มุกดา สุวรรณชาติ : เขียนรัฐธรรมนูญเพื่อครองอำนาจ (จบ) ประชาราษฎร์ต้องแก้ไขเอง

มุกดา สุวรรณชาติ

รัฐธรรมนูญเผด็จการ จะแก้ไขได้หรือไม่…อย่างไร?

ตามประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าผู้มีอำนาจไม่ฉีก ประชาชนก็จะฉีก

บทเรียนการแก้รัฐธรรมนูญ (รธน.) ที่มาจากเผด็จการ ถ้าโค่นได้ ก็แก้ไขได้

ภายหลังโค่นเผด็จการ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีการร่าง รธน.ใหม่

ภายหลังการเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ รสช. ถูกโค่นอำนาจลง

จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. 2534 หลายครั้ง โดยสภาผู้แทนฯ ชุดใหม่ (พร้อมเตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนไปด้วย) เช่น…

แก้ไขให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา และประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภา รวมทั้งแก้ไของค์ประกอบของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

ยกเลิกอำนาจของวุฒิสภาในการเข้าชื่อเสนอญัตติ ขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะ

ผู้จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

ให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

กำหนดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม ของปีที่มีการเลือกตั้ง

ให้มีคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการรัฐสภา และศาลปกครอง

ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุมัติรัฐธรรมนูญโดยการออกเสียงประชามติ

แสดงว่าเมื่อเผด็จการหมดอำนาจ ประชาชนจึงจะแก้ไข รธน. ได้ หรือร่าง รธน.ใหม่ให้เป็นประชาธิปไตยได้

 

เมื่อไม่มีการรัฐประหาร
ระบอบประชาธิปไตย
จะพัฒนาตัวระบบ และตัวบุคคล
ให้อยู่ได้ยาวนานขึ้น

จะเห็นได้ว่า เมื่อ รสช. ถูกโค่นอำนาจลงโดยประชาชน มีการเลือกตั้งใหม่ได้นายกฯ จากการเลือกตั้ง 5 คน เริ่มจากพรรคประชาธิปัตย์คือ นายชวน หลีกภัย รัฐบาลนายกฯ ชวนประกาศยุบสภา 19 พฤษภาคม 2538 หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจกรณีที่ดิน ส.ป.ก. เลือกตั้งใหม่ได้นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี อยู่ถึง 27 กันยายน 2539 ก็ยุบสภา

เลือกตั้งใหม่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ จากพรรคความหวังใหม่เป็นนายกฯ เดือนตุลาคม 2540 รัฐบาล พล.อ.ชวลิตลาออกเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจการลดค่าเงินบาทในเดือนพฤศจิกายน 2540 นายชวนเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้ง โดยการช่วยเหลือจากกลุ่มงูเห่าจากพรรคประชากรไทย นายชวนเป็นนายกฯ ไปถึง 9 พฤศจิกายน 2543 และยุบสภาก่อนหมดวาระเพียง 8 วัน

ในขณะเดียวกัน การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ก็เสร็จเรียบร้อย มีการประกาศใช้เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2540

ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับ 2534 หมดอายุลง รวมเวลาที่ใช้คือ 5 ปี 10 เดือน มีรัฐบาลที่บริหารประเทศถึง 5 ชุด

ช่วงหลังพฤษภาทมิฬ จะเห็นได้ว่าระบอบประชาธิปไตยดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นไปตามระบบ เมื่อมีความขัดแย้งก็ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่

แต่สิ่งที่ประชาชนไม่พอใจคือ การมีรัฐบาลผสมหลายพรรค ตั้งแต่ยุค พล.อ.เปรม ปี 2523 จนถึง 2543 ตลอดเวลา 20 ปี ที่การจัด ครม. ต้องแบ่งโควต้ารัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ตามพรรคใหญ่ พรรคเล็ก ตามจำนวน ส.ส. เช่น มี ส.ส. 6 คนจะได้ 1 ตำแหน่งรัฐมนตรี ความขัดแย้งในเชิงนโยบาย การบริหารและผลประโยชน์

ทำให้ประชาชนอยากเห็นการเมืองแบบสองพรรคใหญ่ ที่จะเป็นฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล

 

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นประชาธิปไตยมาก
ส.ว.เลือกตั้งทั้งหมด
เกิดการเลือกนโยบาย…
เกิดพรรคใหญ่
แต่อภิสิทธิ์ชนไม่มีที่ยืนทางการเมือง

ถ้าจะเรียกว่ายุคประชาชนเป็นใหญ่ของจริง ก็ต้องภายใต้ รธน. 2540

มีการเลือกตั้งใหม่ 6 มกราคม 2544 ถึงยุคของนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร จากไทยรักไทย ครั้งแรกได้ ส.ส. เกือบครึ่งสภา จึงเข้ามาบริหารและสามารถอยู่จนครบวาระ 4 ปี ถือว่าเป็นสภาและรัฐบาลชุดแรกที่อยู่จนครบวาระตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญ

ระบอบประชาธิปไตยที่มีผลโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนปรากฏให้เห็นผ่านนโยบายของพรรคการเมือง เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค ฯลฯ

เมื่อมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548 สมัยที่ 2 ไทยรักไทยได้ ส.ส. ถึง 377 เสียง จาก 500 เสียง สามารถตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

ในที่สุดก็มีพรรคใหญ่เกิดขึ้นจริงๆ แต่ทำให้คนเสียผลประโยชน์ทางการเมืองและเศรษฐกิจไม่พอใจ

ระบอบประชาธิปไตยซึ่งดูเหมือนจะดำเนินไปได้ด้วยดีก็ถูกวงจรอุบาทว์หมุนกลับมาทับอีกครั้ง มีการรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 ยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 รวมเวลาที่ใช้งาน 8 ปีกับอีก 11 เดือน

 

รัฐธรรมนูญ 2550
กำเนิดวงจรอุบาทว์ยุคใหม่
ยึดอำนาจต้องใช้ม็อบ องค์กรอิสระ ตุลาการภิวัฒน์
และการรัฐประหาร

รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นผลผลิตของการรัฐประหาร 2549 เขียนให้มี ส.ว.แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง เลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่พอถึงการเลือกตั้ง ส.ส. ปี 2551 ก็พิสูจน์ได้ว่า…เสียของ…เพราะประชาชนก็ยังคงเลือกฝ่ายตรงข้ามคณะรัฐประหารอยู่ดี

ความวุ่นวายที่ตามมาคือ การใช้ม็อบ ยึดทำเนียบ ยึดสนามบิน ใช้องค์กรอิสระและตุลาการภิวัฒน์มาล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ทำให้ความแตกแยกของประชาชนขยายกว้างไปทั่วประเทศ ซึมลึกลงในครัวเรือน ฝังลงไปเป็นอุดมการณ์ แม้มีการใช้กำลังปราบประชาชนในปี 2553 แต่ก็ยังไม่สำเร็จ

เมื่อมีการเลือกตั้งปี 2554 ชัยชนะก็ยังเป็นของพรรคเพื่อไทย ได้ ส.ส. เกินครึ่งสภา มากกว่าปี 2551 อีก ได้นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มือใหม่หัดขับ แสดงว่า แม้นายกฯ ทักษิณ ไม่อยู่แล้ว ผู้คนก็ยังเลือก พวกเขาไม่ได้เลือกคน ไม่ติดชื่อพรรค แต่ดูนโยบายและการกระทำ

มีผลให้การสืบทอดอำนาจล้มเหลว และยังทำให้เกิดความหวั่นเกรงว่าจะแพ้อีกครั้ง

ถึงวันนี้ครบรอบ 10 ปีจากปี 2551 ที่เกิดปฏิบัติการชิงอำนาจ ที่ต้องใช้ทุกองค์กร เปิดหน้าออกมาอย่างไม่อาย เพื่อทำให้วงจรอุบาทว์หมุนไปได้ แต่เมื่อไม่สำเร็จ วงจรอุบาทว์ต้องหมุนซ้ำ รอบสองในปี 2556 ใช้ม็อบปิดกรุงเทพฯ ใช้ตุลาการภิวัฒน์ปลดนายกฯ ปิดท้ายด้วยรัฐประหาร… รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ร่างเอง ก็ต้องฉีกทิ้ง เพราะไม่สามารถใช้สืบทอดอำนาจได้

ขณะนี้มาถึงช่วงท้ายของวงจร รัฐธรรมนูญร่างเสร็จช่วงที่จะมีการเลือกตั้ง

 

รัฐธรรมนูญ 2560
ใส่ความได้เปรียบของผู้มีอำนาจทุกยุคมารวมไว้
แถมด้วยกรรมการยุทธศาสตร์…
และอย่าฝันว่าจะแก้ไขได้?

ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะประชาชนที่ชอบเลือกพรรคการเมืองเดิม เพื่อไทย 40-50 เปอร์เซ็นต์ ปชป. 30 เปอร์เซ็นต์ ทำให้คนหลายกลุ่มเกิดความหวั่นเกรงว่าจะแพ้แบบย่อยยับอีกครั้ง

เมื่อการเป็นผู้ปกครองตามรัฐธรรมนูญนี้ต้องพึ่งจำนวน ส.ส. ทั้งรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบ จึงต้องเขียนเพื่อให้แพ้น้อยที่สุด แม้ไม่ได้ที่ 1 ก็ยังเข้าสู่อำนาจได้

รธน.2560 ที่ร่างมาสองรอบ เลื่อนโรดแม็ปมาหลายครั้ง แม้บางคนคิดว่ามันจะเป็นเครื่องทุ่นแรงที่ทำให้ได้เปรียบในเกมชิงและคุมอำนาจ (การวิจารณ์เนื้อหา รธน.2560 ยาวมาก ขอยกไปในโอกาสอื่น)

แต่บอกได้เลยว่านี่จะเป็นชนวนความขัดแย้งที่จะแตกหัก

มีผลต่อการชิงอำนาจปกครองที่ผ่านระบบเลือกตั้งและการโค่นล้มกันในภายหน้า ซึ่งจะต้องมีผู้รับผิดชอบต่อความเสียหายในอนาคต

การแก้ไขยากมาก ร่างใหม่ง่ายกว่า

ร่างรัฐธรรมนูญนี้ถูกออกแบบมาให้แก้ไขยากมาก

โดย ส.ว. ต้องเห็นชอบด้วย 1 ใน 3

พรรคการเมืองทุกพรรคต้องมี ส.ส. โหวตให้ร้อยละ 20

ถ้าจะแก้ไขให้ ส.ว. ซึ่งมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เปลี่ยนเป็นเลือกตั้ง จะมี…ที่ไหนเห็นชอบ หรือแม้แต่มีแค่พรรคการเมืองเดียวที่ไม่เห็นด้วย ก็จะแก้ไขไม่ได้

ในประเด็นซึ่งเป็นหัวใจของ รธน. นี้ เรื่องคุณสมบัตินักการเมือง อำนาจหน้าที่ศาลและองค์กรอิสระ หากจะแก้ไขต้องผ่านประชามติก่อน และศาลรัฐธรรมนูญยังอาจเข้ามาวินิจฉัยว่า ห้ามแก้ไขในประเด็นที่จะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของรัฐ

บทเฉพาะกาล…แม้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ 2560 แล้ว ยังปูพรมแดงให้ทั้ง คสช. รัฐบาลปัจจุบัน สนช. สปท. ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป จนกว่าจะเลือกตั้งและมีรัฐบาลใหม่

และล่าสุด ยังมีลูกเล่นอยู่ในกฎหมายพรรคการเมือง และอาจจะอยู่ในกฎระเบียบการเลือกตั้ง

 

บทสรุปวงจรอุบาทว์

ยุค 2490 โดย จอมพล ป. พิบูลสงคราม ใช้ทหาร+ส.ว.

ยุค 2500 โดย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ใช้ทหารเป็นหลัก

ยุค 2510 โดย จอมพลถนอม กิตติขจร ใช้ทหาร+ส.ว.

ยุค 2520 โดย พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์+พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ทหาร+ส.ว.+ส.ส.

ยุค 2534 โดย รสช. ใช้ทหาร+ส.ว.+ส.ส.

ยุค 2550 โดย คมช. ใช้ม็อบ+ทหาร+องค์กรอิสระ+ตุลาการภิวัฒน์+ส.ว.+ส.ส.+สื่อ

การก้าวขึ้นมาเป็นผู้ปกครองในยุค 2560 ถ้าแค่ผ่านการเลือกตั้ง มี ส.ส. หนุน คงเป็นไปได้ยาก

ใครที่มีกำลังหนุน 7 ทัพ แบบยุค 2550 จึงจะมีโอกาส และที่เพิ่มขึ้นมาในยุคนี้คือ กรรมการยุทธศาสตร์

การมีรัฐธรรมนูญและการเลือกตั้ง กลายเป็นเครื่องมือของผู้ปกครองเพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นรัฐที่มีมาตรฐาน คือ มีกฎหมาย, มีสภา, มีรัฐบาล และมีศาล แต่ในความเป็นจริงแล้ว กฎที่ถูกเขียนในรัฐธรรมนูญ เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ที่เขียนทั้งสิ้น เพียงแต่จะแอบแฝงหรือเปิดเผย องค์กรอื่นๆ ก็เช่นกัน สามารถเอนเอียงไปเป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจได้เสมอ

ถึงวันนี้ เสียงประชาชนในการเลือกตั้ง ไม่สามารถเลือกผู้ปกครองได้อีกแล้ว ประชาชนต้องใช้ความสามัคคี กำลัง ความสามารถ เปลี่ยนแปลง แก้ไข เพื่อชีวิตตัวเองและลูกหลาน