ เอช. วู ชี้ขาดเมื่อ 1 กันยายนที่ผ่านมา ให้ดำเนินกระบวนการทางศาลต่อไป โดยอาศัยหลัก “จูริสดิกชั่น ดิสคัฟเวอรี” ในการขยายขอบเขตอำนาจศาลออกไป ครอบคลุมไปถึงนายพลมะเนตและรัฐบาลกัมพูชา

ทำไมศาลอเมริกันถึงพิจารณาคดีที่จำเลยเป็นชาวกัมพูชาได้? เรื่องนี้ไม่ได้ซับซ้อนเท่าใดนัก

เพราะข้อเท็จจริงก็คือ เมียช โสวันนรา ซึ่งมีถิ่นพำนักในลองบีช ถือได้ว่าเป็นพลเรือนอเมริกันเต็มตัวเมื่อได้สัญชาติอเมริกัน

เรื่องนี้ยังมีรายละเอียดน่าสนใจอีกไม่น้อย โปรดติดตามต่อไป

ตอนจบ