ตัวตนของ “นิ้วกลม” ในฐานะรุ่นพี่

วัชระ แวววุฒินันท์
ภาพประกอบ johjaionline.com

ฉบับก่อนผมเขียนถึง “นักเขียนรุ่นพี่” ซึ่งก็คือ วินทร์ เลียววาริณ ไป เล่มนี้จึงขอต่อเนื่องกับ “นักเขียนรุ่นน้อง” ที่ชื่อ “สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์” หรือที่รู้จักในนามปากกา “นิ้วกลม” ซึ่งเป็นนักเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ด้วย

ผมเรียกเขาว่า “เอ๋” ตามชื่อเล่นจริงๆ ของเขา

เอ๋เป็นรุ่นน้องผมที่คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ จะว่าไปแล้วเขาน่าจะเป็นรุ่นลูกเสียมากกว่า เพราะตอนที่ผมเข้าไปเป็นน้องใหม่นั้น เขาเพิ่งลืมตาดูโลกเอง

ผมมาใกล้ชิดกับเอ๋จากการทำงานร่วมกันในรายการ “เจาะใจ” งานแรกนั้นเป็นตอนที่เจาะใจทำ event ที่เป็น talk show ชื่อ The Moment ซึ่งแต่ละปีจะรวมนักพูดเพื่อสร้างแรงบันดาลใจมาขึ้นเวทีคราวละ 3-4 คน แต่ในปีนั้นทีมงานเลือกคนเดียวคือ “เอ๋ นิ้วกลม”

“คนเดียวก็เอาอยู่ แฟนคลับเอ๋มีเยอะเลยนะพี่” ทีมงานขายเอ๋ให้ผมฟัง และเอ๋ก็ได้กลายเป็นแขกคนเดียวบนเวทีครั้งนั้น และก็เป็นจริงดังว่า เพราะบัตรขายหมดอย่างรวดเร็ว นอกจากแฟนของรายการเจาะใจแล้ว ก็เป็นแฟนหนังสือของเอ๋นั่นเอง

เอ๋เป็นนักเขียนที่สร้างแรงบันดาลใจอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้เขาไม่ได้เขียน แต่ใช้การพูด และเอ๋ก็เอาอยู่ เพราะข้อมูลในหัวเขานั้นแน่นมาก จนในการทำงานกันต้องคอยคัดๆ ออกบ้าง งั้นระยะเวลาการขึ้นเวทีจะยาวเกินไป

 

จะว่าไปเอ๋ก็มีหลายๆ อย่างคล้ายนักเขียนรุ่นพี่ที่ชื่อ “วินทร์ เลียววาริณ” เหมือนกัน ซึ่งเอ๋ก็บอกว่าเขาก็ได้รับอิทธิพลความคิดและการเขียนมาจากวินทร์ด้วยเช่นกัน

ทั้งสองต่างก็เป็นศิษย์เก่าโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) เหมือนกัน มาเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องในคณะสถาปัตย์ จุฬาฯ ด้วยกันแม้จะห่างรุ่นกันถึง 25 ปีก็ตาม และต่างก็เคยมีประสบการณ์จากการทำงานบริษัทโฆษณามาแล้วเช่นกัน

ใน The Moment ครั้งนั้น เอ๋นำทักษะด้านโฆษณามาเสริมวิธีการถ่ายทอดของเขาด้วย ทำให้งานในวันนั้นมีสีสันยิ่ง ไม่ใช่แค่พูด แต่มี visual ที่ปรากฏบนจอด้านหลังควบคู่ไปด้วยอย่างน่าสนใจ

เอ๋เล่าถึงเรื่องราวของตน วิธีคิด และประสบการณ์ชีวิต และพาร์ตที่ดูจะฟินจิกหมอนสักหน่อย คือ ประสบการณ์ในชีวิตรักของเขา ที่ได้นักแสดงสาว “ออม สุชาร์” มาร่วมแสดงบนเวทีในบทบาทแฟนสาวของเอ๋ด้วย เรียกเอาความหวานอาบโรงหนังสกาลาที่จัดงานไปพอสมควร

ที่เอ๋โดดเด่นเรื่องการ “ใช้คำ” นั้นมาจากความชอบในการอ่านและเขียนของเขา และทักษะจากงานโฆษณาที่เขาทำ เขาเรียบเรียงเรื่องราวให้ออกมาเป็นคำพูดได้สั้น กระชับ แต่ได้ความหมายตามสารที่ต้องการถ่ายทอดออกมาอย่างดี

เรื่องอย่างนี้ไม่ใช่ใครก็สามารถทำได้

 

จบจากงานนั้น เมื่อรายการเจาะใจได้เพิ่มเนื้อหาในช่วงท้าย เป็นช่วงที่ชื่อว่า “คอลัมนิสต์” รายการก็ได้เชิญเอ๋มาเป็นหนึ่งในคอลัมนิสต์ด้วย คนอื่นๆ ก็มีเช่น หนุ่มเมืองจันท์, โหน่ง วงศ์ทนง, วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล เป็นต้น

การเป็นคอลัมนิสต์ในเจาะใจ คือ นำเรื่องอะไรก็ได้ที่อยากเล่า มาเล่าให้พิธีกร คือ ดู๋ สัญญา ฟัง พร้อมถกเถียง แชร์ความเห็นกันอย่างสนุก โดยเรื่องนั้นต้องสร้างแรงบันดาลใจ ให้ความคิด และปัญญาแก่ผู้ชมได้

ซึ่งเอ๋ก็ทำหน้าที่คอลัมนิสต์ได้ดี เพราะ “ลิ้นชักความรู้” ของเขามีเป็นประมาณคอนโดฯ เขาเป็นคนอ่านเยอะ พูดคุยกับคนเยอะ เก็บข้อมูลไว้เยอะ จึงมีเรื่องที่น่าสนใจมาถ่ายทอดเสมอ และอย่างที่บอก เขาเล่าด้วยคำที่ได้เรียบเรียงให้ง่ายๆ และน่าฟัง

หนังสือที่เอ๋เขียนก็ล้วนสร้างแรงบันดาลใจกับผู้อ่านทั้งสิ้น อย่างที่บอกว่าเขาเป็นคนสนุกกับการเล่นคำ ชื่อหนังสือของเขาจึงสนุกตามไปด้วย เช่น บุกคนสำคัญ, ปอกกล้วยในมหาสมุทร, ฝนกล้วยให้เป็นเข็ม, เนปาลประมาณสะดือ, สิ่งที่ค้นพบในระหว่างนั่งเฉยเฉย เป็นต้น

เรียกว่าคนอ่านพออ่านชื่อหนังสือของเขา เป็นต้องคิ้วขมวดด้วยเครื่องหมายคำถามว่า “อะไรวะ?” นั่นคือเสน่ห์ความเป็นเขาตั้งแต่ตั้งชื่อหนังสือ ซึ่งสำหรับนักเขียนหลายคนแล้วเป็นเรื่องที่ยากจนถึงยากมากทีเดียว

 

หากย้อนความจะพบว่าความหลงใหลในตัวอักษรของเขามีมาตั้งแต่เขาเรียนคณะสถาปัตย์ ตอนอยู่ชั้นปี 5 เขากับเพื่อนอีก 7 คน ได้ลุกขึ้นทำหนังสือทำมือ ใช้ชื่อว่า “dim” ไปเสนอแก่สำนักพิมพ์ ความมีเอกลักษณ์ในงานเขียนทำให้เขาได้รับโอกาสเขียนคอลัมน์ซึ่งนับว่าเป็นสนามฝึกหัดได้อย่างดี และยังเป็นสนามทดลองสมมุติฐานตามความสนุกของเขาด้วย เช่น การเขียนกลับหลัง การเขียนด้วยตัวพยัญชนะและรูปแบบที่ไม่คุ้นชิน

เขาต่อยอดด้วยการเป็นนักเขียนลงในนิตยสารแนวใหม่ในยุคนั้นคือ “a day magazine” จากผลงานเหล่านี้ก็ได้รวมเล่มออกมาจำหน่ายหลายเล่ม รวมทั้งยังได้สนุกกับการทดลองทำงานใหม่ๆ ด้วยการเป็นพิธีกรรายการทางช่อง TPBS ด้วย

ในงานสาขาต่างๆ ที่เขาทำ สิ่งที่เขาเชี่ยวชาญและชื่นชอบที่สุดก็คืองานเขียนนั่นเอง

หนังสือของเอ๋ไม่ได้มีดีเฉพาะชื่อ แต่เนื้อในนั้นคงถูกใจผู้อ่านจำนวนมาก พิสูจน์ได้จากในงานหนังสือที่ผ่านๆ มา วันที่นิ้วกลมเปิดโต๊ะรับเซ็นหนังสือให้แฟนๆ แถวผู้ซื้อหนังสือของเขาจะยาวเหยียดมาก เรียกว่าเซ็นกันตั้งแต่งานเปิดจนปิดงานนั่นเลย เป็นที่อิจฉาแก่นักเขียนคนอื่นอย่างมาก

หากใครได้อ่านผลงานของเขาจะทราบดีว่า แนวที่เขาเขียนนั้นเป็นแนวให้แรงบันดาลใจ บอกวิธีในการจัดการชีวิตให้ “เป็นสุข” ความสุขนั้นเป็นสุดยอดปรารถนาของทุกคน แต่หลายคนก็ไม่สามารถค้นพบวิธีหาความสุขของตัวเองเจอ

เอ๋จะบอกวิธีที่ว่านี้ตามมุมมองและวิธีคิดของเขา ที่ย้ำว่าความสุขของเขาอาจไม่เหมือนกับของคนอื่น เรื่องทำนองนี้ต้องนำไปคิดและดัดแปลงเอง

อย่างที่บอกว่าเอ๋มีลิ้นชักข้อมูลเป็นร้อย เพราะเขาชอบอ่านและจดบันทึกเสมอ ไม่ได้จดเฉพาะข้อมูลที่เป็นความรู้ แต่ความคิดหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เขาก็บันทึกเอาไว้ เผื่อวันหน้าจะได้ดึงมาใช้ได้

เขาทำงานหนังสือเป็นอาชีพจริงจัง โดยเปิดสำนักพิมพ์ของตนเองชื่อว่า “KOOB” มาจากคำว่า “Book” แต่เรียงตัวอักษรกลับกัน บ่งบอกถึงนิสัยขี้เล่นและช่างคิดของเขา มีผลงานออกมาแล้วหลายสิบเล่ม นับว่าขยันมาก

นอกจากนั้น เขายังมีช่องทางสื่อสารกับแฟนๆ ของเขาทาง YouTube Channel ที่ชื่อ “Roundfinger Channel” เขาจะขยันลุกขึ้นมาจัดรายการสดตั้งแต่เช้า ในชื่อรายการว่า “Have a nice day” เนื้อหาก็ชวนฟังชวนคิดทั้งนั้น ทั้งแบบคุยคนเดียว และพูดคุยกับแขกรับเชิญ เช่น ความลับที่ทำให้คุณไม่ห่อเหี่ยวกับชีวิต, วิธีเอาตัวรอดจากคนงี่เง่า, กล้าที่จะถูกเกลียดแล้วจะรักตัวเองมากขึ้น

 

ในช่วงงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติที่ผ่านพ้นไป เขาก็ได้ออกผลงานชิ้นใหม่ชื่อว่า “ความลับของความสุข” แม้คราวนี้ชื่อหนังสือจะตรงไปตรงมา แต่เนื้อหาน่าสนใจไม่น้อย โดยเฉพาะคนที่กำลังแสวงหาความสุข

ในเล่มจะแบ่งเป็นพาร์ตๆ เหมือนหนังสือ How to อย่างนั้น มีทั้งหมด 15 พาร์ต แต่ละพาร์ตก็จะซอยย่อยเป็นวิธีคิดและวิธีทำที่เป็น How to ในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างหัวข้อ เช่น เรียนรู้, รู้จักตัวเอง, เผชิญปัญหา, ตกผลึก เป็นต้น

เอ๋ได้เขียนเป็นคำโปรยในหน้าเปิดของหนังสือว่า “ความลับของความสุขมีอยู่ว่า เราไม่ต้องมีทุกอย่างเพื่อมีความสุข ถ้ารู้จักมีความสุขกับบางอย่างที่เรามีอยู่แล้ว”

“แด่ เธอผู้ไม่ได้ทำถูกต้องไปเสียทุกอย่าง”

นี่เป็นภาพรวมของวิธีคิดในหนังสือเล่มนี้ที่สะท้อนว่า ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์ในโลกนี้ ถ้ารู้จักตัวเองและลงมือทำ จะผิดหรือถูก ก็มีคุณค่าแล้ว

ลิ้นชักข้อมูลที่เขานำมาเขียนหนังสือเล่มนี้ มาจากทั้งการอ่านที่ได้นำทฤษฎีและปรัชญาของนักคิดและวิธีในการทำงานของคนที่ผ่านประสบการณ์มานานมาถ่ายทอด รวมทั้งมาจากการได้พูดคุยกับบุคคลต่างๆ ที่เป็นเสมือนคลังปัญญา และส่วนหนึ่งมาจากประสบการณ์การทดลองถูกทดลองผิดของเขาเอง ในเนื้อหาตอนหนึ่งเขาเขียนถึงคำถามที่มีคนถามในวงสนทนาว่า

“ถ้าตอนนี้อายุ 30 ปี สิ่งที่จะบอกตัวเองให้ทำคืออะไร”

และนี่คือคำตอบของเขาเอง

“ผมคงใช้เวลาตั้งแต่ช่วงนี้เป็นต้นไปในการสะสมผู้คนในชีวิต เก็บรักษาพี่ๆ เพื่อนๆ น้องๆ ที่รู้จักกันไว้ให้ดี ทำความรู้จักคนใหม่ๆ และพยายามเป็นน้องที่ดี เป็นเพื่อนที่ดี เป็นพี่ที่ดีของคนอื่น เพราะถ้าเราเป็นแบบนั้น เราจะเก็บรักษามิตรภาพเอาไว้ได้ ซึ่งผู้คนเหล่านี้เองจะมอบโอกาส ไอเดีย คำแนะนำ และนำพาเราไปสู่ผู้คนใหม่ๆ ในอนาคต เดินทางมาถึงวันนี้ ผมได้รู้ว่า ชีวิตของเราประกอบขึ้นจากคนอื่นทั้งนั้นเลย เราไม่มีทางทำสิ่งที่ทำอยู่ได้สารพัดอย่างถ้าไม่มีความช่วยเหลือจากเพื่อน พี่น้องที่รายล้อมเรา”

คำตอบนี้ และบทความนี้คงบ่งบอกตัวตนของ เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ หรือ นิ้วกลม คนนี้ได้เป็นอย่างดี •

 

 

เครื่องเคียงข้างจอ | วัชระ แวววุฒินันท์