ฐากูร บุนปาน : ไทยอยู่ตรงไหนในสมการ ?

วันนี้ไปท่องโลกกันครับ

พอดีสัปดาห์ที่แล้วมีหลายเหตุการณ์น่าสนใจในโลกธุรกิจและเทคโนโลยี

เรื่องแรก

จะเรียกว่าประกาศศึกอย่างเปิดเผยก็ได้

บทความล่าสุดของวอลล์ สตรีต เจอร์นัล บอกว่าความผิดพลาดอันยิ่งใหญ่ในนโยบาย “ลดข่าว” ของเฟซบุ๊กก็คือ

การตีตัวออกห่างจากสมาชิกของเฟซบุ๊กเอง

โดยระบุว่า

ทั้งโลกมีคนใช้อินเตอร์เน็ตประมาณ 3.5 พันล้านคน

เป็นสมาชิกเฟซบุ๊กอยู่ 2.14 พันล้านคน

แต่ต้องหักตลาดจีน 750 ล้านคน (ที่ห้ามเฟซบุ๊กเข้าประเทศ) และรัสเซีย 110 ล้านคน (ที่มีแพลตฟอร์มแบบเดียวกัน และคนรัสเซียนิยมมากกว่า) ออกไป

โอกาสจะขยายตัวจึงไม่ได้มากอย่างที่คิด

ตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปก็โตช้า หรือไม่โตเลยมาหลายปี

แปลว่าจำนวนคนใช้ไม่เพิ่ม

แล้วยังจะลดจำนวนชั่วโมงใช้งานลงไปอีก

ถ้าอย่างนั้น กำไรที่เป็นประวัติการณ์ 40,000 ล้านเหรียญในปี 2017 ของเฟซบุ๊กมาจากไหน

ก็มาจากการขึ้นราคา

ซึ่งบทความนี้บอกว่าอันตราย

เพราะทำได้ไม่บ่อยและไม่มาก

ในตลาดที่แข่งกันแบบหายใจรดต้นคอ

และที่เฟซบุ๊กหวังจะให้เป็นตัวชูโรงในปีนี้คือ “คลิป-วิดีโอ-ไลฟ์”

ก็ไม่แน่ว่าจะเป็นอย่างที่หวัง

เฟซบุ๊กประกาศจะลงทุนเพิ่มในงานด้านคลิป-ไลฟ์ในปีนี้อีก 1 พันล้านเหรียญ

ดูเหมือนมาก

แต่ถ้าเทียบกับคู่แข่งแล้วเด็กๆ

เน็ตฟลิกซ์จะลงทุนกับวิดีโอเฉพาะปีนี้ 8 พันล้าน

อเมซอน 5 พันล้าน

ส่วนเอชบีโอและดิสนีย์ ขมีขมันสร้างแพลตฟอร์มของตัวเองขึ้นมา (แปลว่าดูตรงได้สะดวกกว่า)

ไม่ต้องผ่านเฟซบุ๊ก

แอนดี้ เคสเลอร์ คนเขียนบทความนี้

บอกว่าเมื่อตอนที่ไปนั่งจับเข่าสัมภาษณ์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในปี 2007 นั้น

เฟซบุ๊กเพิ่งมีสมาชิก 16 ล้านคน

ส่วนใหญ่เป็นเด็กมหาวิทยาลัย

และมีแนวโน้มที่จะลดลง

จนเฟซบุ๊กปรับเปลี่ยนนโยบายที่ทำให้แพลตฟอร์มตัวเองเปิดกว้างขึ้นสำหรับข่าวสาร ข้อมูลทุกประเภท

ถึงได้มีวันนี้

เคสเลอร์กัดจิกได้แสบๆ คันๆ ด้วยการตั้งคำถามว่า

จำนวนคลิปคุณยายคุณย่าทำฟรุตเค้กที่เพิ่มขึ้นนั้น

จะดึงดูดให้คนใช้เฟซบุ๊กเพิ่มขึ้นจริงหรือ

เรื่องที่สอง

เป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

ด้านแรก เกิดในยุโรป

ธนาคารในเครือลอยด์ อาทิ ลอยด์, แบงก์ ออฟ สกอตแลนด์, ฮาลิแฟกซ์ ฯลฯ

ประกาศไม่ให้เงินกู้เพื่อการลงทุใน “คริปโต เคอเรนซี” ทั้งหลาย

ไม่ว่าจะบิตคอยน์ หรือสกุลอื่นๆ

รวมไปถึงห้ามใช้บัตรเครดิตรูดปรื๊ดไปซื้อด้วย

เพราะถือว่าเป็นการกู้อีกรูปแบบหนึ่ง

ไล่เลี่ยกัน

บรรดานายธนาคารในยุโรปหลายแห่ง ก็ออกมาเรียกร้องรัฐบาล-ธนาคารกลางให้ออกกฎคุมธุรกรรมทางการเงินดิจิตอล (หรือฟินเทคทั้งหลาย) รวมไปถึงสกุลเงินดิจิตอล

ให้อยู่ภายใต้กฎระเบียบทางการเงินด้วย

ด้านที่สอง เกิดขึ้นในเกาหลีใต้ ในเวลาไล่เลี่ยกัน

ซัมซุงแถลงข่าวว่า บริษัทจะออกชิพขายให้แก่นักลงทุน (หรือนักเก็งกำไร) ทั้งหลาย

เป็นชิพพิเศษ ความเร็ว (ในการประมวลผลข้อมูล) สูง

เอาไว้ใช้ขุดบิตคอยน์โดยเฉพาะ

หากินกับธุรกิจใหม่เต็มตัว

สถานการณ์นี้บอกอะไร

ยุโรปเชย-ขี้กลัว

เอเชียก้าวหน้า-มองไกลกว่า

หรือว่า

ยุโรปผ่านร้อนผ่านหนาว (ทั้งเศรษฐกิจและการเมือง โดยเฉพาะในช่วงหลังปฏิวัติอุตสาหกรรม) มาเยอะ เลยรอบคอบระมัดระวังตัว

ส่วนเอเชียมีสายเลือดนักพนัน พร้อมจะได้เสีย (แบบหมดหน้าตัก) มากกว่า

หรือ (อีก) ว่า

ธุรกิจเก่าในยุโรปกำลังต่อสู้ดิ้นรน ไม่ให้ธุรกิจ-นวัตกรรมใหม่เกิดขึ้นเร็ว (เกินไป) นัก

ขณะที่ธุรกิจเอเชียที่เพิ่งก้าวขึ้นมา และถูกตรวจสอบถ่วงดุลน้อย (แปลว่าทำอะไรตามใจตัวเองได้มาก) จึงลุยทุกรูปแบบ

ฯลฯ

ทั้งกรณีวอลล์ สตรีต เจอร์นัล-เฟซบุ๊ก

และกรณียุโรป-เอเชีย

ใครผิดใครถูก ใครหัวเราะทีหลังดังกว่า

ยังวัดไม่ได้ในวันนี้ครับ

แต่บอกเราว่าโลกนี้เปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทุกวัน

เดิมพันได้เสียก็มหาศาลขึ้นทุกที

คำถามคือ แล้วไทยอยู่ตรงไหนของสมการนี้?