เปลี่ยนผ่าน : “เฟซบุ๊ก” เปลี่ยนเกม! กระทบ “สื่อออนไลน์ไทย” “รายใหญ่” ยัน “รายเล็ก”

Facebook CEO Mark Zuckerberg is seen on stage during a town hall at Facebook's headquarters in Menlo Park, California September 27, 2015. REUTERS/Stephen Lam/File Photo

ถือเป็นข่าวใหญ่ในรอบสัปดาห์สำหรับ “สื่อไทย” ไม่ว่าจะ “สื่อเล็ก” และ “สื่อใหญ่” ที่ล้วนต้องปรับทิศทางการนำเสนอเนื้อหาและการดำเนินธุรกิจมายังโลกออนไลน์ โดยมีแพลตฟอร์ม “เฟซบุ๊ก” เป็นฐานที่มั่นสำคัญ

เมื่อเฟซบุ๊ก นำโดย “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้บริหารสูงสุด ได้ออกมาประกาศปรับเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเนื้อหาขึ้น “นิวส์ฟีด” โดยจะหันไปเน้นย้ำให้ความสำคัญกับการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝูงและสมาชิกครอบครัว

มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างเพจขององค์กรหรือผู้ประกอบการธุรกิจต่างๆ กับผู้ใช้เฟซบุ๊กหรือผู้บริโภค

ตามการชี้แจงของทางเฟซบุ๊ก ความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มุ่งหวังจะให้พื้นที่นิวส์ฟีดกลายเป็นแหล่งของการสร้างบทสนทนาระหว่างผู้ใช้บริการเฟซบุ๊ก และมีส่วนสร้างสรรค์กระบวนการมีปฏิสัมพันธ์อันเปี่ยมความหมายระหว่างผู้คน

ทั้งนี้ ระบบอัลกอริธึ่มของเฟซบุ๊กจะทำการคำนวณและประเมินว่าโพสต์ใดในนิวส์ฟีด ซึ่งมีแนวโน้มจะสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างเพื่อนฝูง หากโพสต์ไหนของเพจ/ผู้ใช้รายใดเข้าข่ายดังกล่าว ก็จะถูกจัดวางอยู่ในลำดับบนๆ ของหน้านิวส์ฟีด

ตามนิยามของเฟซบุ๊ก การมี “ปฏิสัมพันธ์” นั้นหมายถึงการแชร์, การคอมเมนต์, การส่งข้อความ (อินบ็อกซ์) การคลิกสัญลักษณ์แสดงอารมณ์ประเภทต่างๆ และการคลิกไลก์ให้แก่เนื้อหา/โพสต์ใดๆ

อย่างไรก็ตาม ในการปรับเปลี่ยนนิวส์ฟีดคราวนี้ การคอมเมนต์, การแชร์ และการส่งข้อความ จะถูกประเมินว่ามี “คุณค่าสูงกว่า” การคลิกแสดงอารมณ์และคลิกไลก์ ซึ่งมักไม่นำไปสู่บทสนทนาต่อเนื่อง

ที่สำคัญกว่านั้น คือ ถึงแม้ว่าทั้งบัญชีส่วนตัวของผู้ใช้และเพจขององค์กรต่างๆ จะสามารถสร้างสรรค์คอนเทนต์บนแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก อันจะนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมได้เหมือนๆ กัน

แต่ภายใต้นโยบายใหม่เกี่ยวกับนิวส์ฟีด โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนตัว (หรือโพสต์จากเพื่อนๆ ของเรา) จะถูกประเมินว่ามี “ความสำคัญเหนือกว่า” โพสต์จากเพจต่างๆ

หากอธิบายอย่างลงรายละเอียดมากขึ้น โพสต์ที่จะได้รับคะแนนจากระบบอัลกอริธึ่มของเฟซบุ๊ก จนสามารถมีที่ทางที่ดีในหน้านิวส์ฟีด ก็คือ

(1) โพสต์ที่มีผู้คนเข้ามาคอมเมนต์หรือแสดงความคิดเห็นต่อท้าย

(2) โพสต์ (ไม่ว่าจะเป็น “บทความ” หรือ “วิดีโอ”) ที่สามารถก่อให้เกิดการคอมเมนต์อย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ นอกจากจะมีคนมาแสดงความคิดเห็นต่อท้ายเนื้อหาดังกล่าวแล้ว จะเป็นการดียิ่งขึ้น หากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กรายอื่นๆ หรือคน/เพจเจ้าของคอนเทนต์ เข้ามาแสดงความเห็นตอบกลับ/แตกประเด็นจากคอมเมนต์เหล่านั้นอีกที

(3) วิดีโอของเพจต่างๆ จะถูกมองเห็นมากขึ้น หากผู้ใช้เฟซบุ๊กพากันแชร์ภาพเคลื่อนไหวเหล่านั้น พร้อมแสดงความเห็นของตนเองเสริมเข้าไปในการแชร์โพสต์

(4) เช่นเดียวกับโพสต์จากเพจสำนักข่าวต่างๆ ซึ่งจะยังมีที่ทางอันมั่นคงในนิวส์ฟีดอยู่ ตราบใดที่เนื้อหาเหล่านั้นถูกนำไปแชร์ต่อโดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก

(5) อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยรับประกันว่าโพสต์ต่างๆ จะไม่เลือนหายไปจากหน้านิวส์ฟีด ก็คือ การที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กนำลิงก์ของโพสต์เหล่านั้นไปส่งต่อผ่านระบบข้อความอินบ็อกซ์ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างบทสนทนาระหว่างเพื่อนกลุ่มต่างๆ เพิ่มเติม

แน่นอนว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ย่อมส่งผลให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กส่วนใหญ่มองเห็นเนื้อหาจากเพจของสำนักข่าวต่างๆ, ผู้ประกอบการธุรกิจ และเหล่าเซเลบผู้มีชื่อเสียง ลดลงอย่างสำคัญ

คาดการณ์ว่าในไตรมาสแรกของปี 2561 ยอดผู้เข้าถึงเนื้อหาของเพจต่างๆ จะมีจำนวนลดลงชัดเจน

อย่างไรก็ดี เพจที่สามารถผลิตเนื้อหา ซึ่งนำไปสู่การมีปฏิสัมพันธ์กัน/การมีบทสนทนาระหว่างผู้ใช้เฟซบุ๊ก จะมีโอกาสอยู่รอดได้ดีกว่าเพจที่มีแต่ยอดไลก์เพจ/โพสต์ โดยปราศจากการเสริมสร้างปฏิสัมพันธ์และบทสนทนาใดๆ

นอกจากนี้ เฟซบุ๊กยังคงให้ความสำคัญกับสื่อวิดีโอ โดยวิดีโอชิ้นไหนที่ถูกบรรดาผู้ใช้ค้นหาอยู่บ่อยครั้ง หรือถูกคลิกเข้าชมซ้ำแล้วซ้ำเล่า ก็จะถูกผลักดันขึ้นสู่หน้านิวส์ฟีด

เหนือสิ่งอื่นใด เฟซบุ๊กแนะนำว่าเพจต่างๆ ควรโฟกัสไปยังเนื้อหาที่ตนเองทำได้ดีที่สุด และควรจะมุ่งสร้างเนื้อหาที่สอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภคหลักของตน

เท่ากับว่าปี 2561 ยังคงเป็นปีที่สื่อมวลชนไทยต้องทำงานหนักกันต่อไป หากหวังจะเข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ และหวังจะแสวงหารายได้จากโลกออนไลน์

เพราะพื้นที่ “ใหม่” แห่งนี้ ยังเต็มไปด้วยความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนไม่แน่นอน ผ่านการกำหนดกฎเกณฑ์และรูปแบบการแข่งขันโดยเจ้าของแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นบรรษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก

สื่อท้องถิ่นไม่ว่าเจ้าใหญ่หรือเจ้าเล็กจึงยังต้องเผชิญหน้ากับชุดคำถาม ความไม่แน่ใจ ข้อท้าทาย และอุปสรรคชนิดใหม่ๆ แบบปีชนปี

บางที ความไม่มั่นคงดังกล่าวอาจเป็นแรงกระตุ้นให้สื่อต่างๆ ขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลงตนเอง ได้ดีเสียยิ่งกว่าความมั่นใจ หรือการมีคำตอบและเป้าหมายชัดเจนเด่นชัดในเรื่องต่างๆ ซะอีก