เช็กสต๊อกหนังสือ : วัด-วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ / สาปศิลป์ / คน(ทำไม)ไร้บ้าน

วัด-วัง ในพระราชประสงค์พระจอมเกล้าฯ ศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษ สำนักพิมพ์มติชน ผศ.ดร.พัสวีสิริ เปรมกุลนันท์ ผู้เขียน จำนวน 400 หน้า ราคา 440 บาท

เป็นผลงานที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะไทย ของผู้เขียน ที่มุ่งวิเคราะห์งานศิลปกรรมในรัชกาลที่ ๔ เพื่ออธิบายถึงพระราชประสงค์ที่แท้ของการสถาปนาวัตถุสถานในบวรพุทธศาสนาในรัชกาลของพระองค์ ซึ่งนับเป็นงานวิจัยที่มีความละเอียดถี่ถ้วนและได้รับการยอมรับว่าทำให้เห็นถึงลักษณะเฉพาะของงานช่างในรัชสมัยดังกล่าว แนวพระราชศรัทธาในการสร้างศิลปกรรม รวมทั้งพระราชประสงค์ครั้งสำคัญของการสถาปนาวัดที่ยังไม่เคยมีการอธิบายทั้งรูปแบบศิลปกรรมและการวิเคราะหลักฐานอย่างเป็นระบบมาก่อน

ในเล่มจะเริ่มด้วยการกล่าวถึงบริบททางสังคมในรัชสมัยของพระองค์ ในช่วง ๒๐ ปีเมื่อทรงพระเยาว์ ๒๗ ปีในวิถีสมณเพศ และ ๑๗ ปีแห่งการครองราชสมบัติ จากนั้นจึงกล่าวถึงพระอารามในพุทธศาสนาในยุคนั้นที่จะมีเจดีย์ทรงระฆังเป็นแบบพระราชนิยม รวมทั้งพระพุทธรูปและจิตรกรรมฝาผนังในพระราชประสงค์ และศิลปกรรมเนื่องในสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งภายในพระบรมมหาราชวังและพระราชวังในต่างจังหวัด

ก่อนปิดท้ายด้วยบทสรุปในแต่ละประเด็น ที่ทั้งหมดล้วนสะท้อนว่า ศิลปกรรมแห่งแผ่นดินนั้น จะแฝงไว้ด้วยนัยยะทางการเมืองการปกครองเสมอ

สาปศิลป์ สำนักพิมพ์มติชน นภ ดารารัตน์ เขียน จำนวน 191 หน้า ราคา 240 บาท

รวมเรื่องสั้นของนักแปลอิสระเจ้าของผลงานเด่นๆ หลายเล่มในช่วงที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น เทคโนโลโยี : ประวัติศาสตร์ไวเบรเตอร์, พิภพชัชวาล และชาติคืออะไร

เขาผันตัวเองมาเขียนเรื่องสั้น และนี่เป็นผลงานรวมเล่ม เล่มแรกของเขา

แต่ละเรื่องราวในเล่ม ทั้ง ท่านบารอนกับการล่าสัตว์,จำหลัก จารึก, ปีศาจตนหนึ่งข้องใจทำไมมนุษย์ถึงชอบขัดจังหวะกันอยู่ได้, ภาพในเฟรม, SHEOL, สิ่งดลใจ, CASSANDRA และ เขียนร่าง สะท้อนเบื้องลึกของมนุษย์ ผ่านการเล่าเรื่องจากบริบทของงานศิลปะในแต่ละรูปแบบ เพื่อสื่อให้เห็นว่า เงาปีศาจที่ผู้คนประสบอยู่คืออะไร เป็นอสูรร้ายจากอำนาจมืดที่ใครคนหนึ่งคอยบงการ หรือแท้ที่จริง คือ จิตใต้สำนึกที่ตนเองเป็นผู้ให้กำเนิดกันแน่

นั่นเป็นเพราะเราคงต้องยอมรับว่ามนุษย์นั้นหวาดหวั่นกับความรู้สึกในด้านลบเสมอ ทั้งที่มันก็ไร้ตัวตน จับต้องไม่ได้ บางครั้งก็เป็นความเลื่อนลอย แต่ทำไมความกลัว ความเศร้า ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน กลับแทรกซึมอยู่ในห้วงภวังค์อย่างยากจะยับยั้ง

ทุกเรื่องร้อยเรียงตามคอนเซ็ปต์ นับแต่บรรยากาศของเรื่อง ชื่อตัวละครที่กว่าครึ่งใช้ชื่อและฉากในต่างประเทศ ทุกเนื้อหายังสะท้อนภาวะชวนอึดอัดโดยเฉพาะการกดขี่จากผู้เหนือกว่าและพร้อมนำเสนอมุมมืดของโลกอารยะได้อย่างน่าสนใด้ ด้วยภาษาเขียนลื่นไหลทันสมัย

คน(ทำไม)ไร้บ้าน จัดพิมพ์โดยเครือข่ายสังคมเพื่อความเป็นธรรม อนรรฆ พิทักษ์ธานิน และ ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย ร่วมเขียน จำนวน 107 หน้า ราคา 100 บาท

รวมเรื่องราวประสบการณ์ที่คนไร้บ้านแต่ละคนได้พบเจอ ทั้งในช่วงก่อนและหลังการเข้าสู่ “ภาวะไร้บ้าน” ซึ่งมีจุดร่วมเดียวกันกับหลายๆ คนในสังคมนี้ ทั้งความไม่แน่นอนของชีวิตการทำงาน การไร้ญาติขาดมิตรดูแล การมีรายได้ที่ไม่แน่นอนและไม่พอกับรายจ่าย การเจ็บป่วยจนทำงานได้ไม่เต็มที่ การได้รับความไม่เป็นธรรมจากหลายมิติในสังคม ฯลฯ

นำไปสู่ประเด็นคำถาม หากหลายคนประสบภาวะคล้ายๆ กัน แต่ทำไมคนส่วนหนึ่งจึงเข้าสู่ภาวะไร้บ้าน ขณะที่คนอีกจำนวนหนึ่งยังสามารถประคองชีวิตต่อไปได้ แม้จะทุลักทุเลบ้าง

คำตอบที่ได้จากข้อมูลและเรื่องราวของพวกเขาเหล่านี้ คือ ความต่างของ “ตาข่ายทางสังคม” นั่นเอง

ในเล่มจะค่อยๆ ปูพื้นให้เราเข้าใจสถานการณ์คนไร้บ้านที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพการณ์ของสังคมไทย ใครบ้างที่เป็นกลไกสนับสนุนคนกลุ่มนี้ และที่น่าสนใจก็คือเสียงสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมจากปากของพวกเขาเอง ก่อนปิดท้ายด้วยข้อเสนอเพื่อลดช่องว่าง ลดความเสี่ยงของการเป็นคนไร้บ้าน – กลุ่มคนที่ถูกมองจากสังคมส่วนใหญ่ว่า “ขี้เกียจ ไม่ยอมทำงาน และสร้างปัญหาให้กับเมืองใหญ่” …ซึ่งมันเป็นเช่นนั้นจริงหรือ

ทั้งนี้ รายได้จากการขายทั้งหมด จะมอบให้เครือข่ายคนไร้บ้าน หรือหากต้องการช่วยเหลือพวกเขา ทำได้โดยการโอนผ่านบัญชี ธ.กรุงไทย “เครือข่ายคนไร้บ้าน” 483-0-20798-1

เจาะจิตฆาตกร(4)ตอน (ฆาต)กรรมตามสนอง สำนักพิมพ์ NANMEEBOOKS เหลยหมี่ ผู้เขียน อัญชลี เตยิติกุล แปล จำนวน 592 หน้า ราคา 395 บาท

ผลงานแนวสืบสวนด้านอาชญวิทยาที่ได้รับการยกย่องว่าใช้ตรรกวิทยาที่ดีที่สุดในรอบสิบปีของจีน จากผู้เขียนที่เป็น ดร. ด้านจิตวิทยาอาชญากรรม ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์สอนในโรงเรียนตำรวจและผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาอาชญากรรม

เกิดเหตุครูลงโทษเด็กคนฆ่าตัวตาย ลูกขับไล่แม่เพื่อเอาเงิน คนดีมีน้ำใจพากันถูกใส่ร้าย ทั้งเมืองเต็มไปด้วยพฤติกรรมชั่วช้าสารพัด ผู้คนทำได้เพียงสาปแช่งด่าทอ แต่คนชั่วที่เป็นต้นเหตุก็ไม่ถูกเอาตัวมาลงโทษให้สาสม

ทำให้ใครบางคนเริ่มลงทัณฑ์คนชั่วด้วยตัวเอง สวมบทบาท “วีรบุรุษผู้ผดุงธรรม” ก่อเหตุฆาตกรรมที่กลายเป็นพิธีกรรมคืนสนองความชั่ว จนได้รับสมญานาม “แสงแห่งนคร”

ทว่า ยิ่งแสงนี้เปล่งประกายเจิดจ้าเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสาดส่องให้เห็นด้านมืดในจิตใจผู้คนมากเท่านั้น ฟังมู่จึงต้องรีบหาหนทางสืบสาวถึงตัวฆาตกรอัจฉริยะที่ไม่เคยทิ้งร่องรอยแม้แต่เศษเสี้ยวคนนี้ ก่อนที่ลำแสงนั้นจะเผาผลาญเมืองนี้ ทำลายมโนธรรมในจิตใจของผู้คนทั้งหลายกลายเป็นจุณ

คํา คม คิด

“ผมยังไม่ตาย คนก็ลืมไปแล้ว ถ้าคุณยอมรับความจริงข้อนี้ได้ คุณอยู่ได้สบายเลย วัยรุ่นต้องเรียนอันนี้ไว้ เพราะสมัยนี้เขาคิดว่าทุกคนต้องเป็นดารา อย่าไปนึกว่าเราเป็นคนสำคัญ จงจำไว้ว่า คนทุกคนจะถูกลืม”

ส.ศิวรักษ์