การกลับมาขึ้นสู่ตำแหน่ง “ผบ.ทบ.” ของนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

ปิยะภพ มะหะมัด[i]

fullsizerender-1

หลังจากหนังสือพิมพ์ออนไลน์ฉบับต่างๆ ได้นำเสนอเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2559 ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ บอกกับผู้สื่อข่าวแล้วว่า ได้ทูลเกล้าฯเรียบร้อยแล้ว[ii]

ซึ่งข่าวในหนังสือพิมพ์ออนไลน์ระบุตรงกันว่า ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 40 ต่อจากพลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันที่กำลังจะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2559 เป็นนายทหารที่มาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้แก่ พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ซึ่งเติบโตในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมาตลอด ที่มาแรงช่วงโค้งสุดท้ายเบียดพลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร เสนาธิการทหารบก นายทหารจากบูรพาพยัคฆ์ ที่มีความสนิทสนมกับพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

ในช่วงแรกพลเอกพิสิทธิ์เป็นแคนดิเดตผู้บัญชาการทหารบกต่อจากพลเอกธีรชัยมาตลอด ก่อนที่พลเอกเฉลิมชัยจะเบียดพลเอกพิสิทธิ์ช่วงสุดท้ายขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้สำเร็จ เป็นครั้งแรกที่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกถูกกระจายมาสู่นายทหารที่ไม่ได้มาจากบูรพาพยัคฆ์ (กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์) และทหารเสือราชินี (กรมทหาราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ) ระหว่างปี 2550-2559 ผู้บัญชาการทหารบกมาจากนายบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีติดต่อกัน 4 คน ได้แก่[iii]

1.พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารคนที่ 36 ระหว่างปี 2550-2553

2.พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี 2553-2557

3.พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558

4.พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี 2558-2559

กล่าวได้ว่า เป็นช่วง 9 ปีที่ผู้บัญชาการทหารบกมาจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี ไม่มีทหารจากกลุ่มอื่นๆ สามารถแข่งขันขึ้นเป็นผู้บัญชาการทหารบกได้เลย รวมถึงนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ อย่างน้อยที่สุดสามารถขึ้นสู่ได้เพียงตำแหน่งระดับสูงของกองทัพบก เช่น ผู้ช่วยเสนาธิการทหาบก รองเสนาธิการทหารบก และผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารทหารบก เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่พลเอกเฉลิมชัยจะสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 40 ในอดีตเคยมีผู้บัญชาการทหารบกที่มาจากหน่วยบัญชาการสงคามพิเศษทั้งสิ้น 3 คน ได้แก่[iv]

IMG_7515

 

1.พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 28 ระหว่างปี 2535-2538 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครารมพิเศษ ระหว่างปี 2529-2532

2.พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 31 ระหว่างปี 2541-2545 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครารมพิเศษ ระหว่างปี 2535-2537

3.พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ระหว่างปี 2548-2550 อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครารมพิเศษ ระหว่างปี 2545-2547

พลเอกสุรยุทธ์กับพลเอกสนธิ เติบโตในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมาตลอดจนขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พลเอกวิมล[v] มาดำรงตำแหน่งในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษครั้งแรกในตำแหน่ง ผู้บังคับชุดปฏิบัติการกองร้อยรบพิเศษ กองรบพิเศษ (พลร่ม) ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้ช่วยนายทหารยุทธการและการฝึก กองรบพิเศษ (พลร่ม) หัวหน้ากองค้นคว้าและพัฒนาการรบ ศูนย์สงครามพิเศษและหัวหน้าฝ่ายยุทธการและการฝึก ศูนย์สงครามพิเศษ ก่อนข้ามไปดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 6 และกลับมาขึ้นเป็นพลตรีในตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ต่อมาข้ามไปดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และกลับมาขึ้นเป็นพลโทในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พลเอกวิมลกับพลเอกสุรยุทธ์ ต้องขึ้นพลโท 2 ครั้ง ก่อนขึ้นเป็นพลเอก พลเอกวิมลขึ้นเป็นพลโทครั้งแรกในตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และข้ามไปขึ้นเป็นพลโทครั้งที่ 2 ในตำแหน่งแม่ทัพภาค 2 ก่อนขึ้นเป็นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก พลเอกสุรยุทธ์ ขึ้นเป็นพลโท 2 ครั้งแบบเดียวกับพลเอกวิมล ก่อนขึ้นเป็นพลเอกในตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษกองทัพบก

พลเอกสนธิ ไม่ได้ขึ้นพลโท 2 ครั้ง จากผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ขึ้นเป็นพลเอกในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

การที่นายทหารทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้ในปี 2535 ภายหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม (พฤษภาทมิฬ) เหตุผลสำคัญคือ[vi] การล่มสลายการผูกขาดตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกและระดับสูงในกองทัพบกของ จปร.5 นำมาสู่การกระจายรุ่นออกไปรุ่นต่างๆ และเปิดโอกาสให้นายทหารกลุ่มอื่นที่ไม่ได้เป็นเครือข่าย จปร.5 และวงศ์เทวัญ (กองพลที่ 1 รักษาพระองค์) สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกได้เช่นเดียวกัน เช่น หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ บูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี เป็นต้น

ถ้ามองการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาทหารบกในเรื่องของเส้นทางการเติบโต เส้นทางการเติบโตสามารถแบ่งออกเป็น 2 เส้นทางหลัก ได้แก่ สายคุมกำลัง (Line/Command) กับ สายเสนาธิการ (Staff)[vii] สายคุมกำลัง ได้แก่ กองทัพภาค 1, 2, 3, 4 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และหน่วยป้องกันภัยทางอากาศ ส่วนสายเสนาธิการ ได้แก่ กรมฝ่ายเสนาธิการ ประกอบด้วย กรมกำลังพลทหารบก กรมข่าวทหารบก กรมยุทธการทหารบก กรมส่งกำลังบำรุงทหารบก กรมกิจการพลเรือนทหารบก และฝ่ายเสนาธิการประจำหน่วยต่างๆ ในอดีตผู้บัญชาการทหารบกส่วนใหญ่จะมาจากการเป็นแม่ทัพภาค 1 ตำแหน่งแม่ทัพภาค 1 มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์เนื่องจากกำลังรบส่วนใหญ่เป็นหน่วยขึ้นตรงของกองทัพภาค 1 เกือบทั้งหมด เช่น กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ และกองพลทหารราบที่ 9 เป็นต้น ทำให้มีความได้เปรียบกว่าแม่ทัพภาค 2, 3 และ 4 ที่ไม่ได้คุมกำลังรบส่วนใหญ่เหมือนกันแม่ทัพภาค 1 สำหรับผู้บัญชาการทหารบกที่ผ่านการดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 1 มาก่อน ได้แก่[viii]

sdhtkktt

  1. จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 16 ระหว่างปี 2497-2506
  2. จอมพลถนอม กิตติขจร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 17 ระหว่างปี 2506-2507
  3. จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 18 ระหว่างปี 2507-2516
  4. พลเอกกฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 19 ระหว่างปี 2516-2518
  5. พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารคนที่ 24 ระหว่างปี 2525-2529
  6. พลเอกเชษฐา ฐานะจาโร ผู้บัญชาการทหารคนที่ 30 ระหว่างปี 2539-2541
  7. พลเอกสมทัต อัตตะนันทน์ ผู้บัญชาการทหารคนที่ 32 ระหว่างปี 2545-2546
  8. พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการทหารคนที่ 34 ระหว่างปี 2547-2548
  9. พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารคนที่ 35 ระหว่างปี 2550-2553
  10. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 37 ระหว่างปี 2553-2557
  11. พลเอกอุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 38 ระหว่างปี 2557-2558
  12. พลเอกธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 39 ระหว่างปี 2558-2559

ส่วนนายทหารที่เติบโตจากสายเสนาธิการสามารถขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเช่นเดียวกัน ได้แก่[ix]

  1. พลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 20 ระหว่างปี 2518-2519
  2. พลเอกเสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 21 ระหว่างปี 2519-2521
  3. พลเอกประยุทธ์ จารุมณี ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 23 ระหว่างปี 2524-2525
  4. พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 25 ระหว่างปี 2529-2533
  5. พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 26 ระหว่างปี 2533-2535
  6. พลเอกประมณฑ์ ผลาสินธุ์ ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 29 ระหว่างปี 2538-2539

ก่อนที่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษจะมีการขยายหน่วยเทียบเท่าระดับกองทัพภาคในปี 2526[x] มีผู้บังคับบัญชาหน่วยอัตราพลโทนั้น แต่เดิมหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษมีจุดเริ่มต้นจากการจัดตั้งหน่วยเป็นกองพันทหารพลร่มหรือ “พลร่มป่าหวาย” ในปี 2497 และขยายหน่วยเป็นกองรบพิเศษ (พลร่ม) ต่อมาในปี 2509 ขยายหน่วยเป็นระดับกองพล คือ ศูนย์สงครามพิเศษ ปี 2525 มีการจัดตั้งหน่วยเพิ่ม ได้แก่ กองพลรบพิเศษที่ 1 และกองพลรบพิเศษที่ 2 และในปี 2526 ขยายและจัดตั้งเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษยุคพลเอกอาทิตย์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ขึ้นตรงต่อกองทัพบกในปัจจุบัน

ดังนั้น ทำให้การขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกจากเดิมที่เป็นการแข่งกันระหว่างสายคุมกำลังที่มาจากแม่ทัพภาค 1, 2, 3 และ 4 กับ สายเสนาธิการ มีการเพิ่มผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และผู้บัญชาหารหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ มีการจัดหน่วยเทียบเท่าระดับกองทัพภาคในปี 2532[xi] ในยุคพลเอกชวลิตดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และผู้บัญชาหารหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ ได้เข้ามาแข่งเพื่อขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเช่นเดียวกัน

ในอดีตก่อนที่จะมาเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ มีนายทหารที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงของกองทัพบกทั้งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก และรองผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ พลเอกเทียนชัย ศิริสัมพันธ์ พลเอกเทียนชัยผ่านการดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม ผู้บังคับการศูนย์สงครามพิเศษ และผู้บัญชาการศูนย์สงครารมพิเศษ พลเอกเทียนชัยมีบทบาทสำคัญในการวางรากฐานการพัฒนาหน่วยตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารพลร่ม จนสามารถขยายหน่วยเป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษในปี 2526

ภายหลังจากที่เป็นหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษแล้ว นอกจากจะมีผู้บัญชาการทหารบก 3 คนที่มาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ได้แก่ พลเอกวิมล พลเอกสุรยุทธ์ และพลเอกสนธิ ยังมีนายทหารที่รับราชการอยู่ในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษที่สามารถขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงในกองทัพบก ดังนี้

  1. พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษระหว่างปี 2527-2529 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ต่อมาดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด
  2. พลเอกบุญรอด สมทัศน์ ดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่รองบัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายข่าว รองเสนาธิการทหารบก และเสนาธิการทหารบก
  3. พลเอกมาลัย คิ้วเที่ยง ดำรงตำแหน่งสุดท้ายที่ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ และรองเสนาธิการทหารบก
  4. พลเอกโปฎก บุนนาค อดีตผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษระหว่างปี 2552-2554 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก

พลเอกสุรยุทธ์ พลเอกสนธิ และพลเอกเฉลิมชัย ว่าที่ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 40 มีเส้นทางการเติบโตในหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษแบบเดียวกัน[xii] ได้แก่ “ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1—>ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่ 1—>ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ” ซึ่งเป็นเส้นทางการเติบโตหลักของนายทหารที่มาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก

ถ้าเปรียบกับเส้นทางการเติบโตของผู้บัญชาการทหารบกที่มาจากแม่ทัพภาค 1 ซึ่งคุมกำลังรบหลัก คือ กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (วงศ์เทวัญ) และกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (บูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี) มีเส้นทางการเติบโตแบบเดียวกับนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ดังนี้[xiii]

เติบโตจากวงศ์เทวัญ ได้แก่ “ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และแม่ทัพภาค 1

เติบโตจากบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินี ได้แก่ “ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 12 รักษาพระองค์/กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ในสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ—>ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์—>แม่ทัพภาค 1”

ทั้งหมดเป็นการอธิบายถึงความเป็นมาการขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกของนายทหารจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ซึ่งกลับมาขึ้นสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกอีกครั้งในรอบ 9 ปี หลังจากผู้บัญชาการทหารมาจากนายทหารบูรพาพยัคฆ์และทหารเสือราชินีติดต่อกัน 4 คน ระหว่างปี 2550-2559

____________________________________________

[i]สาขาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

[ii]กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. ‘นายกฯ’ ทูลเกล้าโผทหารเย็นนี้ http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/714324,

ประชา บูรพาวิถี. แม่ทัพบก ‘หมวกแดง’ http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/638744, ไทยรัฐออนไลน์.

‘บิ๊กเจี๊ยบ’ แรงแซง ‘บิ๊กแกละ’ เข้าป้าย ผงาดเป็น ‘แม่ทัพบก’ คนที่ 40 http://www.thairath.co.th/content/700879, คม ชัด ลึก. โผทหารลงตัว ดัน“บิ๊กเจี๊ยบ”ผบ.ทบ. สลายขั้ว “บูรพาพยัคฆ์” http://www.komchadluek.net/news

/regional/239438, มติชนออนไลน์. เบรก “บูรพาพยัคฆ์” ‘บิ๊กเจี๊ยบ’พลิกโผผงาด ขึ้น ผบ.ทบ.- ‘บิ๊กแดง’ แม่ทัพภาค 1 http://www.matichon.co.th/news/262184, MGR Online. โผทหาร “เฉลิมชัย” นั่งผบ.ทบ. “บิ๊กแดง” ขึ้นแม่ทัพภาค 1 http://www.manager.co.th/UpToDate/ViewNews.aspx?NewsID=9590000085053, บ้านเมือง. “บิ๊กตู่” ทูลเกล้าฯ “โผทหาร” ดัน”พล.อ.เฉลิมชัย”ผบ.ทบ. http://www.banmuang.co.th/news/politic/59940

[iii]วันวิชิต บุญโปร่ง. (2556). บทบาททางการทหารและทางการเมืองของ “กลุ่มนายทหารบูรพาพยัคฆ์” พ.ศ.2524-2554. วารสารสหวิทยาการวิจัย: ฉบับบัณฑิตศึกษา, 2 (2). 1-15.

[iv]วันวิชิต บุญโปร่ง. (2554). เส้นทางสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในรอบ 4 ทศวรรษ. รวมบทความวิชาการและงานวิจัย การประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 12. (พ.ศ. 2554). (หน้า 560-591). คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. วันที่ 8-9 ธันวาคม พ.ศ. 2554. ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน.

[v]ประวัติย่อ พลเอกวิมล วงศ์วานิช ผู้บัญชาการทหารบก. http://www.rta.mi.th/command/command28.htm

[vi]โปรดดูบทความผู้เขียนได้ที่ ปิยะภพ มะหะมัด. (2558). บทสำรวจเบื้องต้นการเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำในกองทัพบกของนายทหารกลุ่มบูรพาพยัคฆ์ระหว่างปี พ.ศ. 2544-2558. บทความฉบับเต็มการประชุมวิชาการรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์แห่งชาติ ครั้งที่ 15. (พ.ศ. 2558). (เล่มที่ 3 หน้า 296-314). คณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ สาขารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ร่วมกับคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา. วันที่ 4-6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558. ณ โรงแรมโรงแรมแอมบาสเดอร์ซิตี้.

[vii]วันวิชิต บุญโปร่ง. (2554). อ้างแล้ว.

[viii]แหล่งเดิม.

[ix]แหล่งเดิม.

[x]ประวัติหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ. http://swcom.mi.th/index.php/aboutus/history

[xi]ประวัติหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก. http://aadc.rta.mi.th/history.htm

[xii]ประวัติย่อ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก. http://www.rta.mi.th/command/command31.htm

ประวัติย่อ พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก. http://www.rta.mi.th/command/command17/_HISTORY/his_sonti.htm

Thai PBS NEWS. คาด “พล.อ.เฉลิมชัย” ผบ.ทบ.คนใหม่ http://news.thaipbs.or.th/content/255135

[xiii]โปรดดู โยชิฟุมิ ทามาดะ. (2557). รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารในกองทัพบกกับการแทรกแซงการเมืองในประเทศไทย. ฟ้าเดียวกัน, 12 (2-3). 187-244.