วางบิล เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์ / สู่ร่มกาสาวพัสตร์ โรงเรียนบ้านด่านอุดม

วางบิล/เรืองชัย ทรัพย์นิรันดร์

สู่ร่มกาสาวพัสตร์ โรงเรียนบ้านด่านอุดม

โรงเรียนบ้านด่านอุดมเป็นโรงเรียนประชาบาล ตั้งอยู่ในหมู่บ้านด่านอุดมซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็กๆ ของจังหวัดนครราชสีมา ลึกเข้าไปจากถนนมิตรภาพ 30 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านปิด ติดกับป่าดงพญาเย็น เป็นหมู่บ้านที่อุดมสมบูรณ์สมชื่อ ชาวบ้านอัธยาศัยใจคอดี มีอาชีพทำนา หาของป่าขาย เผาถ่าน เป็นงานหลัก

โรงเรียนบ้านด่านอุดมมีชั้นเรียนถึงประถมปีที่ 4 ทางจังหวัดจะให้ขยายถึงชั้นประถมปีที่ 7 ในปีการศึกษาหน้า แต่ยังขาดอาคารเรียน หากจะขยายจริงต้องปลูกเป็นเพิงไปก่อน แล้วจึงสร้างอาคารเรียนภายหลังเมื่อมีงบประมาณ

ทั้งโรงเรียนมีนักเรียนร้อยคนเศษ ครู 5 คน ผู้หญิงสาม ผู้ชายสองรวมครูใหญ่ ก่อนที่จงจิตจะมาสอนที่โรงเรียนนี้มีครูอยู่เท่านี้ แต่ในปีนั้น ครูคนหนึ่งแต่งงาน ต้องย้ายไปอยู่กับสามีอีกจังหวัดหนึ่ง จึงลาออก

เป็นเหตุให้จงจิตมีโอกาสเข้ามาสอนในโรงเรียนนี้สมความตั้งใจแต่เดิม

บรรยากาศที่สงบเงียบ มีบ้านพักเรียบร้อย อาหารการกินบริบูรณ์เท่าที่หมู่บ้านขนาดนี้จะพึงมี คือ ทุกเช้าตรู่รถโดยสารออกจากหมู่บ้านไปยังจังหวัด ห่างออกไป 50 กิโลเมตร และกลับถึงหมู่บ้านด่านอุดม เป็นจุดหมายปลายทางประมาณเที่ยง หรือไม่เกินบ่ายโมง พร้อมด้วยสรรพอาหารที่ร้านค้าสั่งซื้อ หรือเจ้าของร้านออกไปซื้อเองกลับมาขาย

บ้านพักอยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน เยื้องมาทางด้านหลังหมู่บ้าน บนเนินเขา น่าอยู่มาก ช่วงเช้าทางฟากตะวันออกพระอาทิตย์จะค่อยๆ ชิงดวงพ้นเหลี่ยมเขาขึ้นมา และสาดแสงทองฉายฉานกระจ่างท้องฟ้า ช่วงเย็นดวงอาทิตย์จะอัสดงลับเหลี่ยมเขาทิศตะวันตก

การเข้ามาเป็นครูของจงจิต ว่าไปแล้วเป็นจังหวะพอเหมาะพอดีกับการที่เธอต้องการออกมาสู่ชนบทด้วยอาชีพครู เธอเรียนจบประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา หรือ ป.กศ. แล้วสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยในสาขามานุษยวิทยา สำเร็จปริญญาตรีก่อนรับพระราชทานปริญญารอสอบบรรจุเข้ารับราชการในกรมประชาสงเคราะห์ ขณะเดียวกันมีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทเอกชนซึ่งเป็นบริษัทของญาติไปพลาง

เธอนึกไม่ถึงว่าต้องออกไปเป็นครูในชนบทอย่างนี้ แม้เคยตั้งความหวังไว้เมื่อครั้งเข้าเรียนในวิทยาลัยฝึกหัดครู และเมื่อต้องออกไปฝึกสอน เธอสมัครฝึกสอนในโครงการฝึกสอนชนบทที่โรงเรียนหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี แต่เมื่อเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย ความคิดนั้นเลือนหายไป

หลังจากนั้น เธอเองนึกไม่ถึงว่าจะต้องออกมาเป็นครูในชนบทอย่างนี้

ระหว่างทำงาน เธอมีเรื่องขัดใจกับภาสกรอย่างรุนแรง ผู้ชายที่เธอหวังจะแต่งงานกับเขา แต่เพราะความเจ้าชู้ของเขาที่ทำให้เธอต้องผิดหวัง แม้ว่ากะเกณฑ์อย่างคร่าวๆ ถึงกำหนดหมั้นแล้วก็ตาม

จงจิตยอมปลีกตัวออกมาเองที่จะทำให้ผู้หญิงคนนั้นต้องเสียทั้งตัวทั้งหัวใจ และเธอใจไม่แข็งพอที่จะให้ภาสกรเลิกกับผู้หญิงคนนั้นที่ตั้งครรภ์แล้วถึง 4 เดือน

กับเธอเอง แม้จะมีความสัมพันธ์กันมาก่อนกับเขา แต่ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไรมากมาย ด้วยเป็นการเสียไปด้วยความรักที่เธอมีต่อเขา

สิ่งที่จงจิตเสียมากที่สุดคือ “ใจ” จงจิตแทบประคับประคองตัวและใจไว้ไม่ได้เมื่อรู้เรื่องนี้ ครั้งแรกไม่ได้ปักใจเชื่อนัก จนเมื่อไปสืบด้วยตัวเอง จึงรู้เรื่อง ซึ่งภาสกรไม่มีคำแก้ตัวที่จะให้แก่เธอ นอกจากขอความเห็นใจ รับปากจะจัดการให้เรียบร้อยโดยเร็ว อ้างว่า เธอเป็นผู้มาก่อน ย่อมมีสิทธิ์มากกว่า… พูดเข้าไปได้…

“เรื่องมันเลยมาถึงป่านนี้ ภาสจะจัดการยังไงตามเรื่องของภาส ไม่ต้องมาห่วงเมย เมยตัดใจเองได้ ขอร้องอย่างเดียว อย่ามารบกวนเมยอีกตั้งแต่นี้ไป” จงจิตบอกกับภาสกรในวันสุดท้าย หลังจากตัดสินใจเด็ดขาด เธอไม่ได้ร้องไห้อาลัยภาสกรเลยในขณะนั้น ไม่มีท่าทีห่วงหาอาทร

เมื่อกลับถึงบ้าน เกือบกลั้นน้ำตาไม่อยู่ รีบตรงเข้าห้องนอน ปิดประตูลงกลอน เปิดวิทยุให้เสียงกลบเสียงอื่น แล้วโถมตัวลงบนฟูกที่นอนฟุบหน้ากับหมอนร้องไห้จนแทบไม่มีน้ำตาเหลือ

เย็นนั้น จงจิตอ้างว่าไม่สบาย ไม่ยอมลงจากห้องมากินข้าวกับพ่อแม่ มันแปลบปลาบเข้าไปในหัวใจอย่างนั้น จะมีกะจิตกะใจกินอะไรลง เธอยอมรับกับตัวเองว่า เป็นการเสียใจครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่จำความได้ ไม่เคยมีครั้งใดที่ทำให้เธอเสียน้ำตาและผิดหวังรุนแรงเท่าครั้งนี้

จงจิตตั้งความหวังไว้กับภาสกรมากที่สุด ถึงขนาดยอมรับการขอแต่งงานของเขา ทั้งที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วยตั้งแต่แรก ซึ่งเธอเองเป็นผู้แก้ไขสถานการณ์จนภาสกรเป็นที่ยอมรับของคนในบ้าน แม้พ่อแม่จะยังไม่ค่อยพอใจ แต่ไม่ขัดขวางอะไร

…จะตัดสินใจอะไรคิดให้รอบคอบ แม่ไม่อยากให้ลูกต้องเสียใจเพราะเรื่องนี้ ยังไงขอให้พ่อกับแม่มีส่วนการตัดสินใจของลูกบ้าง… แม่บอกอย่างนั้นหลังจากเธอเรียนจบ แม้รู้ดีว่าไม่สามารถห้ามปรามเธอต่อไปได้

หลังจากเรื่องผ่านไปเดือนเศษ จงจิตจึงขออนุญาตพ่อแม่ออกไปอยู่ต่างจังหวัด อ้างว่าต้องการไปพักผ่อน และจะไปเป็นครูสักพักหนึ่ง ให้เหตุผลว่าที่โคราชมีเพื่อนรุ่นพี่เป็นศึกษาธิการอำเภอ คงช่วยเหลือได้บ้าง ซึ่งพ่อแม่ไม่ขัดข้อง แม่แสดงความเห็นใจลูกสาวที่ต้องพบกับความผิดหวังครั้งแรกในชีวิต จึงไม่พยายามซ้ำเติมมากไปกว่านั้น เพียงกำชับว่า หากเดือดร้อนอะไรให้กลับบ้านทันที

…อย่างไรเสีย บ้านของเรามีข้าวกินบริบูรณ์… คำพูดของแม่ทำให้จงจิตถึงหลั่งน้ำตา กราบที่อกแม่ แล้วกราบลงบนตักพ่อ ก่อนออกจากบ้านขึ้นแท็กซี่ไปสถานีขนส่งสายเหนือ ตลาดหมอชิต

ช่วงนั้น พี่สมพงศ์ ศึกษาธิการอำเภอ นักเรียนฝึกหัดครูรุ่นพี่ขณะจงจิตเข้าเรียนปีแรก พี่สมพงศ์เรียนประกาศนียบัตรวิชาการศึกษาชั้นสูง หรือ ป.กศ.สูง ต้องการครูเข้าสอนในโรงเรียนด่านอุดม แต่เธอต้องเป็นครูในตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวไปก่อน ด้วยเหตุกะทันหัน บรรจุให้เข้าเป็นครูไม่ทัน

คืนแรก ศึกษาฯ สมพงศ์ให้พี่นวล เมียของเขาจัดที่ทางให้จงจิตพัก รุ่งเช้าจึงพาจงจิตไปพบครูทวี ครูใหญ่โรงเรียนด่านอุดมทันที

วันนี้ นับเป็นปีที่สองแล้ว จงจิตยังไม่ได้รับบรรจุเป็นครู แต่เธอไม่ได้เดือดร้อนอะไร ดีเสียอีกที่ไม่เป็นการผูกมัด แม้เคยต้องการออกมาเป็นครูในชนบท แต่เมื่อเรียนจบมหาวิทยาลัย มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทญาติ ทำให้คลายความคิด ทั้งยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นครูนานเท่าใด ทุกครั้งที่กลับบ้าน แม่มักถามอยากให้กลับมาอยู่บ้าน ช่วยดูแลพ่อแม่ ซึ่งไม่มีใครนอกจากน้องสาวสองคนที่ยังเรียนทั้งคู่

สองปีนี้ พ่อแม่อายุมากขึ้น แต่เธอยังไม่ได้คิดตัดสินใจอย่างไร