กรองกระแส / ปรากฏการณ์ อ่อนไหว ปรากฏการณ์ ‘อยาก’ เลือกตั้ง ท้าทาย ผลงาน ‘คสช.’

กรองกระแส

ปรากฏการณ์ อ่อนไหว

ปรากฏการณ์ ‘อยาก’ เลือกตั้ง

ท้าทาย ผลงาน ‘คสช.’

ต้องยอมรับว่าปรากฏการณ์ “คนอยากเลือกตั้ง” อันสะท้อนผ่าน Start Up People และพัฒนามาเป็น MBK 39 คือ พัฒนาการแห่งการเมือง
1 เป็นผลมาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540
ขณะเดียวกัน 1 เป็นผลอันมาจากรัฐประหารซึ่งมาพร้อมกับคำขวัญ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” กระทั่งทำให้กระบวนการเลือกตั้งต้องสะดุดหยุดลง
การจะทำความเข้าใจต่อ “ปรากฏการณ์” นี้จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจต่อ
1 บทบาทและความหมายของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ต่อการเมืองในสังคมประเทศไทย และ 1 บทบาทและความหมายของรัฐประหารต่อการเมืองในสังคมประเทศไทย
หากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ต้องการที่จะแก้ไขหรือเสริมเติมรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 ปรากฏการณ์ “คนอยากเลือกตั้ง” นี้เอง คือ คำตอบอย่างเป็นรูปธรรมยิ่งว่ารัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 จะมีชะตากรรมอย่างเดียวกันกับรัฐประหารเมื่อเดือนกันยายน 2549 หรือไม่
นั่นก็คือ ไม่เป็นไปตาม “วัตถุประสงค์” ไม่เป็นไปตาม “เป้าหมาย”

คุณูปการ การเมือง

รัฐธรรมนูญ 2540

จะมองว่ารัฐธรรมนูญ 2540 มีส่วนอย่างสำคัญในการทำให้พรรคการเมืองในแบบพรรคไทยรักไทยแจ้งเกิดก็อาจจะขาดความสมบูรณ์รอบด้านไป จำเป็นต้องประเมินว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้พรรคไทยรักไทยสามารถแจ้งเกิดได้ในทางการเมือง
คำตอบ 1 คือ องค์ประกอบของพรรคไทยรักไทย
คำตอบ 1 คือภูมิทัศน์ในทางการเมืองที่บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ 2540 หนุนเสริมให้พรรคไทยรักไทยมีความโดดเด่น กระทั่งสร้างผลสะเทือนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางการเมือง
หากระบุว่ารัฐธรรมนูญ 2540 นำไปสู่นายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็งกระทั่งเกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ก็ถูกต้อง แต่ที่ถูกต้องมากกว่านั้นก็คือ พรรคไทยรักไทยเป็นพรรคการเมืองเดียวที่ใช้ “นโยบาย” เป็นอาวุธในการสร้างคะแนนนิยม และที่สำคัญก็คือ เมื่อได้รับความไว้วางใจจากประชาชนแล้วก็ปฏิบัติตาม “นโยบาย”
นี่คือจุดเด่นที่พรรคการเมืองอื่นไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทย พรรคกิจสังคม พรรคชาติพัฒนา พรรคความหวังใหม่ ไม่เคยมีมาก่อน
ผลสะเทือนจากชัยชนะของการเลือกตั้งเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ทำให้พรรคการเมืองแบ่งออกเป็น 2 พรรคขนาดใหญ่โดยพื้นฐานและมีความเด่นชัดมากยิ่งขึ้นภายหลังการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 และนับแต่นั้นเป็นต้นมาพรรคการเมืองไทยก็ดำรงอยู่ในลักษณะนี้ไม่แปรเปลี่ยน
ไม่ว่าพรรคไทยรักไทยจะเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน หรือพรรคเพื่อไทยก็ตาม

ผลสะเทือนการเมือง

รัฐประหาร ใน 10 ปี

ความพยายามของรัฐประหารไม่ว่าเมื่อเดือนกันยายน 2549 ไม่ว่าเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป้าหมายคือ ต้องการทำลายบทบาทและความหมายของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทย
คำว่า “เสียของ” ต่อรัฐประหารของ คมช. มาจากความล้มเหลวในเรื่องนี้
เพราะเลือกตั้งเมื่อเดือนธันวาคม 2550 ชัยชนะยังเป็นของพรรคพลังประชาชน เพราะเลือกตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 ชัยชนะยังเป็นของพรรคเพื่อไทย
โดยที่พรรคพลังประชาชน พรรคเพื่อไทยเป็น “อวตาร” แห่งพรรคไทยรักไทย
ภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ยังไม่มีคำตอบอย่างเป็นรูปธรรมว่าสามารถโค่นล้มและทำลาย “อวตาร” แห่งพรรคไทยรักไทยลงได้หรือไม่ แต่ปรากฏการณ์ที่ 1 คสช. ไม่ยอมกำหนดเวลาที่แน่นอนในเรื่องการเลือกตั้ง และปรากฏการณ์ที่ 1 ได้เกิดกลุ่ม “คนอยากเลือกตั้ง” ขึ้นมาอย่างคึกคักและกว้างขวาง อันเท่ากับเป็นการสวนทางกับความไม่สุกงอมของ คสช. ในเรื่องการเลือกตั้ง
นับวันยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปรากฏการณ์ “ไม่อยาก” เลือกตั้งของ คสช. กำลังปะทะและขัดแย้งกับปรากฏการณ์ “คนอยากเลือกตั้ง” ของประชาชน
ปรากฏการณ์อย่างหลังยืนยันถึงความเรียกร้องต้องการเห็น “การเปลี่ยนแปลง”
ที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงเพราะรู้สึกว่าผลงานการบริหารของ คสช. และรัฐบาลนับแต่รัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 เป็นต้นมาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ผ่านการตัดสินใจของประชาชน
“การเลือกตั้ง” จึงกลายเป็น “ทางออก” จากวิกฤตของประเทศ

รัฐประหาร คสช.

บนทาง 2 แพร่ง

ไม่ว่า คสช. จะพยายามยื้อและเลื่อนการเลือกตั้งหรือกระทั่งไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งด้วยกรรมวิธีและกระบวนการอย่างไร แต่จากเดือนพฤษภาคม 2557 มายังเดือนพฤษภาคม 2561 เป็นห้วงเวลาอันสำคัญและทรงความหมายยิ่งในทางการเมือง
โดยอำนาจผ่าน “โครงสร้างราชการ” ที่มีอยู่ทั้งพลเรือน ตำรวจ ทหาร คสช. อาจสามารถ “ยื้อ” เวลาของการเลือกตั้งให้ทอดยาวออกไป
แต่ยิ่งยื้อ คสช. ยิ่งต้องรับผิดชอบและยิ่งต้องตกเป็นจำเลยของสังคม
ตราบใดที่ผลงานและความสำเร็จของ คสช. ไม่สอดรับกับความเป็นจริงและความต้องการ การยื้อหรือไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งจะกลายเป็นปัญหา เพราะเท่ากับไปจุดประกายให้ “คนอยากเลือกตั้ง” เติบใหญ่ขยายตัว
กลายเป็น “พลัง” ทางการเมืองที่อิงอยู่กับจิตวิญญาณ “ประชาธิปไตย”