ปิยบุตร แสงกนกกุล : ศาลรัฐธรรมนูญ (6)

คําพิพากษาในคดี Golaknath v. Punjab State เปิดช่องทางให้ศาลอินเดียได้ตรวจสอบกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญที่รัฐสภาตราขึ้นได้ ทำให้ศาลอินเดียแสดงบทบาท “ชน” กับรัฐบาลและรัฐสภามากยิ่งขึ้น จนนำมาซึ่งวิกฤตทางรัฐธรรมนูญในช่วงที่นาง Indira Gandhi เป็นนายกรัฐมนตรี

รัฐบาลของนาง Indira Gandhi มีนโยบายค่อนไปทางสังคมนิยม เน้นการปฏิรูปที่ดิน กำจัดความยากจน จัดการโอนวิสาหกิจของเอกชนมาเป็นของรัฐเพื่อจัดทำประโยชน์สาธารณะ เพิ่มกำลังการผลิตในภาคเกษตรกรรมตามนโยบาย “ปฏิวัติสีเขียว” เพื่อให้อินเดียเป็นประเทศที่มีความมั่นคงทางอาหาร รัฐบาลจึงผลักดันให้เสียงข้างมากของรัฐสภาออกกฎหมายจำนวนมากเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายดังกล่าว

ในปี 1970 ศาลสูงสุดอินเดียได้วินิจฉัยให้รัฐบัญญัติว่าด้วยการโอนธนาคารเอกชนให้เป็นของรัฐนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญ ต้องสิ้นผลไป ซึ่งรัฐบัญญัติดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาล

ในการเลือกตั้งปี 1971 พรรคของนาง Indira Gandhi ได้รับชัยชนะอีกครั้ง เธอจึงอาศัยฐานความชอบธรรมจากการเลือกตั้งดังกล่าว ผลักดันนโยบายต่างๆ ต่อไป

แม้ผลการเลือกตั้งเป็นใจให้แก่นาง Indira Gandhi แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านโยบายต่างๆ จะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เพราะศาลอาจเข้ามาขัดขวางด้วยการวินิจฉัยว่ากฎหมายที่เป็นเครื่องมือของนโยบายของรัฐบาลนั้นขัดรัฐธรรมนูญ

ดังนั้น เพื่อมิให้ศาลเป็นอุปสรรคขัดขวางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลของเธอได้อีก เธอจึงต้องย้อนกลับไปใช้วิธีการแบบที่ Nehru เคยทำ นั่นคือ ตรากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้กฎหมายบางกลุ่มชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม วิธีการดังกล่าวเพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ เพราะศาลอาจตีความขยายแดนอำนาจเข้ามาวินิจฉัยว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้กฎหมายบางกลุ่มชอบด้วยรัฐธรรมนูญอยู่เสมอนั้นขัดรัฐธรรมนูญอีกก็ได้

ทั้งนี้ ตามแนวทางที่คำพิพากษาในคดี Golaknath v. Punjab State ได้กรุยทางไว้นั่นเอง

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ศาล “ตีความ” ขยายอำนาจเข้ามาตรวจสอบกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้อีกต่อไป รัฐสภาจึงตรากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 เพื่อ “ชน” กับศาลสูงสุด

โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำพิพากษาในคดี Golaknath v. Punjab State ที่วางบรรทัดฐานไว้ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีผลยกเลิกหรือตัดทอนสิทธิขั้นพื้นฐานไม่อาจกระทำได้

กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 ได้เพิ่มเติมวรรคแรกเข้าไปในมาตรา 368 เพื่อยืนยันว่ารัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ทุกบทบัญญัติทุกมาตราในรัฐธรรมนูญ

เป็นอันว่า นับตั้งแต่นั้นรัฐสภามีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานด้วยเช่นกัน

จากนั้นรัฐสภายังแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 14 ในปี 1971 เพื่อกำหนดเรื่องการจำกัดกรรมสิทธิ์ของเอกชนและการจ่ายเงินค่าทดแทน

และแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 29 ในปี 1972 เพื่อเพิ่มเติมรายการกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินเข้าไปในตารางผนวกแนบท้ายที่ 9

กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 24 ครั้งที่ 25 และครั้งที่ 29 กลายมาเป็นประเด็นในศาล และครั้งนี้ศาลสูงสุดอินเดียได้วางแนวบรรทัดฐานใหม่เกี่ยวกับการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ในคดี Kesavananda Bharati v. State of Kerala ลงวันที่ 24 เมษายน 1973 โดยศาลได้ประกาศอย่างชัดแจ้งว่าบรรทัดฐานในคดี Golaknath v. Punjab State นั้นไม่ถูกต้อง ต้องถูกกลับแนว (overrule)

ศาลยืนยันว่า อำนาจแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือ อำนาจที่รัฐธรรมนูญมอบให้เพื่อเพิ่มเติม แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกบทบัญญัติทั้งหลายในรัฐธรรมนูญรวมทั้งบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิขั้นพื้นฐานด้วย ตามที่กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 24 ว่าไว้ ดังนั้น รัฐสภาย่อมมีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ตั้งแต่มาตรา 12-36

แม้ศาลสูงสุดจะยืนยันว่ารัฐสภาเป็นผู้ทรงอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทุกมาตรา แต่ศาลสูงสุดในคดีนี้ โดยมติ 7 ต่อ 6 ก็ยืนยันไปพร้อมกันว่า ศาลมีอำนาจในการตรวจสอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้

ศาลให้เหตุผลว่าแม้รัฐสภามีอำนาจในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้กับทุกบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นก็ต้องอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) หรือโครงร่าง (Framework) ของรัฐธรรมนูญจนส่งผลถึงเอกลักษณ์ (Identity) ของรัฐธรรมนูญ

หากศาลตรวจสอบแล้วพบว่ากฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญมีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดว่า กฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบ

อย่างไรก็ตาม เพื่อสร้างความมั่นคงแน่นอนแห่งนิติฐานะและให้ทุกฝ่ายได้ทราบล่วงหน้า ศาลยืนยันว่าศาลจะตรวจสอบว่ากฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐานหรือไม่ (ตามแนวของคำพิพากษาในคดีนี้) ก็เฉพาะกับกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้หลังจากคำพิพากษาฉบับนี้

วันรุ่งขึ้น ประธานศาลสูงสุด Sarv Mittra Sikri เกษียณอายุ ต้องแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดคนใหม่ นาง Indira Gandhi ใช้โอกาสนี้แสดงออกถึงการตอบโต้กับศาลสูงสุดด้วยการเสนอชื่อนาย Ajit Nath Ray ให้ประธานาธิบดีแต่งตั้งเป็นประธานสูงสุด

ซึ่งการเสนอชื่อครั้งนี้ไม่เคารพตามธรรมเนียมปฏิบัติเดิมที่ว่าการแต่งตั้งประธานศาลสูงสุดให้ยึดหลักความอาวุโส โดยข้ามผู้พิพากษาศาลสูงสุดที่อาวุโสกว่าไปถึง 3 คน

เหตุที่นาง Indira Gandhi เสนอชื่อ นาย Ajit Nath Ray ก็เพราะเขาเป็นผู้พิพากษาเสียงข้างน้อยในคดี Kesavananda Bharati v. State of Kerala ที่เห็นว่าศาลไม่มีอำนาจตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

ต่อมา นาง Indira Gandhi ถูกฟ้องโต้แย้งว่าเธอใช้งบประมาณของรัฐสนับสนุนการหาเสียงของพรรคตนเอง และอาศัยกลไกของรัฐทำให้ได้เปรียบจนชนะเลือกตั้ง ในวันที่ 12 มิถุนายน 1975 ศาล High Court แห่ง Allahabad ตัดสินให้การได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. ของเธอไม่ชอบ ต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ส. ทำให้ขาดคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรี จึงต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย

นอกจากนั้น ศาลยังสั่งห้ามเธอดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 6 ปี

เธอไม่ยอมรับคำพิพากษาของศาลและยืนยันเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป พร้อมกับโต้แย้งคำพิพากษาไปที่ศาลสูงสุด

ในเวลาเดียวกันนั้น รัฐสภาได้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งที่ 39 เพื่อรับรองความสมบูรณ์ของการเป็น ส.ส. และนายกรัฐมนตรีของนาง Indira Gandhi

ศาลสูงสุดอินเดียตอบโต้อย่างฉับพลันในคดี Indira Nehru Gandhi v. Raj Narain ลงวันที่ 24 มิถุนายน 1975 โดยวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 39 ปี 1975 นั้นไม่ชอบ เพราะกระทบต่อโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญ

วันรุ่งขึ้น นาง Indira Gandhi เสนอให้ประธานาธิบดีลงนามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้รัฐบาลมีอำนาจมากขึ้นเพื่อจัดการปัญหาการชุมนุมประท้วงรัฐบาลเนื่องจากไม่พอใจที่เธอยังดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

ในส่วนของรัฐสภานั้น ได้ตอบโต้กับคำพิพากษาศาลสูงสุดในคดี Kesavananda Bharati v. State of Kerala ที่ศาลประกาศว่าตนเองมีอำนาจในการตรวจสอบกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญ และรัฐสภาไม่อาจแก้ไขรัฐธรรมนูญจนมีผลเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพื้นฐาน (Basic Structure) ของรัฐธรรมนูญได้ โดยรัฐสภาตรากฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 42 ปี 1976 กำหนดเพิ่มเติม (4) และ (5) เข้าไปในมาตรา 368 ว่าด้วยกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่า ห้ามมิให้ศาลตรวจสอบกฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ และอำนาจการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่มีข้อจำกัด

นับตั้งแต่นั้น ศาลสูงสุดก็ไม่มีอำนาจตรวจสอบการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญอีกต่อไป และการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญไม่ตกอยู่ภายใต้ข้อจำกัดใดๆ รวมทั้งเรื่อง “โครงสร้างพื้นฐาน” (Basic Structure) ด้วย

อีกนัยหนึ่ง คือ กฎหมายการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 42 ปี 1976 เป็นการ “ลบ” ผลของคำพิพากษาศาลสูงสุดอินเดียในคดี Kesavananda Bharati v. State of Kerala และคดี Indira Nehru Gandhi v. Raj Narain

นอกจากนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งที่ 42 นี้ยังได้จำกัดสิทธิขั้นพื้นฐานในระหว่างประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และประกาศให้อินเดียเป็นสาธารณรัฐสังคมนิยม เพื่อตีกรอบศาลในการกำหนดเนื้อหารายละเอียดของ “โครงสร้างพื้นฐาน” (Basic Structure) ให้เป็นไปตามแนวทางสังคมนิยม