เลือกตั้ง 2566 คาดหวังการเปลี่ยนแปลง เร็ว-ช้า ขึ้นอยู่กับใคร? ความคาดหวังเรื่องการเลือกตั้ง เกี่ยวกับ กกต.

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว | มุกดา สุวรรณชาติ

 

เลือกตั้ง 2566

คาดหวังการเปลี่ยนแปลง

เร็ว-ช้า ขึ้นอยู่กับใคร?

ความคาดหวังเรื่องการเลือกตั้ง

เกี่ยวกับ กกต.

 

1.หวังว่าการเลือกตั้งจะมีความถูกต้องยุติธรรม โดยเฉพาะความยุติธรรมที่เกี่ยวข้องกับกรรมการทุกระดับ ซึ่ง กกต.เป็นผู้รับผิดชอบดูแลและกำกับการทำงาน ทุกฝ่ายหวังว่าประชาชนจะออกมาใช้สิทธิมากกว่าครั้งก่อนๆ

กรณีความผิดพลาดในการเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตที่เกิดจากเจ้าหน้าที่เขียนหน้าซองใส่บัตรสำหรับแยกเขตเพื่อส่งไปนับคะแนน ซึ่งมีทั้งเขียนผิดและไม่เขียนเมื่อใส่ลงไปในหีบแล้ว ไม่สามารถแยกได้ว่าที่ถูกต้องควรจะส่งไปที่เขตใด

ต่อให้ฉีกซองออกมาก็จะไม่สามารถแยกได้เพราะบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขตมีแค่หมายเลขผู้สมัคร ไม่มีชื่อคน ไม่มีชื่อพรรค บัตรจึงเหมือนกันทุกเขต

กรณีนี้ถ้าหากบัตรระบุว่าเป็นบัตรเลือกตั้งเขตใด การแก้ปัญหาก็จะง่ายมาก นอกจากนี้ ถ้าเกิดปัญหาทุจริต หรืออื่นๆ ที่ต้องการตรวจสอบจะทำได้ยาก

หลายฝ่ายเคยเตือน กกต.แล้วว่าบัตรเลือกตั้ง ส.ส.เขต ควรพิมพ์แยกเป็นเขต เพื่อจะได้ระบุว่าเป็นของเขตใด และมีชื่อผู้สมัครและหมายเลข เพื่อให้ผู้ลงคะแนนไม่สับสนเนื่องจากหลายจังหวัดมีหลายเขต แม้พรรคเดียวกันก็คนละเบอร์ แต่ กกต.ไม่ทำ

2. ประชาชนหวังว่าการนับคะแนนจะถูกต้องยุติธรรมและเสร็จโดยเร็ว แจ้งผลให้ประชาชนทราบ มีการรับรองผลโดยเร็วเพื่อที่จะได้มีการประชุมสภา

ต้องให้ กกต.เร่งรับรอง ส.ส.ที่ชนะการเลือกตั้งของทุกพรรคการเมือง แม้จะมีกำหนดระยะเวลาให้ กกต.ไว้ถึง 60 วัน แต่ก็ไม่จำเป็นต้องนานขนาดนั้น ประชาชนยังจับตาอยู่

ประชาชนคาดหวังว่า กกต.จะเปลี่ยนเป็นทำงานอย่างรวดเร็ว และถูกต้อง

 

ความคาดหวังเกี่ยวกับการจัดตั้งรัฐบาลใหม่

ประชาชนหวังว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ตามเสียงที่ประชาชนเลือก เพราะถ้ายิ่งยืดเยื้อยาวนาน รัฐบาลเก่าที่รักษาการก็ยังคงมีอำนาจบริหาร

แต่มีขั้นตอนการเปลี่ยนถ่ายอำนาจ หลังเลือกตั้งตามกฎหมาย มาตรา 84 ในการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้รับเลือกตั้งถึงร้อยละ 95 ของจํานวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหมดแล้ว (อย่างน้อย 475 คน) หากมีความจําเป็นจะต้องเรียกประชุมรัฐสภา ก็ให้ดําเนินการเรียกประชุมรัฐสภาได้ โดยให้ถือว่าสภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิกเท่าที่มีอยู่ แต่ต้องดําเนินการให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรให้ครบตามจํานวน 500 คนโดยเร็ว (การจะเปิดประชุมสภาได้จึงต้องรอการรับรองผลของ กกต.)

เมื่อมีการเปิดประชุมรัฐสภาได้แล้ว เลือกประธานสภา ถึงจะมีการคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี

มาตรา 159 ให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 (25 คน) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด…มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี สําเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ฯลฯ

จะช้าหรือเร็ว ขั้นแรกจึงอยู่ที่การรับรองผลของ กกต.

 

ตั้งนายกฯ ไม่ง่าย

เพราะมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน

มาร่วมโหวต

เพราะตามบทเฉพาะกาล มาตรา 272 ในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ การเลือกนายกรัฐมนตรี ให้กระทําในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา (ส.ส. 500+ส.ว. 250 คน) และมติที่เห็นชอบการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา (376 คน)

การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ไม่แน่ว่าครั้งเดียวจะผ่าน เพราะถ้าเสียง ส.ส.ที่สนับสนุนมีแค่ประมาณ 300 และ ส.ว.มาโหวตให้ 20-30 คนก็ไม่ถึง 376 แต่ก็ไม่มีข้อห้ามว่าจะต้องลงคะแนนเลือกครั้งเดียว ดังนั้น ถ้าไม่ผ่านก็เลือกกันใหม่

หากมีกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้และอยากให้คนนอกเข้ามา ให้รัฐสภามีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม จากนั้นคู่แข่งขันจึงจะถูกเสนอชื่อเข้ามาให้รัฐสภาโหวตว่าใครจะได้เสียงมากกว่ากัน และต้องเกิน 375 เสียง

(2 ใน 3 ของ 750 คือ 500 คน ถ้ามี ส.ส. 251 คนไม่ยอมยกมืออนุมัติ กฎให้คนนอกก็เข้ามา เกมนี้ก็เดินต่อไม่ได้) ดังนั้น เกมตั้งนายกฯ จึงขึ้นอยู่กับ ส.ว.และพรรคใหญ่ ว่าจะร่วมกัน หรือสู้กันแบบไหน จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับ ส.ว.และพรรค)

 

การจัดตั้งรัฐบาล

เนื่องจากตัวนายกฯ ต้องการเสียงถึง 376 (ตามแผนที่ฝ่ายรัฐประหารอยากสืบทอดอำนาจวางกลไกไว้ในกฎหมาย) ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีพรรครัฐบาลเพียงพรรคเดียวได้เสียงมากถึงขนาดนั้น

การต่อรองเรื่องร่วมรัฐบาลจึงเป็นเรื่องปกติ จะทำตั้งแต่เลือกนายกฯ อย่างไรก็ตาม แต่ละพรรคมีเป้าหมายที่แตกต่างของแต่ละพรรคการเมือง

พรรคเพื่อไทย เป้าหมายคือเป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อทำงานตามนโยบาย

พรรคก้าวไกล มีทางเลือกมากกว่าจะร่วมรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็นฝ่ายค้านก็ได้

พรรครวมไทยสร้างชาติ ถ้าเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลก็ต้องเป็นฝ่ายค้านอย่างไม่มีทางเลือก

พรรคภูมิใจไทย อยากร่วมรัฐบาล แต่อุปสรรคคือทุกพรรคไม่อยากให้ร่วม ถ้าไม่จำเป็น

พรรคพลังประชารัฐ ก็อยากร่วมรัฐบาล เพราะถ้าเป็นฝ่านค้านพรรคก็จบ

พรรคประชาธิปัตย์ ถ้าได้ร่วมรัฐบาลก็ดี ไม่ได้ร่วมเป็นฝ่ายค้านก็ทำได้

พรรคประชาชาติและเสรีรวมไทย ก็หวังจะได้ร่วมรัฐบาล

พรรคชาติไทยพัฒนา พร้อมร่วมรัฐบาล

ขั้นตอนนี้ไม่น่าช้า เพราะคงมีการเจรจากันทันทีหลังเลือกตั้งบ้างแล้ว

 

ไม่รื้อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เร่งด่วน

อาจทำงานไม่ได้

ประชาชนหวังว่ารัฐบาลหลังการเลือกตั้ง จะช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชนอย่างเร่งด่วน

ประชาชนหวังให้สภาผู้แทนฯ ชุดใหม่จะช่วยแก้ปัญหาการเมือง โดยเริ่มต้นจากการแก้รัฐธรรมนูญ ยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้ประชาชนเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยตรง

แต่…มาตรา 162 คณะรัฐมนตรีที่จะเข้าบริหารราชการแผ่นดินต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ซึ่งต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ และยุทธศาสตร์ชาติ และต้องชี้แจงแหล่งที่มาของรายได้ที่จะนํามาใช้จ่ายในการดําเนินนโยบาย โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ ทั้งนี้ ภายในสิบห้าวัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่

ก่อนแถลงนโยบายต่อรัฐสภาตามวรรคหนึ่ง หากมีกรณีที่สําคัญและจําเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะกระทบต่อประโยชน์สําคัญของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีที่เข้ารับหน้าที่จะดําเนินการไปพลางก่อน เพียงเท่าที่จําเป็นก็ได้

โลกเปลี่ยนเร็ว รัฐบาลใหม่ต้องหาวิธี ปรับกรรมการยุทธศาสตร์ และยุทธศาสตร์ก่อน เพื่อให้ทันโลก