จากบางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน แล้วค่อยกลายเป็นอัมพวา

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

“บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” เป็นคำเก่าที่ใช้เรียกชื่อย่านสวนสำคัญ ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างของประเทศไทยปัจจุบัน 2 แห่งคือ “บางช้าง” ปัจจุบันเขตพื้นที่ ต.บางช้าง อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม และ “บางกอก” คือบริเวณย่านริมปากคลองบางกอกใหญ่ ใกล้วัดอรุณราชวราราม ในกรุงเทพฯ

สำหรับคำว่า “บางช้าง” นั้น ประกอบขึ้นจากคำว่า “บาง” และคำว่า “ช้าง”

“บาง” เป็นคำพื้นเมือง หมายถึงย่าน หรือบริเวณชุมชนที่ตั้งอยู่ปากคลอง หรือลำน้ำสายเล็กๆ สั้นๆ บางแห่งเป็นลำน้ำตัน แต่บางแห่งเชื่อมลำน้ำสายอื่นก็ได้

ส่วนคำว่า “ช้าง” มีผู้อธิบายไว้หลายทาง แต่คำอธิบายที่น่าสนใจมาจากหนังสือ “เที่ยววัดไทย ในจังหวัดสมุทรสงคราม” โดย รศ.ไกรนุช ศิริพูล ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเรือน พ.ศ.2547 โดยอ้างถึงบันทึกคำบอกเล่าเรื่องวัดช้างเผือกว่า แต่ก่อนพื้นที่บริเวณนี้เป็นป่าทึบ และมีโขลงช้างป่าจำนวนมากมาหาอาหารกิน ดังนั้น จึงได้ชื่อว่าตำบลบางช้าง

โดยเฉพาะตรงบริเวณที่ตั้งของวัดช้างเผือกนั้น เล่ากันว่าเป็นที่หลบซ่อนอาศัยของช้างเผือก (อันเป็นที่มาของชื่อวัด) และช้างธรรมดาในยุคที่สงครามยังต้องอาศัยช้างเป็นยุทโธปกรณ์ที่มีชีวิตอยู่ โดยมีหลักฐานปรากฏว่า มีเสาตะลุงสำหรับผูกช้างตั้งอยู่ที่หน้าพระอุโบสถหลังเก่า

น่าเสียดายที่ในปัจจุบันนี้ เสาตะลุงต้นดังกล่าวนั้น ได้สูญหายไปพร้อมกับการพัฒนาวัดเสียแล้ว โดยเหลือไว้เพียงแค่ความทรงจำของผู้คนในท้องที่เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ที่หน้าอุโบสถหลังนี้ยังเคยมีลำคลองสั้นๆ เรียกว่า “คลองช้าง” โดยเชื่อกันว่าคลองดังกล่าวเป็นลำน้ำที่ช้างใช้อาบน้ำ และดื่มน้ำอยู่ด้วย

ตัวคลองที่ว่านี้ มีความยาวประมาณ 600 เมตร เริ่มต้นตั้งแต่ที่หน้าพระอุโบสถต่อเนื่องไปจนจรดคลองบางพรหม แต่ปัจจุบันได้ถูกถมกลายเป็นบ้านเรือนและถนนไปหมด จนเหลือไว้เพียงแต่ชื่อ คลองช้าง นั่นเอง

ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ เราจะนึกภาพว่าเคยมีโขลงช้างป้วนเปี้ยนอยู่ในพื้นที่แถบอัมพวาไม่ค่อยจะออก แต่ร่องรอยจากชื่อบ้านนามเมืองที่เกี่ยวข้องกับ “ช้าง” อย่างนี้ ก็คงจะปฏิเสธว่า พื้นที่ดังกล่าวมีความเกี่ยวข้องกับช้างกันได้ยากอยู่สักหน่อยนะครับ

 

ส่วนชื่อ “บางกอก” นั้น บางท่านว่าเพี้ยนมาจาก “บางเกาะ” เพราะหลังจากการขุดคลองลัด จากบริเวณหน้าปากคลองบางกอกใหญ่ในปัจจุบัน คือบริเวณป้อมวิชัยประสิทธิ์ ละแวกวัดอรุณราชวราราม ไปจนถึงปากคลองบางกอกน้อย แถวๆ โรงพยาบาลศิริราช ก็ทำให้เกิดสภาพของพื้นที่ที่กลายเป็นเกาะขึ้นมา จนถูกเรียกว่า บางเกาะ ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม วัดอรุณฯ ที่ตั้งอยู่ตรงปากคลองบางกอกใหญ่นั้น เดิมมีชื่อว่า “วัดมะกอก” ซึ่งก็หมายความว่า เป็นวัดที่สร้างขึ้นในพื้นที่ที่มีต้นมะกอกมาก (คงจะเป็นต้นมะกอกน้ำ) แถมต่อมาเมื่อมีการขุดคลองแล้วก็มีการสร้างวัดใหม่ขึ้นภายหลัง ในตำบลเดียวกัน บริเวณคลองบางกอกใหญ่ จึงเรียกวัดใหม่นี้ว่า วัดมะกอกใน (ปัจจุบันคือ วัดนวลนรดิศ) แล้วเรียกชื่อวัดมะกอกเดิม หรือวัดอรุณฯ ว่า วัดมะกอกนอก

ดังนั้น คำว่า “บางกอก” ไม่ว่าจะเป็นชื่อย่าน หรือชื่อคลอง จึงควรจะเป็นการกร่อนคำมาจาก “บางมะกอก” หมายถึง ย่านที่มีต้นมะกอกเยอะเสียมากกว่า

น่าสนใจว่า การขุดคลองลัด ซึ่งต่อมาได้ขยายใหญ่กลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาสายหลักในปัจจุบัน ก็ได้ทำให้ย่านบางกอกใหญ่โต และสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

จนในที่สุด กรุงศรีอยุธยาก็ได้ยกฐานะขึ้นเป็นเมือง พร้อมกับตั้งชื่อเสียใหม่ว่า “ทณบุรี” (ต่อมาคือ ธนบุรี) ดังปรากฏในกฎหมายพระไอยการอาชญาหลวง ส่วนหนึ่งในกฎหมายตราสามดวง ที่ตราขึ้นในรัชสมัยของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ.2091-2111)

การยกฐานะขึ้นเป็นเมืองนี้แสดงให้เห็นว่า กรุงศรีอยุธยาเห็นความสำคัญ และในกฎหมายฉบับที่ว่านี่เองที่ระบุตำแหน่ง “นายพระขนอนทณบุรี” คือนายด่านเก็บภาษี คู่กับขนอนน้ำ ขนอนบกต่างๆ ของกรุงศรีอยุธยา หมายความว่า อยุธยาได้นับบางกอกเข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งในอำนาจรัฐของตนเอง จนถึงกับต้องตั้งเจ้าหน้าที่เก็บภาษีไปประจำอยู่ที่นั่น และจะค่อยๆ ทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ จนมีตำแหน่ง “เจ้าเมือง” ในที่สุด

“บางกอก” จึงเป็นชื่อสามัญ ที่คนทั่วไปยังใช้เรียกพื้นที่บริเวณนี้มาแต่เดิม ส่วน “ธนบุรี” นั้นเป็นชื่อทางการที่ใช้เรียกอยู่ในเอกสาร จนต่อมาเมื่อรัชกาลที่ 1 สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.2325 ชาวต่างชาติที่เคยเรียกเมืองนี้ว่าบางกอก ก็เลยยังคุ้นปากที่จะเรียกกรุงเทพมหานครว่า “Bangkok” อยู่เหมือนเดิม

 

ทั้งบางช้าง และบางกอก ตั้งอยู่ตรงบริเวณที่โคลนตมทับถมทางปากน้ำแม่กลอง และปากน้ำเจ้าพระยาตามลำดับ จึงมีดินที่อุดมสมบูรณ์ด้วยอาหารของพืช ส่งผลให้เป็นดินที่เหมาะสำหรับปลูกเรือกสวนไม้ดอกไม้ผล

ดังนั้น จึงมีผู้คนโยกย้ายเข้ามาตั้งหลักแหล่งทำมาหากิน โดยเฉพาะพวกจีน ที่อาศัยอยู่ใต้แม่น้ำฉางเจียน (ไทยเรียก แยงซีเกียง) บริเวณมณฑลกวางตุ้ง-กวางสี ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีการทำ “สวนยกร่อง” เข้ามาพัฒนาดัดแปลงพื้นที่ทั้งปากน้ำแม่กลอง และปากน้ำเจ้าพระยา จนเป็นกลายเป็นพื้นที่เรือกสวนกว้างขวางทั้งสองแห่ง

ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีแล้ว ทั้ง “บางช้าง” และ “บางกอก” พัฒนาขึ้นเป็น “สวนนอก” และ “สวนใน” ในช่วงเวลาเดียวกัน หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียงกันมาก

ผู้คนในชุมชนทั้งสองแห่งนี้จึงได้เกี่ยวดองเป็นญาติกันต่อไปในภายภาคหน้า จนได้เกิดชื่อเรียกคล้องจองกันว่า “บางช้างสวนนอก บางกอกสวนใน” นั่นเอง

วัดอัมพวันเจติยาราม จังหวัดสมุทรสงคราม

หลักฐานที่สำคัญก็คือ บริเวณพื้นที่บางช้างนั้น ยังเป็นสถานที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 2 เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 โดยพื้นที่แถบบางช้างนั้น เป็นถิ่นฐานดั้งเดิมในสายตระกูลของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี (นาค) ผู้เป็นพระบรมราชชนนี (แม่) ของพระองค์

ดังนั้น เมื่อรัชกาลที่ 2 เสด็จขึ้นครองราชย์ที่กรุงเทพฯ คือเมืองบางกอกแล้ว บรรดาพระญาติของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี จึงมีฐานะเป็น “ราชินิกุล” (คือเป็นพระญาติกับพระเจ้าแผ่นดิน โดยนับจากฝั่งพระบรมราชชนนี ถ้าหากเป็นพระญาติโดยนับจากฝั่งสมเด็จพระบรมชนกนาถ จะเรียกว่า “ราชนิกุล”) สาย “ณ บางช้าง” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

สิ่งที่น่าสนใจอีกอย่างก็คือ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า บริเวณที่เป็นนิวาสสถานเดิมของรัชกาลที่ 1 เมื่อครั้งยังดำรงพระอิสริยยศเป็นหลวงยกกระบัตรอยู่ที่บางช้างนั้น คือบริเวณด้านหลังของ “วัดอัมพวันเจติยาราม” หรือที่มักจะเรียกกันอย่างกระชับว่า “วัดอัมพวัน”

วัดอัมพวัน ตั้งอยู่ที่ ต.อัมพวา อ.อัมพวา สร้างขึ้นเมื่อรัชกาลที่ 1 เสด็จขึ้นครองราชย์แล้ว ผู้สร้างคือสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี โดยสร้างขึ้นเพื่ออุทิศถวายแก่สมเด็จพระรูปศิริโสภาคย์มหานาควารี ผู้เป็นพระมารดาของพระองค์ ซึ่งก็มีถิ่นฐานดั้งเดิมอยู่ที่บางช้างสวนนอก

ที่สำคัญก็คือ ยังมีเรื่องเล่าต่อกันมาด้วยว่า บริเวณอันเป็นพระปรางค์ของวัดนั้นก็คือ พื้นที่พระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยอีกด้วย

ดังนั้น วัดแห่งนี้วัดที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยน่าเชื่อว่า ชื่อเมือง “อัมพวา” นั้น ก็มีที่มาจากชื่อ “วัดอัมพวัน” นี่เอง

 

น่าสังเกตนะครับว่า ชื่อ “อัมพวัน” นั้นแปลตรงตัวว่า “ป่ามะม่วง” ซึ่งมีความหมายเกี่ยวโยงกับพุทธประวัติตอนที่แสดงยมกปาฏิหาริย์บนต้นมะม่วงเพื่อปราบพวกเดียรถีย์ ก่อนที่จะเสด็จขึ้นไปโปรด “พระพุทธมารดา” บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันถือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล ตามปรัมปราคติในพุทธศาสนา

และที่วัดอัมพวันนั้นก็มีการสร้าง “พระปรางค์” ซึ่งโดยนัยแล้วก็คือ การจำลองเขาพระสุเมรุ อันมีสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ตั้งอยู่บนยอดเขาเอาไว้ ราวกับว่าวัดที่สร้างขึ้นบนนิวาสสถานเดิมของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนั้น คือสถานที่เชื่อมต่อของโลกที่พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์บนต้นมะม่วง แล้วเสด็จขึ้นไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

และต้องอย่าลืมด้วยว่า โดยคติโบราณของไทยแล้ว “พระมหากษัตริย์” ก็เปรียบได้กับ “พระพุทธเจ้า” นะครับ

ชื่อ “อัมพวา” ที่มีที่มาจาก “วัดอัมพวัน” จึงเป็นชื่อที่สำคัญ ที่กลายมาเป็นชื่อใช้เรียกพื้นที่บริเวณดังกล่าว ซึ่งครอบคลุมถึงพื้นที่บริเวณ “บางช้าง” ที่ปัจจุบันกลายเป็นเพียงตำบลหนึ่ง ในอำเภออัมพวานั่นเอง •

 

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ