การขออนุญาตกลับบ้านที่น่าฉงน และ กกต.พ่อทุกสถาบัน

กฤตภาศ ศักดิษฐานนท์www.facebook.com/bintokrit

การขออนุญาตกลับบ้านที่น่าฉงน และ กกต.พ่อทุกสถาบัน 2 ประเด็นสำคัญของการเลือกตั้ง 2566 จุดเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทย

 

การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2566 ซึ่งนับเป็นครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งทางประวัติศาสตร์

เพราะเป็นไปได้ว่าผลการเลือกตั้งครั้งนี้อาจเป็นจุดเปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยอย่างน้อย 2 เรื่อง คือ

(1) วิกฤตศรัทธาต่อ กกต. กับผลพวงที่ตามมา อันอาจเป็นตัวเร่งให้เคลื่อนผ่านไปสู่การเมืองยุคดิจิทัลเร็วขึ้น

และ (2) การขออนุญาตกลับบ้านของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วัน ซึ่งอาจไม่ได้เรียกคะแนนเสียงได้มากเช่นในอดีต

แต่กลับเป็นแรงเหวี่ยงที่ทำให้คู่แข่งในขั้วเดียวกันอย่างก้าวไกลขยับขึ้นมาสู่การเป็นผู้นำแทนในอนาคต

 

1.วิกฤตศรัทธาต่อ กกต. กับผลพวงที่ตามมา อันอาจเป็นตัวเร่งให้เคลื่อนผ่านไปสู่การเมืองยุคดิจิทัล

การเลือกตั้ง 2566 เป็นการเลือกตั้งที่ กกต.ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด จากปัญหาสารพัด ตั้งแต่ก่อนประกาศยุบสภาด้วยซ้ำ

ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งเขตเลือกตั้งที่น่ากังขา

การออกกฎระเบียบควบคุมการหาเสียงเลือกตั้งอย่างยุบยิบหยุมหยิม

การกำหนดให้เบอร์ของผู้สมัครกับพรรคต้นสังกัดเป็นคนละเบอร์กัน

การพิมพ์บัตรเลือกตั้งแบบแบ่งเขต (สีม่วง) เป็นแบบหลวมๆ คือมีเพียงแต่เบอร์ ไม่จำเพาะเจาะจง ไม่มีชื่อพรรค โลโก้พรรค หรือชื่อผู้สมัคร จนทำให้นำบัตรไปใช้กับเขตใดก็ได้

การพิมพ์บัตรเลือกตั้งที่ไม่ได้คุณภาพ จนโลโก้ของบางพรรคเลือนหายไป

การพิมพ์ชื่อพรรคต้นสังกัดของผู้สมัครผิดพลาด

การติดรายชื่อผู้สมัครตามหน่วยเลือกตั้งเพียงแค่บางชื่อบางเบอร์เท่านั้น ไม่ติดให้ครบถ้วนทุกคน

การเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศช่วงใกล้เลือกตั้ง

การบริหารจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าที่พังพินาศทั้งกระบวนการจนสุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโมฆะ ตลอดจนการลงรหัสเขตเลือกตั้งอย่างสับสน และการขนส่งบัตรเลือกที่จัดการอย่างสะเปะสะปะ เป็นต้น

 

การที่ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับผิดชอบจัดการเลือกตั้งอย่างเต็มที่ ทั้งยังมีงบประมาณมหาศาล เจ้าพนักงานก็รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนเป็นจำนวนมาก และมีเวลาทำงานล้นเหลือ เนื่องจากไม่ได้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นบ่อยนัก แต่กลับทำงานได้อย่างน่าผิดหวัง จนเกิดเสียงก่นด่าสารพัดติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ นำมาสู่วิกฤตศรัทธาต่อองค์กรนี้อย่างยิ่ง

ภาพลักษณ์องค์กรที่ตกต่ำดำดิ่งเช่นนี้ทำให้นึกถึงลักษณะของเด็กนักเรียนอาชีวะบางพวกที่มีพฤติกรรมย่ำแย่แต่หาทางเอาผิดไม่ได้ คือมักไปพ่นสีประกาศศักดาตามที่ต่างๆ อวดอ้างสถาบันที่ตนสังกัด

ยกตัวอย่างเช่น หากสถาบันการศึกษาของตนมีอักษรย่อว่า กกต. ก็จะเที่ยวไปพ่นสเปรย์ตามที่ต่างๆ ว่า กกต.พ่อทุกสถาบัน ซึ่งใครผ่านมาก็จะเห็นข้อความแบบนี้อย่างเด่นชัด แต่หาตัวคนทำมาเอาผิดไม่ได้เลย

วิกฤตศรัทธานี้ก่อตัวมาช้านานแล้วตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 ด้วยซ้ำ ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นก็เกิดปัญหามากมายที่ยังคาใจประชาชนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจำนวนบัตรเลือกตั้งกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ตรงกัน

อันนำมาสู่คำศัพท์ว่า “บัตรเขย่ง” ให้ผู้คนล้อเลียนเสียดสีจนมาถึงทุกวันนี้

ไหนจะเกิดวาทะเรื่อง “เครื่องคิดเลข” ที่สะท้อนโลกทัศน์โบราณตามยุคสมัยไม่ทัน ทั้งๆ ที่โลกปัจจุบันได้เคลื่อนผ่านจากยุคอะนาล็อกเข้าสู่ยุคดิจิทัลมานานมากแล้ว

การที่บัตรเลือกตั้งจากนิวซีแลนด์ไม่ได้ถูกนับเพราะขนส่งมาถึงประเทศไทยไม่ทันเวลา

การแบ่งเขตเลือกตั้งที่แปลกประหลาดไม่สมเหตุสมผล

การสร้างสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบพิสดารซึ่งทำให้เกิดคำศัพท์ว่า “ส.ส.ปัดเศษ” ตามมา

การตัดสิทธิผู้สมัครบางรายอย่างไม่มีเหตุผลอันสมควรจนท้ายที่สุดถูกฟ้องร้องแล้ว กกต. แพ้คดีในศาล

ไหนจะเรื่องการที่บางพรรคยุบพรรคตัวเองแล้วย้ายเข้าไปสู่พรรคอื่นด้วยสถานภาพ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งไม่สามารถหาคำอธิบายได้ว่าเป็นบัญชีรายชื่อของพรรคอะไร ในลำดับใด

 

จะเห็นได้ว่า กกต. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับผิดชอบการเลือกตั้งโดยตรงได้หมดความเชื่อถือศรัทธาในหมู่ประชาชนเป็นจำนวนมาก จากการบริหารจัดการเลือกตั้งที่ไม่มีประสิทธิภาพและขาดความน่าเชื่อถือ

วิกฤตนี้ในระยะสั้นได้ก่อตัวเป็นแฮชแท็ก #กกตมีไว้ทำไม #กกตต้องติดคุก

แต่ในระยะยาวเรื่องจะไม่จบแค่นี้ เพราะในยุคสมัยที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เจริญรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว ก็เป็นไปได้ว่าในอนาคตอันใกล้ การเลือกตั้งจะถูกจัดการผ่านเทคโนโลยีแทนที่มนุษย์

ดังนั้น การเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ กกต. อาจไม่ใช่คน แต่คือ AI

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งอาจมีน้อยลงแล้วเปลี่ยนไปจัดการข้อมูลด้วย big data แทน

หน่วยเลือกตั้งหลายหน่วยอาจหายไปแล้วถูกแทนที่ด้วยแพลตฟอร์มทางออนไลน์ที่เที่ยงตรง แม่นยำ ฉับไว และไร้อคติ

หากไปเป็นอย่างที่จินตนาการข้างต้น การเมืองในยุคสมัยถัดไปจะถูกเร่งให้เข้ามาสู่ “การเลือกตั้งแบบดิจิทัล” (digital election) เร็วขึ้น

สภาพการเมืองเคลื่อนเข้าสู่ “การเมืองดิจิทัล” (digital politics) กับ “ประชาธิปไตยดิจิทัล” (digital democracy) มากขึ้น และไม่จำกัดอยู่แค่กระบวนการจัดการเลือกตั้ง แต่ในก้าวต่อไปก็อาจขยับเข้าสู่การเป็น “ประชาธิปไตยทางตรง” (direct democracy) ด้วย

ซึ่งเจตจำนงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจจะถูกส่งผ่านไปถึงคณะทำงานโดยตรงแบบไม่ต้องผ่านผู้แทนฯ ทำให้การลงมติต่างๆ ในสภา โดยเฉพาะประเด็นทั่วไปที่เป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกคน

เช่น การลงมติเรื่องรัฐธรรมนูญ หรือการออกกฎหมายบางฉบับ ไม่ว่าจะเป็นสุรา กัญชา การแต่งงาน สิทธิมนุษยชน ฯลฯ หรือแม้กระทั่งกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้รับการลงมติจากการออกเสียงของประชาชนโดยตรง ไม่ใช่จาก ส.ส.

 

2. การขออนุญาตกลับบ้านอันน่าฉงนของทักษิณ อาจไม่ได้เรียกคะแนนเสียงได้มากเช่นในอดีต

เมื่อวันที่ 1 และวันที่ 9 พฤษภาคมที่ผ่านมา อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ได้ทวีตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า

“เช้าวันนี้ ผมดีใจมากที่ได้หลานคนที่ 7 เป็นชาย ชื่อ ธาษิณ จากน้องอิ๊งค์ แพทองธาร หลานทั้ง 7 คน คลอดในขณะที่ผมต้องอยู่ต่างประเทศ ผมคงต้องขออนุญาตกลับไปเลี้ยงหลาน เพราะผมอายุจะ 74 ปี กรกฎานี้แล้ว พบกันเร็วๆ นี้ ครับ ขออนุญาตนะครับ” (1 พฤษภาคม)

“ผมขออนุญาตอีกครั้ง ผมตัดสินใจแล้วว่าจะกลับบ้านไปเลี้ยงหลานภายในเดือนกรกฎาคมนี้ก่อนวันเกิดผมครับ ขออนุญาตนะครับ เกือบ 17 ปีแล้วที่ต้องพลัดพรากจากครอบครัว ผมก็แก่แล้วครับ” และ “ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเอง ด้วยความรักผูกพันกับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา” (9 พฤษภาคม)

ในอดีตที่ผ่านมา เมื่อใดก็ตามที่ทักษิณประกาศว่าจะกลับบ้าน ก็จะมีเสียงตอบรับจากบรรดาแฟนคลับมากมาย จนบางครั้งเกิดเป็นกระแสที่เรียกคะแนนเสียงได้ในชั่วข้ามคืน

แต่การประกาศกลับบ้านครั้งล่าสุดนี้อาจไม่ได้มีเสียงตอบรับท่วมท้นแบบนั้น แต่สร้างความฉงนสงสัยให้กับฐานเสียงหลายคนถึง “ดีลลับ” ที่มักเป็นข่าวอยู่เนืองๆ

ความน่าฉงนสงสัยลับลมคมในเช่นนี้ทำให้ไม่เกิดปรากฏการณ์มวลชนคึกคักตอบรับการกลับมาอย่างกระตือรือร้นเหมือนแต่ก่อน

เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

 

ก็เพราะการต่อสู้ทางการเมืองในอดีตตั้งแต่สมัยรัฐบาลไทยรักไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเนื่องมาจนถึงการรัฐประหารปี 2557 และเข้าสู่การเลือกตั้ง 2562 นั้น การเมืองไทยถูกแบ่งออกเป็นสองขั้วคือแดงกับเหลือง

ซึ่งขั้วแดงนั้นมีทักษิณที่มวลชนยึดเป็นดั่งไอคอนทางการเมือง ความสามารถของทักษิณในการเป็นผู้นำนักบริหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในทางเศรษฐกิจนั้นได้รับการยอมรับแม้กระทั่งกับศัตรูของเขาเอง

และการที่ต้องหนีภัยทางการเมืองไปอยู่ต่างแดนยาวนาน ไม่ต่างอะไรกับ “ยิ่มอั้วเกี้ย” ประมุขพรรคสุริยันจันทรา ที่โดนคุมขังอยู่ในคุกใต้ทะเลสาบไซโอ๊วสิบกว่าปี หลังถูก “ตงฟางปู้ป้าย” กระทำรัฐประหาร ได้ทำให้ฐานเสียงอันเหนียวแน่นเกิดความสงสารและถวิลหาการกลับมาอยู่เนืองๆ

ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่มีข่าวว่าทักษิณจะได้กลับบ้าน แฟนคลับทั้งหลายจึงตื่นเต้นดีใจและรู้สึกว่ามีความหวังขึ้นมาทุกครั้ง

ซึ่งแตกต่างกับฝ่ายตรงข้ามที่โกรธเกลียดและพยายามต่อต้านการกลับมาอย่างถึงที่สุด หากการกลับมานั้นเป็นอิสระไม่ต้องติดคุกอะไร

โลกทัศน์ที่แตกต่างกันคนละโลกของมวลชนสองฝ่ายนี้ทำให้ประเด็นเรื่องทักษิณแทบจะเป็นประเด็นศูนย์กลางของปัญหาการเมืองไทยเลยก็ว่าได้

 

แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 ภูมิทัศน์การเมืองไทยไม่ได้มี 2 ขั้วโดดๆ อีกแล้ว แต่แตกกระจายกลายเป็นขั้วอื่นอีกจำนวนมาก กลุ่มก้อนเล็กๆ โคจรตามการเคลื่อนที่ของขั้วใหญ่ และไม่ใช่ 2 ขั้วใหญ่อีกต่อไป

แต่เป็น 3 ขั้ว คือฝั่งเสรีนิยม ได้แก่ แดง-เพื่อไทย ส้ม-ก้าวไกล กับเครือข่ายอนุรักษนิยม เหลือง/น้ำเงิน ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นศูนย์กลาง

และในสภาพภูมิทัศน์ใหม่นี้มวลชนฝ่ายเสรีนิยมไม่ได้กระจุกตัวยึดมั่นอยู่กับทักษิณทั้งหมด แต่ถูกแบ่งออกไปที่ส้มด้วย

รวมทั้งยังมีอีกมากที่ไม่ได้บูชาบุคคลใดเลย แต่ยึดถือระบบเป็นตัวตั้ง

ความนิยมชมชอบตัวบุคคลหากมี ดูเหมือนว่าจะขยับขยายเข้าสู่กลุ่มคนหนุ่มคนสาวรุ่นใหม่ที่ให้ความหวังถึงอนาคต มากกว่าผู้อาวุโสที่นับวันจะเฒ่าชแรแก่ชราไปกาลเวลา เอาแต่โหยหาวันชื่นคืนสุขเมื่อครั้งอดีต และก้าวไม่ทันต่อการเปลี่ยนผันอย่างรวดเร็วรุนแรงของโลก

นอกจากนี้ ท่าทีในการเล่นการเมืองอย่างมียุทธศาสตร์ล้ำลึกแต่ซ่อนไพ่มากมายเอาไว้ให้คลุมเครือ ส่งผลให้ผู้มีสิทธิออกเสียงบางส่วนรู้สึกไม่ไว้วางใจ จนหันเหไปหาทางเลือกอื่น

โดยเฉพาะก้าวไกลที่ดูจะชัดเจนกว่า รวมทั้งวาทะการกลับมาหา “เจ้านายของเรา” ที่ได้ตัดแบ่งแดงกับส้มออกจากกันไปแล้วอย่างชัดเจน

สภาพการณ์เช่นนี้ทำให้การสำรวจความนิยมตามโพลสำนักต่างๆ ปรากฏผลออกมาว่าคะแนนของก้าวไกลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่เพื่อไทยชะลอตัวหรือหดลงระดับหนึ่ง

นอกจากนั้น คะแนนนิยมตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรียังเทไปที่ทิม-พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล สูงกว่าทั้งอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร และเศรษฐา ทวีสิน จากพรรคเพื่อไทยอย่างเห็นได้ชัด

ซึ่งภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและสม่ำเสมอนี้ รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ได้อธิบายเอาไว้เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม ว่า “passion ของก้าวไกลคือชนะทางการเมือง passion ของเพื่อไทยคือชนะเลือกตั้ง ซึ่งไม่เหมือนกันนะ ชนะเลือกตั้งแต่อาจไม่ชนะทางการเมือง”

พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งหรือไม่ ดูท่าทางจะคาดเดาได้ไม่ยากเท่าไหร่

แต่ก้าวไกลจะชนะทางการเมืองได้หรือเปล่า คำตอบนี้ยังคาดเดาได้ยากอยู่

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ไม่ว่าการชนะทางการเมืองจะสำเร็จหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ปรากฏการณ์นี้ได้ดันหลังพรรคก้าวไกลให้ขยับขึ้นไปเทียบชั้นเพื่อไทยเต็มตัว รอวันที่จะแซงเป็นผู้นำให้ได้ในอนาคต

และที่สำคัญคือมันได้เปลี่ยนภูมิทัศน์การเมืองไทยสมัยปัจจุบันที่ไม่มีวันหวนกลับไปได้แล้ว

ตลอดกาล