นงนุช สิงหเดชะ/นักการเมืองอยู่ที่ไหน? เสียงตัดพ้อจากม็อบ ‘อยากเลือกตั้ง’

บทความพิเศษ/นงนุช สิงหเดชะ

นักการเมืองอยู่ที่ไหน?

เสียงตัดพ้อจากม็อบ ‘อยากเลือกตั้ง’

ไม่ได้มืดฟ้ามัวดินอย่างที่ประโคมเชิญชวนไว้ สำหรับการชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ของกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า “คนอยากเลือกตั้ง” เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพราะเอาเข้าจริงมีเพียงหลักร้อย
การชุมนุมดังกล่าวมีคนหน้าเดิมเป็นแกนนำ เช่น รังสิมันต์ โรม, จ่านิว และนายอานนท์ นำภา ส่วนผู้ร่วมชุมนุม ดูแล้วส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นคนเสื้อแดง
ก่อนการชุมนุม 1 วัน นายรังสิมันต์ได้โพสต์เฟซบุ๊กปลุกระดมว่า “ในวันที่ 10 ที่จะถึงนี้ ผมคิดว่าน่าจะเป็นนิมิตหมายที่ดีของประชาชนที่จะต่อสู้ร่วมกัน เพื่อทำลายล้างอำนาจเผด็จการ ผมเชื่อว่าวันดังกล่าวจะเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยที่จะเป็นจุดเริ่มต้นในการถอนรากถอนโคนครั้งสำคัญของระบบเผด็จการ คสช. หากวันดังกล่าวมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก วันสุดท้ายของ คสช. คงใกล้มาถึง”
แต่ทว่า ด้วยจำนวนคนที่เข้าร่วมเพียงเท่านั้น ในความเป็นจริง “วันสุดท้าย” ของ คสช. จึงยังมาไม่ถึง เพราะในวันนั้นคนส่วนใหญ่ไปเที่ยวงาน “อุ่นไอรัก คลายความหนาว” ที่พระลานพระราชวังดุสิตกันอย่างมืดฟ้ามัวดินหลายหมื่นคน ไม่ได้แวะมาสมทบกับม็อบกลุ่มนี้
จึงน่าจะสะท้อนว่าอารมณ์ของคนส่วนใหญ่ยังต้องการบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มากกว่าการมาร่วมงานที่สร้างความเครียดทางการเมือง เพราะเครียดกันมาหลายปีแล้ว
อีกอย่างอาจจะคิดว่าถึงอย่างไร ต้องมีการเลือกตั้งอยู่แล้ว เพราะ คสช. อยู่มา 4 ปี ก็เป็นเวลาพอสมควรแล้ว ซึ่งรัฐบาลก็คงรู้ตัวดีว่าอยู่นานกว่านี้ ช่วงฮันนีมูนย่อมหมดลง ดังนั้น คนส่วนใหญ่จึงเห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นต้องออกมากดดัน สร้างความวุ่นวายทางการเมืองขึ้นมาอีก เนื่องจากยังเข็ดขยาด หวาดผวาม็อบการเมือง

ในการปราศรัยช่วงหนึ่ง ทางแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้งได้เรียกร้องและตัดพ้อว่า “ขอถามนักการเมืองที่ประชาชนเคยเลือกทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย หรือพรรคไหนก็ตาม เวลาเกือบ 4 ปีที่ผ่านมา พวกท่านอยู่ที่ไหน แม้ในยามที่พวกเราเอาตัวเข้าแลก เสี่ยงคุก เสี่ยงตะรางแล้วพวกท่านไปอยู่ที่ไหน”
หลังจากนั้น นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กตอบว่า “สาเหตุที่ไม่ได้มาร่วมชุมนุมไม่ได้เกิดจากกลัวคุกหรือตะราง เพียงแต่ไม่ต้องการให้พลังบริสุทธิ์ของประชาชนต้องถูกเผด็จการป้ายสีว่ามีการเมืองหนุนหลัง แต่เมื่อพวกน้องๆ เรียกร้อง การชุมนุมครั้งหน้าผมจะไปร่วมอย่างแน่นอน”
ข้ออ้างของนายวัฒนาฟังดูดี ที่ว่าไม่อยากให้พลังบริสุทธิ์ของประชาชนถูกป้ายสีว่ามีการเมืองหนุนหลัง
แต่ในความเป็นจริง การชุมนุมของกลุ่มดังกล่าวไม่อาจพูดได้ว่า “บริสุทธิ์ปราศจากสี” เพราะที่ผ่านมาอิงกับสีแดงชัดเจน และสีแดงกับพรรคเพื่อไทยก็คือเนื้อเดียวกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะมีคนจากพรรคเพื่อไทยมาร่วมหรือไม่ ก็ไม่ได้ทำม็อบกลุ่มนี้บริสุทธิ์ปราศจากสี
หนำซ้ำการที่มีมือดีปล่อยภาพทักษิณและยิ่งลักษณ์คู่กัน ออกสู่สาธารณชนครั้งแรกในวันเดียวกับที่มีการชุมนุมของม็อบอยากเลือกตั้ง ก็เท่ากับตอกย้ำว่า ม็อบกลุ่มนี้โยงใยกับสีแดงและเพื่อไทยอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งการปล่อยภาพดังกล่าวถูกมองว่าเป็นการจงใจฉวยจังหวะสถานการณ์หวังตีเหล็กตอนร้อน และทอดไมตรีจิตให้กับม็อบ
การปรากฏตัวของทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ อาจเพื่อปลุกกระแสฐานเสียงพรรคเพื่อไทยให้ตื่นตัวคึกคักอีกครั้ง ซึ่งอาจจะดีสำหรับสมาชิกพรรคเพื่อไทย ในแง่ที่ว่าหัวหน้าพรรคตัวจริงยังคงแอ๊กทีฟ พร้อมจะช่วยเหลือสนับสนุนคนในเครือข่ายทั้งหมด เปรียบเป็นภูเขาไฟก็เป็นภูเขาที่ยังมีพลังอยู่ พร้อมจะระเบิดพ่นลาวาออกมาได้ทุกเมื่อ
แต่อาจจะส่งผลเสียต่อสาธารณชนทั่วไป ในมุมที่ทำให้ “ดัชนีความกลัว” ทักษิณพุ่งสูงขึ้น เพราะเกรงว่าความวุ่นวายทางการเมืองจะกลับมาหลอนอีกรอบ (ซึ่งไม่รู้รอบที่เท่าไหร่)

การได้อยู่อย่างสงบปราศจากความวุ่นวายของม็อบการเมืองในช่วงเกือบ 4 ปีตลอดยุค คสช. อาจจะให้ความรู้สึกปลอดภัยมั่นคงกว่า หากเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดความวุ่นวายทางการเมืองอันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหวของซีกทักษิณ-เพื่อไทย
ด้วยเหตุนี้ยิ่งคนของพรรคเพื่อไทยออกมาเคลื่อนไหวสอดประสานกันทั้งในและนอกประเทศ ก็ยิ่งทำให้คนกลุ่มอื่น สีอื่นมีแนวโน้มจะไม่ไปร่วมชุมนุมขับไล่ คสช. ในครั้งต่อๆ ไป
เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ที่แกนนำม็อบออกมาตัดพ้อนักการเมืองที่ไม่ไปร่วมชุมนุมกับพวกตน แถมมวลชนที่ไปร่วมก็ไม่ได้มากมาย และราชดำเนินวันนี้ที่เคยเป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์สำหรับนักศึกษาและเยาวชนโค่นล้มเผด็จการในอดีต ก็ไม่สามารถเรียกร้องมวลชนเดินออกไปบนท้องถนนได้เหมือนเมื่อก่อน เนื่องจากเงื่อนไขและบริบทต่างออกไปจาก 30-40 ปีก่อนมาก
จะมาคร่ำครวญพร่ำบ่นโทษว่าคนส่วนใหญ่ไม่รักประชาธิปไตย ก็คงไม่ถูกต้องนัก เพราะส่วนสำคัญที่ทำให้คนเบื่อหน่ายการเลือกตั้งและประชาธิปไตยเปลือกๆ ก็มาจากนักการเมืองนั่นเอง
ถึงแม้ตอนนี้คนจะเริ่มเบื่อและผิดหวัง คสช. อยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากพอที่จะทำให้รู้สึกว่านักการเมืองจากการเลือกตั้งจะดีกว่า หรือให้ความหวังมากกว่า

การที่แกนนำม็อบท้าทายว่า พรรคการเมืองไหนไม่มาร่วมชุมนุมกับพวกตน แสดงว่าไม่ใช่คนของประชาชนและอย่าไปเลือกนั้น ก็ดูจะด่วนสรุปทึกทักมากไปหน่อย เป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้สำหรับการเมืองในตอนนี้ เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้พรรคอื่น นอกจากพรรคเพื่อไทยไปร่วมชุมนุม
ถ้าพรรคประชาธิปัตย์ไปร่วมชุมนุมด้วย ประชาธิปัตย์เจ๊งแน่นอน เพราะแฟนๆ ของพรรคนี้จะโกรธและจะไม่เลือกพรรคนี้เป็นอันขาดเพราะถือว่าไปเข้ากับสีแดง
ส่วนพรรคระดับกลาง-เล็กอื่นๆ ที่รู้ทางลม รอเสียบทุกขั้ว ก็ต้องพยายามทำตัวกลางๆ ไม่ไปร่วมชุมนุมกับม็อบไหนทั้งนั้น เพราะกลัวจะเสียคะแนนจากประชาชนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด
นาทีนี้คงมีคนจากพรรคเพื่อไทยพรรคเดียวกระมัง ที่จะยอมไปร่วมชุมนุมกับม็อบที่ว่านี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น ความชอบธรรมของม็อบก็จะน้อยลง และความชอบธรรมของ คสช. ที่จะหาข้ออ้างสกัดกั้นก็เพิ่มขึ้น