E-DUANG : เบื้องหลัง ขบวนการ “ยื้อ” เลือกตั้ง

ความรุนแรง แข็งกร้าว ในทางการเมืองจะทวีความแหลมคมมากยิ่งขึ้นในปี 2561

จากปัจจัย 2 ปัจจัย

ปัจจัย 1 มาจากฝ่ายที่ต้องการการเลือกตั้ง ปัจจัย 1 มาจากฝ่ายที่ไม่ต้องการการเลือกตั้ง

ฝ่ายแรกจะดำเนินไปในเชิง “เร่งเร้า”

ฝ่ายหลังจะดำเนินไปในลักษณะเตะถ่วง รั้งดึง ยื้อยุดอย่างเต็มความสามารถ

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้คู่ความขัดแย้งแปรเปลี่ยน

การเล่นงานกันระหว่างพรรคการเมือง โดยเฉพาะระหว่าง 2 พรรคใหญ่เริ่มลดลง

เพราะแจ่มชัดว่า “ปรปักษ์” เฉพาะหน้าเป็นใคร

 

หากดูจากหัวขบวน ไม่ว่าจะจากพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ว่าจะจากพรรคเพื่อไทย

น้ำร้อนที่เคยสาดเข้าหากันเริ่มลดลง

น้ำหนักไปยังกรณีของคสช. กรณีของรัฐบาล มากยิ่งขึ้นเป็นลำดับ

โดยเฉพาะนับแต่คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 53 ออกมา

บรรดา “มันสมอง”ก้อนโตในแต่ละพรรคการเมืองล้วนวิเคราะห์ได้ทะลุปรุโปร่งว่า เป้าหมายในการทำลายล้าง คือ พรรคการเมือง

เน้นอย่างหนักแน่นว่าเป็นพรรคการเมืองเก่า

เรื่องที่เคยสร้างบาดแผลให้กันก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 ก่อนเดือนพฤษภาคม 2557 จึงพักไว้ชั่วคราว

ทุกอาวุธล้วนกระหน่ำไปยัง “คสช.”

 

ความจริงได้เคยมีการหยิบยกประเด็นว่าด้วย”คู่ความขัดแย้ง”มาถกแถลงตั้งแต่มีการเสนอเรื่องปรองดองเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 มาแล้ว

ว่า คสช.คือ คู่ความขัดแย้งสำคัญ

แม้คสช.และรัฐบาลจะพยายามวางตนอยู่”เหนือ”ความขัดแย้ง แต่ยิ่งโรดแมปการเลือกตั้งย่างสามขุมเข้ามา ยิ่งทำให้สังคมเห็นอย่างเด่นชัด

เมื่อเกิดปัจจัยที่ “ยื้อ” การเลือกตั้งหนาแน่นยิ่งขึ้น เมื่อเกิดปัจจัยที่ “ไม่อยาก” ให้มี “เลือกตั้ง” หนาแน่นยิ่งขึ้น

ใครเป็นฝ่าย “ไม่อยาก” ให้มี “เลือกตั้ง” เริ่มปรากฏตัว